Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - วานนี้ (19 ต.ค.2549)  ชาวบ้านคลองด่านนำโดยนางดาวัลย์ จันทรหัสดี เข้ายื่นหนังสือกับนายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเรียกร้องให้ทางกระทรวงฯ ต่อสู้คดีความที่ค้างอยู่อย่างเต็มที่ และให้ความร่วมมือด้านเอกสารหลักฐานต่างๆ กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดข้าราชการที่มีส่วนทุจริต รวมทั้งยุติการดำเนินการของกรมควบคุมมลพิษที่เสนอเรื่องต่อกรมที่ดินขอเพิกถอนความเป็นสาธารณะของคลองต่างๆ ในโครงการ ท้ายที่สุดขอให้รัฐตัดสินใจใช้ประโยชน์พื้นที่และสิ่งปลูกสร้างบริเวณคลองด่านเป็นศูนย์ศึกษาการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


 


ทั้งนี้ คดีหลัก 2 คดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา คดีหนึ่งคือคดีข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 หรือที่เรียกกันว่าคดีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งบริษัทเอกชนเป็นผู้เสนอข้อพิพาทขอเรียกค่าเสียหายจากกรมควบคุมมลพิษประมาณ 6,200 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย อีกคดีหนึ่งคือคดีอาญาคดีหมายเลขดำที่ 254/2547 คดีนี้กรมควบคุมมลพิษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอกชน 18 รายในข้อหาฉ้อโกงในประเด็นที่ดินและสัญญารับเหมาออกแบบรวมก่อสร้าง (turnkey) นอกจากนั้นยังมีการดำเนินการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อหาทางเรียกคืนความเสียหายและลงโทษผู้กระทำผิด


 


รายละเอียดของจดหมายมีดังนี้



 


19  ตุลาคม  2549


 


เรื่อง      ข้อเรียกร้องต่อการสะสางทุจริตและข้อเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาโครงการจัดการน้ำเสีย จังหวัดสมุทรปราการ



เรียน      รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา


สิ่งที่ส่งมาด้วย     


1. บันทึกข้อความ กรมควบคุมมลพิษ ที่ ทส 0301/98 วันที่ 6 มกราคม 2549 เรื่อง สรุปข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีอนุญาโตตุลาการ โครงการจัดการน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ (รวม 4 แผ่น)


2.  หนังสือกรมควบคุมมลพิษที่ ทส 0302/8974 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2548 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เรื่องขอให้ถอนสภาพของที่ดินซึ่งเป็นคลองสาธารณะ  (รวม 2 แผ่น)


3. หนังสือกรมควบคุมมลพิษที่ ทส 0302/11479 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 ถึงหัวหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี เรื่อง การจัดทำแผนที่ที่ดินแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดิน (รวม 2 แผ่น)


4. หนังสือสำนักงานคดีแพ่ง สำนักงานอัยการสูงสุด ลงวันที่  6 มีนาคม 2549 ถึงอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เรื่องแจ้งข้อเสนอขอเจรจาประนีประนอมข้อพิพาท (รวม 2 แผ่น)


5. ร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ (ฉบับแก้ไขปรับปรุง ครั้งที่ 2) รายงานหลัก โครงการกำหนดทางเลือกที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการออกแบบรวบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ, มิถุนายน 2548; หน้า 5-34  - 5-43 (รวม 11 แผ่น)


6. ผังแสดงประเภทการใช้ที่ดินในผังเมืองรวมสมุทรปราการ


7. ผังแสดงบริเวณระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้องมีการปรับปรุงตามทางเลือกที่ 2


8. ภาพแสดงสิ่งปลูกสร้างของโครงการที่ชำรุดเสียหาย (รวม 5 แผ่น)


9. แผนที่แสดงพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ในการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่


10. ภาพแสดงสภาพพื้นที่ปัจจุบันของพื้นที่สถานตากอากาศบางปูซึ่งเหมาะเป็นที่ตั้งระบบบำบัดน้ำเสียฝั่งตะวันออก


11. ภาพแสดงสภาพพื้นที่ปัจจุบันของพื้นที่ราชพัสดุป้อมนาคราชซึ่งเหมาะเป็นที่ตั้งระบบบำบัดน้ำเสียฝั่งตะวันตก


 


ดิฉันและพวกในฐานะชาวบ้านตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และชาวตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ติดตามตรวจสอบและเปิดโปงเกี่ยวกับความทุจริตและปัญหาต่างๆ ของโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ มานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนกระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ในรัฐบาลชุด พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 1 ได้สั่งระงับการก่อสร้างโครงการไปเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 อันนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีระหว่างกรมควบคุมมลพิษกับบริษัทเอกชนผู้รับเหมาออกแบบรวมก่อสร้าง (turnkey) โครงการหลายคดีด้วยกัน ซึ่งคดีบางส่วนได้มีผลการพิจารณาในเบื้องต้นไปแล้ว แต่ยังมีคดีหลัก 2 คดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา คดีหนึ่งคือคดีข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 หรือที่เรียกกันว่าคดีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งบริษัทเอกชนเป็นผู้เสนอข้อพิพาทขอเรียกค่าเสียหายจากกรมควบคุมมลพิษประมาณ 6,200 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย อีกคดีหนึ่งคือคดีอาญาคดีหมายเลขดำที่ 254/2547 คดีนี้กรมควบคุมมลพิษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอกชน 18 รายในข้อหาฉ้อโกงในประเด็นที่ดินและสัญญารับเหมาออกแบบรวมก่อสร้าง (turnkey) นอกจากนั้นยังมีการดำเนินการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อหาทางเรียกคืนความเสียหายและลงโทษผู้กระทำผิด


 


อย่างไรก็ตาม พวกเราพบว่า การดำเนินการทั้งในส่วนของการสะสางทุจริตและการแก้ปัญหาในระยะหลัง มิได้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 2 ที่มีนายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


 


ในโอกาสที่ท่านเข้ารับตำแหน่งใหม่ในกระทรวงที่เป็นต้นสังกัดของหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว โดยร่วมในคณะรัฐบาลที่ประกาศจะแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมืองภายใต้หลักการ 4 ป. อันประกอบด้วย โปร่งใส  เป็นธรรม  ประสิทธิภาพ  ประหยัด  พวกเราจึงมีความยินดีที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงและข้อเรียกร้องของพวกเราต่อการดำเนินการสะสางทุจริต รวมถึงการแก้ปัญหาด้านอื่นๆ ของโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ดังนี้



 


ข้อเท็จจริงที่พวกเราชาวบ้านค้นพบ


 


จากการติดตามการดำเนินงานของภาครัฐในการสะสางทุจริตโครงการนี้ พวกเราพบข้อเท็จจริงว่า มีความล่าช้าและมีการแทรกแซงมาตั้งแต่ต้น เราเข้าใจว่านี่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้สำหรับโครงการที่มีความขัดแย้งอย่างสูงว่าด้วยผลประโยชน์จำนวนมหาศาลเช่นนี้ สิ่งสำคัญคือกลไกการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาของรัฐจะต้องเข้มแข็งในการปฏิบัติหน้าที่และยืนหยัดข้างความถูกต้องโดยไม่หวั่นไหว แต่ในความเป็นจริงพวกเรากลับพบว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา การดำเนินการของทางการ โดยเฉพาะกรมควบคุมมลพิษ เริ่มมีลักษณะที่สวนทางและบางส่วนถึงขั้นขัดแย้งกับแนวทางการสะสางทุจริตในหลายด้าน จนประเมินได้ว่าจะก่อความเสียหายให้แก่ประเทศชาติและประโยชน์สาธารณะเพิ่มเติมขึ้นอีก นอกจากนั้น การดำเนินการทั้งหลายยังขาดความโปร่งใสโดยสิ้นเชิง อย่างที่อาจเรียกได้ว่า กำลังมีการทุจริตซ้อนทุจริตเกิดขึ้นกับโครงการนี้ โดยสรุป 4 ประเด็น ดังนี้


 


1.      การสานต่อโครงการเดิมที่ยังเป็นข้อพิพาท พบว่ากรมควบคุมมลพิษและกระทรวงทรัพยากรฯ มีการดำเนินการและการเตรียมการที่จะย้อนกลับไปก่อสร้างโครงการเดิมที่คลองด่านให้แล้วเสร็จและเดินหน้าระบบบำบัดน้ำเสีย โดยปรับปรุงระบบบางส่วน (รายละเอียดตามเอกสารแนบลำดับที่ 1) การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งๆ ที่ผลการตรวจสอบที่ผ่านมา ไม่ว่าโดยภาคประชาชน ภาควิชาการ องค์กรต่างๆ ฝ่ายนิติบัญญัติ และรัฐบาลเอง ต่างก็มีข้อสรุปตรงกันว่า โครงการที่คลองด่านเกิดขึ้นโดยไม่ชอบ และคดีพิพาทระหว่างเอกชนผู้รับเหมากับกรมควบคุมมลพิษก็ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา


 


2.      การขอออกโฉนดใหม่ในที่ดินที่ถูกเพิกถอน พบว่ากรมควบคุมมลพิษได้ร้องขอให้มีการเพิกถอนสภาพของที่ดินซึ่งเป็นคลองสาธารณะ เพื่อขอออกโฉนดใหม่และนำกลับมาใช้ประโยชน์ในโครงการอีกครั้ง โดยได้ทำหนังสือถึงจังหวัดสมุทรปราการ (เอกสารแนบลำดับที่ 2) และสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี (เอกสารกรมแนบลำดับที่ 3) ทั้งนี้ ที่ดินดังกล่าวก็คือส่วนหนึ่งของพื้นที่ตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งทางกรมที่ดินตรวจสอบพบว่า มีการออกโฉนดโดยมิชอบและได้ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2547 เป็นจำนวน 4 แปลง ได้แก่ เลขที่ 15024, 13150, 15528 และ 13817 รวมเนื้อที่ 1, 358 ไร่


 


 


3.      การยอมความคดีอนุญาโตตุลาการ พบว่ากรมควบคุมมลพิษได้ขอชะลอการนัดสืบคดีอนุญาโตตุลาการมาโดยตลอดและไม่พยายามต่อสู้อย่างจริงจัง กระทั่งล่าสุดสำนักงานอนุญาโตตุลาการอนุญาตให้เลื่อนคดีไปจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 ในขณะที่ทางกรมควบคุมมลพิษก็ได้เตรียมการเพื่อเจรจายอมความกับบริษัทเอกชน โดยที่ทางบริษัทเอกชนมีข้อเสนอ 8 ประการ มีประเด็นสำคัญโดยสรุป คือ การให้กรมควบคุมมลพิษต้องรับมอบสิ่งก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียที่สร้างแล้วกลับคืนไปซ่อมแซมเพิ่มเติมและใช้ประโยชน์ ส่วนในกรณีของที่ดินที่เอกชนจัดหา ถ้าเป็นทางสาธารณะ ให้กรมที่ดินออกกฎหมายยอมให้ใช้ประโยชน์ได้ในทันที (เอกสารแนบลำดับที่ 4) เห็นเหเหgได้ชัดว่า หากมีการยอมความตามแนวทางดังกล่าวจะทำให้รัฐเสียประโยชน์ใน 2 ประการสำคัญคือ 1) ถ้าเอกชนจัดหาที่ดินผืนเดิมที่ถูกเพิกถอนโฉนดแล้วมาเสนอ กรมที่ดินก็จะต้องออกกฎหมายยินยอมให้ใช้ประโยชน์ได้ในทันที 2) กรมควบคุมมลพิษไม่มีสิทธิ์เรียกร้องใดๆ อันเนื่องจากความชำรุดของงานที่ได้ส่งมอบหรือไม่ได้มาตรฐานซึ่งต้องทำการก่อสร้างเพิ่มเติม


 


4.      การทำให้คดีอาญาชะงักและประสบอุปสรรค กรณีที่กรมควบคุมมลพิษจะเจรจายอมความกับบริษัทเอกชนในคดีอนุญาโตตุลาการย่อมส่งผลกระทบต่อรูปคดีของคดีอาญาด้วย แต่ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ พวกเราพบว่า ล่าสุดในวันที่ 28 กันยายน 2549 กรมควบคุมมลพิษโดยรักษาการอธิบดี (นางมณทิพย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน) ยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อ 1) ขอเปลี่ยนทนายความฝ่ายโจทก์ในคดีนี้ และ 2) ขอเลื่อนคดีไป 6 เดือน ผลจากการร้องขอดังกล่าวทำให้คดีนี้ที่ศาลได้มีคำสั่งรับฟ้องแล้วเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2548 และมีความคืบหน้าสืบพยานไปแล้ว 8 ปากนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549 เป็นต้นมา ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว อีกทั้งศาลยังได้ตัดจำนวนวันนัดน้อยลง


 


 


พวกเรามีความเห็นโดยสรุปต่อการกระทำทั้ง 4 ประการนี้ ว่าเป็นการแสดงถึงความไม่จริงใจและไม่เอาจริงเอาจังกับการจัดการทุจริต ทั้งยังต้องการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนกลุ่มผู้รับเหมา โดยไม่สนใจว่าประเทศชาติจะเสียหายอีกมากน้อยเท่าไร โดยการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งจากส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการและผู้ที่เข้ามารับผิดชอบงานการสะสางทุจริตในภายหลัง


 


ด้วยโอกาสที่มีการปรับเปลี่ยนการบริหารราชการแผ่นดินในครั้งนี้ และท่านซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจให้มาบริหารดูแลงานในส่วนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม พวกเราจึงหวังว่าท่านจะรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวและดำเนินการแก้ไข ซึ่งพวกเรามีข้อเสนอและข้อเรียกร้องในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน ดังต่อไปนี้



 


ข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนปัจจุบัน


 


เพื่อเป็นการแก้ไขแนวทางการดำเนินการอันผิดพลาดที่ผ่านมาและดำเนินการสู่แนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสาธารณะอย่างแท้จริง พวกเรามีข้อเสนอในแต่ละประเด็นดังนี้


 


1. เรื่องคดีความ กระทรวงทรัพยากรฯ จะต้องดำเนินการต่อสู้คดีความอย่างเต็มที่ ทั้งในส่วนของคดีอนุญาโตตุลาการและคดีอาญา ทั้งนี้โดยดำเนินการดังต่อไปนี้


1.1  คดีอนุญาโตตุลาการ กระทรวงทรัพยากรฯ จะต้อง


§         ยุติการเจรจากับฝ่ายผู้รับเหมาและไม่ยอมรับข้อเสนอที่เป็นเงื่อนไขใดๆ


§         ดำเนินการสืบพยานโดยทันทีตามนัดตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 เป็นต้นไป


§         สนับสนุน เอื้ออำนวย และกำกับดูแลให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในคดีต่อสู้อย่างเต็มที่และจริงจัง


1.2  คดีอาญา กระทรวงทรัพยากรฯ จะต้อง


§         ต้องให้ทนายความที่รู้เรื่องเดิมและรู้พยานเอกสารและรู้พยานบุคคลทำคดีต่อไป


§         สนับสนุน เอื้ออำนวย และกำกับดูแลการต่อสู้คดีตามที่ศาลนัดสืบพยานต่อ ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2550 เป็นต้นไป


 


2. เรื่องการตรวจสอบทุจริต กระทรวงทรัพยากรฯ จะต้องเอื้ออำนวยและสนับสนุนการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบในวงราชการ (ปปช.) ทั้งในส่วนของเอกสารและหลักฐานต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการเอาผิดในส่วนของข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำที่ยังคงไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใดในช่วงที่ผ่านมา สามารถเดินหน้าและลุล่วงไปได้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานที่ดีของชาติบ้านเมืองสืบไป


 


3. เรื่องที่ดิน กระทรวงทรัพยากรฯ จะต้อง


3.1 ยุติการดำเนินการของกรมควบคุมมลพิษ ที่เสนอเรื่องต่อกรมที่ดินขอเพิกถอนความเป็นสาธารณะของคลองต่างๆ ในโครงการ พร้อมทั้งถอนเรื่องเดิมคืนจากกรมที่ดินและสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการด้วย


3.2 เร่งรัดให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินคดีอาญาและแพ่งกับบริษัทรับเหมา ตามที่กรมธนารักษ์เคยได้มอบอำนาจไว้แล้ว


3.3 ยืนยันและกำกับการที่จะไม่ให้มีการเพิกถอนและไม่ออกโฉนดที่ดินทั้ง 4 แปลงที่กรมที่ดินเพิกถอนแล้ว เนื่องจากกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินก็แสดงความประสงค์ไว้ชัดเจนแล้วว่าจะไม่ขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าว


 


4. เรื่องการใช้ประโยชน์ระบบบำบัดน้ำเสียเดิมที่คลองด่าน ในกรณีนี้พวกเราขอเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรฯ ตัดสินใจใช้ประโยชน์พื้นที่และสิ่งปลูกสร้างบริเวณคลองด่านเป็นศูนย์ศึกษาการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยจัดทำเป็นโครงการเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสอันสำคัญแห่งการเฉลิมฉลองการครองราชย์ 60 ปีและวาระเฉลิมพระชนม์มายุครบ 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


 


อนึ่ง รายละเอียดในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวสามารถปรับจากข้อเสนอแนวทางเลือกที่ 4 ตามผลการศึกษา "โครงการกำหนดทางเลือกที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการออกแบบรวบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ" (เอกสารแนบลำดับที่ 5) รายงานการศึกษาดังกล่าวชี้ชัดว่า แนวทางนี้จะสอดคล้องกับผังเมืองรวมสมุทรปราการที่กำหนดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคตของพื้นที่ชายทะเลในบริเวณใกล้เคียงกับระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่านไว้ให้เป็นเขตควบคุมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นสภาพธรรมชาติป่าชายเลน รักษาระบบนิเวศชายฝั่ง รวมถึงอนุรักษ์วิถีชีวิตชุมชนเดิม เช่น หมู่บ้านประมงคลองด่าน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยรักษาสภาพพื้นที่ถิ่นเดิมไว้มากที่สุด และส่งเสริมเกษตรกรรมไม่อนุญาตให้มีโครงการถมดินขนาดใหญ่ (เอกสารแนบลำดับที่ 6) อีกทั้งสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการตรวจสอบและเสนอแนะความเหมาะสมของการดำเนินโครงการจัดการน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ที่นายกฯ ทักษิณแต่งตั้งด้วย


 


พวกเราเชื่อมั่นว่า แนวทางที่เสนอนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวและยั่งยืนทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่าแนวทางการนำระบบกลับมาใช้บำบัดน้ำเสียตามทางเลือกที่กรมควบคุมมลพิษต้องการแล้ว ยังมีความเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสมเหตุสมผลมากกว่าด้วย ดังนี้


 


1) มีความเหมาะสมและใช้ประโยชน์ได้เต็มที่กว่า ตามรายงานการศึกษา "โครงการกำหนดทางเลือกที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการออกแบบรวบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ" ระบุชัดเจนว่า หากใช้ประโยชน์โครงการเดิมในการบำบัดน้ำเสีย (เป็นแนวทางเลือกที่ 2 ในการศึกษา) ก็จะต้องยกเลิกการใช้พื้นที่ที่เป็นบ่อบำบัดขั้นต้น  3 บ่อพื้นที่ผิวน้ำรวม  148,200  ตารางเมตร  บ่อเก็บกากตะกอนชีวภาพ  1 บ่อพื้นที่ผิวน้ำ 127,400 ตารางเมตร บ่อเก็บกากตะกอนจากบ่อบำบัดขั้นต้น 1 บ่อพื้นที่ผิวน้ำ 116,100 ตารางเมตร บ่อเติมอากาศ 3 บ่อ พื้นที่ผิวน้ำรวม 138,400 ตารางเมตร (เอกสารแนบลำดับที่ 7) ในขณะที่หากใช้เป็นศูนย์ศึกษาการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน (รายละเอียดดังเอกสารแนบลำดับที่ 5)


 


2) ประหยัดงบประมาณมากกว่า รายงานการศึกษาดังกล่าวชี้ชัดอีกด้วยว่า หากจะใช้ระบบบำบัดต่อก็จะต้องดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมและซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเสียหาย ซึ่งมีทั้งในส่วนของระบบบำบัดและระบบท่อ (เอกสารแนบลำดับที่ 8) โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงถึง 5,650.72 ล้านบาท และเป็นภาระที่รัฐต้องรับผิดชอบ ในขณะที่การดำเนินการปรับเปลี่ยนส่วนของระบบบำบัดน้ำเสียเป็นศูนย์ศึกษาการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งใช้งบประมาณเพียง 110 ล้านบาท ส่วนระบบรวบรวมน้ำเสียสามารถปรับเปลี่ยนเป็นระบบบรรเทาอุทกภัย ซึ่งใช้งบประมาณเพียง 164.35 ล้านบาท


 


3) เปิดโอกาสให้ดำเนินโครงการบำบัดน้ำเสียจังหวัดสมุทรปราการอย่างถูกต้อง สำหรับข้อกังวลเรื่องการบำบัดน้ำเสียของจังหวัดสมุทรปราการ รายงานการศึกษาฉบับเดียวกันก็ได้นำเสนอทางเลือกการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ในพื้นที่อื่นๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายท่อรวบรวมน้ำเสียเดิมไว้ด้วย (เป็นแนวทางเลือกที่ 3) ผลการศึกษาพบว่ามีพื้นที่สำหรับก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียใหม่รวม 6 แห่ง เป็นพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 3 แห่ง ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา 3 แห่ง (เอกสารแนบลำดับที่ 9)  โดยที่ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นสำหรับความเหมาะสมทางเทคนิค พบว่า พื้นที่ทางเลือกฝั่งตะวันออกที่เหมาะสมที่สุดคือที่บางปู  (เอกสารแนบลำดับที่ 10)  ขณะที่พื้นที่ทางเลือกฝั่งตะวันตกที่เหมาะสมที่สุดคือบริเวณป้อมนาคราช  (เอกสารแนบลำดับที่ 11)  ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเดินหน้าโครงการที่คลองด่าน ซึ่งมีปัญหาในทุกด้าน ตรงกันข้ามกลับควรตั้งต้นดำเนินโครงการนี้ให้ถูกต้องเสียที


 


กล่าวโดยสรุป พวกเราขอยืนยันว่า แนวทางที่เหมาะสมและถูกต้องที่สุดในกรณีเกี่ยวกับการทุจริตโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ก็คือต้องดำเนินการให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น นำเอางบประมาณของรัฐกลับคืนมา ซึ่งเครื่องมือและช่องทางในขณะนี้ก็คือการต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหากดำเนินการส่วนนี้สำเร็จก็ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องเสียดายสิ่งปลูกสร้างของโครงการที่ไร้คุณภาพและชำรุดเสียหาย


 


อย่างไรก็ดี ในเมื่อที่ดินที่สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตั้งอยู่ได้ถูกเพิกถอนโฉนดและตกเป็นสมบัติของแผ่นดินแล้ว การจะนำที่ดินมาใช้ประโยชน์อื่นแทนการบำบัดน้ำเสียจึงสามารถดำเนินการได้ โดยสิ่งก่อสร้างที่อยู่บนที่ดินสาธารณะนั้นย่อมถือเป็นส่วนควบของที่ดิน หากบริษัทรับเหมาอ้างสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างเหล่านั้น ก็ให้ขนย้ายออกไป แต่หากไม่ดำเนินการ แนวทางที่ดีที่สุดก็คือ การปรับเปลี่ยนส่วนของระบบบำบัดน้ำเสียเดิมเป็นศูนย์ศึกษาการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์สาธารณะอย่างยั่งยืนต่อไป อนึ่ง การดำเนินการในส่วนนี้กระทำได้ทันที เนื่องจากในเรื่องของที่ดินนี้มีความชัดเจนแล้ว จึงไม่เกี่ยวพันกับคดีอาญาและคดีอนุญาโตตุลาการที่ดำเนินการอยู่


 


สำหรับการจัดการน้ำเสียในเขตจังหวัดสมุทรปราการก็สามารถดำเนินการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่แยกเป็นระบบฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกได้


 


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศและสาธารณะอย่างสูงสุดต่อไป รวมทั้งเป็นการดำเนินตามนโยบาย 4 ป. ของรัฐบาลชุดนี้ด้วย


 


 


                                                           


                                                                        ขอแสดงความนับถือ


 


           (นางดาวัลย์  จันทรหัสดี)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net