Skip to main content
sharethis


 


 


ในงานสมัชชาสังคมไทย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันนี้ (21 ต.ค. 2549) เวลา 15.00-17.00 น. มีการจัดเสวนาห้องย่อยหัวข้อปฏิญญาสมานฉันท์ข้ามพรมแดน จัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) โดยมีนักสหภาพแรงงาน เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรแรงงานทั้งไทยและพม่า เข้าร่วมเสวนาจำนวนมาก


 


นายอดิศร เกิดมงคล จากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) กล่าวว่าวัตถุประสงค์ที่ต้องเสวนาในวันนี้ เพราะแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติมีปัญหาร่วมกัน และจะมีเรื่องใดบ้างที่เราจะช่วยกันแก้ไขได้ เช่น การไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ขณะที่แรงงานไทยเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ แต่แรงงานข้ามชาติกลับได้รับค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำมาก หลายๆ โรงงาน นายจ้างใช้แรงงานข้ามชาติที่ได้ค่าแรงต่ำเอามาต่อรองเรื่องสภาพการจ้างงานกับแรงงานไทย การที่ทั้งแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทยประสบปัญหาการรวมกลุ่มในการตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งสหภาพแรงงานใช้เป็นกลไกต่อรองสิทธิของแรงงานได้ คือหากแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติต่างคนต่างทำ เราก็จะกลายเป็นการเตะหมูเข้าปากหมาให้นายจ้างได้ประโยชน์


 


โดยนายอดิศรเสนอข้อเรียกร้อง 4 ข้อ หนึ่ง สิทธิแรงงานเป็นสิทธิของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด ไม่อาจแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติ สัญชาติ เพศ อายุ ศาสนา และมีกลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงานในการเรียกร้องสิทธิของตน สองมีสิทธิในการรวมกลุ่ม เพราะเป็นกลไกปกป้องสิทธิผู้ใช้แรงงาน แรงงานทุกคนต้องตั้งสหภาพได้ และได้เป็นสมาชิกสหภาพ โดยที่กฎหมายอันเป็นข้อจำกัดการรวมตัวของแรงงานทั้งสองต้องถูกขจัด สามสวัสดิการที่มีต้องครอบคลุมทั้งแรงงานและครอบครัวด้วย ข้อสี่การเลือกปฏิบัติต่อแรงงานกลุ่มต่างๆ ต้องหมดไป และห้าสังคมยุติธรรมไม่ได้เกิดจากการนั่งรอ ต้องช่วยกันสร้างขึ้นมาให้ได้


 


ด้านนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่าคณะกรรมการฯ เองร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนและสหภาพแรงงานต่างๆ มีภารกิจหนึ่งคือการรณรงค์เพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ก็อยู่ในประเด็นของคณะกรรมการฯ เราเห็นว่าแรงงานไม่ว่าจะมาจากประเทศไหนควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานโดยเท่าเทียมกัน ทั้งค่าจ้าง ความปลอดภัยในการทำงาน และโรงงานไหนที่มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว และรับแรงงานข้ามชาติ ก็ต้องดูแลสิทธิของเขาให้เหมือนคนไทย เช่น ค่าแรงขั้นต่ำที่ควรได้เท่ากัน และควรรับแรงงานข้ามชาติเป็นสมาชิกสหภาพ ต้องไม่มีการแบ่งแยกแรงงานไม่ว่าจะมาจากที่ไหน นอกจากนี้วัฒนธรรมก็เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยการที่จะอยู่ร่วมกันแรงงานทั้งสองจะต้องมีความเข้าใจวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ซึ่งจะไม่นำไปสู่ความแตกแยกในการทำงานร่วมกัน


 


นอกจากนี้ น.ส.วิไลวรรณ ยังแสดงความกังวลที่รัฐบาลชุดใหม่จะย้ายแรงงานไปอยู่ในโรงงานแนวชายแดนว่าอาจเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน


 


น.ส.ศรีไพร นนทรี จากสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า สภาแรงงานบางแห่งเวลาพูดถึงแรงงานข้ามชาติจะเปรียบถึงกรุงศรีอยุธยาแตกคือเป็นแบบแนวชาตินิยม แต่ตนอยากให้เข้าใจว่าแรงงานข้ามชาติเหมือนกับแรงงานไทย เหมือนแรงงงานไทยไปไต้หวันแล้วถูกเอาเปรียบ เราต้องมองความเป็นธรรมว่า เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา คือเมื่อเปิดเสรีการค้า เพื่อลดต้นทุนการผลิตของนายทุน จึงมีการจ้างแรงงานข้ามชาติ ซึ่งไม่ใช่แค่แรงงานไทยเดือดร้อน แต่แรงงานข้ามชาติก็จะเดือดร้อนจากการถูกจ้างงานโดยเอารัดเอาเปรียบนี้ด้วย ดังนั้นต้องมาคิดว่าพรมแดนระหว่างพวกเรา คือพรมแดนของคนจนต้องไม่มีต่อไป เราต้องมาหาทางคิดว่า คนจนจะรวมกันต่อสู้กับการลงทุนแบบเสรีนิยมอย่างไร โดยตนเห็นด้วยว่าแรงงานข้ามชาติควรได้เป็นสมาชิกสังกัดสหภาพแรงงานได้ ซึ่งอาจมีการผลักดันคุยกันเป็นกิจจะลักษณะระหว่างคนงานไทยกับแรงงานข้ามชาติต่อไป


 


นายบุญผลิน สุนทรารักษ์ จากสหภาพแรงงานกรุงเทพผลิตเหล็ก กล่าวว่า ขบวนการแรงงานไทยที่รณรงค์เพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติยังเป็นองค์กรส่วนน้อย ที่เสนอว่าเราคนงานคือพี่น้องกัน และกำลังต่อสู้กับการครอบงำจิตสำนึก ขณะที่องค์กรแรงงานส่วนใหญ่ อย่างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยยังโจมตีไล่ให้แรงงานข้ามชาติกลับประเทศมาตั้งแต่ปี 2540 คือปลูกฝังด้วยลัทธิผู้นำชนชั้นบน


 


"ตนเชื่อว่าเราควรยกเลิกความคิดครอบงำ เราควรไม่ให้ความเคารพกลุ่มโจรที่ปล้นประชาธิปไตย เราถูกจำกัดค่าจ้างแบบไม่เป็นธรรม เศรษฐกิจพอเพียงแบบไร้สาระ อยู่ในที่ไม่พอเพียงคือค่าจ้างต่ำ พ่อแม่รับภาระทั้งการกินการอยู่ ค่าจ้างต่ำที่คนไทยควรได้รับไม่ควรต่ำกว่า 104,000 บาท เท่าเงินเดือน ส.ส." นายบุญผลินกล่าว


 


นายศิริชัย สิงห์ทิศ จากสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า ตนขอยกย่องชื่นชมพี่น้องผู้ใช้แรงงานชาวพม่าที่ต่อสู้กับเผด็จการ โดยตนสนใจเรื่องแรงงานข้ามชาติพอสมควรในสหพันธ์สิ่งทอ มีการปรับความเข้าใจกับพี่น้องแรงงาน แต่ก็มีไม่น้อยที่อนุรักษ์นิยม ตนเคยไปเยี่ยมพี่น้องแรงงานพม่าที่แม่สอด ซึ่งพบว่ามีการเอาเปรียบไม่ต่างกัน ตนคิดว่าแรงงานข้ามขาติต้องมีสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางการเมือง สิทธิทางสังคมและไม่มีใครควรจะเป็นทาส โดยตนเห็นว่าการสร้างความสมานฉันท์กับแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ตนเชื่อว่าผู้ใช้แรงงานเป็นพี่น้องกัน เรื่องนี้เราต้องสมานฉันท์ เพราะกรรมกรไม่มีชาติ ไม่มีพรมแดน เรามีแต่ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นนายศิริชัยกล่าว


 


นอกจากนี้ยังได้มีการร่างแถลงการณ์ปฏิญญาสมานฉันท์ข้ามพรมแดน เพื่อสร้างความสามัคคีชนชั้นของแรงงานไทย-พม่า ในการปกป้องสิทธิแรงงานด้วย โดยมีคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า และผู้นำสหภาพแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรแรงงานไทย-พม่า ลงนามด้วยจำนวนมาก


 


นาย Moe Swe ชาวพม่าจากองค์กร Yaung Chi Oo Workers Association ซึ่งทำงานด้านสิทธิของพี่น้องแรงงานพม่าในประเทศไทย กล่าวว่า ตนสัญญาว่าจะยินดีต้อนรับ ถ้ามีสหภาพแรงงานไทยที่จะลงไปทำงานในพื้นที่ร่วมกัน โดยหวังว่าปฏิญญานี้จะไม่ใช่สัญญากระดาษ แต่สัญญาจะเป็นจริงได้ขอให้มีการลงมือทำจริงๆ จังๆ นาย Moe Swe กล่าวก่อนสิ้นสุดการเสวนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net