Skip to main content
sharethis

โดย  อ.อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ( อับดุลสุโก ดินอะ  )


ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา


Shukur2003@yahoo.co.uk


 


 


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีกรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนามุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่าน และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน


 


การเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความรุนแรงตามสื่อนอกและการพบปะพูดคุยตามทัศนะรัฐบาลไทยโดยได้ดำเนินกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย และตัวแทนขบวนการ เพื่อหาแนวทางสร้างสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย โดยมีอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดาโต๊ะ มหาธีร์ โมฮัมหมัด เป็นตัวกลางประสาน ปลุกความสนใจให้ทุกสายตาเฝ้ามองด้วยความหวังว่าจะเป็นเส้นทางสู่การยุติเสียงปืนและควันระเบิดที่ยังคงเกิดขึ้นรายวันในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อันเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแผ่นดินนี้มานานกว่าครึ่งศตวรรษ


 


นโยบายดังกล่าวได้รับการขานรับเป็นอย่างดีจากภาครัฐและประชาชนส่วนใหญ่จากชายแดนใต้ ถึงแม้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศจะมีความรู้สึกไม่ดีต่อการยอมอ่อนข้อของรัฐและให้คุณค่ากับกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน


 


ความเป็นจริงการดำเนินการเช่นนี้รัฐบาลไทยเคยดำเนินการหลายครั้งกับกลุ่มต่างๆ


 


"พล...จำรูญ เด่นอุดม" อดีตนายตำรวจ ซึ่งรับราชการอยู่ในพื้นที่มาตลอด 30 ปี ถือได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญปัญหาชายแดนภาคใต้ได้กล่าวว่า การพบปะพูดคุยกับขบวนการการเจรจาครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อปี 2536 ซึ่ง พล..กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ส่งนายทหารระดับพันเอกไปเป็นตัวแทนในการเจรจากับแกนนำผู้ก่อความไม่สงบ แต่ก็ล้มเหลว หลังปี 2547 มีการเจรจาเกิดขึ้นในประเทศมาเลเซียอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อยุติบทบาทของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ มีการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นตัวแทนไปร่วมเจรจา แต่ก็ไม่มีผลคืบหน้า (โปรดดู http://www.tjanews.org/cms/index.php?optionfiltered=com_content&task=view&id=1348&Itemid=58&lang=)


 


ผู้เขียนมองว่าความล้มเหลวของการดำเนินการดังกล่าวในอดีต น่าจะเป็นบทเรียนให้กับรัฐ ว่ามีมาจากสาเหตุใด หนึ่งในนั้นคือวิธีการและรูปแบบของการเจรจาตามทัศนะของขบวนการ (แต่ฝ่ายรัฐจะเรียกว่าพูดคุย) จะยึดติดกับอัตตาหรือตัวกูเป็นที่ตั้งและที่สำคัญแต่ละกลุ่มเป็นระดับแกนนำจริงหรือไม่ ดำเนินการกันกี่กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีอำนาจในการสั่งการในพื้นที่จริงหรือไม่ ดังที่ ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมัน ประธานขบวนการเบอร์ซาตูเองก็ยังเคยยอมรับว่าไม่สามารถควบคุมกลุ่มที่ลงมืออยู่ในขณะนี้ ทั้ง 3 กลุ่ม (เบอร์ซาตู บีอาร์เอ็น และพูโล) ผู้ก่อการเองก็ยังไม่เคยแสดงตัวเลยว่าเป็นผู้ลงมืออย่างแท้จริง คนที่อาศัยอยู่นอกประเทศแต่ละของกลุ่มพวกนี้ก็ไม่รู้จริงๆ ว่าเขาสามารถควบคุมผู้ก่อการในประเทศ เพราะมันกระจัดกระจายกันอยู่ (หากการกระทำเป็นผู้ก่อการในขณะที่หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ไม่ใช่ฝีมือขบวนการแต่เป็นฝีมือผู้ฉวยโอกาส) ดังนั้นผู้เขียนขอเสนอแนวคิดการดำเนินการดังกล่าวดังนี้


 


1.รูปแบบการเจรจาหรือพูดคุยต้องใช้รูปแบบสานเสวนา


สานเสวนาจะต่างกับการสนทนาทั่วไปหรือการเจรจาตรงที่ไม่มีการคุกคามอัตลักษณ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพราะมุ่งให้ผู้ร่วมเสวนารับฟังและเรียนรู้จุดยืนซึ่งกันละกัน บนพื้นฐานการให้เกียรติความแตกต่างโดยปราศจากการครอบงำ บีบบังคับ โน้มน้าวหรือบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนแปลงความคิด ความศรัทธาของตนหากแต่เป็นการเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน    


 


การสานเสวนาเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้บุคคลหรือกลุ่มต่างๆ ที่มีความคิด ความเชื่อ จุดยืนต่างกัน มีโอกาสพบปะพูดคุยแสดงความรู้สึก ฟังเงื่อนไขปัจจัยของกันและกันอย่างลึกซึ้ง เพื่อเข้าใจกันอย่างเห็นอกเห็นใจมากขึ้น โดยที่สองฝ่ายยังมีจุดยืนที่ต่างกันได้ แต่การฟังเพื่อเห็นอกเห็นใจและเข้าใจกันนั้น ต้องมองข้าม "กรอบอ้างอิง" ของตนไป เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจสถานการณ์ของเพื่อนที่เชื่อต่างจากตน กระทั่งอาจเปลี่ยนแปลงความเข้าใจผิด ความขัดแย้ง ไปเป็นความเข้าใจและเห็นใจกันมากขึ้น
     


การสานเสวนาจะต้องข้ามความเป็นมลายูมุสลิมและไทยพุทธ (มิได้หมายความว่าให้ออกจากศาสนาหรือเชื้อชาติที่ตัวเองยึดถือหรือติดตัว) โดยกลับไปหาจุดยืนว่า ทุกศาสนาจะสอนสิ่งเดียวกันที่เรียกว่าจริยธรรมโลก (Global Ethic) ซึ่งประกอบด้วย การเคารพคุณค่าชีวิตทุกชีวิต (Have a respect for all life) ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความซื่อสัตย์และยุติธรรม (Deal honestly and fairly) คิด ทำ พูด แต่สิ่งที่เป็นจริง (Speak and act truthfully) เคารพและเมตตากรุณาซึ่งกันและกัน (Respect and love one another)


 


ดังนั้นการพยายามใช้ความแตกต่างในเรื่องการนับถือศาสนามาเป็นเงื่อนไขก่อให้เกิดการข่มเหงในแง่ของรัฐหรือผู้ก่อการนำเงื่อนไขความไม่ยุติธรรมก่อให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรง พยายามที่จะทำลายความสงบสุขของพี่น้องชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการสร้างเงื่อนไขให้บุคคลกลุ่มหนึ่งเกิดแรงผลักพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าผู้อื่นด้วยอคติและความเกลียดชังก็สามารถยุติ เพราะการเจรจาสันติภาพส่วนใหญ่เน้นด้านการเมืองหรือแนวคิดอำนาจนิยมแต่การสานเสวนาจะเน้นฐานจริยธรรมนิยมกับปัญญานิยม


 


ที่สำคัญรายงานของ กอส.ได้เสนอ "สานเสวนา" กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ที่มีอยู่ทั้งในและนอกประเทศไทย เพื่อยุติความรุนแรง


 


ทั้งนี้ กอส. สรุปว่า รัฐจำเป็นต้องสานเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลที่มีอุดมการณ์ต่างจากรัฐและใช้ความรุนแรงเป็นหนทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของอุดมการณ์เหล่านี้ ด้วยเหตุผลว่า ความรุนแรงเป็นม่านบดบังทำให้ทุกฝ่ายมองไม่เห็นทางเลือกทางการเมือง จึงจำเป็นต้องยุติการใช้ความรุนแรงด้วยการสานเสวนา หากประสงค์จะเสนอทางเลือกทางการเมืองที่จริงจัง และข้อเสนอนี้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์ว่า สังคมการ เมืองไทยมีที่ยืนสำหรับทุกคนทุกฝ่ายที่ไม่อาศัยความรุนแรงหรือตัดสินใจยุติการใช้ความรุนแรงเป็นหนทางบรรลุเป้าประสงค์ทางการเมืองของตน


 


2.จำเป็นต้องมีการส่วนร่วมจากภาคประชาชนและสื่อ


การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมเป็นสิ่งสำคัญเพราะคนที่เดือดร้อนและเสียผลประโยชน์จริงๆ คือประชาชนผู้เป็นรากแก้วในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ ทรัพย์สิน สูญเสียญาติพี่น้องที่เป็นที่รักและความอิสรภาพถูกคุมขังภายใต้กฎอัยการศึก ในขณะที่ผู้นำขบวนการโดยเฉพาะที่อาศัยในต่างประเทศไม่ได้รับผลกระทบเหมือนคนในพื้นที่จริงๆ (อาจจะกระทบบ้างที่ไม่สามารถกลับมาตูภูมิ แต่หลายคนก็ทำงานได้รับเงินเดือนในต่างประเทศ) ภาคสังคมอาจจะได้รับการเข้าร่วมในการสังเกตการณ์หรือเข้าร่วมสานเสวนาด้วยซึ่งอาจจะประกบด้วยตัวแทนผู้นำศาสนา ตัวแทนอุสตาซเพื่อดูหลักการศาสนา ตัวแทนนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น ตัวแทนสตรี ตัวแทนนักวิชาการ ตัวแทนชาวบ้านและนักธุรกิจ


 


สื่อสามารถนำเสนอข่าวให้ประชาชนทุกคนได้รับรู้หากสามารถถ่ายทอดสดหรือบันทึกเทปเห็นสิ่งที่ดีเพื่อได้ตรวจสอบอย่าให้นักฉวยโอกาสเข้ามาหาผลประโยชน์จากเวทีการสานเสวนานี้ ต้องตรวจสอบว่าใครที่เข้าร่วมและมีนัยสำคัญเพียงใด อย่าปล่อยให้เป็นละคร


           


ดังนั้นจะเรียกว่าการเจรากับกลุ่มขบวนการหรือเรียกว่าพูดคุยนั้นอาจมีความสำคัญกับภาครัฐเพื่อไม่ต้องยกระดับเป็นปัญหาสากลแต่สำหรับคนในพื้นที่มองเนื้อหาอันไปสู่ความสงบที่ยังยืนต่างหากที่ชาวบ้านต้องการดังนั้นรูปแบบการสานเสวนาน่าจะเป็นทางออกในการสนทนาหรือเจรจา


 


ที่สำคัญการประชุมปราชญ์มุสลิมจากทั่วโลกที่เมืองชาม อัล-ชีค ประเทศอียิปต์ เป็นเวลา 2 วัน เมื่อวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม 2548 ได้มีข้อมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ในอันที่จะทำสงครามกับการก่อการร้ายซึ่งนับวันมีการขยายตัว โดยใช้วิธีการสานเสวนาอย่างสร้างสรรค์


 


เช่นคำกล่าวของ: เชค ยูซุฟ อัล-ก็อรฎอวีย์ ประธานสหภาพปราชญ์โลกมุสลิม ได้ให้ทัศนะว่า การอุบัติขึ้นของกลุ่มมุสลิมที่นิยมการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรง มีสาเหตุมาจากการที่พวกเขาตีความอิสลามอย่างผิดๆ ด้วยเหตุนี้  เชค อัล-ก็อรฎอวีย์จึงเห็นว่า  วิธีการที่จะเข้าถึงและเข้าใจคนกลุ่มนี้ได้ก็คือ การสานเสวนากันกับพวกเขา "เราต้องนั่งสานเสวนากับคนเหล่านี้.....อย่างน้อยที่สุดเราก็ให้ความสนใจและสังเกตติดตามอุดมการณ์ที่พวกเขายึดมั่น"  


 


และอัลลอฮฺเจ้าได้โองการในคัมภีีร์อัลกุรอานความว่า


ท่านทั้งหลายจงสานเสวนาด้วยวาจาที่สุภาพยิ่งด้วยเหตุและผล (โปรดดูอัลกุรอานซูเราะฮอัลอันนะห์ลุ .16 : 125)


 


สุดท้ายขอประณามเหตุการณ์ร้ายต่างๆ ที่ผู้ที่ฆ่าพระทำลายทรัพย์สินของวัด ผู้บริสุทธิ์ในนามศาสนาเพราะเป็นการขัดคำสั่งท่านศาสดาที่ได้เน้นย้ำไว้อย่างมากคือ อย่าฆ่าสตรี เด็ก คนแก่ หรือนักบวชที่อยู่ในโบสถ์ของเขา และห้ามตัดต้นไม้


 


หวังว่าศาสนธรรมและสันติธรรมไม่ใช่เป็นเพียงเป้าหมายเท่านั้น แต่เป็นวิถีทางที่สำคัญในการอยู่ร่วมอย่างสันติ และขอดุอาอ์ (พร) จากอัลลอฮซุบฮานะฮุ วะ ตะอาลาโปรดทรงรวมพลังของพวกเราให้อยู่บนทางนำ และรวมหัวใจของพวกเราอยู่บนความรักฉันท์พี่น้อง รวมทั้งขอให้ความมุ่งมั่นของพวกเราอยู่บนการงานที่ดี


 


ขอให้พระองค์ทรงทำให้วันนี้ของพวกเราดีกว่าเมื่อวาน ให้พรุ่งนี้ของพวกเราดีกว่าวันนี้ แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงได้ยินและทรงอยู่ใกล้ และนำความสงบสุขสู่จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งประเทศชาติทั้งมวลด้วยเทอญ สุขสวัสดี...วันตรุษอีดดิลฟิตรี ฮิจเราะห์ศักราชที่ 1427...อามีน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net