เบื้องหลังจุดยืน 3 องค์กรสื่อ ต่อกรณีเข้าร่วมสภานิติบัญญัติฯ

ประชาไท - 24 ต.ค.2549 หลังจากกรณีนักข่าวภาคสนามได้ร่วมลงชื่อกัน 55 คน ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ตัวแทน3 องค์กรสื่อมวลชน คือ นางบัญญัติ ทัศนียะเวช ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายสมชาย แสวงการ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ลาออกจากการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติ ด้วยเหตุผลขัดต่อจรรยาบรรณและควรรักษาระยะห่างในการประกอบอาชีพสื่อมวลชนกับอำนาจรัฐ ตามที่ได้มีการออกจดหมายเปิดผนึก เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2549 

ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่  19 ต.ค. 2549 เวลา 12.00 น. ได้มีการหารือนอกรอบระหว่าง ตัวแทน3 องค์กรสื่อ และกลุ่มนักข่าวภาคสนามที่เคลื่อนไหวให้ทั้ง 3 คนลาออกรวมทั้งมีผู้อาวุโสในวงการสื่อจำนวนมากเข้าร่วมหารือในครั้งนั้นด้วย เช่น นายสุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการเครือเดอะเนชั่น นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายชวรงค์ ลิมปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายดำฤทธิ์ วิริยะกุล ที่ปรึกษาสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และตัวแทนผู้สื่อข่าวจากส่วนภูมิภาค โดยใช้ห้องอาหารจีนของโรงแรมรอยัลปรินซ์เซสเป็นที่หารือ ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่าสื่อควรจะรักษาระยะห่างระหว่างอำนาจรัฐกับสื่อมวลชน และพร้อมที่จะทบทวนการทำหน้าที่ผู้นำองค์กรสื่อ

นางบัญญัติ  กล่าวว่าถ้ารู้ว่าเป็นแบบนี้ตนก็จะไม่เสนอชื่อของตนเองเข้าไป การตัดสินใจครั้งนี้ค่อนข้างที่จะฉุกละหุกและไม่ได้พิจารณาอย่างรอบด้านโดยเฉพาะข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ซึ่งหากตนรู้ว่าจะมีคนออกมาคัดค้านก็จะไม่เข้าไปอย่างแน่นอน ในเมื่อเข้าไปแล้วอยากให้นักข่าวทั้งสองรุ่นช่วยกันตั้งตุ๊กตาหาทางออกให้พวกเราด้วยว่าจะมีทางออกอย่างไรเพื่อให้เกิดผลกระทบพวกเราในฐานสื่อมวล ซึ่งตนเองไม่อยากเป็นตั้งแต่แรกแล้ว และยินดีที่จะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ

จากนั้น นายบัญชา แข็งขัน ผู้สื่อข่าวภาคสนามสำนักข่าวเนชั่นกล่าวว่า เหตุผลที่สื่อภาคสนามออกมาคัดค้านในครั้งนี้มิได้มีอคติกับใครคนใดเป็นการส่วนตัว แต่เป็นความห่วงใยในวิชาชีพ ซึ่งทั้ง 3 องค์กรถือได้ว่าเป็นตัวแทนของวิชาชีพสื่อ โดยเฉพาะในแนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์ในเรื่องของการปฏิบัติตนของผู้ประกอบวิชาชีพ ที่ระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ไม่ควรเป็นที่ปรึกษาของนักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการระดับสูงหรือนักธุรกิจ โดยมีค่าตอบแทนเป็นตัวเงินหรือผลประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งอย่างทางการหรือไม่ก็ตาม

นายชวรงค์ ชี้แจงว่า หากสังเกตให้ชัดเจนระเบียบที่ร่างขึ้นมาเป็นเพียงแนวทางที่พึงปฏิบัติไม่ได้เขียนว่าเป็นข้อบังคับ และระเบียบก็ยังเป็นสีเทาๆ อยู่ ซึ่งในสถานการณ์พิเศษอาจจะมีการนำมาพูดคุยและมีมติออกมาเป็นรูปแบบใดก็ได้

ขณะที่นายเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเนชั่น กล่าวว่า ทุกคนบอกว่าไม่อยากเป็นและไม่อยากเข้าไป ตนจึงไม่เข้าใจว่าแล้วจะเข้าไปทำไม ทำไมเราไม่พิจารณาร่วมกันแล้วถอยห่างออกมาคอยเป็นผู้สังเกตการณ์และทำงานตรวจสอบอยู่ข้างนอกจะไม่ดีกว่าหรือ ตนคิดกลับกันว่ายิ่งสถานการณ์วิกฤตสื่อยิ่งต้องย้ำจุดยืนของตัวเองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่ายิ่งวิกฤตยิ่งเข้าสู่พื้นที่อำนาจมากขึ้น แล้วในยามวิกฤตแล้วใครจะยืนอยู่กับประชาชน

ด้านนายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวการเมืองหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ สื่อมวลชนต้องมีระยะห่างพอสมควร โดยเฉพาะองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านสิทธิเสรีภาพ เช่น สมาคมนักข่าวฯ หรือ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) หากพิจารณาดูให้ดี เรายังไม่ทราบเลยด้วยซ้ำว่าเอาเข้าจริงแล้วสภานิติบัญญัติชุดนี้จะอยู่ได้กี่เดือน และรูปแบบสภาจะออกมาเป็นฝักถั่วเหมือนที่หลายๆ ฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ วันนี้ดูเหมือนเราจะมองในผลที่อยากได้ จนละเลยหลักการที่ควรจะปฏิบัติ เราต้องยืนอยู่ที่เดิม นั้นคือต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้านและตรวจสอบ

ด้าน น.ส.เพทาย กันนิยม ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์กล่าวว่า การเข้าไปของ 3 นายกสมาคมจึงชัดเจนว่าเข้าไปประทับรับรองความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารครั้งนี้ ตนจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งทั้งนี้ไม่ว่าการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจะส่งผลหรือไม่ อย่างไรก็ตามตนก็ได้เห็นความเป็นจริงสิ่งหนึ่งถึงแม้เราจะบอกว่าสื่อมีความเป็นอิสระ แต่ในกองบรรณาธิการของสื่อเองก็ไม่ได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง เพราะผู้สื่อข่าวหัวสีหลายคนที่เห็นด้วยกับเราก็ไม่กล้าลงชื่อ เพราะเกรงกลัวการดำเนินการขั้นเด็ดขาดที่อาจจะตามมาจากกองบรรณาธิการได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์อีกเรื่องที่ตนได้เห็น

ด้านนายจุลกรณ์ จุลินทร กล่าวว่า ตนและนายภัทระเป็นเพื่อนกันมา 15 ปี และรู้จักเคารพยกมือไหว้นางบัญญัติเหมือนญาติผู้ใหญ่ สิ่งที่พวกตนทำเป็นเรื่องหลักการ และเชื่อว่าถ้านายภัทระมายืนอยู่ที่จุดนี้ก็ต้องทำเหมือนตน

หลังจากมีการหารือกันอย่างกว้างขวาง นายสุทธิชัยได้เสนอว่าในเมื่อทุกคนเห็นตรงกันสื่อมีความสำคัญในการตรวจสอบ และต้องรักษาจรรยาบรรณในวิชาชีพของตัวเองด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการรักษาระยะห่างระหว่างอำนาจรัฐกับสื่อมวลชน โดยเสนอให้นางบัญญัติ กับนายสมชาย ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ ให้เหลือเฉพาะนายภัทระ โดยนายภัทระจะต้องลาออกจากการเป็นนายกสมาคมนักข่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม นายสมชายเสนอว่าขอเสนอให้ทุกคนลาออกจากการเป็นนายกสมาคมและประธานสภาการหนังสือพิมพ์ เพื่อเป็นการรักษาระยะห่าง และเราจะได้เข้าไปทำงานอย่างเต็มที่

ขณะที่นางบัญญัติ กล่าวว่าตนยินดีจะออกมาเพียงคนเดียว แต่ให้นายภัทระ และนายสมชายเข้าไปทำงาน แต่นายสมชายกล่าวว่า เมื่อนางบัญญัติถอนตัวแล้ว สองคนที่เหลือจะตอบคำถามสังคมอย่างไร สังคมก็จะมองว่าพวกคนมีศีลธรรมต่ำ และต้องการตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติจนยอมลาออกจากนายกสมาคมวิทยุฯ และนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ

นายภัทระ กล่าวว่า หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ไม่ติดใจที่ตนจะเข้าไปทำงานในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่หากทั้งสองท่านถอนตัวออกไป ตนก็จะถูกกล่าวหาเหมือนกับนายสมชายว่าศีลธรรมต่ำ และจะอธิบายกับสังคมอย่างไร ซึ่งตนเป็นคนแรกที่เสนอให้ลาออกจากสมาคมและเป็นที่ปรึกษาสมาคมแทนตำแหน่งเดิม

นางบัญญัติ ยืนยันที่จะถอนตัวจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยระบุว่าตนตั้งใจจะถอนตัวอยู่แล้ว แต่ระบุให้นายภัทระและนายสมชายแหละเข้าไปทำงาน แต่ปรากฏว่า นายดำฤทธิ์ ไม่ยอมให้นางบัญญัติถอนตัว โดยเห็นว่าการถอนตัวของนางบัญญัติจะทำให้วงการสื่อสารมวลชนแตกแยก เพราะมีคนรักและสนับสนุนนางบัญญัติใหเเข้าทำงานในสภานิติบัญญัติเป็นจำนวนมาก

มาถึงช่วงนี้ตัวแทนสมาคมนักข่าวนักนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาค กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะนางบัญญัติออก นักข่าวภาคสนามลงชื่อ 30-50 ชื่อไม่เห็นจะต้องกลัวอะไร และตนพร้อมที่จะขนคนมาเป็นพันๆ คน จนทำให้นายสุทธิชัย ต้องออกมาคัดค้านว่า ทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นแนวความคิดแบบทักษิณ เป็นยงยุทธ 2 (นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรมว.ทรัพยากรฯ) และการหารือครั้งนี้เพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่การต่อสู้เชิงปริมาณ หากทำอย่างนั้นวงการสื่อก็จะแตกแยก

จากนั้นนาย สุทธิชัย ถามย้ำว่า สื่อทุกคนเข้าใจตรงกันว่าเราจะต้องรักษาระยะห่างเมื่อลาออกจากการเป็นนายกทั้ง 3 องค์กร การรับตำแหน่งสภานิติบัญญัติของนายภัทระและนายสมชายจึงเป็นการไปในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของโพสต์ทูเดย์เพียงอย่างเดียว

นายปรัชญาชัย กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะให้ทั้งตัวแทนสื่อทั้ง 3 องค์กรลาออกจากองค์กรสื่อ เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างสื่อมวลชนกับอำนาจรัฐ สวมหมวกเพียงใบเดียว และต่อไปนี้ การตัดสินใจที่เกิดขึ้นจากบุคคลทั้ง 3 ถือว่าการเป็นการตัดสินใจส่วนตัวไม่เกี่ยวกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ส่วนพวกตนก็พร้อมสนับสนุนการทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติต่อไปในกรณีที่เป็นการทำในนามบุคคล

ในที่สุดทั้ง 3 ตัวแทนองค์กรสื่อก็เห็นด้วยที่รักษาระยะห่างของสื่อกับการเมืองไว้ โดยยินดีที่จะลาออกจากองค์กรสื่อที่ดำรงตำแหน่งตัวแทนในองค์กรสื่อ แต่ยังอยู่ในสภานิติบัญญัติต่อไป ซึ่ง ทั้ง 3 ตัวแทนองค์กรสื่อ จะนำเรื่องนี้เข้าไปหารือกับองค์กรของตนเองและจะแสดงสปิริตลาออกต่อที่ประชุมในองค์กร

ทั้งนี้ที่ประชุมได้ขอความร่วมมือในการนำเสนอข่าวให้เป็นไปด้วยความสมานฉันท์ ไม่อยากให้เป็นภาพของการถูกกดดันหรือถูกบีบจากนักข่าวภาคสนามให้ต้องลาออก

ภายหลังการหารือ สื่อมวลชนได้แยกย้ายกันออกจากห้อง โดยนายภัทระ ได้ชวนนายเสถียรไปเขียนใบแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อที่จะแจกเพื่อนๆ สื่อมวลชน ซึ่งไปเขียนที่สมาคมนักข่าว โดยนายภัทระเป็นผู้เขียนข่าวแถลงเพื่อแจกสื่อมวลชน โดยมีนายเสถียรอยู่ด้วย

เมื่อเขียนเสร็จแล้ว นายภัทระ ได้โทรศัพท์แจ้งนายปรัชญาชัย (ซึ่งทำงานอยู่ที่หนงสือพิมพ์ไทยโพสต์) ว่าจะขอให้ใส่ชื่อนายปรัชญาชัย เป็นคนพูด โดยอ่านให้ฟังว่า นายปรัชญาชัย กล่าวต่อที่ประชุมเพื่อให้การสนับสนุนให้มีตัวแทนองค์กรสื่อมวลชนทำหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติต่อไป ส่วนข้อเสนอเรื่องการให้ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแล้วที่ประชุมเห็นว่า ทุกคนต้องรักษาระยะห่างอันเหมาะสมเพื่อมิให้เสียหายต่อวิชาชีพ    

ทำให้นายปรัชญาชัย แย้งว่าที่ประชุมไม่ได้ตกลงกันตามที่แจ้งมา เพราะเราไม่ได้สนับสนุนตัวแทนองค์กรวิชาชีพ แต่หากเป็นการทำหน้าที่ส่วนบุคคล เราก็พร้อมสนับสนุน และควรเอาคำว่า ทุกคนต้องรักษาระยะห่างอันเหมาะสมขึ้นต้นประโยค ส่วนคำว่าสนับสนุนการทำหน้าที่ส่วนบุคคลควรอยู่ตอนท้าย

ปรากฏว่าในใบแถลงข่าว นายภัทระได้ระบุว่า นายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร หนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุม กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอเรื่องการให้ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแล้วที่ประชุมเห็นว่า ทุกคนต้องรักษาระยะห่างอันเหมาะสมเพื่อมิให้เสียหายต่อวิชาชีพ และให้การสนับสนุนให้มีตัวแทนองค์กรสื่อมวลชนทำหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติต่อไป

จากนั้น คำแถลงข่าวชุดแรก นายภัทระ ได้ให้นายเสถียร เป็นคนส่งข่าวไปตามสื่อต่างๆ แต่เมื่อนายบัญชา กับ นายจุลกรณ์  และ น.ส.เพทาย เห็นคำแถลงข่าวดังกล่าวว่า ในส่วนที่นายปรัชญาชัยพูดว่า ให้การสนับสนุนให้มีตัวแทนองค์กรสื่อมวลชนทำหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติต่อไปเป็นคำพูดไม่ตรงกับข้อตกลงในที่ประชุม จึงโทรไปหานายปรัชญาชัย ก็ได้รับการยืนยันว่า ไม่ได้ให้เขียนอย่างนั้น จึงทำการแก้ไขในส่วนที่นายปรัชญาชัยพูดใหม่ โดยแก้ไขว่า ทุกคนต้องรักษาระยะห่างอันเหมาะสมเพื่อมิให้เสียหายต่อวิชาชีพ อย่างไรก็ตามการที่มีสื่อมวลชนเข้ามาทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติถือเป็นการทำงานส่วนตัวไม่เกี่ยวกับองค์กร

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคัดค้านหลายคนไม่พอใจท่าทีของนายภัทระ ที่เขียนคำแถลงการณ์ว่าที่ประชุมให้การสนับสนุนตัวแทนองค์กรวิชาชีพเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ จึงเกรงว่าการหารือดังกล่าวจะไม่เป็นการผูกมัดทั้ง 3 องค์กร จึงได้มอบหมายให้ นายบัญชาเขียนเพิ่มเติมในเชิงรายงานข่าวว่า

"ในการหารือครั้งนี้ ผู้นำทั้ง 3 องค์กรวิชาชีพ พร้อมที่จะลาออกจากตำแหน่งในองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งจะทำหน้าที่เพื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติเพียงตำแหน่งเดียว โดยจะมีการหารือกับสภาชิกองค์กร ทั้ง 3 วิชาชีพและจะชี้แจงอย่างเป็นทางการต่อไป"

ทำให้บางคนไม่พอใจว่าตนเองถูกหักหลังฉีกและมีการสัตยาบัน เพราะรับปากกันแล้วว่าจะเขียนข่าวในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความสมานฉันท์

จากนั้นมีการเขียนสกู๊ปข่าวในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันเสาร์ หน้า A6 โดยใช้คำว่า "ล่าสุดการเคลื่อนไหวเริ่มขยายวง ใบปรองดองที่เห็นร่วมกันในรูปสัตยาบัน....ถูกฉีกย่อยยับ"

จึงมีคำถามตามมาว่า...ใครเป็นคนฉีกก่อนกันแน่!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท