TSF : ค้าน อพท. เตรียมรุกยื่นหนังสือ "สุรยุทธ์" 7 พ.ย.

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา เวทีสมัชชาสังคมไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เวทีย่อยถกประเด็นการจัดการพื้นที่ท่องเที่ยวโดยองค์กรบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.) ที่ห้อง 3017 เวลา 15.00 น.

 

การแลกเปลี่ยนความเห็นดำเนินไปกว่า 3 ชั่วโมง ตัวแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก อพท. ทั่วประเทศทั้งหมดเห็นร่วมกันว่า อพท. สร้างปัญหาต่อประชาชนอย่างมากและเป็นการจัดการพื้นที่โดยเอื้อให้กับนายทุนขนาดใหญ่ ขณะที่ประชาชนเจ้าของพื้นที่ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพในการท่องเที่ยวตามแนวทาง อพท. ได้ จึงเห็นสมควรให้มีการยกเลิกกฤษฎีกา อพท. และจะทำหนังสือข้อเสนอแนวทางการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยท้องถิ่นเองให้กับรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ที่ระบุว่าจะใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารประเทศ

 

ทั้งนี้ แนวทาง อพท.เป็นแนวทางที่สุดขั้วทางทุนนิยม ดังนั้นหากรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ยังยืนยันในเจตนารมณ์การพัฒนาประเทศด้วยความพอเพียง ก็ควรทำตามข้อเรียกร้องของผู้คัดค้าน อพท. นอกจากนี้ กลุ่มผู้คัดค้าน อพท.ได้กำหนดวันยื่นหนังสือในวันที่ 7 พ.ย. ซึ่งเป็นวันประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล

 

นายสุพจ จริงจิตร กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรมและสื่อมวลชนอาวุโสให้ภาพรวมเกี่ยวกับอพท. ว่า หัวใจของ อพท. คือ อำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหาร โดยอำนาจตัดสินใจอยู่ที่นายกรัฐมนตรีผ่านมติคณะรัฐมนตรี จะทำให้มีอำนาจซ้อนทับไปกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ และข้าราชการทั้งระดับกระทรวงและในพื้นที่ ชาวบ้านจึงไม่สามารถเรียกร้องสิทธิในทรัพยากรผ่านตัวแทนท้องถิ่นของตนได้ง่าย

 

จากนั้นจึงได้กล่าวถึงพื้นที่ที่ อพท.เข้าไปมีบทบาทว่า ล่าสุดมี 13 แห่ง พื้นที่แรกคือ เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง หลังการประกาศให้เป็นพื้นที่ อพท. จะเห็นได้ว่าแนวทางพัฒนาคือทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับสูงเพื่อนักท่องเที่ยวระดับไฮคลาส เช่น การทำสนามกอล์ฟ  หรือที่เกาะไม้ชี้จะมีการทำสนามบินให้เครื่องบินเล็กลงจอด สิ่งที่ตามมาคือการรุกเข้ามาของกลุ่มทุนต่างๆ โดยเฉพาะทุนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเช่น การเข้ามาซื้อที่ดินเกาะกูดของนายเสนาะ  เทียนทอง ก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ อพท. ต่อมาขายต่อให้กลุ่มทุนใหญ่เพื่อสร้างโรงแรมในพื้นที่กว่า 100 ไร่

 

เกาะไม้ชี้ เป็นเกาะส่วนตัวของนายธัญญา หารพล (รองผู้อำนวยการ อพท.) ก็กำลังหากลุ่มทุนมาพัฒนา เห็นได้ว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้บริหาร อพท. นอกจากนี้ ในพื้นที่เกาะช้างทาง กลุ่มทุนซีพีซึ่งมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลเก่าก็ยึดเกาะช้างไว้อย่างเบ็ดเสร็จหลังจากการประกาศเป็นพื้นที่ อพท. เช่น ซื้อท่าเรือข้ามฟากไปเกาะช้าง ท่ารถโดยสาร 75 แห่งบนเกาะ และประกาศรับซื้อที่ดินจากชาวบ้านอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลทักษิณก็เข้าไปซื้อที่เอาไว้เช่นกัน

 

นายสุพจน์ ยังกล่าวถึงอีกพื้นที่ อพท. ที่มีปัญหาการเผชิญหน้ากับชาวบ้าน คือเกาะพีพีและพื้นที่เชื่อมโยง โดยใช้ช่วงจังหวะหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิเข้าจัดการพื้นที่ซึ่งแสดงให้เห็นวิธีคิดของอพท.ที่ชัดเจน ได้แก่ การประกาศย้ายชาวบ้านให้ไปอาศัยบนภูเขาโดยอ้างว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง แต่ขณะเดียวกันก็มีการเตรียมการพัฒนาที่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาชมวิวในพื้นที่ราบแทน และมีการสร้างโรงแรมระดับ 6 ดาว และรีสอร์ท ไว้รองรับในพื้นที่ใกล้เคียง โดยพื้นที่ทางการท่องเที่ยวเหล่านี้ได้ทำให้เกิดการไล่ที่ชาวบ้านดั้งเดิม โดยอ้างว่าทำรายได้ให้ประเทศน้อย นักท่องเที่ยวที่มาไม่ได้จ่ายมากระดับหรูก็มักสร้างความเสียหาย

 

สิ่งต่อเนื่องที่ตามมาคือชาวบ้านไม่มีโอกาสในการทำกิน เช่น เรือเล็กรับจ้างไปเกาะต่างๆ การรับจ้างนวดตามชายหาด ร้านค้ารายย่อย การพัฒนาของอพท.จึงหมายถึง การเตรียมไล่คนกว่า 6,000 คนออกเพื่อหากลุ่มทุนใหญ่มาหากินแทน ชาวบ้านจึงคัดค้านทำให้รัฐบาลมีมติไม่ให้ อพท.มายุ่งเกี่ยวในการจัดการพื้นที่ แต่ในทางปฏิบัติจริง ขณะนี้ยังไม่น่าไว้วางใจนัก ที่ผ่านมามีนักการเมืองเข้ามาดูพื้นที่และขอซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยผู้ใหญ่ในอพท. ท่านหนึ่งสารภาพในวงเหล้าว่าเป็นคนของ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ

 

ส่วนที่บ้านน้ำเค็มซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องตามโครงการ อพท. ก็มีแผนจะใช้เป็นจุดให้นักท่องเที่ยวมาชมธรรมชาติและวิถีประมงจึงมีแผนอพยพคนออกร้อยละ 30 นั่นหมายความว่า จะมี  1,500 ครอบครัว จาก 4,000 ครอบครัวต้องถูกอพยพออกไป

 

นางดุจหทัย นาวาพานิช ตัวแทนผู้คัดค้าน อพท.จากพื้นที่เกาะเสม็ด กล่าวว่า เกาะเสม็ดและพื้นที่เชื่อมโยงเป็นเป้าหมายของ อพท. ต่อจากเกาะช้าง และไนท์ซาฟารี โดยจะมีการทำที่จอดเรือยอร์ช โรงแรม 5 และ 6 ดาว รถไฟฟ้า และอื่นๆ มีวิธีการไล่ที่ชาวบ้านด้วยการประกาศเขตอุทยานทับที่ ภายหลังบอกซ้ำมาอีกว่า เป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ชาวบ้านไม่สามารถอยู่ได้

 

นางดุจหทัยกล่าวอีกว่า เมื่อมีการหารือเรื่องปัญหาที่ดินกับ อพท .ก็ได้รับการปฏิเสธทั้งที่กำลังจะเป็นผู้มาใช้ที่ดินของชาวบ้าน และบอกให้ชาวบ้านทำตามแนวทาง อพท.ด้วยการตั้งบริษัทและหากลุ่มทุนมาร่วมลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวบ้านทำไม่ได้

 

นอกจากนี้ ทาง อพท. ก็ไม่เคยถามชาวบ้านเลยว่าต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบใด แต่กำลังริดรอนอำนาจของท้องถิ่นแล้วดำเนินการตามความต้องการ

 

"พื้นฐานการท่องเที่ยวเดิมของเกาะเสม็ดเริ่มต้นมาจากนักศึกษาและคนชั้นกลางจากกรุงเทพ ถ้าแปลงสภาพไปตาม อพท.จะไปเที่ยวกันที่ไหน เป็นการจำกัดสิทธิทางทรัพยากรเพราะทุนการท่องเที่ยวสู้ต่างชาติไม่ได้ นอกจากนี้ผลประโยชน์ก็ไม่ได้อยู่กับชุมชนเพราะเป็นเรื่องของสัมปทานให้นายทุน"

 

นายชัยพันธ์ ประภาสะวัติ แกนนำการคัดค้านเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ซึ่งเป็นอีกโครงการหนึ่งของอพท. กล่าวว่า โครงการดังกล่าวใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติสุเทพ -ปุย กว่า 800 ไร่  ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์มาทำตามมติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณซึ่งเป็นการทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดัดแปลงทำอ่างเก็บน้ำ ตัดถนน ซึ่งทั้งหมดต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอตามกฎหมายแต่โครงการนี้ไม่ได้ทำเลย

 

นายชัยพันธ์ ยังกล่าวอีกว่า ผลของการทำโดยไม่ศึกษาอีกไอเอของไนท์ซาฟารี มีผลต่อการทำให้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่อย่างรุนแรงทั้งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วย เพราะใช้พื้นที่ตีนดอยสุเทพที่เป็นทางระบายน้ำมาทำ ตามปกติน้ำต้องระบายผ่านลงสู่แม่น้ำปิง ไนท์ซาฟารีเป็นทางกั้นที่ทำให้น้ำเปลี่ยนเส้นทางไปรวมกันน้ำที่สิ่งก่อสร้างอื่นๆที่กั้นไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หรือโครงการพืชสวนโลกที่ไม่เคยศึกษาอีไอเอ จนน้ำรวมกันไหลท่วมเมือง นอกจากนี้เมื่อไนท์ซาฟารีเปิดดำเนินการแล้วก็เจ๊งแต่ประชาชนต้องจ่ายภาษีในการดำเนินการนี้กว่า 1,000 ล้านบาท

 

จากนั้น จึงมีการนำเสนอผลการวิจัยโครงการศึกษาผลกระทบจากโครงการดังกล่าวด้วยว่า ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของชาวบ้าน เพราะก่อนเริ่มโครงการบอกว่าชาวบ้านจะมีงานทำ เช่น รับจ้างเป็นแรงงานสร้างไนท์ซาฟารี แต่เมื่อสร้างจริงกลับใช้คนจากทหารช่างราชบุรี หรือในงานที่ซับซ้อนก็ใช้บริษัทเอกชนทำ หรือหลังจากเปิดดำเนินการแล้วมีการจ้างงานชาวบ้านเพียง 2 คน ซึ่งเป็นลูกของผู้นำชาวบ้านทั้งสิ้น คิดเป็นอัตราแล้วไม่ถึงร้อยละ 1 ของชาวบ้านรอบๆ ไนท์ซาฟารี สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านมาก

 

นอกจากนี้ยังพบอีกว่าชาวบ้านสูญเสียพื้นที่ในการพึ่งพิงป่า ทำให้การเก็บของป่าทำได้ลดลงทั้งที่ รายได้ทางนี้มีสูงถึง 10,000 บาทต่อปี และมีชาวบ้านถึงร้อยละ 30 รอบๆ ไนท์ซาฟารีมีอาชีพจากการพึ่งป่าอย่างเดียวจึงทำให้หมดอาชีพ

 

อีกเรื่องที่กระทบกับชุมชนอย่างมากคือสร้างความหวาดวิตกให้กับชุมชนดั้งเดิม เพราะในการสร้างไนท์ซาฟารีมีการอพยพเข้ามาของแรงงานต่างชาติซึ่งสร้างเพิงพักกระจายไปในชุมชน ชาวบ้านเกรงว่าจะเกิดอาชญากรรม ขณะนี้มีการลักขโมยเกิดขึ้นแล้ว 1 ครั้ง โดยในรอบชีวิตของคนชราในชุมชนบริเวณนั้นไม่เคยเกิดขึ้นแม้จะเปิดบ้านทิ้งไว้ก็ตาม นอกจากนี้ชาวบ้านบางส่วนยังสูญเสียที่ทำกินดั้งเดิมจากบรรพบุรุษที่ขอเอกสารสิทธิ์กันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่จนตอนนี้ยังไม่ได้และต้องสูญเสียไป ทำให้รู้สึกเหมือนไม่สามารถรักษามรดกบรรพบุรุษได้เพราะการพัฒนาที่ดินเพื่อการค้า

 

 

ข้อมูลประกอบ

 

ย้อนรอย "อพท." (อีกครั้ง) เตรียมความพร้อมก่อนฟ้องศาลปกครองยุบ

เลื่อนฟ้องศาลปกครองยุบ อพท.เตรียมความพร้อมก่อนรบจริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท