Skip to main content
sharethis


21 ต.ค. 49 - วันที่ 21 ตุลาคม มีการจัดเวทีสมัชชาสังคมไทยเพื่อเป็นเวทีสาธารณะของประชาชนให้สามารถแลกเปลี่ยนทบทวนความเห็นระหว่างกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นต่างๆ เพื่อเสนอทางออกของสังคมใหม่ที่เท่าเทียม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ภายใต้คำขวัญ "สังคมใหม่ที่เท่าเทียม ประชาชนสร้างได้"



ทั้งนี้ รูปแบบการจัดงานได้แบ่งแยกเป็นประเด็นไปตามห้องต่างๆเพื่อนำไปสู่อภิปรายตามความสนใจของผู้มาร่วมงาน เมื่อเวลาประมาณ 11.30 - 13.30 น. ที่ห้อง 1002 มีการแลกเปลี่ยนความคิดในหัวข้อใหญ่เรื่อง "สันติภาพในภาคใต้" นายอับดุลอายิ ตแวซือแม กรรมการหอการค้าจังหวัดนราธิวาส นางโสรยา จามจุรี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีและนายตูแว นียามอริงงิง ประธานกลุ่มสื่อทางเลือกและสื่อมวลชนจากศูนย์ข่าวอิศรา เป็นผู้อภิปรายหลัก นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ดำเนินรายการ


 


นายอับดุลอายิ กล่าวว่า รัฐเป็นผู้ผลักดันให้คนใน 3 จังหวัดแบ่งแยกดินแดน ทั้งที่คนไทยใน 3 จังหวัดก็รักแผ่นดินเกิดตามคำสอนของศาสดา เหตุที่เกิดขึ้นมาจากการที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเป็นคนยัดเยียดให้ ต่อมา คณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย(คปค.)ก็ได้นำสถานการณ์ในภาคใต้มาประกาศไว้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งในการยึดอำนาจจากรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อมีรัฐบาลใหม่รัฐบาลใหม่ก็มีนโยบายที่จะทำให้เกิดความสันติใน 3 จังหวัด


 


โดยที่ผ่านมารัฐบาลทักษิณได้ให้ตราบาปคนในพื้นที่ 3 จังหวัดว่าเป็นโจรมาตลอด ดังนั้นก่อนที่รัฐบาลใหม่จะสร้างสันติสุขต้องไปถามความรู้สึกของคนในพื้นที่ก่อน ก่อนนี้ประชาชนใน 3 จังหวัดที่ออกมานอกพื้นที่จะไปนอนโรงแรมห้องธรรมดาก็ไม่มีให้พัก จะนอนห้องหรูก็บอกแอร์ดับ คนใน 73 จังหวัดมองคนใน 3 จังหวัดเป็นผู้ก่อความไม่สงบไปเสียทั้งหมด ดังนั้นต้องทำให้คนใน 73 จังหวัดเข้าใจว่าคนใน 3 จังหวัดก็รักแผ่นดินเหมือนกัน


 


นอกจากนี้ นายอับดุลอายิ ยังเล่าบรรยากาศของพื้นที่ 3 จังหวัดว่าไม่มีเสรีภาพเหมือนพื้นที่อื่นๆในประเทศไทย การไปรวมตัวกันเรียกร้องเหมือนที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ทำในพื้นที่ไม่สามารถทำได้ การไปรวมตัวกันที่ สภ.อ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 โดยไม่ได้เอาปืนไปแต่เอามือไป ผลคือพวกเขาตาย เจ้าภาพภาครัฐก็ไม่แสดงบท คนที่ไม่ตายก็เป็นคดีอีก 58 คดี


 


"เขากล้าที่จะเดินขบวนเหมือนพวกเราไหม เขาไม่กล้า พี่น้อง 3 จังหวัดไม่มีพื้นที่เรียกร้องสันติภาพ ไม่มีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่มีคุก แช่งรัฐบาลก่อนวันละห้าเวลาเมื่อละหมาด ดังนั้นการนำสันติสุขกลับสู่ 3 จังหวัดภาคใต้ ต้องสร้างหัวใจก่อน ตามที่รัฐบาลไปโฆษณาว่าเป็นโจร ต้องบอกว่าเขาไม่เป็นโจร"


 


นายอับดุลอายิยังกล่าวอีกว่า คนในพื้นที่เข้าใจว่ามีสถานะเป็นประชาชนชั้น 2 ตอนนี้ในประเทศมาเลเซียมีแรงงานราคาถูกจาก 3 จังหวัดเกือบ 200,000 คน เป็นผู้ที่หนีภัย อยากให้ได้รับการดูแลจากกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม


 


นางโสรยา กล่าวว่า ใน 32 เดือนที่ผ่านมามีการก่อเหตุรวมแล้วกว่า 5400 ครั้ง และในวันนี้อาจมีการเกิดเหตุแล้วก็ได้เพราะโดยเฉลี่ยจะเกิดเหตุวันละ 5 ครั้ง ทำให้เกิดความสูญเสียไม่เฉพาะร่างกายแต่ทางจิตใจด้วย เรื่องการเยียวยานั้นเป็นเหตุปลายทางหลังจากความรุนแรงเกิด การเยียวยาไม่ควรเกิดขึ้น เพราะประชาชนในพื้นที่ควรจะได้รับความคุ้มกันทางชีวิตทรัพย์สินเหมือนกับประชาชนทั่วไป แต่รัฐทำไม่ได้จึงจำเป็นต้องเกิดการเยียวยาช่วยเหลือ


               


แต่การเยียวยาก็มีปัญหา ส่วนใหญ่คือการตกหล่นและการเลือกปฏิบัติระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน รวมไปถึงการเป็นเรื่องไทยพุทธ ไทยมุสลิม ทัศนคติที่ผิดนี้มาจากทั้งภาครัฐและสังคมในภาพรวมทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ อีกทั้งเหยื่อจำนวนมากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ เนื่องจากตำรวจได้อ้างว่าตายเพราะเหตุส่วนตัวไม่ได้ตายเพราะสถานการณ์ ทั้งที่ความจริงในเรื่องการตายยังไม่มีใครสามารถที่จะเข้าถึงได้ เพราะฉะนั้นการสืบสวนที่ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้แต่บอกว่าตายเพราะเรื่องส่วนตัวทำให้ แม่ของเด็กหรือสามีที่เสียชีวิตถูกตัดสิทธิการช่วยเหลือและได้รับความลำบากมาก


 


นายตูแว กล่าวว่า ปกติมักจะได้ยินกันว่าสื่อทำให้สถานการณ์ภาคใต้น่ากลัวเพราะเสนอแต่ภาพความรุนแรงในหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ แต่นั่นคือสื่อกระแสหลัก ทั้งนี้ ยังมีมีสื่อที่ต้องการสร้างสันติภาพด้วยเพียงแต่ไม่ใช่สื่อของรัฐบาล


 


นายตูแวได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า รัฐจะต้องสร้างสื่อสันติภาพด้วยโดยเฉพาะความเท่าเทียมกันในทางเชื้อชาติ อย่างในประเทศมาเลเซีย สื่อนำเสนอทั้งทั้งมลายู ภาษาอินเดีย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติไม่มี แต่ประเทศไทยมีสื่อที่เข้าไปถึงรากแก้ว รากหญ้าของประชาชน หรือสื่อภาษามลายูเพื่อคนมุสลิมหรือไม่ทั้งที่มุสลิมก็เป็นประชาชน


 


นายตูแวยังได้ยกตัวอย่างความไม่ทัดเทียมกันทางเชื้อชาติอีกว่า ประเทศไทยมีประชากรมุสลิมหลายล้านคน แต่วันสำคัญของชาวมุสลิมเช่น วันฮารีรายอ วันมุสลิมออกบวช รัฐบาลไม่เคยประกาศวันหยุดทั่วประเทศหรือกล่าวถึงในการให้ความสำคัญเลย ในขณะที่ประเทศมาเลเซียมีทั้งวันหยุดจีน มุสลิม อินเดีย ประเทศสิงคโปร์ก็ทำแบบนี้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้คือการเลือกปฎิบัติในสังคมไทยและ สื่อก็ต้องทำบทบาทนี้ให้ชัดเจน


 


จากนั้นนายตูแวได้กล่าวถึงบทบาทสื่อของไทยว่า มีส่วนสร้างความรุนแรง แต่การที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เปิดศูนย์ข่าวอิศรา นำองค์ความรู้มาเสนอให้ประชาชนได้รับรู้เป็นเรื่องที่ดี แต่เป็นแค่สื่อทางเลือกบนอินเตอร์เน็ท www.tja.org เท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอ จะต้องมีสื่อในส่วนกลางเชิงสันติภาพ มาทำหน้าที่ด้วย


 


"เราไปศาลนราธิวาสเห็นผู้หญิงคนหนึ่งต้องไปดูแลผู้ชายอีก 58 คนที่ขึ้นศาลในคดีตากใบ เป็นผู้หญิงที่ไม่มีอะไร เพียงแต่ต้องการเห็นความยุติธรรม เป็นคนเดียวที่ประสานงานกับคนทั้ง 58 คน อัยการ หรือทนาย เราไม่รู้ว่าเขาต้องรู้สึกอย่างไร ในวันนี้ยังไม่มีสื่อกระแสหลักที่จะเข้าใจกับมุสลิม 3 จังหวัด เดือนนี้เป็นเดือนถือศีลอด มีสื่อกระแสหลักไหมที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตช่วงเดือนรอมฎอน อดีตนายกฯกล่าวสุขสันต์วันคริสมาส หรือตรุษจีน แต่ไม่เคยมีสำหรับวันฮารีรายอ ลึก ๆ คน 3จังหวัดไม่ได้รับความเป็นธรรม สื่อเองก็ไม่ให้ความเป็นธรรม ประชาชนต้องการสันติภาพอยู่แล้ว ไม่ต้องการกองกำลังในพื้นที่ เพราะฉะนั้นสื่อสันติภาพต้องถามสื่อหลักว่าเคยให้โอกาสหรือไม่"


 


หลังการอภิปรายมีการให้ข้อมูลและความเห็นเปลี่ยนเพิ่มเติมจากผู้มาร่วมแลกเปลี่ยนว่า ในเรื่องของกล้องวงจรปิดที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) เคยเสนอให้ติดทั่วพื้นที่ 3 จังหวัดนั้น เมื่อมีการอนุมัติจากรัฐบาลก่อน ที่ผ่านมาพบว่ามีไม่เพียงพอ ในปัตตานีมีเพียง 30 ตัว เมื่อสแกนใกล้ภาพก็แตก การติดกล้องในแต่ละจังหวัดควรมีเป็น 1000 จุดในตำแหน่งที่ไม่มีใครรู้


 


ผู้แลกเปลี่ยนคนเดิมยังตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่มีกลุ่มผู้แต่งชุดดะวะห์ออกมาปฎิบัติการ เมื่อเสร็จก็ใช้พื้นที่ในหมู่บ้านเป็นเกราะกำบัง การติดกล้องวงจรปิดมีประโยชน์พื่อส่องดูคนที่ปฎิบัติการว่าเป็นใครกันแน่ เพราะมีคนรู้จักทำธุรกิจเสื้อผ้าในพื้นที่ให้ข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐซื้อหมวกกาปิเยาะไปเยอะ หากมีเจ้าหน้าที่ที่ไม่ดีไปกระทำการ บาปก็ลงกับคนในพื้นที่ตลอด


 


นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามจากผู้มาร่วมแลกเปลี่ยนที่เป็นคนกรุงเทพฯว่า การที่ในพื้นที่มีการเรียกร้องให้ถอนทหารนั้น หากมีการถอนทหารออกมาจากพื้นที่จริงคนใน 3 จังหวัดจะดูแลกันเองได้จริงหรือ นายแพทย์แวมะหะดี แวดาโอ๊ะ อดีตผู้ต้องหาคดีเจไอในประเทศไทย และผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ กล่าวว่า ทหารอยู่ในพื้นที่มา 3 ปีไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น ถ้าจะลองถอนทหารออกไปสักปีก็ไม่น่าจะเป็นอะไร


 


นายตูแวจึงกล่าวเสริมว่า การมีรถถังอยู่ในกรุงเทพฯที่ผ่านมาชอบหรือไม่ ก็เรียกร้องกันให้ถอนกลับให้เร็วที่สุด คนที่ 3 จังหวัดก็ไม่ชอบรถถัง ทหารเองก็บอกว่าอยากอยู่ที่บ้าน การมีทหารเยอะในพื้นที่ก็ยิ่งเป็นเป้ามากขึ้น


 


 


.............................................


ข้อเสนอของภาคประชาชนต่อกรณีการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ภาคประชาชนมีความยินดีที่รัฐบาลชุดนี้ แสดงเจตนารมณ์ที่จะให้เกิดความเป็นธรรม โดยใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา แทนการใช้ความรุนแรง กลุ่มที่มีชื่อข้างล่างนี้ได้มีการปรึกษาหารือและมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้


 



  1. ขอให้รัฐบาลชุดปัจจุบัน แสดงเจตนารมณ์ และแสดงความเสียใจ กับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ของรัฐบาลชุดที่แล้ว กับสิ่งที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้กระทำล่วงเกินต่อพี่น้องภาคใต้ รวมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนไทยในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ร่วมกัน 
  2. ยุติการอุ้มฆ่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยให้ถอดถอน เจ้าหน้าที่ที่อุ้มฆ่า ล่าสังหาร ข้าราชกาและกลุ่มอิทธิพล คอรัปชั่น ค้าของเถื่อน ยาเสพติดออกจากพื้นที่และดำเนินคดีแก่เจ้าหน้าที่และบุคคลดังกล่าว  
  3. ขอให้ถอนฟ้องจำเลยในคดีตากใบทั้ง 56 คน และคดีที่ต่อเนื่อง
  4. เร่งรัดการดำเนินการให้กระบวนการยุติธรรมปรากฏเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะคดีคุณสมชาย นีละไพจิตร ให้มีการขยายผล และตัดสินคดีอย่างยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบในภาคใต้ และให้ประชาชน
  5. สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวกและเท่าเทียมกัน
  6. ให้ยกเลิก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.) ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวางและปรากฏบ่อยครั้งว่ามีการล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง กระทบต่อภาพลักษณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในสายตานานาชาติ
  7. ปรับลดกำลังทหารในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้มีขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพสูงโดยเน้นทหารนักพัฒนาเป็นหลัก  
  8. ให้ลดขั้นตอนกระบวนการเยียวยาแก่ผู้สูญเสียอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งการเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ พ.ร.ก. ด้วย ทั้งนี้เป็นการแสดงความรับผิดชอบและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนที่ถูกรัฐบาลชุดที่แล้วละเมิดอย่างรุนแรง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชน และเป็นการสร้างศรัทธา ความไว้วางใจให้กับรัฐบาลชุดใหม่ แสดงความบริสุทธิ์ใจไม่อคติ ของรัฐบาลชุดนี้ต่อประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
  9. ตั้งคณะกรรมการสร้างความปรองดองท้องถิ่น (Community Truth and Reconciliation Commission) เพื่อสร้างกระบวนการ การเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อหน้าชุมชน (ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด) โดยผู้มีตัวแทนผู้อาวุโสในชุมชน มีตัวแทนภาคประชาชนที่มีคุณธรรมและเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่คล้ายสภาซูรอ กรณีที่สามารถให้อภัยต่อกันได้ ให้ทำพิธีขออภัยและให้อภัยต่อกัน เป็นการปลูกสร้างความรักความเข้าใจ ความสมานฉันท์ ที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ความยุติธรรม ความรักความเมตตา และความดีมีจริยธรรม อดทนอดกลั้น ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  
  10. ให้มีการเจรจากับฝ่ายก่อการ โดยตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับการเจรจา รวบรวมข้อมูลฝ่ายต่างๆอย่างรอบคอบ มีการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์อย่างเป็นระบบ เป็นกลางเป็นจริง เร่งสร้างความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ ให้กับคณะเจรจา ผู้นำฝ่ายรัฐบาลต้องเป็นตัวแทนที่แท้จริงมีฐานะตำแหน่งที่ฝ่ายตรงข้ามยอมรับนับถือได้ หาตัวกลางที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ และหาเงื่อนไขที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน (เช่นตัวกลาง สถานที่เจรจา การเปิดเผยต่อสาธารณะ การให้ข่าว ฯลฯ)
  11. เริ่มงานพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและการศึกษา ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างเป็นระบบ มีการทำความเข้าใจกับประชาชนไทยนอกสามจังหวัดให้เข้าใจปัญหาภาคใต้อย่างถูกต้อง โดยสื่อต้องเป็นสื่อ สันติภาพที่มุ่งเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อกาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและเรียกร้องให้มีการร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาเพื่อความสงบเรียบร้อยอย่างแท้จริง
  12. เร่งปรับปรุงกลไกของรัฐในพื้นที่ให้สามารถบริการสาธารณะเชิงรุก เป็นธรรมาภิบาล และเข้าถึงประชาชนในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง โดยให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมในการแสวงหาแนวทางและการดำเนินการ
  13. จัดตั้งองค์กรภาคประชาชนหรือหน่วย สันติอาสาสมัคร โดยร่วมกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดสันติสุขและสมานฉันท์ ในรูปแบบองค์กรอิสระที่รัฐบาลให้การรับรองและสนับสนุนงบประมาณ
  14. การตั้งองค์กรภาครัฐเพื่อบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ศอ.บต. ต้องให้มีตัวแทนภาคประชาชนที่มีประสบการณ์และผลงานด้านแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากหลากหลายอาชีพเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและผู้นำขององค์กรใหม่ต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีจิตวิญญาณและมีความมุ่งมั่นปรารถนาในการแก้ปัญหาและสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น
  15. นโยบาย มาตรการและแนวทางปฏิบัติใดๆก็ตามของรัฐต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องยึดหลัก สันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง หยุดการอุ้มฆ่า ข่มขู่ ประทุษร้าย อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดเก่า หากมีข้อมูลชัดเจนว่าผู้ใดกระทำความผิด ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่แท้จริง นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และยอมรับในความแตกต่างหลากหลายและเคารพในภาษา ศาสนา วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของคนในท้องถิ่นทั่วถึงกัน
  16. ให้จัดตั้งศูนย์ประสานความร่วมมือ ระหว่างศาสนิกชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ชายแดนภาคใต้เป็นดินแดนแห่งศาสนธรรม
  17. ควรมีการแก้ไข ปรับปรุงเนื้อหา คู่มือของเจ้าหน้าที่ ข้าราชการที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีความเข้าใจ ในวิถีชีวิต วัฒนธรรม อัตลักษณ์ ของประชาชนอย่างแท้จริง และส่งเสริม สร้างขวัญกำลังใจให้ข้าราชการที่มีความตั้งใจจริงในกาแก้ไขปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้  
  18. พัฒนา ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ให้สอดคล้องกับหลักการศาสนาและจริยธรรมของทุกศาสนา รวมทั้งให้ตั้งศาลพิเศษ (ชารีอะฮ์) พิจารณาคดีครอบครัว มรดก และคดีที่เกี่ยวกับเยาวชนเป็นต้น
  19. ส่งเสริมวัฒนธรรมภาคประชาชนในการแลกเปลี่ยนทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมข้ามพรมแดนระหว่างประชาชนชาวไทยและประชาชนอาเซี่ยน

 


คณะกรรมการประสานงานองค์กรภาคประชาชนเพื่อจังหวัดชายแดนใต้ (คปปต.)


สภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย


สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย


กลุ่มสตรีสานสัมพันธ์สู่สันติสุข (ส6)


 


20 ตุลาคม 2549


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net