Skip to main content
sharethis

เรื่อง : วิทยากร บุญเรือง


ภาพ : วัชรพงษ์ หิรัญรัตน์*


 


*ช่างภาพอิสระจาก Lanna independent media


 


 



 


  


... ภาพที่ชินตาตามสื่อกระแสหลัก ที่เรามักจะเห็นอยู่บ่อยครั้ง คือเรื่องราวของการประชุมสัมมนาทางเศรษฐกิจ-การเมือง ของกลุ่มคนที่บุญหนักศักดิ์ใหญ่มีอำนาจวาสนา --- ที่เรียกตนเองว่านักธุรกิจและนักการเมือง


 


การประชุมของพวกเขาแต่ละครั้ง พวกเขาปิดเมือง ปิดการจลาจร ปิดโรงแรมหรู หาที่ที่สะดวกสบายที่สุดในการประชุม และวางแผนวางกลอุบายทางเศรษฐกิจ-การเมือง เพื่อมากำหนดชีวิตของคนที่ถูกเรียกว่าผู้ถูกปกครองดังเช่นเราๆ ให้ก้มหัวยอมรับในสิ่งที่เขาแอบตกลงกัน ออกมาในรูปของนโยบายและกฎหมายต่างๆ แล้วก็รักษาผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องกลุ่มเล็กๆ ของพวกเขา


 


พวกเขากีดกันเราออกมา --- นี่แหละที่เรียกว่า "การสังสรรค์ทางการเมืองของชนชั้นนำ"


 


แต่ในวันที่ 21-22-23 ตุลาคมนี้ กลุ่มคนที่ทำงานทางสังคมหลากหลายกลุ่ม หลากหลายประเภท หลากหลายเป้าหมาย ได้ร่วมกันทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม! --- ในงานสมัชชาสังคมไทย!


 


กลุ่มก้อน เครือข่าย องค์กร ภาคประชาชนที่มาร่วมสมัชชาสังคมไทย (Thai Social Forum : TSF) ครั้งนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มที่สัมผัสกับ "ความไม่ถูกต้องของสังคม" ในรูปแบบต่างๆ ที่มันกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน พวกเขาอาจจะเป็นอาจารย์, นักวิชาการ , นักศึกษา , เกษตรกร , แรงงาน หรือแม้แต่ชาวบ้านธรรมดาแท้ๆ ที่ลุกขึ้นมาค้นหาสาเหตุของความไม่ถูกต้องนั้น และพยายามแก้ไขมัน --- ทำให้พวกเขากลายมาเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งพวกเขาเป็นเพียงคนธรรมดาๆ ที่บุญไม่หนัก ศักดิ์ไม่ใหญ่ใดๆ ทั้งสิ้น ;-)


 


ถึงแม้นว่าวิธีการและเป้าหมายของแต่ละองค์ภาคประชาชนที่มาร่วมงานนี้ จะแตกต่างกันไปตามกรอบของพันธกิจของแต่ละองค์กรที่ตนสังกัด แต่ทั้งนี้เราสามารถจับมือร่วมกันสร้างความสมาฉันท์และเดินไปสู่โลกใบใหม่พร้อมๆ กันได้


 


ที่มาของการจัดงาน สมัชชาสังคมไทย(Thai Social Forum)T.S.F.


 


 


 


000


 


21 - 22 ตุลาคม : การประชุมของประชาชน


 


"นโยบายของประชาชน ... ประชาชนสร้างเองได้"


 



 


  


บรรยากาศสองวันแรก เป็นการเสวนาของทั้ง นักวิชาการ, ภาคประชาชน, และประชาชนคนธรรมดา ทั้งในห้องประชุมใหญ่และห้องเสวนาเล็กๆ


 


โดยแต่ละประเด็นในการเสวนา ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นปัญหาของประชาชนที่เกิดขึ้นจริง รวมถึงการหาทางออกของปัญหานั้น ทั้งนี้ในการเสวนา ยังมีการแลกเปลี่ยนความเห็นและถกเถียงกัน เพื่อสรรค์สร้างนโยบายของประชาชนโดยประชาชนเอง !


 


หัวข้อ-รายละเอียดของการประชุมและวงเสวนาโดยสังเขปมีดังนี้ …


 


TSF : พรรคการเมือง หรือเครือข่ายประชาชนจะเป็นทางออกทางการเมืองไทยได้ดีกว่ากัน


 


TSF : สมัชชาสังคมไทยระบุ-แก้ปัญหาการศึกษาต้องไม่ผูกขาดองค์ความรู้


 


TSF : ทำความรู้จัก "เศรษฐศาสตร์ทางเลือก" ก่อนตัดสินใจเลือกหรือไม่ ?


 


TSF : ชัยวัฒน์เปรียบสันติภาพเหมือนต้นไม้ปลูกได้ต้องคำนึงถึงชั้นดิน บรรยากาศ และเงา


 


TSF : หนุนเรียกร้อง "รัฐสวัสดิการ" ด้วยตัวเอง เพราะจากประสบการณ์ไม่เคยมีรบ.ไหนให้ก่อน


 


TSF : เวที "ความเสมอภาคระหว่างมนุษย์" เราสร้างได้


 


TSF : ชี้ทางรอดค้าปลีก ต้องร่วมกำหนดนโยบาย


 


TSF : แรงงานไทย-พม่า ลงนามปฏิญญา สมานฉันท์ข้ามพรมแดน


 


TSF : รายงานข่าวจากชุมชน: เมื่อเจ้าของปัญหาลุกขึ้นมาเขียนข่าว


 


TSF : เวทีสันติภาพใต้ชี้ทางรัฐบาลใหม่ ดูแลใจ คือกุญแจสันติภาพ


 


TSF : พรรคแนวร่วมฯ ชวนประชาชนตื่นตัวเรื่องไข้หวัดนก-ไข้หวัดมรณะ


 


TSF : ฉะเอ็นจีโอกลางงาน TSF ขาดการตรวจสอบกันเองอย่างแรง


 


TSF : ยุทธศาสตร์การสร้างพลังของขบวนการแรงงานในไทย


 


TSF : สิทธิในการทำแท้งในไทย : ควรทำอย่างไร?


 


TSF : วาระประชาชน ที่ผู้ใช้อำนาจโปรดฟังอีก(สัก)ครั้งหนึ่ง !


 


TSF : สำรวจโลกใหม่ที่เป็นไปได้ … ใบเล็กๆ


 


 


ฯลฯ


 


 


 


23 ตุลาคม : สู่ท้องถนน


 


 


"เมื่อเราไม่สามารถไปยกมือในสภาได้ ... ท้องถนนจึงเป็นที่ทางของเรา"


  



 


 


จากสองวันแรก ที่พวกเราได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนถกเถียงประเด็นปัญหา และได้ช่วยกันกำหนดนโยบายแนวทางของสังคมใหม่ที่มันควรจะเป็นร่วมกัน ซึ่งเป็นนโยบายของประชาชนที่แท้จริง


 


แต่นโยบายของพวกเรามันไม่เคยที่จะถูกเหลียวแล จากชนชั้นนำที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ในสายตาของพวกเขา สำหรับประชาชนคนธรรมดาอย่างเรา พวกเขาคงไม่อยากให้เราไปเหยียบย่ำย่างกรายเข้าไปในสภาอันทรงเกียรติ หรือแม้แต่ในห้องวางนโยบายอันสุดศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา …


 


ดังนั้นเราจึงได้นำการเมืองของเราลงสู่ท้องถนน และประกาศให้โลกรับรู้ว่า พวกเราสุดทนแล้วกับการเป็นแต่ผู้รอเศษเสี้ยวของโอกาส ที่ชนชั้นนำโยนมาให้เรา จากนี้ไปพวกเราจะสร้างโอกาสของพวกเราขึ้นมาเอง!


 


คำประกาศสมัชชาสังคมไทย  " โลกใหม่ที่เท่าเทียม ประชาชนสร้างได้ "


 


สำรวจแถว "ภาคประชาชน" ในสมัชชาสังคมไทย แตกต่างไม่แตกแยก ?


 


 


 


000


 


 


ส่วนหนึ่งของตัวแทนองค์กรภาคประชาชนและผู้เข้าร่วมงาน


 


 


สมศักดิ์ เวียงย่างกุ้ง : ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์


 


 


 


 


กลุ่มทำงานเกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชนทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเอดส์ ที่ครอบคลุมเกี่ยวกับ ให้การศึกษา, แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น ความคาดหวังของสมศักดิ์คือ ต้องการเห็นภาคประชาชนสร้างประชาธิปไตย และรวบรวมเอาความหลากหลาย อาจจะขับเคลื่อนทีละประเด็น แต่ต้องไปด้วยกัน.


 


 


มานพ แก้วผกา : กลุ่มสมานฉันท์


 


 


 


 


จุดกำเนิดของกลุ่ม เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และความไม่เป็นธรรมจากหน่วยงานรัฐ  และนายทุนไม่เคยคำนึงถึงคนงาน คิดแต่เรื่องกำไรไม่สนใจในเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยขณะนี้กลุ่มสามารถสร้างโรงงาน แบรนด์เนมเป็นของตนเองได้  มานพทิ้งท้ายไว้ว่า "หนึ่งสมองสองมือของคนงานทำให้นายทุนรวยมามากพอแล้ว ต่อจากนี้ไปเราจะทำเพื่อตัวเองและพี่น้องของเราบ้าง"


 


ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง : โครงการศิลปวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม


 


 


 


ไพศาลให้ความเห็นถึงการทำงานศิลปะในการรับใช้สังคมไว้ว่า ปัญหาสังคมในชนบทนั้น งานศิลปะเป็นทางเลือกตัวหนึ่งที่สามารถสะท้อนปัญหาสังคมได้ โดยใช้เป็นเครื่องส่งผ่านให้คนอื่นๆ ที่มองข้ามเรื่องเหล่านี้ รับรู้ว่ายังมีปัญหาอยู่บนโลก เพราะงานศิลปะสามารถดึงดูดคนให้สนใจได้   


 


 


ปัญจรัตน์ จันทริก : เครือข่ายคนพิการ (องค์กรคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ร่วมกับ สภาคนพิการทุกประเทศแห่งประเทศไทย)


 


 


 


 


เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อคนพิการ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องสภาพแวดล้อมในสังคมที่ทำให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ , ปัญหาการจ้างงานของคนพิการ , การศึกษาของคนพิการ ฯลฯ ทำให้กลุ่มต้องออกมาเคลื่อนไหว โดยความคาดหวังของกลุ่มก็คือ อยากให้สังคมรับรู้และเปิดโอกาสให้กับคนพิการ


 


สาธิตา หน่อโพธิ์ : มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP)


 


 


 


แรงงานข้ามชาติมักที่จะถูกละเลย ทั้งในเรื่องของสวัสดิการการรักษาพยาบาล การให้ความรู้ และให้คำปรึกษา เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ การให้ความรู้ในการใช้สิทธิทางกฎหมาย MAP จึงลงมาทำในส่วนนี้ และสาธิตากล่าวต่อไปว่า "แรงงานข้ามชาติก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมเฉกเช่นทุกคน"


 


ปองพล สารสมัคร : แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย


 


อยากให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิบัติต่อนักโทษ, มิติความรุนแรงต่อผู้หญิง, การทารุณกรรม, โทษประหาร โดยคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมพุทธทำไมถึงยังมีโทษประหาร ทั้งๆที่เราทำบุญปล่อยนก ปล่อยปลา ละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แล้วทำไมชีวิตคนหนึ่งคนเราถึงจะให้เขาไม่ได้


 


 


Khun Thomas : นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน


 


 


 


สำหรับความรู้สึกต่องาน TSF คือ "ถ้าภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมได้แบบในวันนี้ ก็รู้สึกมีกำลังใจ และรู้สึกดีใจครับ"


Timo Ojanen : นักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย


 


เคยเห็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในต่างประเทศ เมื่อได้เห็นในประเทศไทย เห็นคนหนุ่มสาววัยเดียวกันที่มีอุดมการณ์ ก็รู้สึกมีกำลังใจในการต่อสู้กับสิ่งที่ไม่เป็นธรรมทั่วโลกนี้โดยสันติวิธี และคาดหวังกับการเชื่อมโยงกันในการร่วมกันทำกิจกรรมกับนักกิจกรรมทั่วโลก  


ทวนชัย พิริยะอุดมพร : นักดนตรี


 


สำหรับประเด็นประชาธิปไตย รู้สึกภูมิใจที่ในอดีตที่พวกรุ่นพี่ได้เสียสละต่อสู้เพื่อให้ได้มันมา โดยพวกเขาไม่ได้หวังผลในรูปวัตถุที่ให้ตนเองมีหน้ามีตา สำหรับความภูมิใจของตนเองคือได้ต่อยอดการต่อสู้ของวีระชนในอดีต โดยใช้ดนตรีเป็นอาวุธ ซึ่งสามารถนำเสนอปัญหาสังคมได้ดีอย่างหนึ่ง.


อานนท์ ชวาลาวัณย์ : นักศึกษา / บรรณาธิการหนังสือทำมือ


 


 


สำหรับงาน TSF เห็นขบวนการภาคประชาชนมาร่วมแลกเปลี่ยนและได้ทำกิจกรรมร่วมกันก็รู้สึกมีความหวังในการสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่ก็มีความกังวลใจว่างานนี้อาจจะสูญเปล่าถ้าหากว่าไม่มีกิจกรรมหรือว่าร่วมกันเคลื่อนไหวในโอกาสต่อๆ ไป ในเมื่อเราได้มาร่วมกันสู้ในงานนี้แล้ว เราก็ควรที่จะร่วมกันสู้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมต่อๆ ไป  


 


ooo


 


 



 


 


 


... งานสังสรรค์ย่อมมีวันเลิกราจริงหรือ? แน่นอนว่าเราคงหลีกเลี่ยงสิ่งนี้ไปไม่ได้ แต่จากนี้ไปเราต้องร่วมมือกันสร้างงานสังสรรค์ของพวกเราขึ้นมาใหม่อีกในครั้งต่อไปๆ เพาะบ่มเชื้อความสมานฉันท์ที่เคารพในความหลากหลาย สู่การร่วมกันสรรค์สร้างสังคมใหม่ของประชาชนขึ้นมา


 


สำหรับการสร้างสังคมใหม่ --- เราสุดทนแล้วกับการฝากความหวังไว้ให้กับชนชั้นปกครอง และการเมืองของชนชั้นนำ อันเป็นตัวแทนของโลกใบเก่าอันคร่ำครึ ที่ชอบใช้แต่คำว่า "เพื่อประชาชน" มาอ้าง แต่แท้จริงแล้วพวกเขาล้วนแล้วแต่ทำเพื่อกลุ่มก้อน พวกพ้อง และชนชั้นของตนเองทั้งสิ้น!


 


ประชาชนคนตัวเล็กๆ ที่อยู่กับปัญหาเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาของพวกเราเองได้ดีกว่าชนชั้นอื่นๆ พวกเรามีหลากหลายปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ไข .... ต่อจากนี้ไปพวกเราจะขอทำมันเอง และจงอย่ามาชี้หน้าว่าพวกเราโง่! ,จงอย่ามาชี้หน้าว่าพวกเราไม่มีการศึกษา! , จงอย่ามาชี้หน้าว่าพวกเราไม่มีความสามารถ! , จงอย่ามาชี้หน้าว่าพวกเราไม่สามารถดูแลกันเองได้! --- เราจะขอกำหนดชะตาชีวิตโดยตัวของพวกเราเอง


 


และถึงแม้ว่าในบางครั้ง พวกเราอาจจะถูกเรียกว่า "นักฝัน" แต่พวกเราก็ฝันหาสิ่งที่ดีกว่าวันนี้ พวกเราฝันหาโลกใบใหม่ โลกที่เป็นของประชาชนคนธรรมดาจริงๆ โลกที่มีแต่ความเท่าเทียมกัน


 


และโปรดจงอย่าดูถูกพลังแห่งความฝัน เพราะสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ล้วนแล้วแต่เริ่มจากความฝันทั้งสิ้น.


 


"สังคมใหม่ที่เท่าเทียม ประชาชนสร้างได้"


 


... เราเชื่อมั่นและเราจะไม่หยุดต่อสู้เพื่อให้ได้สังคมใหม่นั้นมา!


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net