Skip to main content
sharethis

ประชาไท-21 ตุลาคม 49 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต งานสมัชชาสังคมไทย มีเสวนาในหัวข้อ "ความเสมอภาคระหว่างมนุษย์" ความเสมอภาคนั้นเราทุกคนสามารถสร้างได้


 


ต่อพงษ์ กุลครรชิต  หัวหน้าสำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก กล่าวว่า กฏบัตรสหประชาชาติได้ระบุไว้ว่า ทุกคนมีสิทธิติดตัวมาตั้งแต่เกิด คนพิการก็เช่นกัน อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าความพิการนั้นเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนมี ถ้าเรามองคนพิการเป็นเรื่องแปลก เราก็จะปฏิบัติกับเขาแปลกๆ ด้วย เราจะต้องยอมรับในความเท่าเทียม ต้องมองว่าทุกอย่างมีจุดอ่อนจุดด้อย  ความเมตตาสงสารไม่ได้ช่วยเเก้ปัญหา


 


สหประชาชาติพยายามทำให้ socially for all เป็นความจริง ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ต่อพงษ์ เสนอแนวคิดว่า ทำอย่างไรให้สังคมเสมอภาค เราทุกคนสามารถทำได้ เช่น การออกแบบอาคารสถานที่ที่มีที่ลาดเอียงสำหรับผู้พิการ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนหูหนวกตาบอด เป็นต้น ปัญหาของประชาชน คือ เรามีสิทธิแต่เราไม่รู้จักการพิทักษ์สิทธิของตน คนทั่วไปมักเข้าใจสับสนระหว่างเรื่องสิทธิพื้นฐานกับสิทธิพิเศษของคนพิการ สิทธิพื้นฐานนั้นรอไม่ได้ เป็นสิทธิที่ต้องได้รับ เช่น ในโทรทัศน์จะต้องมีภาษาใบ้ประกอบเพื่อคนพิการจะได้เข้าใจ เรื่องการใช้เส้นทาง เป็นต้น นี่เป็นสิทธิที่พวกเขาควรได้รับโดยไม่ต้องเรียกร้อง แต่สิทธิพิเศษนั้นพร้อมเมื่อไหร่ค่อยสร้าง


 


ต่อพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ก่อนที่จะเข้าถึงความเสมอภาคนั้น จะต้องเข้าถึงความเป็นธรรมก่อน ความเสมอภาคนั้นเช่น การเข้าถึงทรัพยากรทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน เเต่ความเป็นธรรมนั้นคนที่เดือดร้อนกว่าจะต้องได้รับความช่วยเหลือก่อน ถ้าทุกคนได้รับความเป็นธรรมแล้วความเสมอภาคก็จะตามมา  


 


กมลเศรษฐ์ เก่งการเรือ เลขาธิการ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประชาชนเป็นผู้ให้อำนาจมากกว่าที่จะเป็นผู้ที่รู้ว่าตนนั้นก็มีอำนาจเช่นกัน อำนาจที่พวกเขาให้ไปนั้นก็ถูกลิดรอน ประชาชนต้องตระหนักว่าตนมีสิทธิ


 


กมลเศรษฐ์ อภิปรายต่อไปว่า มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยความกลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลาย ผิวขาว ดำ เพศหญิง ชาย อ้วนผอม เราต้องยอมรับความหลากหลายนั้นให้ได้โดยเฉพาะความหลากหลายเรื่องเพศที่ 3  ประเด็นสำคัญคือ เราต้องเปิดใจยอมรับกับความหลากหลายนี้


 


กมลเศรษฐ์ กล่าวอีกว่า ในทุกวันนี้เราได้เข้าสู่โลกอารยะเเล้ว แต่ทำไมสิทธิความเท่าเทียมนั้นยังไม่เกิดขึ้น ถ้าจะวัดความเป็นคนต้องวัดที่ความสามารถไม่ใช่เรื่องเพศ


 


จรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย  กล่าวว่า ประเทศแคนนาดา เรียกคนที่พิการว่า "ความสามารถเฉพาะทาง" และถ้าผู้ใดเรียกคนพิการว่า "คนพิการ" จะถูกฟ้องตามกฏหมาย เพราะไม่เคารพความเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ คู่เกย์ก็สามารถจดทะเบียนกันได้ นี่เป็นความเสมอภาคที่เกิดขึ้นในโลก


 


จรรยา เสริมต่อว่า คนทั่วไปมักเข้าใจว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้นต้องประกอบด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่เเท้ที่จริงแล้วต้องมีอิสรภาพ เสรีภาพ และเสมอภาคด้วย ความเสมอภาคเท่าเทียมทุกคนสามารถสร้างได้ เเต่ทุกวันนี้ประชาชนขาดการรวมตัวกัน ทั้งที่ประชาชนคนธรรมดามีจำนวน 80% แต่ปล่อยให้ทหารเป็นผู้ยึดอำนาจ เราต้องร่วมกัน เปิดหู เปิดตา เปิดปาก เพื่อเรียกร้องสิทธิของเราทุกคน


 


ในตอนท้าย จรรยา กล่าวอีกว่า โลกใบใหม่เป็นโลกที่เคารพความหลากหลาย เคารพสิทธิความเท่าเทียมกัน ทุกวันนี้เราต้องคิดมากขึ้น เราจะต้องรู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร เมื่อเราเข้มแข็ง นายกรัฐมนตรีจะเป็นใครก็ได้ เพราะอำนาจนั้นอยู่ในมือประชาชน ประชาชนมีสิทธิต่อรอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net