Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 



วงเสวนา เรื่อง "บรรยากาศการขาดแคลนสื่อบางประเภทในสังคมไทย"


 


ไม่ใช่จะไม่รู้ว่าพื้นที่บนแผงหนังสือทุกวันนี้เหลือน้อยเต็มที แต่สำนักพิมพ์หลายแห่งก็ยังพากันผลักดันนิตยสารรายชื่อใหม่ๆ ออกมายืนอวดโฉมบนแผงกันได้อยู่เรื่อยๆ จนดูเหมือนว่าผู้อ่านน่าจะมีตัวเลือกมากมายให้ได้ต่อยอดความรู้และความสนใจของตัวเอง แต่กลายเป็นว่านิตยสารเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีประเด็นที่ต้องการสื่อสารค่อนข้างจำกัด และมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะของตัวเองอย่างชัดเจน


 


ล่าสุด นิตยสารชื่อสั้นๆ ว่า way ได้มีโอกาสเปิดตัวอย่างเป็นทางการกับเขาบ้าง เพื่อเล่าสู่กันฟังว่าทิศทางของเนื้อหาภายในนิตยสารเล่มนี้มีอะไร พร้อมกับจัดงานเสวนาเล็กๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันที่ รีเฟลคชั่นรูม อิน แบงคอก เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ มีสุข แจ้งมีสุข ส่วนผู้ร่วมวงเสวนาที่น่าสนใจคือ ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วยภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และบรรณาธิการบริหารนิตยสารเวย์ "อธิคม คุณาวุฒิ"


 


หัวข้อที่แลกเปลี่ยนทัศนะกัน คือการไถ่ถามถึง "บรรยากาศการขาดแคลนสื่อบางประเภท" ในสังคมไทย ซึ่งเนื้อหาหลักๆ ได้พาดพิงถึงสื่อกระแสหลักในแวดวงสิ่งพิมพ์ไทยเอาไว้เหมือนกัน โดยอาจารย์ไชยันต์ ตั้งข้อสังเกตว่า แม้การสื่อสารในปัจจุบันจะก้าวมาไกลกว่าอดีตยุคที่มีการปิดหูปิดตาด้วยระบอบเผด็จการ และดูเหมือนว่าสังคมไทยจะเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากมาย แต่กลับกลายเป็นว่าข้อมูลเหล่านั้นมีมากจนล้นเกิน และทำให้การรับรู้ของคนไทยมีปัญหา เพราะเราไม่มีอะไรมาเป็นเครื่องมือช่วยกลั่นกรองหรือช่วยวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ


 


เช่นเดียวกับการจัดหมวดหมู่นิตยสารทั่วไป อาจกล่าวได้ว่ามีอยู่ไม่กี่ประเภท คือ นิตยสารสำหรับผู้หญิง นิตยสารสำหรับผู้ชาย หรือไม่ก็นิตยสารเฉพาะทางที่เจาะจงกลุ่มผู้ที่สนใจกิจกรรมบางประเภทเท่านั้น แต่ ภัทระ คำพิทักษ์ ได้พูดถึงนิตยสารเวย์ในฐานะหนังสือที่ไม่มีการจำกัดเพศ และไม่มีการจำกัดแนวคิดเพื่อตัดสินใคร


 


"เวลาเราหยิบหนังสือขึ้นมา ส่วนใหญ่มันจะมีน้ำหนักของเนื้อหาให้รู้ว่านี่เป็นหนังสือที่มีความเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่ผมบอกไม่ได้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เพราะไม่มีการแสดงออกอย่างนั้น แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงจุดยืนอะไรสักอย่างที่เป็นเส้นทางซึ่งก้าวพ้นจากความเป็นเพศของหนังสือไปแล้ว


 


ผมว่าในยุคสมัยนี้ทุกคนถูกฉีกเป็นชิ้นๆ ด้วยระบบสังคมอะไรต่างๆ และลึกๆ แล้วไม่ว่าเราอยากจะเป็นตัวของตัวเองในการแต่งตัว ย้อมผม หรืออะไรก็ตาม แต่เราต้องตั้งคำถามว่ามีอะไรที่ลึกกว่านั้นหรือเปล่าในแก่นแท้ของเรา และผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเอง และถ้าอ่านก็จะพบว่าบางทีมันไม่เจอคำตอบหรอก


 


หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือของคนหนุ่มคนสาวที่ต้องการตั้งคำถามและตามหาคำตอบ และไม่ยอมจำนนกับอะไรง่ายๆ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ที่ที่จะให้คำตอบสำเร็จรูปกับเรา แต่มันเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่ายังมีคนที่ตั้งคำถามเดียวกับเราอยู่ ถึงแม้ว่ามันอาจจะมีคำตอบหรือไม่มีคำตอบก็ตาม เราก็ยังมีอะไรไว้แลกเปลี่ยนกัน"


 


การตั้งคำถามกับชีวิตสำคัญขนาดไหน? และเหตุใดใครต่อใครจึงให้ค่ากับการตั้งคำถามมากมายเพียงนั้น? อาจารย์ ไชยันต์ ไชยพร ให้เหตุผลไว้ในวงเสวนาว่า


 


"ผมคิดว่าเรื่องของการตั้งคำถามมันสำคัญมาก เพราะมันควรจะมีสื่อหรือมีอะไรสักอย่างที่ทำให้เยาวชนหรือใครก็ตามตั้งคำถามกับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว เพราะสื่อส่วนใหญ่มักจะพยายามยัดเยียดอยู่เสมอ เมื่อเราเดินผ่านไปเจอป้ายโฆษณา มันจะทำให้เรารำคาญ เพราะมันจะเข้าไปอยู่ในความทรงจำของเรา


 


การที่เราจะเลือกรับ หรือวิเคราะห์-สังเคราะห์ข้อมูลอะไรสักอย่าง จะเห็นว่าเราไม่มีเครื่องมืออะไรเลย และถ้าเราบริโภคข้อมูลเข้าไปมากเกินมันก็แย่ ผมไม่ได้หมายความว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ แต่ผมหมายถึงว่าทุกวันนี้มีข้อมูลที่มากจนล้นเกินกว่าที่คนๆ หนึ่งจะสามารถสังเคราะห์ได้


 


อาหารการกินที่เรากินเข้าไป มันยังมีเครื่องในตับไตไส้พุงช่วยย่อยช่วยกรอง แต่พวกข้อมูลข่าวสารที่มันเข้าไปอยู่ในจิตใจเรามันเหมือนเหล็กในของผึ้ง กลายเป็นความคิดความเชื่อที่ฝังอยู่ในจิตใจโดยที่เราไม่ค่อยจะรู้ตัว แต่การตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวจะเป็นภูมิต้านทานที่ดีได้ เพราะมันจะทำให้เราคิดต่อในเรื่องต่างๆ โดยไม่ต้องรอการป้อนอาหารจากใครหรืออะไรเพียงอย่างเดียว"


 



 


ทางด้าน อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหารของนิตยสารเวย์ ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคยผ่านทั้งงานสื่อหนังสือพิมพ์และนิตยสารมาแล้ว ซึ่งดูเหมือนว่า ชื่อชั้นของเขาจะเป็นที่จดจำในหมู่นักอ่านและในหมู่คนทำสื่อด้วยกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วจากประสบการณ์ที่ผ่านมา


 


สำหรับเหตุผลที่อธิคมเลือกจะทำหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมา ณ ห้วงเวลานี้ เขามีคำตอบให้กับนักอ่านที่เป็นแฟนขาประจำ (และขาจร) ว่า


 


"ผมไม่เคยคิดว่าการทำนิตยสารที่ผมทำมาจะมีความสูงส่งกว่าคนทำนิตยสารแบบอื่น แต่การทำสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อชนิดใดก็ตาม ผมมักจะมีตัวตั้งอยู่ในใจเสมอๆ ว่าเราอยากจะสื่อสารกับกลุ่มคนที่มีความพร้อมที่จะรับฟัง และเราก็อยากจะสื่อสารถึงกลุ่มคนที่ไม่เคยรู้และไม่เคยสนใจในการตั้งคำถามเพื่อการครุ่นคิดมาก่อน แต่พอเขาได้มาเจอเราเข้า เราเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาฉุกใจตั้งคำถามขึ้นมา


 


การที่เราจะสามารถสื่อสารกับเขาได้ก็จะต้องมีท่าทีที่สุภาพเรียบร้อยและอ่อนโยนพอสมควร และต้องมีกรรมวิธีบางอย่างที่ชวนห้เขาอยากจะเข้ามาพูดคุยกับเรา สังเกตได้ว่าผมพยายามทำตรงส่วนนี้อยู่มากพอสมควร คือพูดก็พูดครับว่า เนื้อหาของเวย์ค่อนข้างจะจริงจังพอสมควร แต่ถ้าดูกันในเรื่องของรูปแบบแล้ว ผมจะพยายามทำโน่นทำนี่ เพิ่มโน่นเพิ่มนี่ให้บริโภคง่าย และถ้าเผื่อจะมีสารอาหารอะไรตกค้างอยู่ในนั้น คนอ่านก็จะรับได้เอง"


 


ถึงที่สุดแล้ว การถือกำเนิดของนิตยสารเล่มหนึ่งอาจไม่มีผลถึงขั้นสั่นสะเทือนความคิดความอ่านของผู้คนในสังคมอย่างฉับพลันทันที แต่การเริ่มก่อร่างสร้างวัฒนธรรมการคิดทีละนิดทีละน้อย อาจเป็นเรื่องหนึ่งที่ทั้งคนทำสื่อและคนอ่านสื่อต้องช่วยกันต่อไป


 


ไม่ว่าจะมีดอกไม้หรือก้อนอิฐต้อนรับการถือกำเนิดของนิตยสารหน้าใหม่ แต่เชื่อเถอะว่าความจริงใจของคนทำหนังสือจะพิสูจน์ได้ด้วยกาลเวลาและเนื้อหาข้างในตัวของมันเอง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net