Skip to main content
sharethis




21


การทำเหมืองทองคำคุกคามธารน้ำแข็งโบราณในเทือกเขาแอนดีส


 


บาร์ริคโกลด์ (Barrick Gold) บรรษัทเหมืองทองคำข้ามชาติยักษ์ใหญ่ มีแผนการที่จะละลายธารน้ำแข็งสามแห่งในเทือกเขาแอนดีสเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ ประชาชนและเอ็นจีโอจำนวนมากทั้งในชิลีและทั่วโลกกำลังต่อต้านการเปิดเหมืองนี้ เพราะมันจะทำลายแหล่งต้นน้ำของเกษตรกร


 


เมื่อปลายปี ค.ศ. 2005 นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมขนน้ำแข็งมากองไว้นอกสำนักงานใหญ่ของบรรษัทบาร์ริคโกลด์ในกรุงซานติอาโก ก่อนหน้านี้เมื่อตอนต้นปี ประชาชนหลายพันคนเดินขบวนตะโกนคำขวัญว่า "เราไม่ใช่อาณานิคมของอเมริกาเหนือ" และชูก้อนทองคำปลอมที่มีคำว่า "ทองคำสกปรก"


 


การทำเหมืองทองครั้งนี้จะสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ระบบนิเวศวิทยาในบริเวณนั้น สร้างมลภาวะต่อแม่น้ำฮวสโก รวมทั้งแหล่งน้ำใต้ดินด้วย เพราะการทำเหมืองทองคำของบาร์ริคโกลด์จะมีการใช้ไซยาไนด์ ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิต ประชาชนและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเกรงว่า ไซยาไนด์จะรั่วไหลลงไปในระบบน้ำตามธรรมชาติและก่อปัญหามลพิษแก่ระบบนิเวศวิทยาปลายน้ำทั้งหมด การก่อสร้างเหมืองจะเริ่มลงมือในปี ค.ศ. 2006 และดำเนินการเต็มที่ใน ค.ศ. 2009


 


บาร์ริคโกลด์เป็นบรรษัทสัญชาติแคนาดาและเป็นบรรษัทเหมืองทองคำที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก เคยมีประวัติเลวร้ายมาก่อนในด้านการทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกรณีฝังคนงานเหมือง 50 คนทั้งเป็นในแทนซาเนีย จอร์จ ดับเบิลยู บุช เคยเป็น "ประธานกิตติมศักดิ์" ในคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศของบาร์ริคโกลด์ช่วงปี ค.ศ. 1995-1999


 


22


กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ


ใช้จ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์โดยไม่มีการเปิดเผย


 


งบประมาณด้านความมั่นคงกว่า 8 พันล้านดอลลาร์ถูกแจกจ่ายให้แก่มลรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่เหตุวินาศกรรม 9/11 เป็นต้นมา แต่ทั้งหมดนี้เป็นงบลับที่สาธารณชนไม่มีทางรู้ว่าใช้จ่ายไปอย่างไรและในเรื่องอะไร


 


กระทรวงและมลรัฐต่างๆ อ้างว่า การใช้จ่ายต้องเป็นความลับเพื่อไม่ให้ฝ่ายผู้ก่อการร้ายรู้จุดอ่อน แต่สิ่งนี้ต้องแลกมาด้วยความโปร่งใสและการตรวจสอบ ประชาชนไม่สามารถควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐบาลและข้าราชการได้ ในบางมลรัฐ เช่น โคโลราโด ทั้งๆ ที่ไม่มีแผนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเลยแม้แต่แผนเดียว แต่กลับใช้งบประมาณนี้ไปแล้ว 130 ล้านดอลลาร์ จนวุฒิสมาชิกประจำรัฐนี้ต้องตั้งคำถามว่า "คุณใช้จ่ายเงินไปตั้ง 130 ล้านดอลลาร์เพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิทั้งๆ ที่ไม่มีแผนเฮงซวยอะไรเลยได้ยังไงวะ?" จนเดี๋ยวนี้ยังไม่มีคำตอบอย่างเป็นทางการจากรัฐโคโลราโด


 


23


บรรษัทน้ำมันสหรัฐฯ หาทางทำลายพิธีสารเกียวโตในยุโรป


 


กลุ่มกรีนพีซได้หลักฐานเอกสารที่เปิดโปงให้รู้ว่า อุตสาหกรรมน้ำมันสหรัฐฯ สนับสนุนทางการเงินแก่นักล้อบบี้ให้หาทางยกเลิกพิธีสารเกียวโตในยุโรป โดยวางแผนชักจูงกลุ่มธุรกิจ นักการเมืองและสื่อมวลชนในยุโรปให้คล้อยตามว่า สหภาพยุโรปควรยกเลิกข้อผูกมัดที่มีภายใต้พิธีสารเกียวโต ซึ่งครอบคลุมมาตรการลดก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกและความเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ


 


24


หุ้นบรรษัทฮัลลิเบอร์ตันของรองประธานาธิบดีเชนีย์


มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า 3000% เมื่อปีที่แล้ว


 


มูลค่าหุ้นของประธานาธิบดีดิ๊ก เชนีย์ในบรรษัทฮัลลิเบอร์ตัน พุ่งขึ้นจาก 241,498 ดอลลาร์ใน ค.ศ. 2004 เป็นกว่า 8 ล้านดอลลาร์ใน ค.ศ. 2005 เป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่า 3,000% พร้อมๆ กับที่ฮัลลิเบอร์ตันร่ำรวยจากสัญญามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่ทำกับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยไม่ต้องผ่านการเสนอราคาประมูลหรือตรวจสอบบัญชี


 


ฮัลลิเบอร์ตันได้สัญญาการทำงานกว่าหมื่นล้านดอลลาร์ในอิรัก ได้รับสัญญาก่อสร้างเพื่อฟื้นฟูเมืองหลังพายุแคทรีนาอีกหลายโครงการโดยไม่มีการตรวจสอบ นอกจากนี้ บริษัทสาขาในต่างประเทศของฮัลลิเบอร์ตันยังหลีกเลี่ยงกฎหมายสหรัฐฯ เพื่อทำธุรกิจกับอิหร่าน (ดูข่าว #2) แม้ว่ารองประธานาธิบดีเชนีย์จะอ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฮัลลิเบอร์ตันแล้ว แต่เขายังรับบำนาญจากบรรษัทนี้อีกปีละราว 200,000 เหรียญ


 


ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนทำนองเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นกับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม นายโดนัลด์ รัมสเฟลด์ ซึ่งมีหุ้นอยู่ในบรรษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Gilead Sciences ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาทามิฟลูที่ใช้รักษาไข้หวัดนก รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งที่สั่งซื้อยานี้ ในปี ค.ศ. 2005 เพนตากอนสั่งซื้อยาทามิฟลูด้วยมูลค่าถึง 58 ล้านดอลลาร์ และสภาคองเกรสกำลังพิจารณาจัดซื้อยานี้ในมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์


 


25


กองทัพสหรัฐฯ ในปารากวัยคุกคามความมั่นคงของภูมิภาคละตินอเมริกา


 


กองทหารสหรัฐฯ ยกพลเข้ามาในปารากวัยพร้อมเครื่องบินและอาวุธยุทโธปกรณ์ในเดือนกรกฎาคม 2005 ไม่นานหลังจากที่วุฒิสภาปารากวัยลงนามให้กองทหารอเมริกันได้รับความคุ้มกันจากศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ดู #16)


 


แม้ว่าสหรัฐฯ และรัฐบาลปารากวัยจะปฏิเสธเสียงแข็งว่า ไม่มีความคิดที่จะก่อตั้งฐานทัพอเมริกันในปารากวัย แต่ฐานทัพอากาศมาริสกัล เอสติการ์ริเบีย ที่ตั้งห่างจากประเทศโบลิเวียและอาร์เจนตินาเพียง 124 ไมล์ และห่างจากจุดเชื่อมต่อชายแดนสามประเทศระหว่างบราซิล ปารากวัยและอาร์เจนตินาเพียง 200 ไมล์ กลับมีการขยายจนรองรับเครื่องบินรบขนาดใหญ่ได้หลายลำ ทั้งๆ ที่กองทัพอากาศปารากวัยมีเครื่องบินรบขนาดเล็กแค่ไม่กี่ลำ ฐานทัพแห่งนี้ยังรองรับกำลังพลได้ 16,000 นาย มีระบบเรดาร์ขนาดใหญ่ โรงเก็บเครื่องบินขนาดมหึมา และหอควบคุมการจราจรทางอากาศ ทางขึ้นลงของเครื่องบินยังใหญ่กว่าที่สนามบินนานาชาติในกรุงอะซุนซิโอนที่เป็นเมืองหลวงของปารากวัยด้วยซ้ำ ใกล้กับฐานทัพมีค่ายทหารที่เพิ่งขยายขนาดเมื่อเร็วๆ นี้


 


สหรัฐฯ ใช้ข้ออ้างของการเคลื่อนกำลังพลครั้งนี้ว่า ในเขตที่เป็นจุดเชื่อมต่อชายแดนสามประเทศนั้น มีเครือข่ายผู้ก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกับกลุ่มเฮซบอลเลาะห์และกลุ่มฮามาสในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ค่อยขึ้นเลย


 


การที่ฐานทัพแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ทำให้โบลิเวียไม่สบายใจ โบลิเวียมีประวัติยาวนานของการที่ประชาชนประท้วงการขูดรีดของสหรัฐฯ เนื่องจากโบลิเวียมีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่เป็นที่สองในอเมริกาใต้ และประธานาธิบดีโมราเลสเพิ่งออกกฤษฎีกาโอนแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมดกลับมาเป็นของชาติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2006 นี้เอง


 


เมื่อนายโดนัลด์ รัมสเฟลด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ไปเยือนปารากวัยในเดือนสิงหาคม 2005 เขาบอกกับผู้สื่อข่าวว่า "มีหลักฐานชัดเจนว่าทั้งคิวบาและเวเนซุเอลาเข้าไปพัวพันกับสถานการณ์ในโบลิเวียในหนทางที่ไม่สร้างสรรค์" นักวิเคราะห์ทางทหารของอุรุกวัยและโบลิเวียยืนยันว่า ภัยคุกคามของการก่อการร้ายมักเป็นข้ออ้างของสหรัฐฯ ในการใช้กำลังทหารแทรกแซงและเข้ามาผูกขาดทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคละตินอเมริกา


 


ในขณะที่รัฐบาลปารากวัยเอาใจออกห่างจากเพื่อนบ้านด้วยการเปิดประเทศให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาปฏิบัติการทางทหารในใจกลางทวีปอเมริกาใต้ แต่ประชาชนและองค์กรเอกชนในปารากวัยกลับประท้วงการตั้งฐานทัพสหรัฐฯ อย่างดุเดือด


 


ปารากวัยเป็นประเทศผู้ผลิตถั่วเหลืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก พร้อมกับที่ธุรกิจเกษตรนี้ขยายตัวออกไป เกษตรกรยากจนก็ถูกขับไสไล่ส่งออกไปจากที่ดิน เกษตรกรจึงรวมตัวกันประท้วง ปิดถนนและบุกเข้ายึดที่ดินกลับคืนมา พวกเขาต้องเผชิญกับการปราบปรามกดขี่จากกองทัพ ตำรวจและกองกำลังกึ่งทหารรับจ้าง


 


กลุ่มสิทธิมนุษยชนในปารากวัยรายงานว่า การปราบปรามเกษตรกรอย่างรุนแรงที่สุดมักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีกองทหารของสหรัฐฯ ตั้งอยู่ นำไปสู่การเสียชีวิตของเกษตรกรถึง 41 ราย โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่า กองทัพสหรัฐฯ เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ตำรวจและทหารชาวปารากวัยถึงวิธีจัดการกับกลุ่มเกษตรกร รัฐบาลสหรัฐฯ มีประวัติโชกเลือดยาวนานในการเข้าไปช่วย "ปราบจลาจล" ในละตินอเมริกา


 


การที่หลายประเทศในอเมริกาใต้เริ่มเลี้ยวซ้ายย่อมทำให้สหรัฐอเมริกาไม่พอใจ หากเป็นสมัยก่อน สหรัฐฯ คงใช้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หนุนหลังให้เกิดการรัฐประหารหรือเข้าไปใช้กำลังทางทหารแทรกแซงโดยตรงแล้ว แต่ละตินอเมริกายุคนี้ก็ไม่เหมือนยุคก่อน หลายประเทศพยายามจับมือกันอย่างใกล้ชิด อาทิ อาร์เจนตินา บราซิล เวเนซุเอลาและโบลิเวีย ลงนามในข้อตกลงร่วมกันที่จะช่วยโบลิเวียพัฒนาแหล่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นเพียงสามวันก่อนที่ประธานาธิบดีโมราเลสจะออกกฤษฎีกาโอนกิจการพลังงานกลับมาเป็นของชาติ บรรษัทข้ามชาติทั้งหลายจะพอใจหรือไม่พอใจ พวกเขาก็ต้องจำใจทำธุรกิจในโบลิเวียต่อไป แม้ว่าจะต้องจ่ายให้รัฐบาลโบลิเวียเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 4 เท่า และหากบรรษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกันหรือยุโรปคิดจะถอนตัวจากโบลิเวีย ก็มีบรรษัทสัญชาติจีนและรัสเซียจ่อคิวต่อแถวอย่างกระเหี้ยนกระหือรืออยู่แล้ว


 


รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่พอใจในความเป็นไปที่เกิดขึ้น รัมสเฟลด์กล่าวหาชาเวซว่าเป็นฮิตเลอร์และเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยในภูมิภาค ความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ เริ่มหลั่งไหลเข้าไปในโคลอมเบียและปารากวัย กระนั้นก็ตาม ประชาชนในอีกหลายประเทศก็เริ่มท้าทายสหรัฐฯ มากขึ้น เอกวาดอร์ปั่นป่วนตลอดเวลาด้วยการประท้วงที่เรียกร้องให้ขับไล่บรรษัทน้ำมันต่างชาติออกไปและยุติการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ รวมทั้งประท้วงการมีฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ตั้งอยู่ที่เมืองมันตาด้วย


 


สื่อกระแสหลักมักเลือกเสนอข่าวด้านเดียว ไฟแนนเชียลไทมส์ อ้างว่า ประเทศส่วนใหญ่ในอเมริกาใต้กำลังปฏิเสธ "ระบอบประชาธิปไตย" เพราะในโลกทัศน์ของสื่อกระแสหลักพวกนี้ ระบอบประชาธิปไตยคือตลาดเสรีและลัทธิเสรีนิยมใหม่ แต่ในโลกทัศน์ของชาวอเมริกาใต้ สองอย่างนี้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง พวกเขาไม่ได้ต่อต้านประชาธิปไตย แต่ต่อต้านนโยบายทางเศรษฐกิจที่สร้างความยากจนข้นแค้นให้พวกเขามาตลอดหลายศตวรรษ


 


 


25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าว (ตอนที่ 1) ข่าวที่ 1-10


25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าว (ตอนที่ 2) ข่าวที่ 11-20

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net