Skip to main content
sharethis

สรุปการพิจารณาคดีตากใบ


 


กรณีอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องชาวบ้านที่ร่วมประท้วง 59 คน


 


รวบรวมและสรุปโดย 


คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ


ศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้


กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC)


...................................................................................

 


คดีดำเลขที่ 96,510/2548  ศาลจังหวัดนราธิวาส


 


คดีอาญา ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาส และนายอาสะมี อาลีลูวี กับพวกรวม 59 คน


 


จำนวนจำเลย


ปัจจุบันเหลือจำเลยทั้งสิ้น 56 คน เนื่องจาก:


นายมุสตอปา เซ็ง จำเลยที่ 45 ถูกลอบยิงเสียชีวิตวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548


นายไซดีหรือไซร์ดี มะรอเซ๊ะหรือมะรอแซะ จำเลยที่ 7 ให้การรับสารภาพ มีการพิจารณาคดีแยกต่างหาก คำพิพากษามีความผิดตามฟ้อง ให้จำเลยมีโทษจำคุก 8 ปี แต่ให้รอลงอาญา 4 ปี


นายอูมา ดือเระ หรือเดอเระ จำเลยที่ 35 เสียชีวิตเนื่องจากเหตุทางธรรมชาติ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2549


 


ข้อหา    กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 83 มาตรา 91 มาตรา 138 มาตรา 139 มาตรา 140 วรรค 1 มาตรา 215 มาตรา 216 มาตรา 358 มาตรา 360 และกฎอัยการศึก ข้อ 4 ข้อ 8 ข้อ 11 ข้อ 15


 


ฐานความผิด      ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธและเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกเสีย แต่ผู้มั่วสุมไม่เลิก ร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิการอันมิชอบด้วยหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์


 


จำนวนพยาน


พยานโจทก์ 1937 ปาก


พยานจำเลย 98 ปาก


 


สรุปการพิจารณาคดีในศาล


นัดแถลงเปิดคดีและตรวจเอกสาร 8 กรกฎาคม, 10 พฤศจิกายน 2548 และ 25 มกราคม 2549


 


ปี 2549


 


สืบพยานโจทก์


20 เมษายน         สืบพยานครั้งแรก พยาน พล.ท.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี ติดราชการ ศาลเลื่อนการพิจารณาคดี


                       


26 เมษายน         ศาลเริ่มการพิจารณาคดีเวลา 10:30 น. อัยการแถลงต่อศาลว่า พ.ต.ท.สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบติดราชการ ไม่สามารถมาให้การได้ จึงขอศาลเลื่อนการพิจารณาคดี ศาลอนุญาต ทนายความจำเลยได้ร้องต่อศาลขอให้กำชับให้อัยการนำพยานมาให้ปากคำตามที่นัดหมาย เนื่องจากเป็นการสร้างภาระให้กับจำเลยซึ่งมีรายได้น้อย และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเสียประโยชน์อื่นๆ ศาลจึงพิจารณาอนุญาตให้จำเลยที่ติดภารกิจในการพิจารณาครั้งต่อๆ ไป สามารถลาศาลได้โดยยื่นส่งจดหมายอย่างเป็นทางการในวันพิจารณาคดี


 


27 เมษายน         ศาลเริ่มการพิจารณาคดีเวลาประมาณ 10:50 น. พยาน พลตรี เฉลิมชัย วิฬุรเพชร มาให้การ อัยการทำการซักถามในช่วงเช้ากระทั่งเวลาเที่ยงวัน ช่วงบ่ายเริ่มเวลาประมาณ 14.30 น. ทนายได้ทำการซักค้าน จนกระทั่งเวลาประมาณ 15:15 การซักค้านได้ยุติลง เนื่องจากพยานต้องเดินทางกลับเวลา 16:00 น.


 


 


17 พฤษภาคม      พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี พยานไม่สามารถมาให้การได้ เนื่องจากติดภารกิจเข้าเวรประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และปัจจุบันย้ายไปรับราชการอยู่ที่กองบัญชาการทหารสูงสุด กรุงเทพมหานคร ศาลเลื่อนการพิจารณาคดี


18 พฤษภาคม      ยกเลิกนัด


 


24 พฤษภาคม      ศาลเริ่มการพิจารณาคดีเวลา 10:30 พยาน พ.ต.อ.สมหมาย พุทธกุล อายุ 52 ปี ตำแหน่ง รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.นราธิวาส มาเบิกความในศาล อัยการทำการซักถาม พยานได้เล่าถึงเหตุผลที่มาที่ไปของเหตุการณ์ ตั้งแต่การจับกุมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน จนนำมาสู่การประท้วงและระงับเหตุ จนทำให้เกิดการเสียชีวิตในที่สุด


25 พฤษภาคม      ทนายความฝ่ายจำเลยซักค้าน พยาน พ.ต.อ.สมหมาย พุทธกุล


 


14 มิถุนายน        ก่อนการซักค้านและถามติงพยาน พ.ต.อ.สมหมาย พุทธกุล อัยการได้แถลงต่อศาลว่าพยานปากต่อไป นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล รองปลัดจังหวัดนราธิวาส ที่มีกำหนดการจะมาให้การในช่วงบ่ายและวันถัดไป ขอเลื่อนการให้การเนื่องจากติดราชการที่จังหวัดกรุงเทพ อัยการแจ้งว่าเพิ่งได้รับจดหมายแจ้งการเลื่อนศาลในตอนเช้า การสืบพยาน พ.ต.อ.สมหมาย เสร็จสิ้นในช่วงเช้า


 


                        พ.ต.อ.สมหมาย พุทธกุล พยานปฏิเสธการรับรองหลักฐานภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Nation ที่เป็นภาพเจ้าหน้าที่รัฐตั้งปืนประทับบ่าเล็งมาในแนวระนาบ พยานยังไม่สามารถจดจำจำเลยได้ อีกทั้งไม่ทราบด้วยว่าทำไมจำเลยทั้งหมดจึงเป็นชาวบ้านจากอำเภอตากใบ ทั้งๆ ที่ผู้เข้าร่วมประชุมนั้นมาจากหลายพื้นที่ พยานจำได้ว่าเป็นหนึ่งในชุดสืบสวนแต่จำไม่ได้ว่าได้เคยสอบสวนจำเลยหรือไม่ และไม่ได้อ่านบันทึกการสอบสวน พยานไม่ทราบว่าเหตุการณ์ตากใบนั้นถูกจัดให้เป็นการกระทำอันละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่ทราบว่าหลักฐานที่ใช้จับจำเลยทั้งหมดคืออะไร พยานรับว่าทรัพย์สินของทางราชการเสียหายเป็นมูลค่า 186,446.00 บาท ตามที่ระบุในรายงานค่าเสียหาย อย่างไรก็ตาม พยานเห็นด้วยว่าค่าเสียหายส่วนมากเกิดจากรอยกระสุนที่ปรากฏในฝั่งตรงข้ามของสภอ. ตากใบ และสุดท้าย พยานไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นต้นเหตุแห่งความเสียหายดังกล่าว


 


การสืบพยานช่วงบ่ายเลื่อนออกไปตามเหตุผลที่อัยการได้แถลงต่อศาลไปแล้ว


 


15 มิถุนายน        ไม่มีการพิจารณาคดี เนื่องจากพยานคือนายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุลขอเลื่อน


 


12 กรกฎาคม       พลตรีเฉลิมชัย วิฬุรเพชร พยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลย และอัยการถามติง


จบการเบิกความ


13 กรกฎาคม       นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล รองปลัดจังหวัดนราธิวาส พยานโจทก์เบิกความตอบอัยการซักถาม              และตอบทนายจำเลยที่ 1 ถึง 5 ถามค้านไม่จบ


 


16 สิงหาคม         อัยการแถลงต่อศาลว่าได้รับจดหมายในตอนเช้าจาก นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล ขอเลื่อนการมาให้การอีกครั้ง เนื่องจากต้องไปร่วมงานคาราวานคนจน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม จังหวัดชลบุรี ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่าก่อนพยานมาเบิกความต่อศาลนั้น เนื่องจากศาลได้ออกหมายนัดล่วงหน้าไว้แล้ว และพยานสามารถเดินทางไปราชการภายหลังจากเบิกความต่อศาลแล้วได้ การขอเลื่อนของพยานดังกล่าวถือว่าเป็นการประวิงคดี โดยไม่มีเหตุอันสมควร และเนื่องจากทนายความของจำเลยส่วนหนึ่งได้เดินทางมาจากกรุงเทพมหานคร จึงขอความร่วมมือให้อัยการนำพยานที่สามารถติดต่อได้สะดวกที่สุดมาศาล เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา


 


17 สิงหาคม         ยกเลิกนัด


 


13 กันยายน        นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล พยานโจทก์เข้าเบิกความตอบทนายความจำเลย ถามค้านจบ


14 กันยายน        ยกเลิกนัด เพราะนายนิพนธ์ เบิกความจบปาก


 


20 กันยายน        คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินทำรัฐประหาร ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ


21 กันยายน        อัยการโจทก์แถลงว่า นางอมรรัตน์ เข็มขาว พยานโจทก์รับหมายแล้วแต่ไม่มาศาล ได้แจ้งทางพนักงานสอบสวนว่า เป็นนักข่าวประจำหนังสือพิมพ์ The Nation และ สำนักข่าว CNN ได้รับคำสั่งจากหัวหน้างานให้ไปติดตามทำข่าวผู้นำกลุ่มพูโลถูกยิงเสียชีวิต


 


นัดหมายการพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาส


15-16 และ 22-23 พฤศจิกายน


13-14 และ 20-21 ธันวาคม


 


ปี 2550


 


17-18 และ 24-25 มกราคม


 


สืบพยานจำเลย


14-15 และ 21-22 กุมภาพันธ์


14-15 และ 21-22 มีนาคม


25-26 เมษายน


16-17 และ 23-24 พฤษภาคม


13-14 และ 20-21 มิถุนายน


11-12 กรกฎาคม


 


กำหนดนัดหมายพิจารณาคดีที่โจทก์ขอส่งประเด็นไปสืบพยานต่างจังหวัด


ศาลจังหวัดสงขลา             30 ตุลาคม และ 6 พฤศจิกายน 2549


ศาลอาญา                                   13, 20,27 พฤศจิกายน 2549


ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์                     18 ธันวาคม 2549


ศาลจังหวัดพัทยา                          25, 26 ธันวาคม 2549


ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี                  22 มกราคม 2550


ศาลจังหวัดทุ่งสง                           29, 30 มกราคม 2550


ศาลจังหวัดตรัง                             5, 12 กุมภาพันธ์ 2550


ศาลจังหวัดตราด                           26 กุมภาพันธ์ 2550


ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์              5 มีนาคม 2550


ศาลจังหวัดยะลา                           12, 19, 20 มีนาคม 2550


ศาลจังหวัดสมุทรปราการ                9 เมษายน 2550


 


สรุป


จนกระทั่งปัจจุบัน มีการสืบพยานโจทก์ไปทั้งสิ้นเพียง 3 ปาก คือ พ.ต.อ. สมหมาย พุทธกุล พล.ต. เฉลิมชัย วิรุฬเพชร และนายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล นอกจากนี้ศาลยังได้มีการส่งประเด็นไปสืบพยานตามจังหวัดต่างๆ ทั้งสิ้น 10 จังหวัด แม้ว่าชาวบ้านทุกคนได้รับการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี ตั้งแต่เปิดคดีจนปัจจุบันชาวบ้านเดินทางมาศาลทุกนัดเป็นจำนวน 16 วันนัดหมายเพื่อรับฟังการพิจารณาคดีที่ดำเนินไปอย่างล่าช้า ชาวบ้านทั้งหมดจะได้รับการประกันตัวในระหว่างสู้คดี แต่การที่ชาวบ้านทั้งหมดยังอยู่ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาและกระบวนการในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ยังไม่จบสิ้นย่อมทำให้จำเลยต้องสูญเสียสิทธิต่างๆในการดำเนินชีวิตและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศาลหลายครั้ง อีกทั้งชาวบ้านเป็นผู้มีรายได้น้อยบางคนมีฐานะยากจนจึงทำให้เกิดความยากลำบาก  การเลื่อนการพิจารณาคดีบ่อยครั้งทำให้บุคลากรอื่นในกระบวนการยุติธรรมเองไม่ว่าจะเป็น พนักงานอัยการหรือทนายความต่างก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นทำให้ต้องเสียเวลาในการที่จะไปทำงานที่เป็นประโยชน์อย่างอื่น ทนายความบางท่านต้องเดินทางมาจากกรุงเทพฯจึงทำให้นอกจากเสียเวลาแล้วยังเสียค่าใช้จ่ายและถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรอย่างไม่มีเหตุอันควร


 


ทางแก้ปัญหา


วันที่ 21 กันยายน 2549 ทนายความฝ่ายจำเลย ยื่นคำร้องขออนุญาตศาลให้จำเลยในคดีนี้ไม่ต้องมาฟังการพิจารณาและการสืบพยาน ศาลมีคำสั่งอนุญาต



คดีไต่สวนการตาย


 


หมายเลขคดีดำ    ช. 2/2548 ศาลจังหวัดปัตตานี


                        ช. 16/2548 ศาลจังหวัดสงขลา (โอนคดีจากศาลจังหวัดปัตตานี)


 


ไต่สวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี และนายมาหามะ เล๊าะบากอกับพวกรวม 78 คน ผู้ตาย คดีนี้เป็นการยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนว่าผู้ตายคือใคร เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคืออะไร ใครทำให้ตาย หากเป็นการตายของบุคคลซึ่งอยู่ในความควบคุมของพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ทำไปโดยชอบหรือไม่


 


 


ปี 2548


 


25 เมษายน                     อัยการผู้ร้องยื่นคำร้องขอโอนคดีเพื่อพิจารณาที่ศาลจังหวัดกรุงเทพมหานคร ทนายฝ่ายญาติผู้ตายผู้คัดค้านคัดค้านการโอนคดีเพราะไม่สะดวกในการเดินทางของทนายความญาติผู้ตาย


20 ตุลาคม                      ศาลฎีกามีคำสั่งสมควรให้โอนคดีไปที่ศาลจังหวัดสงขลา


 


ปี 2549


 


23 มกราคม                     เริ่มกำหนดนัดพร้อมที่ศาลจังหวัดสงขลา อัยการผู้ร้องขอเลื่อนเนื่องจากเอกสารมีเป็นจำนวนมาก


16 กุมภาพันธ์                  นัดพร้อม กำหนดวันและการส่งประเด็นสืบพยาน


 


กำหนดนัดหมายไต่สวนศาลจังหวัดนนทบุรี


15 พฤษภาคม 2549          ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี นัดพร้อมเพื่อกำหนดวันสืบพยานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์


เมษายน 2550                 กำหนดสืบพยานนิติวิทยาศาสตร์ 4 วัน คือ 3, 4, 5, 10 เมษายน 2550


 


                              กำหนดนัดหมายไต่สวนศาลจังหวัดสงขลา


 


ปี 2550


 


ไต่สวนฝ่ายอัยการผู้ร้อง


มิถุนายน                         วันที่ 5, 6, 7, 8, 12, 15, 19, 22, 26, 27, 28, 29


กรกฎาคม                       วันที่ 3, 4, 5


ไต่สวนฝ่ายผู้ตาย


สิงหาคม                         วันที่ 1, 2,2 8, 9, 28, 29, 30


กันยายน                         วันที่ 4, 5, 6, 11, 12, 13, 18, 19, 20, 25, 26, 27


ตุลาคม                           วันที่ 2, 3, 4, 9, 10, 11, 16, 17, 18, 24, 25


 



คดีแพ่งฟ้องเรียกค่าเสียหายของญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ


 


ศาลจังหวัดปัตตานี มีสามสำนวน เป็นคดีเรียกค่าเสียหายให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ถูกจับจาก สภอ. ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี


 


ศาลจังหวัดนราธิวาส มีสี่สำนวน เป็นคดีเรียกค่าเสียหายให้แก่ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการใช้กำลังสลายการชุมนุม


 


ศาลจังหวัดปัตตานี        


เลขคดีดำ 899/2548 คดีแพ่งระหว่างนางสีตีรอกายะ สาและกับพวกรวม 75 คน โจทก์ และกระทรวงกลาโหม จำเลยที่ 1 กองทัพบก จำเลยที่ 2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 3 กระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 4 กรมการปกครอง จำเลยที่ 5 จังหวัดนราธิราช จำเลยที่ 6 ฐานความผิด ละเมิดเรียกค่าเสียหาย ทุนทรัพย์ 103,140,462.46 บาท ยื่นฟ้องวันที่ 25 ตุลาคม 2548


 


เลขคดีดำ 903/2548 คดีแพ่ง ระหว่างนางรอมละ ยะโกะ โจทก์ และกระทรวงกลาโหม จำเลยที่ 1 กองทัพบก กับพวก ฐานความผิด ละเมิดเรียกค่าเสียหาย ทุนทรัพย์ 176,236.31 บาท ยื่นฟ้องเพิ่มเติมวันที่ 26 ตุลาคม 2548


 


เลขคดีดำ 911/2548 คดีแพ่ง ระหว่างนายหะมิ สาเมาะ กับพวกรวม 4 คน โจทก์ และกระทรวงกลาโหม จำเลยที่ 1 กองทัพบก กับพวก ฐานความผิด ละเมิดเรียกค่าเสียหาย ทุนทรัพย์ 4,069,400 บาท ยื่นฟ้องเพิ่มเติมวันที่ 28 ตุลาคม 2548


 


เนื่องจากโจทก์เป็นผู้มีรายได้น้อย ทนายโจทก์จึงได้ร้องขอให้ศาลอนุญาตให้มีการดำเนินคดีอย่างคนอนาถา หมายความว่าหากศาลมีคำสั่งอนุญาต โจทก์ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลจำนวน 200,000 บาท ประเด็นหลักในการไต่สวนคือ ความเกี่ยวพันของโจทก์กับผู้เสียชีวิต รายละเอียดการเสียชีวิต เช่น วัน เวลา สาเหตุ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจของโจทก์ ว่าเป็นผู้ยากจนหรือไม่ ในระหว่างไต่สวนมีการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างโจทก์และจำเลยหลายนัด ในวันที่ 19 มิถุนายน, 25 กรกฎาคม, 29 สิงหาคม, 22 กันยายน การไกล่เกลี่ยยังไม่ยุติ


 


ปี 2549


27 กุมภาพันธ์      โจทก์ขอรวมคดี


10 เมษายน         นัดพร้อม ขอรวมคดี


กรกฎาคม           ไต่สวนวันที่ 17, 24, 31


สิงหาคม             ไต่สวนวันที่ 28


กันยายน             ไต่สวนวันที่ 4, 11, 18


 


9 ตุลาคม            ศาลทำคำสั่งอนุญาตให้มีการดำเนินคดีอย่างคนอนาถา จำเลยมีเวลาให้การแก้คดีภายใน 15 วัน


19 ตุลาคม          นัดไกล่เกลี่ยอีกครั้ง


 


ศาลจังหวัดนราธิวาส


เลขคดีดำ 733/2548 คดีแพ่ง ระหว่างนางตีเมาะ ปะจูกูเล็ง โจทก์ และ กระทรวงกลาโหม กับพวก จำเลย เป็นคดีเรียกค่าเสียหายให้กับผู้ตาย 5 คน ที่บริเวณสภอ. ตากใบ


 


เลขคดีดำ 734/2548 คดีแพ่ง ระหว่างนายมะรีกี ดาเลาะกับพวกรวม 17 คน และ กระทรวงกลาโหม กับพวก จำเลย เป็นคดีเรียกค่าเสียหายให้กับผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม


 


เลขคดีดำ 744/2548 คดีแพ่ง ระหว่างนายอับดุลราเฮง หะยีเจ๊ะเด็ง กับพวกรวม 5 คน และ กระทรวงกลาโหม กับพวก จำเลย เป็นคดีเรียกค่าเสียหายให้กับผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม


 


เลขคดีดำ 150/2549 คดีแพ่ง ระหว่างนางมารีแย อาแว ที่ 1 นางมูแย นิโด ที่ 2 นายมะยูวา ที่ 3 โจทก์ และ กระทรวงกลาโหม กับพวก จำเลย ฟ้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม คดีนี้ สืบเนื่องจากแพทย์นิติวิทยาศาสตร์ได้ทำการเก็บ DNA ของผู้เสียชีวิต และญาติสูญหายจากเหตุการณ์ตากใบ ได้เปรียบเทียบ DNA ตรงกับผู้เสียชีวิต โจทก์ที่ 1 และ 2 จึงได้ฟ้องเพิ่มเตม ส่วนนายมะยูวา โจทก์ที่ 3 นั้น เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการสลายการชุมนุม


 


ศาลจังหวัดนราธิวาสไต่สวนขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา โดยรวมพิจารณาคดีพร้อมกันทั้งสี่สำนวน นัดพร้อมครั้งที่ผ่านมาวันที่ 19 กันยายน 2549 คดีอยู่ระหว่างนัดพร้อมเพื่อรอการเจรจาไกล่เกลี่ยของศาลจังหวัดปัตตานี นัดพร้อมครั้งต่อไปและกำหนดชี้สองสถาน เพื่อที่ศาลจะได้กำหนดประเด็นข้อพิพาท วันที่ 19 ธันวาคม 2549 เวลา 13:00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net