Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (25 ต.ค.2549) นายนิตย์ พิบูลสงคราม รมว.การต่างประเทศของไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากนายคัทซูฮิโต อาซาโน รมช.การต่างประเทศญี่ปุ่นเข้าหารือเรื่องข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ว่า ขณะนี้ข้อตกลงต่างๆ ได้เจรจาเป็นที่ยุติแล้ว ส่วนขั้นตอนการลงนามจะเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นมีความพร้อม เพราะขณะนี้รัฐบาลไทยพร้อมที่จะลงนามทุกเมื่อ


 


ต่อมา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เคยพูดเรื่องพร้อมจะลงนามเอฟทีเอกับญี่ปุ่นดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังไม่ได้รายงานให้ทราบ แต่คงจะต้องมีการหารือกัน


 


ก่อนหน้านี้ประธานหอการค้าญี่ปุ่นและองค์กรส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นหรือเจโทร ได้เข้าพบนาย เกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ เพื่อทวงถามถึงความล่าช้าในการลงนามเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นเช่นกัน โดยนายเกริกไกย้ำว่าไทยยังมีนโยบายการค้าเสรีแต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง เรื่องเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นต้องผ่านขบวนการนิติบัญญัติเพื่อถามความเห็นสภาฯ และนำความเห็นมาประกอบการตัดสินใจ


 


ทันทีที่เกิดความเคลื่อนไหวภาครัฐตอบรับต่อการเรียกร้องของญี่ปุ่น กลุ่มนักวิชาการภาคประชานก็ออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้ด้วยเช่นกันวานนี้


 


นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการนโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลขณะนี้เป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราว ไม่มีความชอบธรรมในการไปลงนามผูกพันประเทศ และยังไม่มีความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อประชาชน เพราะมาอยู่ปีเดียวแล้วก็ไป นอกจากนี้เนื้อหาต่างๆ ก็ยังปิดลับ ไม่เคยยอมเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้มาก่อน


 


ทั้งนี้ ผู้อำนวยการโครงการนโยบายฐานทรัพยากร ตั้งข้อสังเกตว่าการที่ญี่ปุ่นกระตือรือร้นเป็นพิเศษที่จะลงนาม เอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นว่า ทางญี่ปุ่นจะได้ผลประโยชน์อย่างมาก แต่ฝ่ายไทยยังไม่รู้เลยว่าจะได้อะไร หรือจะเสียประโยชน์กันแน่


 


ด้านนายจักรชัย โฉมทองดี นักวิจัยโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ท่าทีของรัฐบาลญี่ปุ่นเช่นนี้ ถือว่าไม่ให้ความเคารพประชาชนไทย เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นได้ร่วมกับรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในการปกปิดการเจรจา ทำอย่างไม่โปร่งใส เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในไทย ประชาชนมุ่งหวังที่จะปฏิรูปไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่เคารพ พยายามผลักดันและกดดันเช่นเดิมให้รัฐบาลใหม่ต้องผูกมัดอนาคตของประเทศ


 


"ถ้าหากรัฐบาลไทยลงนามจริงจะเป็นการทำลายความหวังของประชาชนที่จะผลักดันประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่โปร่งใส และมีส่วนร่วมของประชาชน"จักรชัยกล่าว


 


นายจักรชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางฝ่ายการเมือง ฝ่ายราชการ โดยเฉพาะกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ, นักวิชาการ โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และภาคประชาชนต่างมุ่งมั่นไปในทิศทางเดียวกันที่จะร่างกฎหมายเพื่อเป็นกรอบการในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงไม่ควรมีความขัดแย้งทางนโยบายของตัวเอง ด้วยการดำเนินการสองอย่างที่ขัดแย้งกัน


 


ด้านนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล สมาชิกกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า การจัดทำเอฟทีเอเป็น "มรดกบาป" ของระบอบทักษิณ เป็นหลักฐานของผลประโยชน์ทับซ้อนที่ใช้นโยบายในการเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ซึ่งขัดกับนโยบาย 4 ป. "เป็นธรรม-โปร่งใส-ประสิทธิภาพ-ประหยัด" ของรัฐบาลโดยสิ้นเชิง


 


จากการศึกษาเอฟทีเอ ญี่ปุ่น-มาเลเซีย พบว่า มีบทบัญญัติให้นักลงทุนญี่ปุ่นสามารถฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยจากรัฐบาลคู่เจรจาได้ในกรณีต่างๆ ที่ทำให้การลงทุนเสียหาย แม้แต่การจลาจลซึ่งเป็นภาวะที่อยู่นอกเหนือการควบคุม, บังคับให้รัฐบาลคู่เจรจาต้องลงนามเพื่อรองรับสิทธิบัตรพันธุ์พืช-พันธุ์สัตว์


 


ในเอฟทีเอ ญี่ปุ่น-ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่นบังคับให้ฟิลิปปินส์ยกเลิกภาษีนำเข้าขยะทุกประเภท ทั้งขยะสารเคมี ขยะอิเล็คทรอนิค ฯลฯ โดยต้องการใช้ฟิลิปปินส์เป็นที่ทิ้งขยะซึ่งกำลังเป็นปัญหาหลักของญี่ปุ่นในขณะนี้


 


ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ตั้งข้อสังเกตความเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้ไทยลงนาม เอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น ว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ใคร เพราะพบว่า มีความพยายามกดดันในทุกระดับตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ารับตำแหน่ง ทั้งจากนักธุรกิจญี่ปุ่น หอการค้า และล่าสุด รายงานข่าวแจ้งว่า นายอาชว์ เตาลานนท์ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าไทย ซึ่งมีความผูกพันลึกซึ้งกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และระบอบทักษิณ ก็เป็นผู้รับหน้าที่ติดต่อให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ญี่ปุ่น เข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ในประเด็นดังกล่าวด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net