Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis









WORKERS (WITH MONEY) UNITE!


-China"s Shopping Revolution-


 



 


เรื่องโดย  ตติกานต์ อุดกันทา


 


 


คนกรุงเทพฯ หลายคนคงจะเคยเห็นโปสเตอร์สีแดงสดใสเต็มไปด้วยใบหน้ายิ้มแย้มของเหล่ากรรมาชนจีน (ในอดีต) ติดอยู่ตามถนนหนทางต่างๆ กันบ้างแล้ว


 


แม้จะมีบางอย่างที่คุ้นตา-ชวนให้โหยหาอดีต แต่เหล่าสหาย Red Guards ในรูป กลับชูถุงชอปปิงที่มีตราสินค้าแบรนด์เนมหราอยู่อย่างไม่เกรงใจประธานเหมาฯ เอาเสียเลย และด้วยความขัดแย้งอันนี้เองที่ทำให้นิทรรศการ "พลังกรรมาชนจีน - เมื่อเหล่าสหายกลายเป็นนักช็อป" ที่จัดโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจมิใช่น้อย...


 


โปสการ์ดแผ่นจ้อยที่ให้หยิบฟรีตรงทางเข้า-ทำหน้าที่แทนสูจิบัตร บอกให้คนที่มาดูได้รู้ว่า วัตถุประสงค์หลักของนิทรรศการนี้ คือความพยายามที่จะ "คิดต่าง" อีกครั้งหนึ่งของทีซีดีซี ในการ "สร้างแรงบันดาลใจให้นักออกแบบและผู้ประกอบการไทย" ได้เกิดความคิดสร้างสรรค์เพื่อ "พัฒนาผลิตภัณฑ์และส่งออกไปขายในตลาดจีน" ด้วยการมองเหตุและผลในมุมกลับว่า ถึงแม้ว่าจีนจะผงาดสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าส่งออกรายใหญ่ของโลกโดยไม่มีประเทศไหนต่อกรได้ในตอนนี้ แต่กำลังการบริโภคของชาวจีนแผ่นดินใหญ่กว่า 1,300 ล้านคนก็ถือเป็นเป้าหมายที่น่าลงทุนสำหรับคนทั่วโลกเช่นกัน


 


คำถามที่ตามมามีอยู่ว่า...นักลงทุนชาวไทยจะตีตลาดจีนอย่างไรดี


 


คำตอบก็คือ...เราต้องรู้เท่าทันให้ได้ว่า ณ เวลานี้มี "กลุ่มเป้าหมาย" ประเภทไหนอยู่ในจีนบ้าง


 


ความคาดหวังที่จะผูกสัมพันธ์ทางการค้ากับเหล่าสหายจีนนับพันล้านคนจึงเป็นไอเดีย 'สุดยอดบรรเจิด' ที่รัฐบาลและนักลงทุนไทยให้ค่ากับแนวคิดนี้เต็มที่ แต่กว่าจะไปถึงปลายทางฝั่งฝันที่ตั้งกันไว้ให้ได้นั้น อาจมีเรื่องที่ต้องใช้วิจารณญาณประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติมอยู่เหมือนกัน


 



"ตรรกะแห่งความปรารถนา" A New Dialectics of Desire


ถึงแม้ว่า "พรรคคอมมิวนิสต์" ของจีนจะหยัดยืนผ่านกาลเวลามาได้ยาวนานหลายสิบปี และยังคงเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวในรัฐบาลจีนมาจนถึงทุกวันนี้ แต่คงต้องยอมรับกันอยู่ดีว่า ช่วงเวลาอันเฟื่องฟูของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ผ่านพ้นไปนานแล้ว


 


นับตั้งแต่วันที่ "เติ้งเสี่ยวผิง" ประกาศเปิดประเทศอย่างเสียงดังฟังชัดเมื่อราวๆ 28 ปีก่อนว่า ประเทศจีนจะมุ่งหน้าไปสู่ความเป็น "มหาอำนาจ" ไม่ได้ ถ้าไม่ละทิ้งซึ่งความเป็น "สังคมนิยม" หลังจากนั้นไม่กี่สิบปี ประเทศจีนที่เคยเป็นสังคมอุดมการณ์ เต็มไปด้วย "สหาย" ที่ทำงานหนักเพื่อส่วนรวม ก็ได้กลายเป็นสังคมแห่งการผลิตและสังคมแห่ง "ผู้บริโภค" ที่ทรงพลังที่สุดในยุคสหัสวรรษ


 


การประกาศออกมาอย่างชัดเจนของเติ้งเสี่ยวผิง คือการเปิดประเทศจีนสู่ตลาดโลกอย่างเป็นทางการ และนโยบาย "4 ทันสมัย" ของเติ้งเสี่ยวผิงก็ช่วยเอื้อให้อัตราการขยายตัวด้านเศรษฐกิจของจีนเติบโตพุ่งพรวดอย่างรวดเร็วไม่น้อยหน้าประเทศมหาอำนาจจากตะวันตก


 


การเปรียบเทียบระหว่างกรรมาชนผู้ทำงานหนักเพื่อสร้างสังคมในอุดมคติและมีชีวิตอยู่เพื่อรับใช้ความเชื่อของผู้นำในยุคประธานเหมาเจ๋อตุง จึงแตกต่างราวฟ้ากับดินเมื่อถูกนำมาวางเคียงข้างภาพของชาวจีนหลัง พ.ศ. 2521


 


ความเป็นอยู่และวิถีชีวิตที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายตั้งแต่ยุคสหายครองเมือง ถูกนำมาจัดวางเพื่อเปรียบเทียบกับสภาพชีวิตของชาวจีนยุคปัจจุบัน และนิทรรศการของทีซีดีซีครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตอันรุ่มรวยของชาวจีนยุคใหม่ที่ดูจะห่างไกลจากอุดมการณ์เรื่อง "ความเท่าเทียมกันของชนชั้น" ที่เคยเกิดขึ้น รุ่งเรือง และอยู่คู่สังคมจีนมาจนถึงเมื่อราวๆ 20 กว่าปีก่อนและค่อยๆ ล่มสลายลงได้เป็นอย่างดี


 


กลุ่มเป้าหมาย หรือชาวจีนที่แปลงร่างจากบรรดา "สหาย" กลายเป็น "นักช็อป" ตามที่นิทรรศการครั้งนี้จัดประเภทไว้ก็ได้แก่ จักพรรดิน้อย, วัยรุ่นครองเมือง, หนุ่มเจ้าสำอาง, นักช็อปปิงเพื่อยกระดับสถานะทางสังคม และก็...คนรุ่นใหม่ที่ติดนิสัย "สะดวกซื้อ"


 


 


   


"สหายทั้งหลาย พวกท่านยังเยาว์วัยกว่าข้าพเจ้านัก


ดังนั้นท่านมีโอกาสที่จะได้พบเหตุการณ์ภายหน้าอีกมากมาย


หากจีนยังคงเป็นประเทศสังคมนิยมอยู่


จีนจะห่างไกลความเป็นมหาอำนาจ


และคงอยู่ในโลกที่สามอย่างไรก็อย่างนั้น"


 


-เติ้งเสี่ยวผิง, ปี 2521-


 


 


จักรพรรดิน้อย หรือ Little Emperor เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนหลังจากที่เติ้งเสี่ยวผิงออกนโยบาย "ลูกคนเดียว" (One Child Policy) มาใช้เมื่อปี พ.ศ. 2522 ที่ระบุว่า แต่ละครอบครัวควรมีบุตรเพียงคนเดียวก็พอ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดภาวะประชากรล้นประเทศ ทำให้ประชากรวัยเด็กของจีนลดลงฮวบฮาบไปประมาณ 400 ล้านคน


 


เมื่อมีลูกเพียงคนเดียว แต่ละครอบครัวจึงเอาอกเอาใจลูกหลานเป็นพิเศษ ทำให้เกิดการทุ่มเงินแบบไม่อั้นให้กับอนาคตของลูกหลาน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมด้านการศึกษา การพัฒนาทักษะด้านต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมความสามารถพิเศษอื่นๆ นอกเหนือจากการเล่าเรียน


 


ทุกวันนี้เด็กหญิงและเด็กชายชาวจีนที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี และมีราวๆ 200 ล้านคน จึงมีสภาพไม่ต่างจากจักรพรรดิน้อยๆ ของครอบครัว ไม่ว่าจะอยากได้อะไร พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็จะพยายามสรรหามาให้จนได้


 


จากรายงานที่รัฐบาลจีนรวบรวมมาได้ยืนยันว่าแต่ละครอบครัวใช้เงินร้อยละ 30 ของรายได้รวมภายในบ้านเพื่อการปรนเปรอจักรพรรดิน้อยๆ เหล่านี้


 


ดังนั้นธุรกิจที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตได้ดีกับกลุ่มจักรพรรดิน้อยก็คือธุรกิจการศึกษา เช่น โรงเรียนกวดวิชา การจัดพิมพ์คู่มือหรือตำราภาษาต่างประเทศ โรงเรียนสอนดนตรี บัลเลต์ หรือสโมสรกีฬาต่างๆ ที่จะช่วยให้จักรพรรดิเหล่านี้ดูดีมีความรู้เชิดชูวงศ์ตระกูลต่อไป


 


ส่วนกลุ่ม วัยรุ่นครองเมือง หรือ Teen Republic ก็คือลูกคนเดียวของครอบครัวจีนที่โตพ้นวัยจักรพรรดิน้อยไปแล้ว พอเริ่มเป็นวัยรุ่น ก็เป็นธรรมดาที่หนุ่มสาวชาวจีนจะต้องการความทันสมัยและโดดเด่น วัยรุ่นจีนสมัยนี้จึงเล่นอินเตอร์เน็ตเพื่ออัพเดทเทคโนโลยีและแฟชั่นทันสมัยจากโลกไซเบอร์กันอย่างสนุกสนาน


 


อินเตอร์เน็ตจึงเป็นเครื่องมือที่เปิดให้โลกของวัยรุ่นจีนยุคใหม่กว้างไกลกว่าวัยรุ่นในยุคสมัยพ่อแม่และปู่ย่าตายายที่ถูกจำกัดวงให้เติบโตขึ้นมาในกรอบของสังคมนิยมเต็มรูปแบบ


 


ศาสดาของวัยรุ่นจีนจึงได้แก่เวบไซต์ต่างๆ ในอินเตอร์เน็ต ซึ่งถึงแม้ว่าจะถูกอำนาจรัฐคอยควบคุมสอดส่องอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าพวกเขาอยากรู้ในเรื่องราวอื่นๆ ที่ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง ก็อาจจะไม่ค่อยถูกแทรกแซงจากรัฐบาลสักเท่าไหร่ และถือว่าชาวจีนยุคใหม่มีอิสระและช่องทางในการหาข้อมูลความรู้ใส่ตัวมากกว่าผู้คนในยุคก่อนหน้ามากนัก


 


ธุรกิจอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีต่างๆ จึงเป็นตัวเลือกที่หอมหวนยวนใจ ชวนให้นักลงทุนแห่เข้าไปลิ้มลองส่วนแบ่งทางการตลาดไม่แพ้กับกลุ่มก่อนหน้า


 


กลุ่มที่น่าสนใจลำดับถัดมา ก็คือบรรดา หนุ่มเจ้าสำอาง หรือ Male Beauty Liberation ที่เปลี่ยนนิยามของคำว่า "ความงาม" ในยุคประธานเหมาฯ ชนิดที่เป็นขั้วตรงข้ามกันเลยทีเดียว


 


ในอดีตที่แนวคิดสังคมนิยมซึ่งมุ่งเน้นความเท่าเทียมกันทางชนชั้นยังได้รับความนิยมอยู่นั้น ความงามของชนชั้นกรรมาชีพอยู่ที่ "ความดีภายในจิตใจ" ซึ่งวัดได้จาก "การปฏิบัติตนต่อสังคม"


 


ต้นแบบหรือ "ไอดอล" คนสำคัญในยุคสหายเฟื่องฟู ได้แก่ Lei Feng หรือสหาย "เหล่ยเฟิง" ทหารหนุ่มในกองทัพสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มุ่งมั่นทำงานหนักเพื่อสร้างสังคม "ในอุดมคติ" จนตายในหน้าที่ (ด้วยวัยเพียง 22 ปีเท่านั้นเอง) ประธานเหมาฯ จึงออกหนังสือชื่อว่า "เรียนรู้จากสหายเหล่ยเฟิง" หรือ Learn from Comrade Lei Feng สำหรับใช้เป็นคู่มือประชาสัมพันธ์แนวทางการปฏิบัติตนของเหล่าสหายจีนยุคนั้น ซึ่งพูดได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า คุณค่าแห่งความงามของผู้ชายจีนในสมัยประธานเหมาฯ วัดกันได้ที่การทำงานทุ่มเทเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่วัดกันที่หน้าตาหรือรูปลักษณ์ภายนอก! (โปรดดูรูปสหายเหล่ยเฟิงประกอบ...)


 


 


 


สหายเหล่ยเฟิง


 


 


แต่หนุ่มจีนวัยยี่สิบต้นๆ ไปจนถึงวัยหนุ่มฉกรรจ์ในยุคนี้ไม่นิยมเรื่องการทำงานหนักอีกต่อไป เพราะการใช้หยาดเหงื่อแรงงานทุ่มเทมากเกินไปจะทำให้พวกเขาดูแก่กว่าวัย หรือกรณีที่หน้าตาภายนอกไม่ดูดีดังใจ หนุ่มจีนส่วนใหญ่ หรือประมาณร้อยละ 30 สามารถเลือกความงามที่พึงพอใจของตัวเองได้ด้วยการผ่าตัดทำศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นเสริมจมูก กรีดตา หรือแม้แต่การทำผิวสีแทนให้ดูเข้มคมสมชายโดยไม่ต้องไปตากแดดกลางแจ้งให้เสี่ยงภัยกับการเป็นมะเร็งผิวหนังด้วย


 


จากข้อมูลตามสถิติที่สมาคมผมและความงามแห่งประเทศจีนรวบรวมไว้ ระบุว่าผลิตภัณฑ์ดูแลรูปลักษณ์สำหรับผู้ชายมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 14.5 ต่อปี และมีการคาดคะเนไว้ว่า ธุรกิจนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 6 พันล้านบาทภายในปี 2552


 



ถัดมาก็คือกลุ่ม นักช็อปปิงเพื่อยกระดับสถานะทางสังคม หรือ Status Shopper ถือเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่แม้จะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ แต่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงสุดเลยก็ว่าได้


 


ชาวจีนที่ติดอยู่ในกลุ่มเหล่านี้มีทั้งหญิงและชายในวัยทำงาน ส่วนใหญ่จะเป็นคนทำงานในระดับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง หรือไม่ก็เป็นเจ้าของกิจการ ที่บริโภคสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศเป็นว่าเล่น เพราะการใช้ของแพงถือเป็นการแสดงฐานะทางสังคมที่เห็นผลชัดเจนที่สุดสำหรับชาวจีนกลุ่มนี้


 


การซื้อหาสินค้าอุปโภคราคาแพง (อาทิ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องเพชร และ รถยนตร์) มาประดับบารมีของกลุ่มนักช็อปเพื่อยกระดับตัวเอง ณ เวลาปัจจุบัน ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และถ้าประชาชนแดนมังกรยังบริโภคสินค้าเหล่านี้ด้วยอัตราเท่าเดิม ว่ากันว่า อีกไม่ถึงสิบปี จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริโภคอันดับ 1 ของโลกได้อย่างไม่ยากเย็นอะไรเลย ทั้งที่รัฐบาลจีนเพิ่งจะอนุญาตให้มีการนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมได้เมื่อไม่นานนี้เอง


 


สำหรับกลุ่มสุดท้าย คือ คนจีนรุ่นใหม่ ติดนิสัย "สะดวกซื้อ" หรือ Chinese Takeaway หมายถึงชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ รวมกันทั่วประเทศแล้วมีมากถึง 556 ล้านคน


 


ชาวจีนที่อยู่ในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนที่เติบโตมาในครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวขนาดเล็กที่ถูกตัดขาดจากกรอบและแนวคิดในยุคสังคมนิยม วิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้จึงเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม


 


ชนชั้นกลางในเมืองอยู่กับความสะดวกรวดเร็วจนกลายเป็นความเคยชิน การซื้อหาสินค้าเพื่อใช้อุปโภคบริโภคจึงมุ่งเน้นที่ความสะดวกสบายและรวดเร็วทันใจ สินค้าแบบ Takeaway ที่สามารถซื้อหาได้ง่ายดาย และนำไปบริโภคได้ทุกหนทุกแห่งตามสะดวกจึงเป็นสินค้าที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางธุรกิจสูงมาก


 


ตัวอย่างที่สำคัญของสินค้าและบริการประเภทนี้ก็คือการเกิดขึ้นของ "ร้านสะดวกซื้อ" ที่ให้บริการรวดเร็วทันใจและหาได้ในทุกที่ นอกจากนี้สินค้าเพื่อสุขภาพ เช่น น้ำดื่มบรรจุขวด อาหารเสริม หรือแม้กระทั่งถุงยางอนามัย ได้กลายเป็นสินค้าขายดีสำหรับชาวจีนในยุคแดกด่วนเฟื่องฟูเช่นเดียวกัน


 


 


 


 


 


ความฝันของชาวจีนยุคใหม่ - Chinese Dream


นอกจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นักวิชาการจีนได้ถกเถียงกันถึงค่านิยมที่เกิดขึ้นในระยะ 20 กว่าปีหลังด้วย ค่านิยมที่ว่าคือแนวคิดการดำเนินชีวิตแบบ Chinese Dream ที่มีต้นแบบจาก American Dream ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่ทำงานหนักและรู้จักสร้างโอกาสให้ตัวเองจะต้องได้พบกับความสุขสบายของชีวิตในที่สุด


 


เมื่อค่านิยมเรื่องไชนีสดรีมเกิดขึ้น มันจึงทำหน้าที่ไม่ต่างจากแนวคิดเรื่องอเมริกันดรีมที่รับใช้สังคมอเมริกามานานหลายทศวรรษ ผู้คนจำนวนมากจากต่างจังหวัดและต่างชาติพากันอพยพเข้าไปยังเมืองใหญ่ของจีนเพื่อหางานทำ และจำนวนประชากรที่เข้ามาแออัดกันในเมืองใหญ่ก็เพิ่มสูงขึ้นมากจนน่าเป็นห่วง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดช่องว่างเรื่องรายได้ เพราะชาวจีนที่อพยพเข้าเมืองไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากการอุทิศตนเป็นแรงงานหรือกลไกพื้นฐานที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ


 


เนื่องจาก "คน" คือทรัพยากรที่จีนมีอย่างเหลือเฟือ นักลงทุนจากต่างชาติที่เข้าไปตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในจีนย่อมเล็งเห็นแล้วว่าต้นทุนในการผลิตของตนจะถูกลง แต่ผลผลิตยังได้ปริมาณเท่าเดิม หรืออาจจะมากขึ้น แรงงานจีน หรือ "กรรมาชนจีน" จึงเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง


 


แต่คนจีนมากมายที่เลือกจะเป็นส่วนหนึ่งในตลาดแรงงานกลับเป็นได้แค่ "คนจน" ในเมืองใหญ่ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า แต่ว่าระหว่างทางที่มุ่งมั่นทำงาน ณ เวลาปัจจุบัน ชาวจีนชนชั้นแรงงานกลับไม่มี "คุณภาพชีวิต" ที่ดีเป็นของตัวเองเลย


 


ขณะที่ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในเมืองมีกำลังซื้อหามากมาย แต่คนจนหรือชนชั้นแรงงานที่อาศัยอยู่ในเมืองเดียวกันกลับต้องเผชิญกับอัตราการแข่งขันและการงานที่หนักหน่วงในระบบสายพานการผลิตที่ต้องผลิตสินค้ามากมายออกมารองรับความต้องการบริโภคของคนเหล่านี้


 


นักวิชาการจีนที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ พากันแสดงความเป็นห่วงเป็นใยว่า จำนวนประชาชนที่อพยพมาหางานทำในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นรุนแรง และจุดอ่อนของไชนีสดรีมก็คือการจัดสรรส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจอย่างไม่เท่าเทียมกัน เหมือนอย่างที่อเมริกันดรีมในอดีตล้มเหลว เพราะไม่อาจสร้างชีวิตที่สุขสบายและยั่งยืนให้แก่บรรดานักเสี่ยงโชคได้จริง


 


เช่นเดียวกับความพยายามในการตีตลาดจีน ประเทศไหนที่คิดจะส่งออกสินค้าเข้าไปในจีน คงต้องคิดหนักว่า การส่งสินค้าไปขายในตลาดจีนต้องลงทุนเป็นอะไรบ้าง หากมองแค่เรื่องแรงงานราคาถูกเพียงอย่างเดียวก็ดูจะเป็นการแข่งขันที่เอาชนะได้ยากแล้ว


 


หากความมุ่งมั่นที่จะส่งสินค้าออกไปยังตลาดจีนหมายถึงการลดต้นทุนการผลิต ก็ไม่แน่นักว่าประเทศไทยหรือประเทศไหนๆ จะสู้จีนได้ในเรื่องของแรงงานราคาถูก หรือถ้ามีการกดให้แรงงานในประเทศของตัวเองต้องทำงานด้วยค่าแรงที่ถูกยิ่งกว่าแรงงานในจีน ก็คงจะเป็นการเริ่มต้นธุรกิจที่ไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่นัก


 


เช่นเดียวกับที่ภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสังคมจีน ก็มีผู้เชี่ยวชาญเฝ้ามองดูด้วยความเป็นห่วงอยู่มิใช่น้อย เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เศรษฐกิจสร้างความแตกต่างระหว่างชนชั้นมากจนเกินไป กลไกการล้างกระดานเพื่อสร้างความสมดุลย์ในสังคมก็อาจวนกลับมาใหม่อีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้


 


 



 


 


ความร่ำรวยนั้นน่าอภิรมย์…


หากมองย้อนไปในอดีตอันแสนจะรุ่งเรืองของดินแดนมังกรจีนในสมัยราชวงศ์ต่างๆ จะพบว่าความหรูหราโอ่อ่าและมีรสนิยมที่เน้นถึงความเป็น "ที่สุด" ในทุกด้าน ยังทิ้งร่องรอยเอาไว้ในอารยธรรมจีนอย่างชัดแจ้ง


 


ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกำแพงที่ยิ่งใหญ่ติดอันดับสิ่งมหัศจรรย์ของโลก หรือพระราชวังอันใหญ่โตอลังการ รวมถึงวัฒนธรรมการบริโภคเพื่อแสดงฐานะอันดี (ทั้งของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่และผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว) จะเห็นได้ว่าวิถีแห่ง "การบริโภคนิยม" คงอยู่คู่กับชาวจีนมายาวนานไม่แพ้แนวคิดเรื่องความสมถะ ขยัน และอดออม


 


เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ความแตกต่างระหว่าง 2 แนวคิด (หรือ 2 ชนชั้น) ดำเนินมาจนถึงขีดสุด การผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นมาเองในสังคมโดยอัตโนมัติ


 


สมัยที่ซุนยัตเซ็นปฏิวัติการปกครองจากระบอบราชวงศ์มาเป็นรัฐชาตินิยมในปี 2455 ได้ให้เหตุผลเอาไว้ว่าต้องการจะล้มล้างราชวงศ์ที่เอาแต่เสวยสุขโดยไม่สนใจประชาชน แนวคิดสวยหรูเรื่องการปกครองทุกผู้คนด้วยความเท่าเทียม จึงปรากฏชัดเจนขึ้นในประวัติศาสตร์ของประเทศจีน แต่หลังจากนั้นไม่นาน อำนาจที่เปลี่ยนมือก็สร้างความแตกแยกใหญ่หลวงแก่สังคมจีนเช่นเดิม


 


พรรคกั๊วะมินตั๋งที่ซุนยัตเซ็นก่อตั้ง และหวังจะสร้าง "ประชาธิปไตย" ให้เกิดขึ้นในจีน ต้องพ่ายแพ้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตุงในปี 2493 เนื่องจากการปกครองในระบอบรัฐบาลพรรคเดียวของพรรคกั๊วะมินตั๋งขณะนั้นได้ดำเนินมาถึงจุดล่มสลายเช่นกัน


 


ไม่เพียงแต่ล้มเหลวในการสร้างความเป็นอยู่อันสุขสมบูรณ์ให้กับประชาชนถ้วนหน้า รัฐบาลจีนในยุคนั้นยังพลาดท่าด้วยการปล่อยให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษของชาวต่างชาติขึ้นในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ทำให้ชาวจีนที่ยากจน (และเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม) หมดศรัทธากับลมปากของผู้นำที่ปล่อยให้คนบางกลุ่มได้สุขสบายบนหยาดเหงื่อแรงงานของคนจีนอีกเป็นจำนวนมาก


 


เมื่อเหมาเจ๋อตุงและพรรคคอมมิวนิสต์สามารถล้มล้างรัฐบาลกั๊วะมินตั๋งออกไปจากผืนแผ่นดินใหญ่ได้ จีนก็ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นดินแดนสังคมนิยมโดยสมบูรณ์แบบ


 


ต่อจากนั้น วงจรแห่งความเปลี่ยนแปลงก็ยังทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ เมื่อระบอบสังคมนิยมที่มุ่งเน้นความเท่าเทียมของทุกชนชั้นที่เหมาเจ๋อตุงชูธงไว้กลับสร้างได้เพียง "ความจนโดยเท่าเทียม" และชาวจีนส่วนใหญ่ยังอยู่ห่างไกลจากคำว่าสุขสบายมากนัก ความเคลื่อนไหวของผู้นำยุคใหม่อย่างเติ้งเสี่ยวผิงที่ออกมาประกาศให้จีนเปิดตัวเองสู่ตลาดโลก จึงเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผลตามวาระอันสมควรของมัน


 


การเล่นไปตามเกมและกลไกของตลาดโลกทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก้าวกระโดดจากจุดเดิมไปไกล และวัฒนธรรมการบริโภคนิยมก็กลับมาสู่อ้อมใจของชาวจีนทั้งหลายอีกครั้ง ซึ่งถ้าจะพูดกันอย่างจริงๆ จังๆ ก็คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธได้เต็มปากเต็มคำนักว่า ไม่อยากมีชีวิตที่สุขสบาย อยากซื้ออยากหาหรือว่าจับจ่ายอะไรก็ทำได้ตามเสรี


 


ด้วยเหตุและผลทั้งหมดนี้ แม้อดีตสหายกว่าพันล้านคนในจีนจะถือเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่และน่าสนใจอย่างที่นิทรรศการของทีซีดีซีได้เสนอแนวทางเอาไว้จริง แต่การจะตัดสินใจลงทุนอย่างจริงจัง อาจต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านต่างๆ อีกมากมายนัก…


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net