TSF : ผู้ติดเชื้อ 'ไม่ปลื้ม' ร่างพ.ร.บ.สิทธิบัตร - ยิ่งแก้ยิ่งฆ่าประชาชน!

 

 

"พ.ร.บ.สิทธิบัตรฆ่าประชาชน พ.ร.บ.สิทธิบัตรยิ่งแก้ยิ่งแย่"

 

"นี่เป็นผลงานของข้าราชการกระทรวงพาณิชย์  ทำอย่างนี้เราไม่ปลื้ม"

 

เสียงประกาศผ่านโทรโข่งของบรรดาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทยหลายสิบคนดังก้องอาคารการจัดงานสมัชชาสังคมไทย (TSF/ Thai Social Forum) ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ท่ามกลางแดดเปรี้ยงของวันที่ 22 ตุลาคม

 

มีรูปปั้นอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากที่ยืนมุงอยู่ ร่วมเป็นสักขีพยานในการคััดค้าน ร่างพ.ร.บ.สิทธิบัตร ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่นี้

 

หลายเดือนก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ยกร่างพ.ร.บ.สิทธิบัตรขึ้นใหม่ โดยมีการรับฟังความเห็นของกลุ่มต่างๆ อยู่หลายครั้งทั้งนักวิชาการ ภาคธุรกิจ และเครือข่ายประชาชน จนกระทั่งมันผ่านคณะกลั่นกรองฯ เตรียมเข้าที่ประชุม ครม.แล้วอย่าง "เงียบกริบ" แต่มาเกิดการรัฐประหารฟ้าผ่าเสียก่อน เรื่องดังกล่าวจึงถูกตีกลับมายังกระทรวงพาณิชย์รอให้รัฐมนตรียืนยันกลับไปหาครม.ชุดใหม่อีกครั้งในช่วงนี้

 

แม้มีการฟังความเห็น แต่ร่างพ.ร.บ.ก็ยังมีปัญหาอยู่มากและเป็นดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับสังคมไทยเสียด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จึงรีบใช้โอกาสช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ รณรงค์คัดค้านพ.ร.บ.ฉบับนี้แบบ "หัวชนฝา"

 

ทำไมเขาต้องทำอย่างนั้น และมันเกี่ยวข้องกับสังคมไทยโดยรวมอย่างไร ...

 

"การแก้พ.ร.บ.ครั้งนี้จะเดือดร้อนกับคนไทยทุกคน มันจะทำให้คนไทยเข้าถึงยาได้ยากขึ้น จะเิกิดการผูกขาดสิทธิบัตรยาส่งผลให้ยาราคาแพง แต่พวกเราเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ มาอยู่แถวหน้า เพราะเราเดือดร้อนกว่าคนอื่น เราต้องใช้ยามาก มันคือชีวิตของเรา" นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ประกาศ

 

ปัญหาหลักๆ ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ประการแรกคือ การยกเลิกไม่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยื่นคำร้องคัดค้านการขอสิทธิบัตรของบริษัท "ก่อน" ที่จะได้รับการอนุมัติสิทธิบัตร แล้วปรับแก้ให้ไปยื่นคำคัดค้าน "หลัง" ได้รับอนุมัติสิทธิบัตรแล้ว 6 เดือน

 

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากกลุ่มเอฟทีเอวอทช์ อธิบายถึงความสำคัญของประเด็นนี้ว่า หลักการเดิมที่ให้ยื่นคำคัดค้านก่อนการอนุมัติสิทธิบัตรได้ (นับตั้งแต่วันแรกที่ประกาศโฆษณาเป็นเวลา 3 เดือน) เป็นช่องทางที่ภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบไม่ให้คำร้องขอสิทธิบัตรยา "ห่วยๆ" ได้รับอนุมัติ และทำให้เิกิดการผูกขาดแต่เีพียงผู้เดียวไปอีก 20 ปี

 

ขณะที่การคัดค้าน "หลัง" จากบริษัทไ้ด้รับสิทธิบัตรแล้วนั้นยากเหลือเกินที่จะประสบความสำเร็จ และต้องเสียค่าใช้จ่ายในชั้นศาลมากมาย

 

เธอระบุว่า กระบวนการยื่นคำคัดค้านหลังไ้ด้สิทธิบัตรแล้วเป็นหลักการในประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่า สหรัฐ  ยุโรป ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฯ ในสหรัฐนั้นปรากฏว่ามีสิทธิบัตรที่ไม่ีสมควรได้รับอนุัมัติออกมาเต็มไปหมด และการคัดค้านแทบจะไม่เคยสำเร็จเลย จนนักวิชาการ เอ็นจีโอในสหรัฐเรียกร้องให้ยกเลิกกฎเกณฑ์การคัดค้านหลังได้สิทธิบัตรแล้ว

 

ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายล้วนใช้หลักการให้ยื่นคัดค้าน "ก่อน" ได้สิทธิบัตรทั้งนั้น ไม่ว่า จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ ไทย ฯ

 

"ระบบที่ให้คัดค้านทีหลัง มันใช้ในประเทศร่ำรวยทั้งนั้น เราต้องดูตัวเราเองด้วยว่าสถานะเราอยู่ตรงไหน พร้อมจะใช้เหมือนเขาหรือเปล่า" กรรณิการ์กล่าว

 

เธอยังเสนอด้วยว่า เรื่องสิทธิบัตรยา น่าจะมีการยกร่างกฎหมายแยกต่างหากออกมาจากกฎหมายสิทธิับัตร เนื่องจากยาเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของชีวิต และการเข้าถึงยาเป็นหลักสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งไม่เหมือนกรณีสิ่งประดิษฐ์่อื่นๆ ที่การแก้กฎหมายครั้งนี้อาจก่อประโยชน์ได้จริง

 

 

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว การเปลี่ยนแปลงนี้บังเอิญไปตรงกับข้อเรียกร้องในข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อไทย และอยู่ระหว่างกระบวนการเจรจาต่อรองกันอยู่ นักวิชาการหลายคนจึงแสดงความเป็นห่วงว่า การปรับแก้กฎหมายสิทธิบัตรครั้งนี้เป็นการรองรับข้อเรียกร้องของสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีบริษัทยาข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก

 

ภาคประชาชนเคยทดลองใ้ช้่ช่องทางคัดค้านคำขอสิทธิับัตรเวอร์ชั่น "ก่อน" พิจารณาสิทธิบัตรแล้ว ในกรณียาต้านไวรัสคอมบิดของบริษัทแกร๊กโซ่แห่งสหรัฐ เนื่องจากใช้การประดิษฐ์พื้นฐานที่ชาวบ้านเขาใช้กันทั่วไปแต่ดัดแปลงนิดหน่อย แม้คณะกรรมการพิจารณาสิทธิบัตรในกระทรวงพาณิชย์จะปัดคำคัดค้านของประชาชนตกไป แต่แรงกดดันนี้ก็ทำให้บริษัทยายอมถอนสิทธิบัตรไปเอง (อ่านรายละเอียดในhttp://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=4619&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai)

 

กรณีต่อสู้กันนี้ใช้เวลายาวนานกว่า 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2543) และระหว่างนั้นองค์การเภสัชกรรมตัดสินใจผลิตยาคอมบิดราคาถูกคู่ขนานไปด้วยเพื่อให้ผู้ป่วย 5,000-8,000 คนได้มียาใช้ โดยยอมเสี่ยงต่อการถูกฟ้องย้อนหลังหากบริษัทเกิดได้สิทธิบัตรขึ้นมา

 

ทั้งนี้ เพราะองค์กรเภสัชกรรมเคยมีประสบการณ์มาแล้วจากกรณียาต้านไวรัสดีดีไอที่ต่อสู้กับบริษัทยาในชั้นศาล (เพราะสิทธิบัตรผ่านแล้ว) ซึ่งไม่สามารถผลิตยาคู่ขนานไปได้ ทำให้ระหว่างการพิจารณาคดีมีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนมาก  เนื่องจากไม่มีปัญญาซื้อยาติดสิทธิบัตรได้

 

ไม่เพียงเท่านั้น ในประการต่อมา พ.ร.บ.นี้ยังแก้ไขให้การกำหนดขอบเขต "มาตรการบังคับใช้สิทธิ" (CL:Compulsory licensing) ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยให้เข้าถึงยาราคาถูก ให้ขึ้นต่อการตัดสินใจของรัฐมนตรี ซึ่งเท่ากับให้อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่คนๆ เดียว อาจทำให้เกิดความไม่รอบคอบ

 

ประการสุดท้าย คือการกำหนดให้เจ้าของสิทธิบัตรสามารถแก้ไขสิทธิบัตรที่รับไว้แล้วได้ ซึ่งจะทำให้สิทธิับัตรไม่มีวันหมดอายุุ หรือที่เรียกกันว่า Evergreening Patent  จากเดิมที่ไม่อนุญาตให้มีการแก้ไขสิทธิบัตรใดๆ ได้ทั้งสิ้น การกำหนดให้แก้สิทธิบัตรได้นี้ อาจเปิดช่องให้บริษัทปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเนื้อหา กระบวนการเพียงนิดหน่อยแล้วก็ไปขอต่ออายุสิทธิบัตรได้ ทั้งที่โดยปกติเมื่อยาหลายตัวเมื่อหมดอายุสิทธิบัตร องค์กรเภสัชกรรมหรือเอกชนที่มีศักยภาพ สามารถจะผลิตยานั้นๆ ได้ทันทีในราคาถูกกว่าหลายเท่า

 

นี่คือปัญหาหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.ฉบับนี้

 

ท้ายที่สุด เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ได้เรียกร้องให้มีการทบทวนพ.ร.บ.ฉบับนี้ หรือเปิดเผยเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.นี้ต่อสาธารณชน เพื่อให้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง มิใ่ช่เพียงลงประกาศเงียบๆ ในเว็บไซต์กระทรวง

 

นิมิตร์ เทียนอุดม ยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า

 

"รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเทคโนแครต เป็นรัฐบาลของพรรคข้าราชการ เราไม่อาจไว้วางใจได้ว่า ท่านจะฟังประชาชนมากกว่าฟังข้าราชการลูกน้องของท่าน โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ซึ่งทำเกียรติประวัติไว้ดียิ่ง ตั้งแต่เอฟทีเอ กรณียาดีดีไอ การแก้พ.ร.บ.ครั้งนี้ก็เช่นกัน ไม่เคยเห็นหัวประชาชน ไม่เคยเปิดให้ร่วมคิด เปิดข้อมูลสู่สาธารณะ พวกเราต้้องไปแอบล้วงไส้ล้วงพุงออกมาเองจากข้าราชการที่ยังมีจิตสำนึก"  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท