Skip to main content
sharethis



 


 


"วิสุทธิ์ สิงห์ขจรวรกุล" เป็นอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายกิจการพิเศษ ที่เกษียณอายุราชการในตำแหน่ง "ผู้อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้" ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของ "ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ ศอ.บต. หน่วยงานที่ถูกยุบทิ้งในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และกำลังจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใช้งานอีกครั้ง


 


ศอ.บต. มีบทบาทหน้าที่อย่างไร ทำไม หน่วยงานหลักในการดับไฟใต้ที่เกิดในยุค "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษปกครองประเทศจึงถูกยุบ เมื่อรื้อฟื้นขึ้นมาเช่นนี้ จะทำงานได้หรือไม่


 


"วิสุทธิ์ สิงห์ขจรวรกุล" เปิดอกกับ "ประชาไท" ตอบทุกคำถามข้างต้น


 


0 0 0


 


จะขอทำความรู้จักกับ ศอ.บต.ในอดีตว่าเป็นอย่างไร


ศอ.บต. ในอดีตนั้น เป็นหน่วยงานเฉพาะกิจในสมัยรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานองคมนตรีในปัจจุบัน เป็นผู้ลงนามจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขณะนั้นสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างจะรุนแรง มีทั้งขบวนการโจรก่อการร้าย ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และโจรคอมมิวนิสต์มาลายา มาปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ชายแดนของไทย ทำให้พื้นที่นี้ไม่สงบไม่มีความปลอดภัย


 


เพื่อเป็นการแก้ปัญหา จึงจัดตั้ง ศอ.บต. ขึ้นในปี 2520 โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัดโครงสร้างการบริหาร และใช้พื้นที่ของส่วนประสานราชการ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดยะลา เป็นที่ทำการ ในคำสั่งตั้ง ศอ.บต. ครั้งนั้น รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการ โดยผู้ที่จะมาเป็นผู้อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายกิจการพิเศษ


 


ผู้ที่จะมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายกรัฐมนตรี คล้ายๆ ว่าหน่วยงานนี้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี แต่หลายคนเข้าใจว่าเป็นหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งไม่ใช่ กระทรวงมหาดไทยเพียงแต่เป็นผู้ให้สถานที่ ให้คน และจัดโครงสร้าง


 


บุคลากรอื่นๆ ที่มาทำหน้าที่ในศูนย์อำนวยการนี้ มาจากหลายกระทรวง ทบวง กรม หลายส่วนราชการ ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร มาอยู่ที่นี่ ตามโครงสร้าง ตรงนี้มีรายละเอียดมากมาย


 


ภารกิจของ ศอ.บต. ควบคู่ไปกับ พตท.43 (กองกำลังผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43) เท่าที่จำได้น่าจะเป็นคำสั่งเดียวกัน พตท. 43 จะดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้กำกับดูแล


 


ในระยะแรก นายกรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้มีหน้าที่สำคัญๆ หลายประการ สรุปได้ว่า มีหน้าที่ควบคุม กำกับ เร่งรัด อำนวยการประสานงานกับส่วนราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งกับตำรวจ ยกเว้นฝ่ายทหาร เพราะทหารรับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ศอ.บต. จะต้องเป็นตัวสอดแทรกในหลายๆ เรื่องที่สำคัญ ในทุกส่วนราชการที่ทำงานอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่รองลงไปอีกหลายเรื่อง เช่น เรื่องการพัฒนาข้าราชการ ก่อนที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ จะต้องมีการปฐมนิเทศ เพื่อให้ข้าราชการเหล่านั้นมีความรู้ มีความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพพื้นที่และลักษณะพิเศษของพื้นที่ ซึ่งไม่เหมือนกับภาคอื่น และทำหน้าที่เกี่ยวกับการพิจาณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเอาคนดี มีความเหมาะสมเข้ามาทำงาน ถ้าคนไหนไม่ดีก็จะพิจารณาโยกย้ายออกไป โดยจะต้องเสนอตรงต่อนายกรัฐมนตรี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณา


 


นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่เกี่ยวกับการเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเราจะมีหน้าที่รวบรวมแผนปฏิบัติการต่างๆ เพื่อขอสนับสนุนงบพิเศษไปยังรัฐบาล รวมตลอดถึงการประสานงานกิจการชายแดน


 


แล้วยังให้เราตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาของ ศอ.บต. เพื่อให้ข้อคิดเห็นต่างๆ ให้ข้อเสนอแนะ คล้ายๆ ว่า ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่านักเศรษฐกิจ นักวิชาการ ผู้นำทางศาสนา เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขา โดยจะมีการประชุมกัน ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการทำงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ระยะต่อมามีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานอย่างไรบ้าง


ตอนหลังสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น ศอ.บต. กับ พตท.43 ก็ยังคงทำงานร่วมกันและประสานการปฏิบัติร่วมกันในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอนหลังก็ปรับ เพราะตัว ศอ.บต. เป็นหน่วยงานอิสระ ขึ้นตรงนายกรัฐมนตรี แต่ต้องประสานการปฏิบัติกับแม่ทัพภาคที่ 4 เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย


 


โครงสร้างมันก็เปลี่ยนไปเป็นปีๆ ในช่วง 20 ปี ก็เปลี่ยนไปหลายเรื่อง นับตั้งแต่การตั้งกองต่างๆ กองสำคัญๆ มันก็มีกองกลาง กองข่าว กองพัฒนาเศรษฐกิจ กองพัฒนาสังคม กองข่าวจะทำงานเรื่องการข่าว เรื่องการต่างประเทศ เหล่านี้เป็นต้น


 


ศอ.บต.แบ่งออกเป็นระยะด้วยหรือ


ไม่ได้แบ่งเป็นระยะ ยุบก็ยุบไปเลย ช่วงหลังๆ ผมเกษียณอายุราชการมาก่อน จึงไม่รู้ว่ามีการปรับปรุงโครงสร้างอย่างไร


 


ศอ.บต. จะมีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กำกับดูแลอยู่ ตั้งขึ้นตามนโยบาย เมื่อ สมช. มีความเห็นว่า ควรจะแก้ปัญหาแบบนี้ จึงกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาว่า มีอะไรบ้าง เป็นระยะๆ เท่าที่ผมจำได้ที่ ศอ.บต. จะต้องทำ คือ ควบคุมกำกับให้ทุกส่วนราชการดำเนินการ ภายใต้นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นนโยบายฉบับแรก


 


นโยบายนี้ เน้นการแก้ปัญหาทุกเรื่อง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย ควบคู่ไปกับการปฏิบัติการด้านสังคมจิตวิทยา แต่การพัฒนาหลายๆ เรื่องก็ทำควบคู่กันไป


 


ในระยะต่อมา ก็ได้กำหนดนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ขึ้น ในปี พ.ศ. 2531 ฉบับที่ 3 ในปี พ.ศ. 2537 และฉบับสุดท้าย ซึ่งยังมีผลบังคับใช้อยู่ คือ ฉบับ พ.ศ.2542 ถึง 2546 


 


แนวทางการทำงานของ ศอ.บต. ที่ยึดนโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติในระยะแรกนั้น จะเน้นการแก้ปัญหาความไม่สงบ ตามด้วยการสร้างความเข้าใจ ความสมานฉันท์ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่แตกแยกกัน ไม่หวาดระแวงต่อกัน สร้างความเข้าใจทางสังคมจิตวิทยา


 


แล้วในแผนต่อมาก็มาเน้นเรื่องเศรษฐกิจ อย่างฉบับที่ 3 เพราะเหตุการณ์ดีขึ้น ประกอบกับตอนนั้นเกิดโครงการพัฒนา 3 เหลี่ยมเศรษฐกิจขึ้น เมื่อปี 2536 หลังจากนั้น ก็เห็นว่าดีขึ้นตามลำดับ


 


ในนโยบายฉบับที่ 4 ปี 2542 - 2546 มาเน้นเรื่องการพัฒนาคน พัฒนาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของบ้านเมือง เขาทำเป็นขั้นเป็นตอน แต่ระยะหลังเท่าที่ผมติดตาม การปฏิบัติการต่างๆ มันชะงัก เพราะนโยบายเปลี่ยน ผู้บริหารก็เปลี่ยน จนกระทั่งมีความขัดแย้งกัน ก็เลยยุบ ศอ.บต. และ พตท. 43


 


ความจริงมีความคิดจะยุบ พตท. 43 แต่ ศอ.บต.กับ พตท. 43 ตั้งมาด้วยกัน ศอ.บต. เลยถูกยุบด้วย


 


แสดงว่าช่วงนั้นมันมีปัญหากันก่อนยุบแล้ว


เท่าที่ทราบมันเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ระหว่างตำรวจกับทหาร ไม่เกี่ยวกับ ศอ.บต.


 


ผลงานเด่นๆ ของศอ.บต.มีอะไรบ้าง


งานสำคัญๆ ของเรา มีมากมาย แต่ที่สำคัญคือ การแก้ปัญหาเรื่องบุคลากรที่เข้ามาในพื้นที่ เรามีการประชุมปฐมนิเทศข้าราชการตลอดทั้งปี ใครเข้ามาก็ต้องปฐมนิเทศก่อน รวมถึงการให้การศึกษาแก่ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนเหล่านี้เป็นต้น


 


แล้วเราทำแผนเกี่ยวกับการพัฒนา เรียกว่าแผนเฉพาะกิจการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดจากความต้องการของพื้นที่ โดยมีการระดมสมอง เพื่อจัดทำแผนจนถึงกรอบเสนอต่อรัฐบาล จนคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบงบประมาณหลายพันล้าน แต่ได้รับการสนับสนุนจริงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย


 


ผลงานของ ศอ.บต. ส่งผลให้ความรุนแรงลดลงด้วยหรือไม่ เนื่องจากงานทางด้านป้องกันและปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบเป็นหน้าที่ของ พตท.43


มันต้องสนับสนุนกันและกัน ต้องประสานการปฏิบัติร่วมกัน แต่งานของ ศอ.บต. ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องกิจการพลเรือนของส่วนราชการต่างๆ ทั้งหมดที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่เราเข้าไปส่งเสริม สนับสนุน เข้าไปดูแลว่ามีอะไรขาดบ้าง เราก็สนับสนุนเขาไป อะไรที่ดูแล้วไม่ตรงกับนโยบายเราก็เข้าไปแก้ เป็นการประสาน


 


หลายคนไม่เข้าใจ คิดว่าเป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทย มันไม่ใช่ เพียงแต่ตัวคน คือ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย มาจากกระทรวงมหาดไทย หลายคนจึงคิดว่าเป็นหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย ความจริงเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี


 


เรารับทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหา ทั้งเรื่องสังคม ปัญหาทางเศรษฐกิจ ความไม่ยุติธรรมต่างๆ ปัญหาการร้องเรียนข้าราชการ ทุกปัญหารับมาแก้หมด ใครมีปัญหา เราก็เป็นศูนย์รวมการแก้ปัญหา


 


คล้ายๆ กับไปช่วยลดเงื่อนไขความขัดแย้ง


ถูกต้อง เราต้องคอนโทรลว่า ทุกส่วนราชการต้องปฏิบัติตามนโยบายความมั่นคง ซึ่งนโยบายความมั่นคงได้เขียนมาตรการในการปฏิบัติหลายข้อและชัดเจนมาก เช่น ต้องลดเงื่อนไขความหวาดระแวง จะสร้างความสมานฉันท์ ต้องสร้างจิตสำนึกข้าราชการในการปฏิบัติหน้าที่ต่อประชาชน


 


ข้าราชการคนไหนทำไม่ดี ไม่ถูกต้อง เราก็เข้าไปดูแล สอบสวน หากพบว่าเขาทำผิด ก็ทำความเข้าใจกับเขา ถ้าทำความเข้าใจกันแล้วประชาชนยังไม่พอใจ ก็ต้องเสนอให้ย้าย ถ้าเห็นว่าไม่ควรอยู่ ในขณะเดียวกันเราก็พยายามเลือกคนดีๆ เข้ามา


 


มีการย้ายภายใน 24 ชั่วโมงบ้างหรือไม่


มีเยอะ ผมก็จำไม่ได้ ในช่วงที่ผมเป็นผู้อำนวยการอยู่ก็มีย้าย แต่ไม่ใช่ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ก็มีหลายส่วนราชการในส่วนกลางที่เขาไม่ให้ความสำคัญ เราเสนอย้ายไปแล้ว ตอนหลังเขาก็ย้ายกลับเข้ามาอีกก็มี


 


ในเรื่องเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันมีมติคณะรัฐมนตรีมากมายที่ให้ส่วนราชการถือปฏิบัติ แต่บางทีส่วนกลางก็ไม่สนใจมากนัก ถึงอย่างไรก็ตาม ศอ.บต. ก็ต้องดูแล ควบคุมพฤติกรรมของข้าราชการที่ไม่เหมาะสม ถ้ามีก็ต้องเรียกมาว่ากล่าวตักเตือน ขอให้แก้ไข ถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องโยกย้ายออกไป


 


ความขัดแย้งบางเรื่อง อย่างกิจการศาสนาที่ข้าราชการไม่เข้าใจ ถ้ามีปัญหาเราก็ต้องลงไปดูแล ลงไปไปแก้ไข ด้านการสนับสนุนส่งเสริมเกี่ยวกับกิจการด้านศาสนาของพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ฮัจย์  หรือการส่งเสริมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ส่งเสริมกรรมการประจำมัสยิด


 


ในยุคของผม ผมเห็นบทบาทความสำคัญของผู้นำศาสนา ผมจึงได้ทำแผนขอรับความสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนำไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้กับอิหม่ามประจำมัสยิด มีผลทำให้อิหม่ามได้รับค่าตอบแทนทั้งประเทศมาจนเดี๋ยวนี้


 


มีการพูดกันว่า เมื่อยุบ ศอ.บต. ทำให้ชาวบ้านไม่มีเวที จึงส่งผลให้ปัญหารุนแรงขึ้นมาจริงหรือไม่


มันก็มีผลส่วนหนึ่ง เดิมที ศอ.บต. มีข่าวสารอะไร เกิดปัญหา หรือเกิดความขัดแย้ง จะไม่นิ่งดูดาย ลงไปดูแลทันที


 


แล้วเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นมันเป็นผลมาจาการยุบ ศอ.บต.ด้วยหรือไม่


ผมว่า ไม่ใช่ คือ มันเกิดจากปัญหาอื่นๆ หลายเรื่อง ปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาเก่าๆ ปัญหาความไม่เป็นธรรม ปัญหาผู้มีอิทธิพล ปัญหายาเสพติดอะไรหลายเรื่อง แต่ว่าเอาฐานของการแบ่งแยกดินแดนมาเป็นสาเหตุ


 


ความจริงเมื่อก่อน ความคิดต่างๆ หรือคนมันก็ลดน้อยลงแล้ว ช่วงท้ายๆ ของปี 2540 เท่าที่ผมจำได้ โจรก่อการร้ายที่อยู่ในป่าเหลือ 70 คน แต่เดี๋ยวนี้มันมีเป็นกองพันแล้ว


 


เท่าที่ฟัง สาเหตุมาจากปัญหาต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่ไม่ให้ความเป็นธรรม ที่เขาพูดกันก็บอกว่า มีการอุ้มฆ่า ทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีตากใบก็ดี อะไรนี่ หลายเรื่องเป็นปัจจัยทำให้เกิดความคับแค้นใจ


 


ความคับแค้นทางจิตใจมีมาก่อนแล้ว สะสมกันมานาน สิ่งเหล่านี้มันฝังใจอยู่ตลอดเวลา ใช้เวลานานกว่าจะเปลี่ยน หรือจะหมดคนรุ่นนี้ไป


 


ตอนนี้มีกี่กลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่


ตอนนี้เหลือ ขจก. (ขบวนการโจรก่อการร้าย) อย่างเดียว แล้วมันก็มาฟอร์มขึ้นเป็นกองใหญ่ จากกองที่กำลังจะมอด แต่มันก็ขึ้นมาใหม่ ส่วนแกนนำจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่เคลื่อนไหวในปัจจุบันหรือไม่ ผมไม่ทราบ


 


ยุทธวิธีหนึ่งที่กลุ่มก่อความไม่สงบใช้ขณะนี้ คือการแยกคนไทยพุทธออกจากคนมุสลิม สร้างความหวาดระแวง เราควรจะมีวิธีจัดการอย่างไร


ปลุกอย่างนั้นไม่ได้ คนไม่เชื่อ พี่น้องมุสลิมเองก็ไม่เชื่อ เว้นแต่บางคนที่ถูกเสี้ยมสอนมา แล้วก็มาอ้างหลักศาสนา


 


เรื่องนี้ในกลุ่มนักวิชาการมุสลิมเองก็ระบุว่า กลุ่มที่นิยมแนวทางความรุนแรงเป็นคนส่วนน้อย


อันนี้ก็ต้องคิด เพื่อจะหาจุดที่จะแก้ปัญหา ราชการก็ต้องช่วยสนับสนุนในสิ่งที่ราษฎรพยายามเรียกร้อง ราษฎรมีข้อมูลข่าวสารก็ขอให้บอก คนร้ายอยู่ที่ไหนก็ต้องบอก แต่อันนี้ก็ต้องเห็นใจ ถ้าเรายังให้ความปลอดภัยแก่เขาไม่ได้ เขาก็ไม่กล้าบอก ไม่กล้าพูด


 


บางอย่างก็ต้องใช้งบประมาณ เพื่อให้เขาเกิดความร่วมมือ เช่น ค่าตอบแทนอะไรที่มาทำให้เรา สมัยผมก็มี จ่ายเงินค่าข่าว


 


ผลเป็นอย่างไรบ้าง


ก็ได้รับความร่วมมือ การจ่ายไปอย่างน้อยก็ได้ข่าวมา ทำให้รู้เขารู้เรา


 


สมัยนั้นมีการเข้าถึงกลุ่มแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่


เราสนับสนุนฝ่ายทหารในเรื่องการข่าว การปฏิบัติการจริงๆ เป็นเรื่องของฝ่ายทหาร แต่อย่างไรก็ดี ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ กำลังตำรวจก็ต้องเข้ารับการสนับสนุนด้วย แต่ขณะเดียวกัน ศอ.บต. เอง ก็ต้องสนับสนุนด้านการข่าว รวมถึงการทหารด้วย


 


การต่างประเทศเป็นอย่างไร


ก็คือ มาเลเซีย มีการประสานงานกันหาข่าว เป็นอย่างไรบ้าง เราทำงานใกล้ชิดกับเขา เขามีอะไรเขาก็บอกเรา เรามีอะไรก็บอกเขา แล้วก็ให้การสนับสนุน งานพลเรือนจะต้องเร่งงานมวลชน เรื่องการเข้าถึงประชาชน เพื่อสร้างศรัทธาต่อรัฐบาล พลเรือนต้องทำ ทุกส่วนราชการต้องทำ


 


ในช่วงที่ยังมี ศอ.บต. คาดการณ์หรือไม่ว่า สถานการณ์มันจะรุนแรงเหมือนปัจจุบัน


ในยุคที่ผมอยู่ เหตุการณ์ต่างๆ มันเบาบางลงแล้ว เราคิดว่าน่าจะยุติบทบาทในปี 2544 ผมเคยเสนอไว้ว่า น่าจะยุบ พตท. ในปี 2544 แต่ว่าเกิดเหตุยุบเสียก่อนในปี 2543 จากนั้น เหตุการณ์ก็รุนแรงมาเรื่อย เพราะคนที่เคยดูแลอย่างใกล้ชิดก็ห่างออกไป


 


งานทุกอย่างมันหยุดชะงักไป


ใช่ เพราะว่านโยบายรัฐบาลมันเปลี่ยน


 


เหตุการณ์ที่เบาบางลงในสมัยยังมี ศอ.บต. เพราะ ศอ.บต. ใช้คนในขบวนการก่อความไม่สงบ แจ้งข่าวกับทางราชการด้วย


นั่นเป็นการปฏิบัติการทางการเมืองอย่างหนึ่ง รวมทั้งเราดึงบรรดาผู้นำ หรือบุคคลสำคัญในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม สร้างความเข้าใจ ทำให้เขาเห็นว่า เรามีความจริงจังจริงใจในการแก้ปัญหา ให้เขาศรัทธา นั่นคือ งานด้านการเมือง


 


ต้องเข้าใจว่างานการเมือง คือการสร้างศรัทธาประชาชน ถ้าประชาชนศรัทธาแล้ว อะไรก็ทำได้ โดยเฉพาะตัวข้าราชการเอง มีส่วนสำคัญในการดึงประชาชน ต้องเข้าให้ถึงใจเขา เพื่อให้เขาร่วมมือ


 


สอดคล้องกับพระราชดำรัสของในหลวงที่ว่า เข้าถึง เข้าใจและพัฒนา


แนวทางที่ดีที่สุดของการแก้ปัญหา ซึ่งเราแก้ปัญหามาตั้งยาวนานเป็นร้อยปี คือ รัฐประศาสนโยบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ให้ไว้ ในปี 2466 ซึ่งได้เขียนไว้ว่า รัฐประศาสนโยบายเกี่ยวกับการปกครองมณฑลปัตตานี ให้ทำอย่างไร เกี่ยวกับคนต่างศาสนา เกี่ยวการเก็บภาษี เกี่ยวกับข้าราชการ เกี่ยวกับการปฏิบัติที่สอดคล้องกับศาสนาของคนในพื้นที่ และต้องปฏิบัติตามนี้ให้ดี เดี๋ยวนี้ยังเอามาใช้ได้ ยังทันสมัย เช่น


 


1. อะไรที่ทำแล้วขัดใจ หรือขัดกับหลักศาสนา ต้องยกเลิก


 


2. การใดที่ทำแล้วเป็นการกดขี่ข่มเหงพี่น้องประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม ผู้ที่กระทำจะต้องได้รับโทษ ทำแล้วอย่าให้เห็นว่าเป็นการเบียดเบียนรังแก ข้าราชการที่ส่งลงมาจะต้องเข้าใจพื้นที่ เข้าใจศาสนา คนไหนทำไม่ดีก็ต้องเอาออก มีหลายเรื่อง


 


ศอ.บต. นำมาใช้ในการอบรมข้าราชการ ต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดในหัวใจ ที่ผ่านมาก็มีมติคณะรัฐมนตรีเยอะแยะหลังจากนั้นว่า ข้าราชการที่จะลงมาภาคใต้ต้องเป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าเวลาปฏิบัติจริงก็อีกเรื่องหนึ่ง บางส่วนราชการมันไม่สนใจ หรือมีคนที่ไม่รู้เรื่องลงมาอยู่ มาจากไหนก็ไม่รู้ มาเอาตำแหน่งแล้วไปก็มี


 


เมื่อถึงยุทธศาสตร์ใหม่ทันสมัยอยู่ในขณะนี้ ก็คือ ของพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ต้องแตกลูกออกมาเป็นแผนปฏิบัติการให้ได้ แล้วก็ให้ทุกส่วนราชการปฏิบัติให้สอดคล้อง ข้าราชการจะต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้ เมื่อมาอยู่ในพื้นที ต้องเข้าถึงประชาชน แล้วแนวทางพัฒนาจะทำอะไรเพื่อให้ประชาชนได้รับสิ่งที่เขาต้องการ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติก็ไปศึกษามาตั้งเยอะแยะว่า เขาต้องการอะไร ผมก็ได้อ่านเอกสารพบว่าถูกต้อง มันมีอะไรหลายเรื่องที่ ศอ.บต. ทำอยู่แล้ว เช่น การแก้ปัญหาความยากจน ความไม่เป็นธรรม แล้วก็ต้องมีผู้คอนโทรลให้มีการปฏิบัติตามแผน ไม่ใช่พูดแต่ว่าเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา


 


ต้องเข้าใจว่า คนที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นอย่างไร ศาสนาเขาบอกว่าอย่างไร อะไรที่ขัดกับศาสนาก็อย่าไปทำเสีย เข้าถึงอะไร เข้าถึงคน เพื่อให้เขาศรัทธา และพัฒนาอะไร พัฒนาการศึกษาทางศาสนา วัฒนธรรม ส่งเสริมเขาในเรื่องสิ่งแวดล้อมอะไรนี่ อะไรที่เป็นอุปสรรคอยู่ก็แก้ให้เขา ผมว่ามันต้องทำแผนให้เกิด สมัยผมอยู่นี่ เราก็ทำได้ ในแผนพัฒนาเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่ก็จะเน้นเรื่องเศรษฐกิจ แต่ทางสังคมเราก็ทำส่วนหนึ่ง แยกออกมา


 


ตอนนั้นก็มีแผนแม่บทการพัฒนา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วก็มีแผนเฉพาะกิจเป็นปีๆ สภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ : สศช.) ลงมาช่วยทำ ก็อย่างว่า เราทำแล้ว คณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบบ้าง ไม่เห็นชอบบ้าง แล้วแต่รัฐบาลจะให้ความสำคัญขนาดไหน หรือไม่มีเงินก็ไม่ทราบ


 


นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการได้ เพื่อให้เป็นนโยบาย อย่างเช่นให้เงินตอบแทนโต๊ะอิหม่าม เพื่อดึงคน ดึงความศรัทธา ให้ความสำคัญกับเขา เพื่อให้เขามาผูกพันกับราชการ ผมยังภูมิใจเลยที่อิหม่ามมีเงินเดือน


 


ผลงานของ ศอ.บต. มีหลายอย่าง เหมือนกับการสร้างต้นทุนเอาไว้แล้ว แล้วการตั้งขึ้นมาใหม่ จะเสียเวลากับการสร้างต้นทุนขึ้นมาใหม่หรือเปล่า


การข่าวมันหายไปหมด เราก็ไม่ได้ช่วยอะไร คงจะผนึกกำลังกันใหม่ สร้างแนวความคิดกันใหม่  อาจจะต้องเริ่มต้นกันใหม่หลายๆ เรื่อง ต้องใช้เวลา เพราะตอนยุบไปนั้น ก็ฟังแต่นโยบายนายกรัฐมนตรีคนเดียว


 


เท่าที่ผมติดตาม บทบาทของสภาความมั่นคงแห่งชาติก็ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรมาก ผมก็ไม่กล้าพูดอะไร


 


เมื่อฟื้น ศอ.บต. ขึ้นมาแล้ว คิดว่ารูปแบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันควรจะเป็นอย่างไร


ผมว่าการคิดรูปแบบไม่ยากหรอก โครงสร้างมันจะเพิ่มอะไรก็แล้วแต่ ตามสถานการณ์ของบ้านเมือง การที่มี ศอ.บต. มันก็ไปกำกับทุกส่วนราชการอยู่แล้ว ที่สำคัญต้องทำให้เขายอมรับ ศอ.บต. และต้องไปสนับสนุนให้เขาทำได้


 


ที่พูดกันมากว่า หน่วยงานรัฐไม่เป็นเอกภาพ ศอ,บต. จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร


ในจังหวัดที่มีผู้ว่าซีอีโอ มันก็มีเอกภาพดี แต่มีอำนาจจริงหรือไม่ก็อีกส่วนหนึ่ง ตอนหลังเขาก็ตั้งกองอำนวยเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมา เขาก็กำกับ ควบคุม ดูแล ส่วนจะมีเอกภาพหรือไม่ ผมไม่ทราบรายละเอียด เท่าที่ฟังๆ มาก็เห็นว่ายังไม่มีเอกภาพ


 


ถ้าช่วยกันจริงๆ จังๆ ในการทำงาน ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ต่างคนต่างทำไม่ได้ ต้องช่วยกัน ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ด้วยความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ใช้อำนาจอย่างเดียวไม่ได้


 


เมื่อฟื้น ศอ.บต. กับพตท.43 ขึ้นมาแล้ว เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่


สำหรับ พตท.43 มีแนวโน้มไปในเรื่องการใช้กำลังในการแก้ปัญหาความไม่สงบ รวมถึงการปฏิบัติการทางการทหารเป็นส่วนหลัก ร่วมกับการหาข่าว ส่วน ศอ.บต. จะเป็นหน่วยงานด้านกิจการพลเรือน เวลาจะทำอะไรมันต้องประสานกัน สอดคล้องกัน ไม่น่ามีปัญหา ตอนที่ผมทำงานอยู่ก็ไม่มีความขัดแย้งกัน แต่ตอนหลังผู้ใหญ่ขัดแย้งกัน มันก็เลยเกิดปัญหา


 


เมื่อก่อนจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้ มี 5 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขล าและสตูล มาตอนหลังรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้คำจำกัดความใหม่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส


เพราะมันเป็นจังหวัดที่มีปัญหามาก แต่ตอนหลังก็ลามไปสงขลาด้วย ก็เลยมีความคิดจะเอาสงขลาเข้ามาด้วย แต่เดิมทีในความคิดเดิม จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ 5 จังหวัด รวมสตูลและสงขลา


 


แล้วการที่เหลือ 3 จังหวัดมันมีส่วนทำให้การปลุกระดมของกลุ่มก่อความไม่สงบทำได้ง่ายขึ้นหรือไม่


ผมไม่ทราบ แต่การให้เหลือ 3 จังหวัด มันมีเหตุผลที่จะทำให้พื้นที่การทำงานแคบลง คือ กำหนดเป้าหมายให้มันแคบ แล้วเทงบประมาณลงมาจัดการ


 


ทำให้แคบเพื่อปราบปรามได้ง่ายขึ้น


ไม่ใช่ จะปราบปรามอย่างเดียวไม่ได้ พื้นที่ภาคใต้มันจะต้องชนะทางเมือง ต้องทำให้ประชาชนศรัทธาในรัฐบาล ยืนอยู่ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งสำคัญมาก ต้องสร้างชัยชนะทางเมือง ไม่ใช่สร้างชัยชนะทางการทหาร


 


ทางทหารเป็นการปฏิบัติการเพียงชั่วคราว เพื่อควบคุมพื้นที่ให้ได้ แก้ปัญหาความไม่สงบให้ได้ แล้วก็ต้องปฏิบัติการทางการเมือง เพื่อดึงประชาชนเข้ามา ซึ่งเป็นงานที่ทุกฝ่ายต้องทำ ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทหารก็ต้องทำ เพื่อให้ประชาชนศรัทธาต่อรัฐบาล


 


มีความเห็นอย่างไร ที่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก จะให้ ศอ.บต. ดูแลเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ส่วนจังหวัดสตูลเป็นเพียงพื้นที่เฝ้าระวัง


คงจะเป็นแนวความคิดในการปฏิบัติการเน้นหนักในบางเรื่อง สงขลาก็ 3 - 4 อำเภอ สตูลปัญหามันน้อย แต่ต้องเฝ้าระวัง อย่าให้มีการแทรกซึมเข้าไป


 


เรื่องการเจรจากับแกนนำก่อความไม่สงบ จะนำความสงบกลับคืนมาได้หรือไม่


เรื่องนี้ผมไม่มีความคิดเห็น เมื่อก่อนก็เคยมีการเจรจา แต่ไม่เป็นข่าว การพูดคุยกันเพื่อให้รู้เขารู้เรา สมัยนี้การสื่อสารติดต่อได้ง่าย คนไหนสงสัยก็ตามไปดูได้ ถามว่าต้องการอย่างไร และการไปมาระหว่างไทยกับมาเลเซียก็ไม่ยาก แกนนำบางคนก็อยู่มาเลเซีย บางคนก็อยู่ต่างประเทศ ผมก็ทราบ


 


สมัยก่อนมีแต่ข่าวไม่ยืนยัน เป็นการคุยกันภายในว่าเขาต้องการอะไร จะเอาอย่างไร แต่เดี๋ยวเขาพูดกันเป็นการเป็นงาน พูดกันออกมาได้มันก็ดี


 


ในสมัยที่เป็นผู้อำนวยการ ศอ.บต. มีการคุยกับแกนนำก่อความไม่สงบหรือเปล่า


ไม่มี ผมคุยเฉพาะคนดีๆ ขอให้คนที่น่านับถือเสนอว่า มีทางใดบ้างที่จะลดบทบาทคนพวกนี้ ให้เขาเข้าใจว่าไม่มีรัฐบาลไหน ไม่มีประเทศไหนดีเหมือนประเทศไทยที่เขาปฏิบัติต่อผู้คนที่นับถือศาสนาต่างกัน อย่างมุสลิม


 


นั่นจึงเป็นที่มาของสโลแกนที่ว่า "อยู่อย่างมุสลิมในสังคมไทย" ด้วยหรือไม่


ใช่ อยู่ในแผนฉบับสุดท้าย ซึ่งแผนสุดท้ายผมถูกใจมาก มันคือการสร้างความสมานฉันท์ แล้วมันก็ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง เป็นแผนที่ดีมาก คือ การสร้างความเข้าใจ สร้างความสมานฉันท์ แต่ไม่ได้ทำเต็มที่ ปัจจุบันแผนนี้ยังไม่ได้ยกเลิก


 


คิดว่าควรจะนำมารื้อฟื้นใหม่หรือไม่


ต้องทำ การพัฒนาคนต้องทำ การพัฒนาคนเป็นเรื่องใหญ่ พัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย


 


พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน บอกว่าจะเพิ่มกำลังในพื้นที่อีก 30 กองร้อย เป็นกองกำลังทหารพราน คิดว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่


เรื่องกำลังก็เช่นกัน เมื่อก่อนไม่ได้เอากำลังมามากมาย แต่เดี๋ยวนี่เอามาก็ตาย เพราะไม่รู้พื้นที่


 


แต่ถ้าเป็นกำลังประชาชนน่าจะได้  กำลังประชาชน กำลัง อส.(อาสาสมัครรักษาดินแดน) เพิ่มขึ้นได้ เป็นความคิดที่ดี แต่ว่ามันจะต้องฝึกอบรม สั่งสอนให้ดีเรื่องการใช้ บางคนก็มีการเสนอให้ใช้ทหารนอกประจำการ ก็ดีเลือกๆ เอามาใช้ กำลัง อส.ก็เอาคนดีๆ คนในพื้นที่เขาจะได้มีความอบอุ่นใจ


 


ข้อเสนอที่ให้ตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษด้านวัฒนธรรม หรือด้านอะไรก็แล้วแต่ คิดว่าทำได้หรือไม่


ไม่ได้ จะเป็นการแบ่งแยก ทำไม่ได้ แต่ถ้าให้สิทธิพิเศษได้ สิทธิพิเศษในบางเรื่อง ซึ่งเราก็เคยให้มาแล้ว มันก็เป็นเรื่องทางการปกครอง เช่น ตำรวจ เมื่อก่อนให้รับสมัครจากมุสลิมส่วนหนึ่ง เพื่อมาแก้ปัญหา ให้สิทธิพิเศษแก่นักศึกษามุสลิมได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องสอบ แต่ให้เขาเลือกกันเอง


 


สิทธิพิเศษ คือการปกครองที่เป็นพิเศษ ที่อื่นให้ไม่ได้ แต่ภาคใต้เราให้ อะไรที่เป็นพิเศษได้เราก็ให้ เช่น กระบวนการฮัจย์ หรือส่งเสริมกระบวนการซากาต (ทานบังคับสำหรับมุสลิม) ของมุสลิมโดยคนมุสลิม แต่เป็นองค์กรที่รัฐบาลสนับสนุนก็ได้ นี่ก็เป็นเรื่องพิเศษ เรื่องของการดูแลหรือการปกครองแบบพิเศษ ไม่ใช่ปกครองตนเอง ซึ่งมันทำไม่ได้ เพราะไม่มีใครเขายอม


 


อยากจะฝากอะไรให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่แก้ปัญหาทั้งหลายหรือไม่


ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ปัจจัยใหญ่เกิดจากโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งน่าจะมีการศึกษาหรือปรับปรุง โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นรัฐเดียว อย่าให้เกิดการแตกแยกซึ่งสำคัญมาก คือ ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียว แบ่งแยกไม่ได้


 


เพราะฉะนั้น รูปแบบการปกครอง ต้องใช้รูปแบบรัฐเดี่ยว แยกเป็น ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในทางวิชาการหรือทางรูปแบบมีรายละเอียดมากมาย แต่ของเราผสมผสานกันหลายเรื่อง เช่น สภาผู้แทนราษฎรเรามี แต่บางเรื่องกลับเอามาอภิปรายกันนอกสภา เพราะไม่สามารถอภิปรายในสภาได้


 


เพราะฉะนั้น ต้องปรับปรุงกันหลายเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะมีผลต่อความมั่นคง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net