TSF : วาระประชาชน ที่ผู้ใช้อำนาจโปรดฟังอีก(สัก)ครั้งหนึ่ง !

 

วันที่ 22 ตุลาคม เวทีสมัชชาสังคมไทย เปิดสภาให้เครือข่ายภาคประชาชนนำเสนอวาระประชาชน ณ ห้อง 1002 อาคารเรียนรวม คณะสังคมศาสตร์ จอน อึ๊งภากรณ์ ดำเนินรายการ

 

ทั้งนี้ วาระหลักที่เห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันที่รัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ที่มาจากรัฐประหารโดยบอกว่าเพื่อปฏิรูปการปกครองต้องรับฟัง คือ ประชาชนบอกว่าการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จริงประชาชนต้องมีส่วนร่วมร่างนโยบายมากกว่าแค่นั่งเป็นไม้ประดับในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีความเท่าเทียม และมีการรองรับการเมืองบนท้องถนนทางกฎหมายในรัฐธรรมนูญ

 

ส่วนประเด็นวัดใจที่ปวงประชาเรียกร้องคือ ระบุเรื่อง  "รัฐสวัสดิการ" ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะรองรับสวัสดิการประชาชนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาพยาบาลฟรี การศึกษาฟรี หรือเรื่องหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ซึ่งต้องมีการเก็บภาษีต่างๆ ในอัตราก้าวหน้ามารองรับในทางงบประมาณ ตรงนี้มันคงจะต้องสะเทือนความรวยถ้วนหน้าของท่านๆ ทั้งหลายบ้าง

 

การจะเป็นคนดีในบ้านเมืองจริงๆ ได้นั้น ต้องฟังและรับเอาไปคิดให้หนักๆๆๆๆ เพราะประชาชนเรียกร้องมา ถ้าไม่ทำต้องบอกสาเหตุให้ชัดๆว่า เพราะอะไร ???

 

ถ้าจะฟังเสียงเรียงร้องเต็มๆ เชิญข้างล่าง

 

 

0 0 0

 

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก

เกษตรกรรมทางเลือกปฏิเสธเกษตรกระแสหลัก ดังนั้นแนวทางในการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ต้องกินได้ เน้นที่การพึ่งตนเอง ต้องคืนเรื่องการจัดการป่าและทรัพยากรให้กับชุมชนเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ไม่ใช่การสนับสนุนการบริโภคที่การผลิตไปอยู่ในมือคนบางกลุ่มหรือบางบริษัท

 

นอกจากนี้ต้องมีพื้นที่เปิดทางการเมืองให้ประชาชน และข้าราชการทางการเมืองไม่ควรมีค่าตอบแทนแต่ต้องทำการเมืองให้เป็นเรื่องของการอาสาสมัคร

 

เครือข่ายศิลปิน

ตอนนี้สังคมไทยขาดวัฒนธรรม ภาคประชาชนไม่มีพื้นที่  สื่อต่างๆ ก็ไปกระตุ้นความอยาก ดังนั้นต้องมีการปฏิรูปสื่อเนื่องจากเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยอันเป็นภูมิปัญญาต่อเนื่อง วิทยุหรือโทรทัศน์ต้องเปลี่ยนเนื้อหาครั้งใหญ่เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเท่าทันนักการเมือง

 

ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ไม่เห็นด้วย เพราะประชาชนต้องเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญเอง และในส่วนที่พูดว่าจะสร้างการสมานฉันท์นั้นจะต้องมีความยุติธรรมด้วย

 

ศูนย์จัดตั้งสหภาพแรงงาน

ต้องมีรัฐสวัสดิการที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจับตา เพราะใช้นักกฎหมายยกร่างจะทำให้เกิดการหมกเม็ดตีความกันไม่จบ

 

การปฏิรูปการเลือกตั้ง

พรรคการเมืองควรบัญญัติให้มีการพัฒนาคุณภาพนักการเมือง มีประชาธิปไตยในพรรค ไม่ใช่การฟังและทำตามหัวหน้าพรรคเท่านั้น

 

ควรใช้ศาลในการตัดสินให้ใบแดงใบเหลือง ไม่ใช่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างที่เป็นมา และควรให้เลือกตั้งที่ไหนก็ได้ นอกจากนี้ควรสร้างบรรยากาศการถกเถียงทางการเมืองผ่านเวทีการเมืองในชุมชน

 

ก่อนการเลือกตั้งควรมีรัฐบาลชั่วคราวที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง ทหาร หรือการแต่งตั้ง แต่มาจากตัวแทนองค์กรต่างๆ มาทำหน้าที่ในการเลือกตั้ง

 

กลุ่มเกษตรกร

ควรมีตัวแทนในการปฏิรูปการเมืองมากกว่าแค่นักวิชาการหรือนักการเมือง ส่วนสื่อควรมีพื้นที่นำเสนอเรื่องทางเกษตรกรรมดีๆ ด้วย

 

เวทีสันติภาพ

สังคมไทยเป็นสังคมเชิงอำนาจ สัญญา อุปถัมภ์ หลอกตัวเอง ฯลฯ ดังนั้นเมื่อเห็นความไม่เป็นธรรมไม่ควรอยู่นิ่งเฉย และการแก้ปัญหาสันติภาพต้องไม่ใช้ความเกลียดชัง

 

ส่วนสันติภาพในภาคใต้การแก้ปัญหาต้องให้คนในพื้นที่เป็นเจ้าภาพ คนใน 3 จังหวัดต้องการความเข้าใจจากคนใน 73 จังหวัด ส่วนการเยียวยาก็ทำได้ไม่ทั่วถึงและมีการเลือกปฏิบัติ ในเรื่องสื่อมวลชนสื่อจากภาคกลางควรเป็นสื่อสันติภาพด้วย นอกจากนี้ควรลดทหารในพื้นที่ แต่เพิ่มทหารด้านพัฒนาลงไปแทน

 

เครือข่ายที่ดินอีสาน

รัฐไม่เคยเอาข้อเท็จจริงในเรื่องที่ดินของชาวบ้านมาแก้ไข แต่ไปกล่าวหาชาวบ้านที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ทั้งในเมือง ชนบท และในเขตป่า ความจริงคือ รัฐเข้าไม่ถึงประชาชน บางแห่งชาวบ้านอาศัยต่อเนื่องกันมา 100  - 200 ปี แต่ใช้ความเป็นรัฐมากำหนดทิศทางทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุก จนเกิดการเผชิญหน้ากับรัฐซึ่งมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในอนาคต

 

ถ้าต่อไปมีการปฏิรูปแล้วปฏิเสธคนจน ปัญหาที่ดินก็จะไม่ถูกแก้ไข ดังนั้นทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมแก้รัฐธรรมนูญ

 

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบกรณีแม่เมาะ

กว่า 10 ปีที่มีผลกระทบทั้งทางอากาศ น้ำ ดิน กลิ่นและเสียงมีการร้องเรียนไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรีกว่า 50 ครั้ง ชาวบ้านก็ถูกหลอกมาโดยตลอด ชาวแม่เมาะจึงอยากให้นักการเมืองตระหนักในคำพูดของตัวเอง

                                        

คณะทำงานวาระทางสังคม

มีการสะท้อนมุมมองมาจากคนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ว่า การที่ครอบครัวอยู่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตามีความสำคัญในการสร้าความสุข ความอบอุ่นและทำให้ลูกพร้อมที่จะเผชิญกับโลกภายนอก ส่วนในทางประเพณีนั้นก็ผูกพันกับศาสนาอิสลามและเป็นสิ่งสร้างความมั่นคงทางจิตใจ ส่วนความมั่นคงในชีวิตคือความมั่นคงในฐานทรัพยากร ได้แก่ ทะเล แม่น้ำ พรุ หรือป่า การแย่งชิงทรัพยากรคือภัยคุกคาม

 

นอกจากนี้ยังมีการสะท้อนอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาจากทหาร ข้าราชการ และสื่อ ที่ขาดความน่าเชื่อถือ การมองแค่ความมั่นคงของรัฐโดยใช้กำลังทหารเป็นการยากที่จะทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิตที่แท้จริง ความมั่นคงที่แท้จริงคือความอิ่ม ครอบครัว ศรัทธา เป็นความมั่นคงท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

 

รัฐต้องปรับนโยบายที่นำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชน 3 จังหวัดร่วมกับประชาชนทั้งประเทศ

 

เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างของฐานทรัพยากรโดยคุ้มครองอธิปไตยจากทุนนิยมบริโภคนิยม และทบทวนทิศทางนโยบายเศรษฐกิจการค้าเสรี ปฏิเสธข้อตกลงกับประเทศอุตสาหกรรมที่ทำลายฐานทรัพยากร

 

ต้องมีการทำข้อมูลฐานทรัพยากรของประเทศ ประเมินผลกระทบต่อส่งแวดล้อมเมื่อมีโครงการต่างๆ ติดตามการดำเนินนโยบาย และเยียวยาชดเชยแก่ผู้ได้รับผลกระทบ

 

รัฐต้องทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนในการใช้ทรัพยากรไม่ใช่ผู้ตัดสินใจ อีกทั้งต้องใช้อัตราภาษีในการถือครองที่ดินเป็นอัตราก้าวหน้า มีการเก็บข้อมูลการถือครองที่ดินรายบุคคลและต้องเปิดเผย

 

ต้องสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชน และแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเดือนมิถุนายน 2541 เรื่องการแก้ปัญหาที่ดินและป่าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ให้ปรับแผนการใช้พื้นที่ป่าตามความเป็นจริง

 

เรื่องน้ำและการใช้ลุ่มน้ำต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมมีสิทธิบนพื้นฐานภูมินิเวศน์ ส่วนในทางทะเลต้องสนับสนุนประมงขนาดเล็ก หยุดสัมปทานป่าชายเลนและเหมืองแร่

 

เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพต้องให้ชุมชนร่วมจัดการ ในเรื่องมลพิษประชาชนต้องมีส่วนการตรวจสอบ

                        

เครือข่ายปฏิรูปการเมืองภาคอีสาน

ต้องย้ำปัญหาสู่การร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องการใช้ความรุนแรง ในทีนี้หมายถึงความครอบงำทางความคิดที่ทำให้ประชาชนพึ่งในอำนาจรัฐ ความรุนแรงยังหมายถึงการชิงทรัพยากร ความแตกต่างระหว่างเมืองและชนบท ความรุนแรงเชิงนโยบายที่ผ่านกลไกประชานิยม ความเป็นรัฐตำรวจที่กล่าวหาประชาชนตั้งแต่เรื่องเล็กๆปถึงเรื่องใหญ่

 

ดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญต้องระดมความเห็นจากคนทั่วประเทศหลายครั้ง ซึ่งแค่ในครั้งนี้ก็ยังไม่พอ

 

เครือข่ายแก้ปัญหาสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น

เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ในการเดินทางมาร่วมงานสมัชชาสังคมไทย คนไทยพลัดถิ่น 527 คนที่มาจากชุมพรและระนองถูกสกัดไว้ 500 คน มาได้เพียง 27 คน

 

กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ควรเรียกว่ากลุ่มคนไทยที่ถิ่นพลัด หรือพลัดถิ่นโดยดินแดน มีสาเหตุมาจากการที่ไทยเสียดินแดนให้แก่ประเทศอังกฤษ บริเวณ มะริด ทวาย ตะนาวศรี ทำให้มีคนไทยตกค้าง เมื่ออังกฤษคืนเอกราช ดินแดนเหล่านี้จึงกลายเป็นของประเทศพม่า และทางพม่าก็ไม่รับรองว่าเป็นคนพม่า ที่สำรวจตอนนี้มีทั้งหมดประมาณ 30,000 คน ขณะนี้ย้ายกลับมาอยู่ไทยประมาณ 15,000 คน

 

ที่ผ่านมารัฐบาลแก้ไขด้วยการทำให้เป็นคนต่างด้าวแล้วแปลงสัญชาติ ตอนนี้มีการควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ไม่ให้เคลื่อนไหว บอกว่าวันที่ 15 พ.ย. จะมีการจัดการจากรัฐซึ่งก็ไม่รู้ว่าคืออะไร

 

ข้อเสนอคือ

ควรมีองค์กรภาคประชาชนรูปธรรมคู่ขนานไปกับสภานิติบัญญัติ สำหรับคนไทยพลัดถิ่นนั้นรัฐต้องคืนสัญชาติให้โดยบรรจุลงไปในรัฐรรมนูญตามแง่มุมประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและประเพณี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันทั่วโลก

 

ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี 2519 ที่ระบุให้เป็นคนพม่า

ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี 18 ม.ค. 2548 ที่กำหนดให้แปลงสัญชาติ

ให้รับรองบัตรที่ทางเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นออกให้เพื่อให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน และรับรองสิทธิในการออกนอกพื้นที่ อีกทั้งควรมีกองทุนของรัฐช่วยเหลือ

 

เครือข่ายคนพิการ

ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ตึกอาคาร สถานที่ราชการ โดยให้สังคมมองคนพิการในมุมมองด้านสิทธิ หรือ Right Base เนื่องจากเป็นการบริการสาธารณะ

 

มุมมองนี้จะส่งผลถึงการมีส่วนร่วมของคนพิการ ไม่ว่าจะทางการเมืองหรือทางการศึกษา และเป็นการช่วยเหลืออย่างยั่งยืนกว่าการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ เพราะจะทำให้คนพิการดูแลตัวเองได้ จะทำให้สามารถร่วมกิจกรรมทางสังคมอาจจะทางแรงงานหรือทางความคิด

 

การมองด้านสิทธิและสร้างสิ่งแวดล้อมแบบนี้ยังมีประโยชน์ถึงกลุ่มอื่นๆเช่น เด็ก คนชรา หรือสตรีมีครรภ์ มีข้อมูลจากทาง UN ว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมในการรับมือคนชราซึ่งจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้นและคนชราจะมีแนวโน้มในการพิการตามกาลเวลาด้วย

 

อีกข้อเสนอคือต้องมีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติกับคนพิการ

 

พรรคแนวร่วมภาคประชาชน

การปฏิรูปการเมืองคือการปฏิรูปสังคม เป้าหมายคือ สร้างรัฐสวัสดิการผ่านการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ซึ่งนี้เป็นประเด็นทางการเมือง ดังนั้นหน้าที่ของภาคประชาชนคือการผลักประเด็นนี้ไปให้มากกว่าการแก้ไขกฎหมาย

 

ยุทธศาสตร์คือ ภาคประชาชนควรเสนอคนมากกว่า 1,000 คน ที่ประชาชนเลือกไม่ใช่ทหารเข้าไปร่วมเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นเงื่อนไขที่จะมีภาคประชาชนเกิน 50 เปอร์เซ็นในการปฏิรูปการเมือง แต่ถ้าไม่ยอมให้เกิดขึ้นก็ต้องปฏิเสธการรับตำแหน่งในสภาดังกล่าว แล้วตั้งสภาคู่ขนานมาแทน นอกจากนี้การเมืองบนท้องถนนต้องเป็นหลักการของรัฐในรัฐธรรมนูญ

 

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

การปฏิรูปต้องรวมไปถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สร้างความเป็นธรรม ต้องยกเลิกเรื่องวุฒิการศึกษาในการเป็น ส.ส หรือ ส.ว. เพราะในประเทศไทยมีคนที่จบถึงระดับปริญญาตรีเพียง 8.5 เปอร์เซ็นเท่านั้น จึงเป็นการจำกัดสิทธิของคนส่วนใหญ่

 

ต้องให้มีการเลือกตั้งบุคคลในพื้นที่ที่ทำงานได้ ไม่ใช่เลือกคนที่บ้านเกิดอย่างในปัจจุบัน จะทำให้มีพื้นที่ต่อรองและอาจส่งตัวแทนไปลงสมัครรับเลือกตั้งได้

 

ต้องเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า และยกเลิกระบบการค้าเสรีเพราะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันของกลุ่มทุนแต่แรงงานถูกกดขี่

 

ยกเลิกการขายรัฐวิสาหกิจ กำหนดอัตราจ้างที่เป็นธรรมสอดคล้องกับเศรษฐกิจปัจจุบัน คุ้มครองความปลอดภัยในที่ทำงาน

 

เวทีเศรษฐกิจทางเลือก

เศรษฐกิจเสรีนิยมใช้ตลาดเป็นเครื่องมือเร่งช่วยบริษัทข้ามชาติ แต่หลักการของเศรษฐิจทางเลือกคือปลดปล่อยพลังการผลิตประชาชนด้วยลำแข้งเพื่อเป็นฐานทางเศรษฐกิจ ดังนั้นแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงต้องพอเพียงทุกกลุ่ม กระจายการพึ่งพาตนเอง และการพึ่งพากันเองในกลุ่มต่างๆเช่นเกษตรกรรายย่อย การค้าท้องถิ่น การปฏิรูปที่ดิน ระบบสหกรณ์ การจัดการพลังงานทางเลือกที่ไม่ผูกขาด และการสร้างมาตรการภาษีอัตราก้าวหน้า

 

การเคลื่อนไหวต้องประกาศฉันทามติประชาชนไทยที่ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติการได้ทั้งในและนอกสภา

 

เครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ตั้งกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับการบริการสาธารณสุขในการพิสูจน์ความผิดการฟ้องร้องระหว่างแพทย์กับคนไข้

 

มีกองทุนสนับสนุนการเข้าถึงการบริการสำหรับผู้ไม่มีบัตรประชาชน ให้ใช้บัตรประชาชนในการรักษาแทนบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค และนำเรื่องรัฐสวัสดิการตราไว้ในกฎหมาย รวมทั้งคำนึงถึงปัญหาคนพิการที่ได้รับการบริการแย่ลงโดยเฉพาะในเรื่องอุปกรณ์เสริมเทียม

              

เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ

ประชาชนไร้บ้านเพราะเหตุการณ์สึนามิ ในขณะที่องค์การภาครัฐก็แย่งกันไปจัดการจนวุ่นวาย  นอกจากนี้ยังมีการเตรียมออกโฉนดทะเลทำให้ชาวบ้านไม่มีทางออกทะเลจึงควรต้องยกเลิก

 

ต้องยกเลิกองค์กรบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และโดยให้ตั้งองค์กรพัฒนาการท่องเที่ยวโดยท้องถิ่นมาดูแลแทน

 

วัฒนธรรมของชุมชนชาวเล เช่น มอแกน หรืออุรักลาโว้ยกำลังถูกทำลายมากต้องเร่งอนุรักษ์ ที่สำคัญต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างนโยบาย

 

เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดลำปาง

ควรจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค โดยรัฐธรรมนูญต้องมีการระบุถึงกำหนดที่แน่นอนในการจัดตั้งองค์กร โดยการบริหารองค์กรต้องเป็นของผู้บริโภคจริงๆ เพื่อปกป้องคนทั้งประเทศ และกระบวนการจัดตั้งองค์กรต้องเกิดจากผู้บริโภคมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ

 

เครือข่ายพนักงานหญิงบริการ

แม้เศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ผู้ประกอบอาชีพพนักงานบริการก็ไม่ได้ลดลง อย่างไรก็ตามตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2546 ที่วัตถุประสงค์เพื่อทำให้สังคมสงบสุขของบ้านเมืองและปลอดอาชญากรรม แต่กลับไม่มีการดูแลพนักงานหญิงบริการในเรื่องสวัสดิภาพ ตลอดจนสุขอนามัยภายในสถานประกอบการ ที่ผ่านมาได้เกิดอุบัติเหตุภายในสถานประกอบการเสมอ เช่น เดือนพ.ค.ที่ผ่านมาเกิดเหตุไฟไหม้บาร์ที่พัทยา จนทำให้มีพนักงานบริการเสียชีวิต 8 คน หรือมีสาวอะโกโก้ย่านพัฒน์พงษ์เสียชีวิตภายในเกสเฮาส์ จาก 2 กรณีดังกล่าวสะท้อนปัญหาที่ไม่มีทางออกที่ยุติธรรมของพนักงานบริการ

 

เครือข่ายจึงมีข้อเสนอว่า ต้องมีการกำหนดมาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่ๆที่มีพฤติกรรมข่มขู่ และรีดไถต่อพนักงานบริการ ต้องระบุว่าการล่อซื้อของเจ้าหน้าที่เป็นความผิดตามกฎหมาย และห้ามใช้ถุงยาง เป็นเครื่องมือดำเนินคดีข้อหาค้าประเวณี เพราะถุงยางอนามัยเป็นอุปกรณ์การแพทย์ป้องกันโรค ตลอดจนเสนอให้หญิงบริการอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานปี 2541 และให้สถานบริการอยู่ภายใต้มาตรฐานด้านอาชีวอนามัย

 

เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง เครือข่ายฯ ขอเสนอให้พนักงานบริการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองทั้งกระบวนการ ยกเลิกกฎหมาย พ.ร.บ.การปราบปรามการค้าประเวณี 2546 และให้ยึดบทบัญญัติด้านสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลัก

 

โดยเครือข่ายพนักงานหญิงบริการ จะช่วยแก้ปัญหาแหล่งอิทธิพล อบายมุข อาชญากรรม การออกกฎเกณฑ์ที่ไม่ยุติธรรมต่อพนักงานจะต้องลดลง สถานบริการมีมาตรฐานอาชีวอนามัยเทียบเท่าสถานประกอบการประเภทอื่น ซึ่งเครือข่ายได้ทิ้งท้ายว่า ภาพพจน์ของรัฐบาลจะดีขึ้นจากการดูแลพวกเราแรงงานภาคบริการ โดยนางสาวพิไล ศรีคำซาว ตัวแทนเครือข่ายผู้อ่านแถลงการณ์ได้กล่าวว่า "เพราะพวกเราเป็นมืออาชีพ ต้องให้เรามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ"

 

เครือข่ายสมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย

ชนเผ่าและชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยต้องการอยู่ร่วมกับสังคมไทยส่วนอื่นๆ อย่างสงบสุข ร่วมพิทักษ์รักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขอความมั่นใจจากรัฐบาลไทยว่าจะคัดเลือกตัวแทนจากชนเผ่าเข้าไปทำนโยบายพัฒนาชนเผ่าทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับชาติ

 

ทุกชนเผ่าต้องได้เป็นพลเมืองไทยและได้สัญชาติไทยตามกฎหมายที่ควรได้รับ สตรีทุกชนเผ่าต้องการได้รับการยอมรับในสิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกับเพศชาย ทั้งจากจารีตชนเผ่า ครอบครัว และสังคมไทยที่ยังไม่เข้าใจเรื่องความเสมอภาคทางเพศ

 

ต้องพัฒนาศักยภาพและดำรงเอกลักษณ์ของชนเผ่า พร้อมปรับตัว ซึ่งคุณค่า ภูมิปัญญา ภาษา ทุกชนเผ่าต้องการให้มีการปรับการศึกษาของรัฐ เพื่อให้ตอบสนองต่อวิถีชีวิตชนเผ่าให้มากขึ้น

 

ต้องยุติการอพยพโยกย้ายชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงทุกกรณี ตลอดจนรับรองสิทธิของชนเผ่าให้ชัดเจน แก้ปัญหาด้านสัญชาติให้กับชนเผ่า ซึ่งตกหล่นอย่างเร่งด่วน และมีความจริงใจเป็นที่ตั้ง

 

เครือข่ายผู้ติดเชื้อ

รัฐบาลต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วม เพื่อลดการเลือกปฏิบัติ ควรมีสิทธิให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง เท่าเทียม ทั้งนี้รวมถึงเด็ก ผู้ต้องขัง เยาวชนในสถานบริการ ผู้ใช้ยาเสพย์ติดและอื่นๆ และสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนที่ติดเชื้อ HIV ได้รับการพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้าน

 

นอกจากนี้ต้องให้ประชาชาชนได้เข้าถึงถุงยางอนามัย สารหล่อลื่น และถุงยางอนามัยสำหรับการร่วมเพศด้วยปาก ฯลฯ อย่างเพียงพอ กล่องถุงยางอนามัยควรมีอักษรเบลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา และการตรวจวินิจฉัยโรค HIV สำหรับผู้ติดเชื้อต้องเป็นความลับ

 

นอกจากนี้ ต้องพัฒนาหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องในเรื่องเพศศึกษาแก่เด็กและเยาวชนทั้งในและนอกสถาบัน และต้องยอมรับว่างานบริการทางเพศเป็นอาชีพ ที่พนักงานบริการต้องได้รับการปกป้อง มีสวัสดิการเช่นเดียวกับอาชีพอื่น

 

เครือข่ายเมืองน่าอยู่

ให้มีการนำที่ว่างเปล่ามาทำที่อยู่อาศัย หรือให้คนจนเมืองใช้ประโยชน์ ให้รัฐบาลมีการตรวจสอบย้อนหลังการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการ

 

FTA Watch

ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-จีน จะทำให้ไทยประสบปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร FTA ไทย-ญี่ปุ่น และ ไทย-สหรัฐ จะน่าเป็นห่วงยิ่งกว่า เพราะสหรัฐอเมริกาประกาศจะใช้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง นอกจากนี้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-จีน ไทยก็ได้รับประโยชน์น้อย เพราะจีนมีมาตรการกีดกันผ่านกติกาในระดับมณฑลต่างๆ

 

FTA คือการล่าอาณานิคมทางของมหาอำนาจ จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลไทยต้องมีการเปิดเผยข้อตกลงกับมหาอำนาจ ยกเลิกสนธิสัญญา FTA ทั้งหมดที่ตกลงไปแล้ว เพราะคนไทยไม่ได้รับประโยชน์ มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ จึงต้องผลักดันให้ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในข้อตกลงระหว่างประเทศ สนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในระดับครัวเรือนและชาติ ไม่ใช่พอเพียงเฉพาะชาวบ้าน แต่ตัวเองทะเยอทะยานร่ำไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท