Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 22 ต.ค. 2549 เมื่อวันที่ 21 ต.ค. เวลา 15.00น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต งานเวทีสมัชชาสังคมไทยจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การรายงานข่าวจากชุมชน โดยมีผู้สนใจต้องการนำเสนอประเด็นปัญหาเข้าร่วมอบรม อาทิ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กลุ่มแรงงาน



สมคิด ดวงแก้ว จากชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอย จ.สระบุรี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่ว่า โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ได้ย้ายมาจากบ่อนอก-บ้านกรูด จ.ประจวบฯ หลังโดนต่อต้านหนัก โดยในการเข้ามาในพื้นที่สระบุรีทางโครงการไม่ได้ให้ข้อมูลที่แท้จริงกับชาวบ้าน ตอบคำถามหลายอย่างเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ทั้งสารเคมีที่จะปล่อยลงแม่น้ำป่าสัก การสูบน้ำจากแม่น้ำจำนวนมาก การก่อสร้างใกล้แหล่งชุมชน ทำให้ต้องมีการรวมตัวกันเกิดขึ้นเพื่อนำเสนอความจริง เพราะจังหวัดสระบุรีซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่หลายร้อยโรงทำให้ชาวบ้านมีปัญหาสุขภาพมาก ผู้คนกว่าครึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ


 


สมคิด กล่าวถึงปัญหาด้วยว่า แม้ชาวบ้านบางส่วนจะตื่นตัว พยายามหาข้อมูลจากนักวิชาการ หน่วยราชการต่างๆ และพยายามสร้างขบวนการเคลื่อนไหว แต่ก็ยังไม่สามารถสื่อสารกับสาธารณะได้ หรือแม้แต่ในพื้นที่เองก็ยังสื่อสารกันลำบาก เพราะเจ้าของโครงการมีเงินและสามารถออกสื่อได้ ตลอดจนสร้างโครงการอุปถัมภ์ต่างๆ ในพื้นที่ แต่ชาวบ้านไม่มีช่องทาง สื่อส่วนกลางก็ไม่ค่อยสนใจ สื่อท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็เอนเอียงเข้าหากลุ่มทุน นอกจากนี้ ขบวนการชาวบ้านยังโดนบล็อกโดยการแจ้งความกล่าวโทษของกลุ่มทุนว่า แกนนำกลุ่มอนุรักษ์โฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ความเคลื่อนไหวในพื้นที่หยุดชะงัก


 


"มันเป็นเรื่องยากในการที่เราต้องสู้กับอำนาจทุนที่ครอบงำอำนาจรัฐอีกที และเราก็เป็นกลุ่มของคนเมือง ซึ่งไม่ได้มีสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นเหมือนสังคมชนบท" สมคิดกล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม จากความพยายามต่อสู้มาระยะหนึ่งในพื้นที่สื่อทางเลือกหรือสื่อท้องถิ่นบางส่วนที่มีจริยธรรม ทำให้รายการทีวีบางส่วน หรือสมาคมนักข่าวสิ่งแวดล้อมเริ่มสนใจลงไปทำข่าวในพื้นที่ ซึ่งส่งผลสะเทือนมากพอสมควร 


 


ด้านเดชา คำเบ้าเมือง กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่า จากกรณีบริษัทเอเชียแปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะเข้ามาทำโครงการเหมืองแร่โปแตซที่จ.อุดรธานีนั้น เห็นว่าการขุดแร่โปแตซจะส่งผลต่อระบบนิเวศของอีสาน ทั้งคุณค่าทางโภชนาการของพืชที่จะขาดหายไป แผ่นดินอาจทรุดเมื่อมีการขุดแร่ น้ำเค็มที่จะเกิดจะกระบวนการแต่งแร่ ซึ่งจะไหลผ่านห้วยอุดร ลงลำน้ำชี มูล ส่งผลให้เสียต่อระบบนิเวศของอีสานทั้งระบบ นอกจากนี้ ยังมีฝุ่นเกลือที่จะผลต่อกระทบต่อสุขภาพ และวิถีชีวิตที่อาจเปลี่ยนไป เนื่องจากไม่อาจแน่ใจได้ว่าพื้นที่เดิมที่เคยใช้ปลูกข้าวกิน หลังจากมีการขุดแร่แล้วจะยังใช้ทำมาหากินได้อีกไหม


 


เดชา กล่าวว่า เมื่อก่อนมีคนจากคณะกรรมการพัฒนาเอกชนอีสานลงพื้นที่ คอยเก็บประเด็นและรายงานข่าวเหมืองแร่โปแตซให้ แต่เขาลาออกไปจึงไม่คนเขียน เลยเริ่มเขียนข่าวด้วยตัวเอง โดยเมื่อเสร็จจากงานรณรงค์ ก็จะมาเขียนข่าวต่อ แล้วส่งแฟกซ์ไปยังสื่อต่างๆ  


 


"ในปี 2547-2548 ทางกลุ่มก็เริ่มออกจดหมายข่าว เนื่องจากเห็นว่า งานข่าวที่ผ่านมา หากสื่อจากส่วนกลางลงพื้นที่ทุกครั้งจะขาดความต่อเนื่อง ถ้าไม่มีใครลงพื้นที่ก็ไม่เห็นประเด็น เลยมองว่าคนในพื้นที่น่าจะรายงานส่งไป จะเป็นข่าวไม่เป็นข่าวไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ได้สื่อออกไป" เดชา กล่าว และว่า "สำหรับบริษัทนายทุนแล้วสามารถจ้างเคเบิลท้องถิ่น วิทยุที่อ้างตัวว่าเป็นชุมชนได้ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นได้ ในขณะที่เราต้องรายงานเองอย่างต่อเนื่อง ความคาดหวังสูงสุดก็อยากให้เป็นข่าว เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้ว่าชาวบ้านมีการเคลื่อนไหว เกาะติดสถานการณ์"


 


"เวลาที่จะรายงาน จะรายงานการเคลื่อนไหวของชาวบ้านให้มากที่สุด เหมือนเราเลือกข้าง หลายครั้งนสพ. คล้ายจะบ่นว่าข่าวเราเอียง ก็บอกว่าเราเลือกข้าง เพราะพื้นที่ข่าวของชาวบ้านไม่ค่อยมี แต่ข่าวของบริษัทนายทุนจะลงเมื่อไหร่ก็ได้ ถึงไม่เป็นประเด็นก็เป็นข่าว" เดชากล่าว  


 


ส่วนจรรยา ยิ้มประเสริฐ จากโครงการรณรงค์แรงงานไทย (Thai Labor Campaign) กล่าวว่า โครงการนี้นอกจากจะทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลข่าวสารเรื่องแรงงานในประเทศไทย แรงงานต่างชาติในประเทศไทย แรงงานไทยในต่างประเทศแล้ว ยังเน้นหนักในเรื่องการรณรงค์ โดยเฉพาะกับเครือข่ายแรงงานในต่างประเทศ โดยมีรูปแบบทั้งเว็บไซต์ในเวอร์ชั่นภาษาไทยและอังกฤษ วารสาร วิทยุชุมชน และหนังสารคดี 


 


"ประเด็นนี้เป็นเรื่องยาก เพราะต้องต่อสู้กับทุน และลูกจ้างส่วนใหญ่ก็ทำงานกับบรรษัทข้ามชาติ อย่าว่าแต่การยื่นหนังสือ บางทีรวมพลกันหลายร้อยก็ยังไม่ออกข่าว" จรรยาระบุและว่า หลายประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น สื่อสารเพียงในพื้นที่ หรือในประเทศไทยไม่เพียงพอ ต้องสร้างเครือข่ายสากล สื่อสารกับต่างประเทศด้วย เพื่อเป็นแรงหนุนที่กว้างขวางขึ้น


 


ในส่วนของการเคลื่อนไหวของเครือข่ายแรงงาน เธอระบุว่า เครือข่ายแรงงานเคยบุกยึดกระทรวงแรงงานนานถึง 3 เดือน เมื่อลูกจ้างโรงงานผลิตสินค้าแบรนด์ดังของประเทศลอยแพลูกจ้างโดยไม่มีการจ่ายชดเชย แม้การกระทำนี้จะผิดในแง่กฎหมาย แต่ถูกต้องในแง่ของหลักสิทธิมนุษยชน และกลุ่มแรงงานก็จะอ้างอิงกับกติกาสากลโดยตลอด อีกทั้งการกดดันก็ไม่จำกัดเฉพาะกับรัฐ แต่ไปถึงเจ้าของยี่ห้อดังด้วย


 


อย่างไรก็ตามในการเคลื่อนไหวนั้น จรรยา ระบุว่า มีกรณีการโดนฟ้องหมิ่นประมาทหลายคดี เรียกค่าเสียหายแกนนำเป็นร้อยล้าน เมื่อเจอสภาพนี้ กลุ่มต้องยิ่งสร้างแรงกดดันให้มีการถอนฟ้องคดี จะไม่ยอมประนีประนอมหรือเดินตามกระบวนยุติธรรมโดยเด็ดขาด


 


"ถ้ายอมตามกระบวนการศาล มันเสี่ยงมาก ศาลจะไม่ถามว่าคุณทำเพราะอะไร แต่จะถามว่าทำจริงหรือไม่  มันยังไม่มีมิติของสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมมากนัก"


 


"กฎหมายในวิถีทุนตอนนี้มันไม่ใช่กฎหมายของคนจน แม้ว่าศาลจะตัดสินให้เราชนะ แต่ระยะเวลาระหว่างกระบวนการมันได้ฆ่าคนจนไปแล้ว นายจ้างก็จะฉวยใช้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจนี้กดดันกลุ่มแรงงาน และค่าชดเชยที่ได้ก็ไม่ได้ย้อนหลังในระหว่างกระบวนการไต่สวน ทางเดียวที่ทำได้จึงต้องรณรงค์อย่างหนักหน่วง" จรรยาสรุปบทเรียนให้ฟัง


 


ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท (www.prachatai.com) กล่าวว่า ประชาไทเป็นสื่อที่ไม่แสวงหากำไร โดยได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรบริจาค เนื่องจากต้องการความอิสระเสรี ไม่ให้บริษัทไหนมามีอิทธิพลในการเสนอข่าว จึงตัดเรื่องการรับโฆษณาออกไป และด้วยความที่มีต้นทุนต่ำ ทำให้ไม่สามารถรับเจ้าหน้าที่จำนวนมากได้


 


"ที่สุดแล้ว ความอิสระเสรีของสื่อจึงขึ้นกับต้นทุนสื่อ เพราะฉะนั้นประชาชนต้องมาเป็นนักข่าวเอง เพื่อสนับสนุนให้สื่อมีต้นทุนที่ต่ำและมีเสรี" ชูวัส กล่าวและว่า จากการได้เคยร่วมงานกับภาคประชาชน เอ็นจีโอจะนั่งคิดกันว่า ทำไมสื่อไม่มาทำข่าวเขา จนสิบปีให้หลังก็เลิกถามและมาเป็นนักข่าวเอง


 


ชูวัส กล่าวด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประสบปัญหาแต่ละกรณีต้องเป็นนักข่าวเอง ยกตัวอย่าง ยายไฮก็เป็นนักข่าวใช้สรยุทธ์ (สุทัศนะจินดา) เล่าข่าวผ่านการต่อสู้ของยายไฮ ทุกคนมีศักยภาพที่จะเป็นนักข่าวได้ทั้งนั้น แต่ลงมือหรือยัง บางคนกลัวว่า จะเขียนไม่เป็นมืออาชีพ ดังนั้น ไม่ต้องกลัวรูปแบบว่าจะไม่เป็นมืออาชีพ ให้เขียนมาด้วยภาษาของตัวเอง การทำให้เป็นข่าวนั้นเป็นหน้าที่ของคนทำสื่อเอง


 


สำหรับสื่ออื่นอย่างหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ อาจมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ที่วันหนึ่งๆ ไม่สามารถลงข่าวได้ทุกประเด็นปัญหา ทำให้ต้องตัดบางข่าวทิ้งและลงข่าวที่ขายได้ ขณะที่สื่ออย่างประชาไทซึ่งเป็นสื่อทางอินเตอร์เนตไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และรูปแบบ แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อมาคือ ทำอย่างไรให้คนอ่าน ซึ่งจะพบว่า มีวิธีการเขียนหลายประเภท ทั้งรูปแบบข่าว ความจริง ความรู้สึก ไม่ใช่แค่การรายงานข่าวแบบรายงานดิบ แต่ที่สื่อแบบประชาไทสามารถเล่นได้ คือ บันทึกไดอารี่ หรือเปิดบล้อก (weblog) เพื่อบอกได้ว่ารู้สึกอย่างไร เช่น วันนี้ไปอำเภอขอสัญชาติมาเขาตอบมาว่าอย่างไร ได้เจออะไรมา เมื่อผู้อ่านอ่านไปเรื่อยๆ จะพบว่า เฮ้ย! เจ้าหน้าที่ไม่ได้มองเขาเป็นคน เป็นต้น


 


"นี่เป็นสิ่งที่สื่อเดิมเสนอไม่ได้ ข่าวสกู๊ป สืบสวนสอบสวน นิยาย สื่อใหม่พร้อมที่จะชวนให้คนอ่านมากขึ้น" ชูวัส กล่าว


 


นอกจากนี้ การเขียนข่าวในเชิงโฆษณาชวนเชื่อมากเกินไป ผู้อ่านอาจตั้งกำแพงในใจ เนื่องจากเกิดความไม่น่าเชื่อถือ หรือการเขียนเข้าข้างตัวเองเกินไป อาจทำให้คนอ่านรู้สึกเป็นคนอื่น หรือรู้สึกเหมือนโดนกีดกัน


 


ชูวัส จึงเสนอว่า การเสนอข่าวต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ปัญหาเกิดจากอะไร ผู้เขียนอาจไม่มีชื่อเสียงคนอ่านไม่เชื่อถือ  ก็เป็นนักข่าวเสียเอง ไปคุยกับนายอำเภอ นายอำเภอพูดว่าอย่างไรก็เขียนมาเป็นข่าว เป็นข่าวที่คนอื่นพูด เราเอามาเขียน จะได้ไม่มีผลประโยชน์เอียงข้าง และไม่ควรบอกว่าถูกกระทำไปเสียหมด น่าจะขยายประเด็นว่าความเดือดร้อนเกิดจากปัญหาอะไร เชื่อมโยงไปให้ถึงต้นทาง อาจจะเป็นทุนข้ามชาติ เศรษฐกิจเสรี เพื่อให้เกิดความรู้ หรือให้ผู้อ่านเห็นมิติอื่นๆ มากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net