"ออร์ฮาน ปามุก" เจ้าของโนเบล สาขาวรรณกรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เพียงไม่นานหลังจากที่มีการประกาศว่ารางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี 2006 เป็นของนักเขียนชาวตุรกี นามว่า Orhan Pamuk คำวิพากษ์วิจารณ์ก็แพร่สะพัดไปทั่วโลก ไม่ต่างจากปฏิกิริยาของบรรดาผู้คนในแวดวงวรรณกรรมบ้านเราที่มีต่อการประกาศผลรางวัลซีไรต์เมื่อไม่นานมานี้

 

คำวิจารณ์ที่ได้ยินก็คล้ายๆ กัน นั่นคือการกล่าวว่า ออร์ฮาน ปามุก ได้รางวัลนี้เพราะ "เหตุผลทางการเมือง" ที่ต้องการให้นักเขียนชาวตะวันออกเป็นผู้ได้รับรางวัลอันทรงอิทธิพล เพื่อเป็นการถ่วงดุลและแก้คำครหาว่ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมส่วนใหญ่ มักจะตกจะอยู่ในมือนักเขียนชาวยุโรปหรือละตินอเมริกา

 

เมื่อ ออร์ฮาน ปามุก ได้รับรางวัลนี้ขึ้นมา เขาก็เลยถูกตีตราว่าเป็นนักเขียนชาวตุรกีคนแรกที่ได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ และก็ยิ่งเป็นเรื่องดีเข้าไปใหญ่ที่นักเขียนจากประเทศลูกครึ่ง (ตะวันตกผสมตะวันออก) คนนี้ได้ทำการรื้อถอนโครงสร้างทางความคิดเดิมที่ฝังรากลึกในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง และนำเรื่องราวหลายๆ ประเด็นมาตีแผ่เสียจนอาจเรียกได้ว่านี่เป็นการสาวไส้ (อันหมักหมมและมีกลิ่นคาว) ออกมาให้คนภายนอกรับรู้กันทั่วโลก

 

เหตุผลทางการเมืองที่คุกรุ่นอยู่ในการมอบรางวัลนี้จึงถูกนำไปเชื่อมโยงกับความพยายามที่ตุรกีต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป ซึ่งแม้รัฐบาลตุรกีจะดำเนินการเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว แต่ประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปมาแต่เดิมก็ยังอดไม่ได้ที่จะมองตุรกีด้วยสายตาไม่ไว้วางใจ

 

ความเคลือบแคลงใจอันดับหนึ่งที่ทำให้ประเทศตุรกีไม่อาจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปได้ คือภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศมุสลิม ซึ่งแม้ว่าประชากรกว่าครึ่งของตุรกีจะนับถือศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่อิสลาม แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ชาวตุรกีน่าไว้วางใจมากขึ้นกว่าเดิมในโลกยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่ผู้นับถือศาสนาอิสลามถูกกีดกันให้กลายเป็น "คนอื่น" พร้อมด้วยการแปะฉลากว่า "หัวรุนแรง" ซ้ำลงไปด้วย

 

เมื่อนักคิดนักเขียนคนสำคัญระดับชาติของตุรกีออกมาเขียนหนังสือวิพากษ์วิจารณ์ความคิดความเชื่อและวิถีทางในประเทศตัวเอง ชาวยุโรปส่วนหนึ่งก็คงไม่รอช้าที่จะนำความขัดแย้งนี้มาสนับสนุนสมมติฐานของตนว่า "ตุรกี" นั้นมีปัญหาภายใน และไม่สมควรที่จะรับเข้ามาเป็น "พวก" จริงๆ

 

หากจะมองกันในแง่นั้น การมอบรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมให้ ออร์ฮาน ปามุก ก็คงเป็นเรื่องการเมืองอย่างเถียงไม่ได้ แต่ถ้ามองให้ลึกถึงผลงานและแนวคิดส่วนตัวของออร์ฮาน ปามุก จะเห็นได้ว่าเขาเป็นผู้ที่รักและหวังดีกับตุรกีมากที่สุดคนหนึ่ง

 

 

สิ่งที่ ออร์ฮาน ปามุก หยิบยกมาพูดถึงในงานเขียนของเขาจนกลายเป็นประเด็นขัดแย้งระดับชาติ ก็คือเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเคิร์ดและอาร์เมเนียนในยุค 1915 - 1917 ซึ่งรัฐบาลตุรกีไม่เคยคิดจะชำระประวัติศาสตร์ครั้งนั้นเพื่อให้เหยื่อและครอบครัวของผู้ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้รับการชดเชยทีเป็นธรรมเลย

 

เมื่อปี 2005 ออร์ฮาน ปามุก ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์สัญชาติสวีเดนฉบับหนึ่ง และเขาพูดชัดถ้อยชัดคำว่า ชาวเคิร์ดและชาวอาร์เมเนียนหลายหมื่นคนที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในตุรกี เมื่อราวๆ ปี 1915 - 1917 ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะจนถึงทุกวันนี้ ตุรกีก็ยังไม่ได้ชำระล้างประวัติศาสตร์บทนั้นเลยแม้สักครั้งเดียว และนั่นคือความอยุติธรรมอย่างใหญ่หลวง

 

จากบทสัมภาษณ์ครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลตุรกีออกกฎหมายว่าใครก็ตามที่กล่าวพาดพิงและสร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศตุรกี ถือว่ามีความผิด และแม้ว่า ออร์ฮาน ปามุก จะให้สัมภาษณ์ไปนานกว่า 4 เดือนก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎดังกล่าว เขาก็ยังไม่วายถูกแจ้งข้อหาว่ากระทำความผิดย้อนหลังจนได้

 

โดยพื้นเพและชาติกำเนิด ออร์ฮาน ปามุก ไม่เพียงเป็นชนชั้นกลาง (ค่อนไปทางฐานะดี) แต่เขายังเป็น "แขกขาว" หรือ ชาวตุรกีที่เป็นคนผิวขาว ซึ่งมีโอกาสทางสังคมมากกว่าชาวเคิร์ดหรือชาวอาร์เมเนียน แต่เขากลับรู้สึกรู้สากับความจริงที่ว่าชาวเคิร์ดและชาวอาร์เมเนียนถูกกดขี่ข่มเหงและกีดกันให้เป็นชนกลุ่มน้อยตลอดเวลา เขาจึงถ่ายทอดภาพเหล่านั้นออกมาในผลงานที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษชื่อว่า My Name is Red และ The Other Colors

 

หากจะมองกันตามความเป็นจริง สิ่งที่ทำให้ ออร์ฮาน ปามุก ถูกวิจารณ์อยู่ตลอดเวลาคือแนวคิดเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่เขาเชื่อมั่น แต่เป็นแนวคิดที่รัฐบาลตุรกีไม่ค่อยให้ความสนับสนุนสักเท่าไหร่ จึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ภาพลักษณ์ของ ออร์ฮาน ปามุก ในสายตาชาวตุรกีบางส่วนจะหมายถึงนักเขียนที่ชื่นชมบูชาความคิดแบบตะวันตกจนลืมรากเหง้าวัฒนธรรมของตัวเอง

 

ชาวตุรกีที่ต่อต้าน ออร์ฮาน ปามุก โดยมากจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่เชื่อว่าการดำเนินวิถีชีวิตอันงดงามคือการทำตามจารีตประเพณีที่สืบกันมาแต่ยุคโบราณ เพราะราชวงศ์ออตโตมานก็ถือเป็นหนึ่งในอารยธรรมที่เคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรไม่แพ้ชาติตะวันตก

 

การขุดคุ้ยรอยแผลในอดีต เพื่อถามหาความรับผิดชอบในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเคิร์ดและชาวอาร์เมเนียน ที่ออร์ฮาน ปามุก พยายามทำ จึงกลายเป็นการตอกย้ำให้ชาวตุรกีฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องหงุดหงิดใจ เพราะมันคือเรื่องที่ไม่มีใครอยากพูดถึง และมันจะทำให้ภาพลักษณ์โดยรวมของตุรกีดูไม่ดีในสายตาคนทั่วโลก แต่หากจะยอมรับว่าการกระทำที่ผ่านมาคือความผิดพลาดก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลตุรกีทำได้ยากพอๆ กัน

 

ความผิดทั้งหลายทั้งปวงจึงตกอยู่กับ ออร์ฮาน ปามุก ที่อยู่ดีไม่ว่าดีก็เอาเรื่องที่ควรจะถูกกลบฝังไปนานขึ้นมาตีแผ่ให้คนรับรู้กันอีกครั้งหนึ่ง และกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถูกต่อต้านจากคนบางกลุ่มที่ไม่ต้องการให้มีการรื้อฟื้นเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นมา

 

นอกจากนี้ ออร์ฮาน ปามุก ยังต่อต้านแนวคิดของชาวมุสลิมที่ก่อความรุนแรงโดยอ้างหลักความเชื่อทางศาสนาอีกด้วย ทำให้เขายิ่งกลายเป็น "แกะดำ" ในสายตาพวกอนุรักษ์นิยมในตุรกีเข้าไปใหญ่ และเขาก็ถูกติดป้ายให้เป็นพวก "ทาสความคิด" แบบตะวันตกที่เรียกร้องความเท่าเทียมกันโดยไม่ลืมหูลืมตา

 

การที่ ออร์ฮาน ปามุก ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม จึงกลายเป็นอีกข้อหาหนึ่งที่ทำให้ผู้ต่อต้านเขาเชื่อว่าความคิดความเชื่อที่เขาถ่ายทอดออกมาจะถูกอกถูกใจบรรดาชาวต่างชาติเป็นที่แน่นอน เพราะเขาคือผู้ที่ไม่เข้าใจบริบททางสังคมของตุรกีอย่างถ่องแท้

 

ข้อหา "นิยมต่างชาติ"็็ หรือ "เดินตามก้นตะวันตก" จึงกลายเป็นสิ่งที่ติดตาม ออร์ฮาน ปามุก มาตลอด และทำให้เขากลายเป็นพวกแปลกแยกในสังคมตุรกี แต่ถ้ามองให้ดี ถึงจะไม่มี "แนวคิดตะวันตก" แทรกเข้ามา ความขัดแย้งภายในประเทศที่ผ่านมาก็ไม่ได้ช่วยให้ตุรกีดำเนินไปในทิศทางที่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

 

เพราะความขัดแย้งทางเชื้อชาติและความเชื่อ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ชาวตุรกีเชื้อสายเคิร์ดหรืออาร์เมเนียนจำนวนมากจึงลี้ภัยไปอยู่ในยุโรป เพื่อขายแรงงานและค้าของผิดกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ ผู้อพยพลี้ภัยเหล่านั้นถูกมองด้วยสายตาไม่ไว้วางใจจากคนยุโรป ด้วยเหตุผลว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้คอยสร้างปัญหาให้กับชาวยุโรปที่เป็นเจ้าของประเทศแต่ดั้งแต่เดิม และการกระทบกระทั่งเพียงเล็กน้อยในระยะแรกก็ลุกลามไปถึงขั้นไม่พอใจและพยายามกีดกันในทึ่สุด

 

สิ่งที่ ออร์ฮาน ปามุก เชื่อและพยายามทำให้คนอื่นเชื่อ ถูกถ่ายทอดออกมาในงานเขียนของเขาเสมอๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าคนที่อ่านงานของเขาจะมองมันในแง่มุมไหน เช่นเดียวกับรางวัลโนเบลที่เขาได้ ก็อาจเป็นแค่เครื่องมือทางการเมืองที่นำเอา "ความเป็นอื่น" ที่ ออร์ฮาน ปามุก เป็นอยู่ในสังคมตุรกี มาสร้างความชอบธรรมให้กับการต่อต้านรัฐบาลตุรกีที่อยากจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป

 

แต่หากจะมองว่าความเชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพของ ออร์ฮาน ปามุก คือสัจธรรมข้อหนึ่ง ก็คงมองออกอย่างง่ายดายว่ารางวัลโนเบลนี้เป็นเพียงหมุดหมายในการพิสูจน์แนวคิดและความเชื่อของคนๆ หนึ่งเท่านั้น หาได้เป็นสารัตถะสำคัญอะไรเลย

 

เพราะถึงที่สุดแล้ว คงไม่มีใครหน้าไหนอยากเป็นฝ่ายถูกกระทำอยู่ร่ำไป...

 

เมื่อใครบางคนพยายามยึดครองสิทธิเสรีภาพของตน โดยไม่เคารพในสิทธิเสรีภาพของคนอื่น

 

หนทางหนึ่งที่พอจะทำได้ก็คือการลุกขึ้นมาประกาศจุดยืนและรักษาสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของตน เช่นเดียวกับที่ ออร์ฮาน ปามุก กำลังทำอยู่นั่นเอง...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท