Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 23 ต.ค. 2549วันที่ 22 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เวทีสมัชชาสังคมไทยจัดสัมมนาห้องย่อย ในหัวข้อ "ยุทธศาสตร์การสร้างพลังของขบวนแรงงาน" โดยมีวิทยากร คือ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา และ ใจ อึ๊งภากรณ์ มีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้


 



0 0 0


 


ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา


"อุดมการณ์สังคมนิยมคือน้ำหล่อเลี้ยงขบวนการแรงงาน"


 


ศักดินาได้แบ่งประเด็นสำหรับการทำความเข้าใจเรื่อง ยุทธศาสตร์การสร้างพลังของขบวนการแรงงาน ไว้สี่ประเด็นคือ


 



  1. นิยามของขบวนการแรงงาน
  2. สภาพความอ่อนแอของขบวนการแรงงานไทย
  3. ประสบการณ์การต่อสู้ของขบวนการแรงงานไทย
  4. การวางยุทธศาสตร์

 


สำหรับประเด็นการนิยามความหมายของขบวนการแรงงานนั้น ในแต่ละช่วงของประวัติศาสตร์ ความหมายจะครอบคลุมไม่เหมือนกัน สำหรับในปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะกล่าวถึงขบวนการแรงงานในความหมายของสหภาพแรงงานที่มีการจดทะเบียน ซึ่งเป็นมุมมองที่คับแคบ เพราะในอดีตนั้นมีความหมายกว้างกว่าในปัจจุบัน


 


ในอดีตขบวนการแรงงานในประเทศไทยเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของขบวนการแรงงานรับจ้างชาวจีน


 


แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวไทยที่เคยทำนาเข้าสู่โรงงานมากขึ้น และเริ่มมีปัญญาชนที่เป็นแกนนำให้กับขบวนการแรงงาน


 


หลังยุค 2475 ขบวนการแรงงานเริ่มมีความหมายกว้างขึ้น อาจนำโดยคนตกงาน ขบวนการแรงงานของคนถีบสามล้อ และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีขบวนการแรงงานของแรงงานนอกระบบ จนมาถึงยุคหลัง 14 ตุลา ความหมายของขบวนการแรงงานก็ยังครอบคลุมกว้างอยู่


 


แต่พอหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นเหตุให้อำนาจรัฐบีบรัดจัดรูปขบวนการแรงงานเสียใหม่ คือบังคับให้ขบวนการแรงงานต้องจดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงานในระบบ กีดกันแรงงานนอกระบบออกไป


 


ส่วนสภาพความอ่อนแอของขบวนการแรงงานไทยนั้น มีเหตุผลในการวิเคราะห์อยู่ 2 กรณี ก็คือ มุมมองในเชิงปริมาณ และ เชิงคุณภาพ


 


ในมุมมองเชิงปริมาณนั้น ขบวนการแรงงานไทยในปัจจุบัน ซึ่งก็คือสหภาพแรงงานที่จดทะเบียน เป็นเพียงส่วนน้อยของปริมาณแรงงานทั้งในและนอกระบบทั้งหมด คือมีอยู่เพียง 3 % และในปริมาณแรงงานที่เป็นขบวนการแรงงานส่วนน้อยนี้ ยังมีการแยกย่อยองค์กรออกไปอีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุของการที่ทำให้ขบวนการแรงงานในระดับชาติ ไม่เข้มแข็ง นอกจากนี้ยังมีผู้นำแรงงานที่ทุ่มเทน้อย มีการร่วมมือกันน้อย จนถึงมีเครื่องมือสื่อในมือน้อยเกินไป


 


สำหรับเชิงคุณภาพนั้น ประเด็นที่สามารถนำมาพิจารณาได้ก็คือ


 



  • ขบวนการมีความเป็นเอกภาพรึเปล่า?
  • มีความสมานฉันท์
  • มีความสำนึกรับผิดชอบ
  • ความเป็นประชาธิปไตยน้อย
  • มีความเป็นอิสระมาก-น้อยเพียงใด

 


ในส่วนประสบการณ์การต่อสู้ของขบวนการแรงงานไทยนั้น ศักดินาชี้ให้เห็นว่า ในช่วงที่ขบวนการแรงงานประสบความสำเร็จสูง คำนิยามของขบวนการแรงงานจะกว้าง ไม่ใช่คับแคบเช่นในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกันสูง, มีปัญญาชนนักคิด , สามารถเชื่อมโยงกับการเมืองและมีทรัพยากรทางการเมืองในมือ และที่สำคัญ คือ ในสภาวะที่ขบวนการทางการเมืองมีความเข้มแข็งสูง สภาพแวดล้อมทางการเมืองในช่วงนั้น มีการยอมรับแนวคิดสังคมนิยมสูง


 


สำหรับการวางยุทธศาสตร์นั้น ศักดินากล่าวว่า จะต้องเปลี่ยนความเชื่อหลักของแรงงานตามแนวทุนนิยม ต้องสร้างสร้างค่านิยมระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง จากผู้ให้-ผู้รับ มาเป็น social partnership และต้องวางยุทธศาสตร์ไว้ 4 ระดับ คือ ระดับสถานประกอบการ , ระดับอุตสาหกรรม , ระดับชาติ ,และ ระดับสากล


 


ศักดินาได้สรุปช่วงท้ายไว้ว่า ต้องกำจัดคนคอรัปชั่นออกจากขบวนการแรงงาน ต้องเน้นการสร้างยุทธศาสตร์ในระดับชาติ เรียนรู้จากอดีต ยอมรับในความหลากหลาย และอุดมการณ์ที่สำคัญในการสร้างขบวนการแรงงานให้เข้มแข็ง คืออุดมการณ์สังคมนิยม ซึ่งถึงแม้อุดมการณ์นี้จะมีความหลากหลาย จะต้องเลิกและนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย โดยศักดินาได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า


 


"อุดมการณ์สังคมนิยม คือ น้ำหล่อเลี้ยงขบวนการแรงงาน"


 


0 0 0


 


ใจ อึ๊งภากรณ์


การนัดหยุดงานคืออาวุธสำคัญของขบวนการแรงงาน


 


วิทยากรคนที่สอง คือ ใจ อึ๊งภากรณ์ กล่าวถึงการสร้างพลังแรงงานที่ล้มเหลวอันเกิดมาจากแนวคิด 3 แนวคิดคือ


 



  • การหวังหาคนดีมาเป็นผู้นำ
  • การท่องสูตรนามธรรมตลอดเวลา
  • การเน้นหาผู้นำสหภาพแรงงานมืออาชีพ

 


ในประเด็นการหวังหาคนดี ใจ มองในมุมที่กลับกันคือต้องสร้างโครงสร้างที่เข้มแข็งในการต่อสู้ ไม่ใช่การหวังกับคนเพียงไม่กี่คน ส่วนเรื่องการท่องสูตรนามธรรมอยู่ตลอดเวลานั้น เราจะต้องนำมันมาใช้เป็นนามธรรมและต้องยอมรับในความเป็นจริง จุดแข็ง จุดอ่อน ของตนเอง และอย่าหดหู่กับการต่อสู้ และการเน้นหาผู้นำสหภาพที่เป็นมืออาชีพ จะทำให้เขาเหล่านั้นเริ่มคุ้นเคยกับการเจรจา (กับนายจ้าง,รัฐ) สร้างความประนีประนอม จนในที่สุดแล้วกลายเป็นให้ความร่วมมือกับนายจ้าง


 


อาวุธที่สำคัญสำหรับขบวนการแรงงานนั้น ใจเสนอว่า คือการนัดหยุดงาน ขบวนการแรงงานจะไม่มีความหมายถ้าหากไม่ใช้การนัดหยุดงานเป็นเครื่องมือ


 


โดย ใจ ได้กล่าวว่า "ถ้าสร้างสหภาพแรงงาน โดยไม่ใช้อาวุธในการนัดหยุดงาน คือการเพ้อฝัน"


 


และอุปสรรคในการนัดหยุดงานก็คือ


 



  • พวกผู้นำแรงงานมืออาชีพ ไม่ค่อยอยากออกมาทำงานเคลื่อนไหว
  • แนวคิดขององค์กรระหว่างประเทศในหลายองค์กร ไม่สนับสนุนการนัดหยุดงาน

 


ใจ กล่าวต่อไปว่าจะต้องสร้างความมั่นใจ สร้างประสิทธิภาพในการนำตนเอง และต้องสร้างสิ่งเหล่านั้นมาจากเบื้องล่าง จากระดับรากหญ้า สร้างเครือข่ายแนวราบ สวนทางกับผู้นำสหภาพแรงงานบนโครงสร้างชั้นบนที่พยายามจะประนีประนอมตลอดเวลา นอกจากนี้จะต้องสร้างประเพณีสมานฉันท์ กับเครือข่ายอื่นๆ ให้เรามีความมั่นใจในการหยุดงาน


 


สำหรับอีกประเด็นที่ใจพยายามชี้ให้เห็น ก็คือ แรงงานจะต้องสร้างพรรคการเมืองและขบวนการเคลื่อนไหวพร้อมๆ กัน เป็นพรรคการเมืองที่สลัดหลุดออกไปจากกรอบของทุนนิยม เพราะนักการเมืองในปัจจุบันล้วนแล้วแต่เป็นนายทุนเกือบทั้งสิ้น ซึ่งคอยมุ่งแต่หาผลประโยชน์ให้ชนชั้นตนเอง


 


ในการสร้างพรรคจะต้องหาจุดยืนที่อิสระ มีบรรยากาศแห่งการถกเถียงเพื่อหาสิ่งที่ดี และจะต้องทำงานร่วมกันได้ นอกจากนี้ต้องเคลื่อนไหวในหลายประเด็นที่นอกเหนือจากแรงงาน


 


ใจได้สรุปทิ้งท้ายถึงอุดมการณ์สังคมนิยมว่าเป็นแนวคิดที่จะต้องนำมาใช้ทั้งในขบวนการแรงงาน และพรรคการเมือง


 


"สายแรงงานจะต้องมองปัญหาของเครือข่ายอื่นให้เป็นปัญหาของพวกเรา และต้องมีพรรคภาคประชาชนขับเคลื่อน"


 


0 0 0


 


สรุปประเด็นการแลกเปลี่ยนของผู้ร่วมเสวนา


 


นอกจากนี้ในวงเสวนายังมีการให้ผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ปัญหา ประสบการณ์ และแนวทางเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงาน ซึ่งสรุปได้ดังนี้


 



  • ผู้นำแรงงานส่วนหนึ่ง ไม่จริงใจ หาผลประโยชน์ใส่ตน
  • แรงงานเป็นผู้ถูกกระทำ มีความเจ็บปวด การกระทำของนักวิชาการบางส่วนเหมือนกับนำประสบการณ์อันเจ็บปวดของแรงงานไปขาย ไม่เคยนำเสนอและศึกษาวิธีการของนายทุน ที่จะเป็นหนทางในการต่อสู้ของแรงงาน
  • การนัดหยุดงานจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้มีพลังในการต่อรองต่างๆ กับนายจ้าง
  • ต้องมีการรวมพลังแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ สร้างความสมานฉันท์ในการร่วมกันต่อสู้
  • อุปสรรคของการนัดหยุดงานคือกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ขาดความเป็นธรรม
  • อยากให้แรงงานนอกระบบมีสวัสดิการ
  • เราต้องชัดเจนในแนวความคิด ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องนำตนเอง
  • ปัจจุบันพลังของขบวนการแรงงานอ่อนแอ เนื่องจากละเลยแนวความคิดสังคมนิยม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net