Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (25 ต.ค.2549) ในงานสังคมนิยมสากล 2006 จัดโดยกลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน (กปร.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการพูดคุยเรื่อง การสร้างความเท่าเทียมด้านกลไกตลาด และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ  FTA ,WTO


 


Jeyyakumar ตัวแทนจากพรรค PSM มาเลเซีย (Parti Socialis Malaysia) กล่าวว่า ตลอดหลายปีมานี้มีการโจมตีชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกให้อ่อนแอ โดยแนวคิดเสรีนิยมใหม่ที่มุ่งทำลายรัฐสวัสดิการ ลดการช่วยเหลือจากรัฐ เพิ่มค่าบริการในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แปรรูประบบสาธารณสุข น้ำ ไฟฟ้า การขนส่งให้เป็นของเอกชน ตลอดจนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีมาใช้ภาษีล้าหลังที่สร้างภาระให้คนจนอย่างภาษีมูลค่าเพิ่ม และลดการเก็บภาษีจากทุนใหญ่


 


เขากล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะผู้นำคนใด หรือเพราะองค์กรการเงินระหว่างประเทศสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมใหม่ แต่เป็นเพราะความอ่อนตัวของขบวนการแรงาน ซึ่งเกี่ยวพันกับความล้มเหลวของการสร้างระบอบสังคมนิยมในรัสเซียตะวันออก ทำให้ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกรู้สึกผิดหวัง ท้อแท้ ดุลอำนาจจึงเปลี่ยนจากชนชั้นกรรมาชีพมาสู่นายทุน นอกจากนี้ยังมีทุนส่วนเกิน การผลิตที่ล้นเกินมากมายทำให้มีการขยายการลงทุนไปสู่เรื่องอื่นๆ ไม่ว่าสาธารณูปโภค สาธารณสุข


 


สำหรับในมาเลเซียนั้น ตัวแทนจาก PSM ระบุว่า ชนชั้นปกครองในมาเลย์ได้แบ่งแยกชนชั้นกรรมาชีพโดยเชื้อชาติ และกำลังใช้ศาสนาด้วยในขณะนี้ ทำให้การรณรงค์ในมาเลเซียจะต้องมุ่งไปยังเศรษฐกิจพื้นฐานที่กระทบกับทุกคนทำให้เชื่อมกันได้และขยายแนวร่วมได้มากขึ้น ในมาเลเซียขณะนี้มีประเด็นที่พรรคและภาคประชาชนต่อสู้กับเสรีนิยมใหม่อยู่ 5 ประเด็น คือ การพยายามแปรรูปสาธารณสุข การพยายามใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม การลดเงินพยุงราคาน้ำมัน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจน้ำ และการทำเอฟทีเอ โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา


 


เขายกตัวอย่างการต่อสู้ที่ประสบความสำเร็จด้วยว่า ในปี 2004 รัฐบาลพยายามนำร้านยาและคลินิกเอกชนไปไว้ในโรงพยาบาลรัฐแต่ภาคประชาชนมีการเดินขบวนหนักหน้ากระทรวงสาธารณสุข จนรัฐบาลต้องยอมยกเลิกโครงการ "ชัยชนะเล็กๆ เหล่านี้สำคัญมากสำหรับชนชั้นกรรมาชีพ เพราะไม่เช่นนั้นเราอาจเผลอคิดไปว่าอีกฝ่ายเข้มแข็งเกินไป เอาชนะไม่ได้"


 


พัชรี คำหนัก จากกลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน นำเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการ โดยอธิบายว่า สำหรับสังคมไยเรื่องรัฐสวัสดิการนั้นได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเสรีนิยม และอนุรักษ์นิยม เริ่มต้นตั้งแต่สมัย ร.5 ที่รัฐจะให้การช่วยเหลือผ่านองค์กรการกุศลอย่างสภากาชาดไทย ต่อมาสมัย ร.7 คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แต่สถาบันกษัตริย์ก็ยังมีอำนาจอยู่มาก คณะราษฎรโดยนายปรีดี พนมยงค์ นำเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจที่มีแนวนโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการคล้ายกับระบอบสังคมนิยม แต่ถูกบล็อกโดยพวกอนุรักษ์นิยมและแนวคิดแบบประชาสงเคราะห์


 


เธอระบุว่าในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ความชัดเจนในเรื่องรัฐสวัสดิการแต่มีแนวคิดเรื่อง social safety net ซึ่งไปกันได้กับเสรีนิยมใหม่ และสถานบันการเงินระหว่างประเทศอย่างไอเอ็มเอฟนำมาใช้จนแพร่หลาย อย่างไรก็ดี มันมีการการลดสวัสดิการ มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทำลายสหภาพแรงงาน โดยมีกฎหมายแรงงานหนุนเสริม  


 


พัชรีขยายความว่า ระบบรัฐสวัสดิการนั้นแตกต่างออกไปจากแนวสังคมสงเคราะห์ที่เหมือนเพียงหยิบยื่นเศษขนมปังให้ประชาชน โดยรัฐสวัสดิการนั้นจะช่วยเหลือทุกคนอย่างเท่าเทียมตั้งแต่เกิดจนตาย โดยอยู่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อให้คนหลุดพ้นจากความอดอยาก ความกลัว และเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยไปด้วย


 


"ทุกวันนี้คนรากหญ้าถูกทำให้เป็นคนชายขอบ แต่รัฐสวัสดิการจะเป็นทางออกที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างพลังให้ประชาชน" พัชรีกล่าว


 


ส่วนข้อถกเถียงสำคัญของระบบรัฐสวัสดิการนั้น พัชรีระบุว่าคนมักพูดว่าระบบนี้ทำให้คนขี้เกียจ ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน และรัฐจะเสียค่าใช้จ่ายมากเกินไปเพราะไม่มีการแข่งขัน ทั้งหมดนี้ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ โดยดูได้จากประเทศพัฒนาแล้วที่มีระบบรัฐสวัสดิการ


 


ขณะที่ตัวแทนจากภาคแรงงานชี้ชัดว่า เสรีนิยมใหม่นั้นจะผลักดันได้ง่ายขึ้นหลังจากเกิดรัฐประหาร ดูได้จากแนวโน้มในการแต่งตั้งรัฐมนตรี ทั้งนี้ เสรีนิยมโลกาภิวัตน์นั้นสร้างปัญหา กดขี่ขูดรีดแรงงานมาก มีการเดินทางของแรงงานไปทุกที่เช่นเดียวกันกับทุนและประสบกับการกดค่าแรง การทำร้ายร่างกาย การข่มขืน


 


เขาระบุว่า นอกจากนี้ขบวนการต่อสู้กับเสรีนิยมใหม่ ไม่ว่าการต่อต้านเอฟทีเอ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ล้วนใช้แนวคิดชาตินิยมที่แบ่งแยกแรงงานข้ามชาติซึ่งถูกกดขี่ทั้งที่เขาสร้างความมั่งคั่งให้สังคม แต่ความมั่งคั่งนั้นไม่ได้กระจาย ไปกระจุกอยู่ที่นายทุนจำนวนน้อย


 


"ดังนั้น เราต้องใช้แนวคิดชนชั้นในการต่อสู้กับเอฟทีเอ ต้องดึงคนชายขอบมาร่วม ศัตรูไม่ใช่แรงงานต่างด้าวแต่คือนายทุนผู้กดขี่ ต้องสร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งและรื้อฟื้นเครื่องมืออย่างการนัดหยุดงาน และสหภาพแรงงานต้องไม่ยึดติดกับกฎหมายของนายทุนมากเกินไป ท้ายที่สุดต้องมีการก่อตั้งพรรคเพื่อต่อสู้ทางการเมือง" ตัวแทนจากกลุ่มแรงงานกล่าว


 


ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ กลุ่มประชาธิปไตยแรงงานกล่าวว่า ประเด็นของWTO หรือ FTA เป็นประเด็นทางชนชั้น มันไม่ได้ให้ประโยชน์กับชนชั้นล่างอย่างแท้จริง และเป็นเรื่องเดียวกันกับการต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา เป็นประเด็นสากลที่ประชาชนต้องต่อสู้ร่วมกัน และไม่ควรทำให้เป็นเพียงเรื่องของชาตินิยม หรือรณรงค์ว่าเอฟทีเอเป็นการขายสมบัติชาติ เพราะเช่นนั้นแรงงงานข้ามชาติก็จะยังถูกกดขี่และถูกมองว่าเป็นศัตรูของคนไทย แย่งงานคนไทยทำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net