Skip to main content
sharethis

องค์การสหประชาชาติประกาศให้ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมเป็นวันที่อยู่อาศัยสากล ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา แต่ปีนี้ จันทร์แรกของเดือนตุลาคมต้องถือว่าเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจาการรับประหารเพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆ เครือข่ายสลัม4 ภาค ซึ่งเป็นเครือข่ายของผู้มีปัญหาด้านสิทธิในที่อยู่อาศัยเลื่อนกำหนดการจัดกิจกรรมประจำปีมาเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนหลังจากที่รอให้สถานการณ์รับประหารของไทยสะเด็ดน้ำไปก่อน


 


วันที่ 27 ต.ค. เป็นวันที่เครือข่ายสลัม 4 ภาคจัดการเสวนาเพื่อทบทวนปัญหาคนจนเมืองที่ประสบปัญหาที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ พร้อมย้อนดูว่ารัฐบาลไหนทำอะไร และแก้ไขปัญหาคนจนอย่างไรบ้าง และจับตาต่อไปถึงรัฐบาลชั่วคราว และการปฏิรูปการเมืองที่จะเกิดขึ้น จะเอาปัญหาของคนจนไปไว้ตรงไหน ปฏิรูปการเมืองแล้วคนจนจะมีที่อยู่อาศัยได้หรือเปล่า หรือทั้งหมดนี้ ไม่ค่อยเกี่ยวอะไรกัน


 


เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะมีรายชื่อผู้ร่วมเสวนาจากหน่วยงานของรัฐได้แก่กรุงเทพมหานคร และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) หรือ พอช. แต่ก็ไร้วี่แววตัวแทนจาก 2 องค์กรดังกล่าว


 


000


 


สลัมมาจากไหน


พงษ์อนันต์ ช่วงธรรม ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4ภาค อธิบายพื้นฐานของปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนในเมืองซึ่งกลายมาเป็นปัญหาชุมชนแออดและคนไร้บ้านในที่สุด โดย พงษ์อนันต์กล่าวว่า ปัญหาคนจนเมืองนั้นเชื่อมโยงแนบชิดกับปัญหาการพัฒนาของรัฐตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 เมื่อรัฐไทยมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองใหญ่และอุตสาหกรรมโดละเลยชนบทและภาคเกษตรกรรรม ทำให้คนจากต่างจังหวัดต้องหลั่งไหลเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และด้วยความยากจน ทำให้ต้องบุกเบิกที่ดินว่างเปล่าซึ่งแม้จะรกร้างว่างเปล่าแต่โฉนดของที่ดินเหล่านั้นกลับถูกจับจองโดยหน่วยงานของรัฐหรือเป็นของเอกชน


 


"สถานการณ์ที่สำคัญที่สุดก็คือความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย ซึ่งเกิดจาการอาศัยอยู่ในที่ดินของผู้อื่นและเสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อ เมื่อยู่มนที่ดินของคนอื่น สถานการณ์การไล่รื้อเกิดขึ้นแน่นอน เจ้าของที่ดินต้องการใช้ที่ดิน และหาเป็นที่ดินของรัฐซึ่งต้องการจะเวนคืน ส่วนปัญหาเรื่องอื่นๆ ก็คล้ายคลึงกับคนจนเมืองโดยทั่วไปก็คือสภาพทางเศรษฐกิจ หาเช้ากินค่ำ หาบเร่แผงลอย หรือลูกจ้างตามบริษัทห้างร้าน ก็ไม่มั่นคง"


 


ปัญหาสาธารณูปโภคและสุขอนามัยก็ดูเหมือจะเป็นปัญหาพื้นฐานสามัญที่คนจนเมืองต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็น  น้ำครำ ไม่มีทางเท้าเพื่อความปลอดภัย ขาดสาธารณูปโภคพื้นฐาน การต่อน้ำต่อไฟเป็นไปได้ยากลำบากเพราะสำนักงานเขตไม่รับรอง การประปาก ารไฟฟ้าไม่สามารถให้บริการได้ ต้องไปต่อจากบ้านของคนที่มีฐานะที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งก็จะเก็บแพงกว่าของหลวง อย่างไรก็ตามปัญหาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้รับการเยียวยาไปได้ในปี 2540 เนื่องจากมีการรณรงค์ให้ออกทะเบียนบ้านให้กับชุมชนแออัด


 


พงษ์อนันต์ระบุว่า ปัญหาของชาวสลัมที่พบมากในระยะหลังช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ก็คือ ความเจริญที่หมายถึงการตัดขยายเส้นการคมนาคม ส่งผลให้ชาวบ้านที่อยู่ตามเส้นทางการรถไฟ หรือการท่าเรือมักจะถูกขับไล่ออกไป


 


แล้วรัฐทำอย่างไรกับปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน


"นโยบายของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่มีความชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหาที่ดินอย่างไร แม้แต่การจัดตั้งการเคหะ ก็มีวัตถุประสงค์แรกก็คือแก้ไขปัญหาให้คนจนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย โดยยุคต้นๆ ก็สร้างแฟลต ซึ่งไม่สอดคล้องกับอาชีพดั้งเดิม เช่นหาบของ รถเข็นย่างปลาหมึก ก็อยู่ไม่ได้ก็ต้องขายให้คนอื่นไป


 


"ต่อมาการเคหะบอกให้ย้ายไปอยู่พื้นราบ แต่ไกลมากเช่น การเคหะบางพลี การเคหะร่มเกล้า  หนองจอก ลาดกระบัง แต่การสัญจรไม่สัมพันธ์กับแหล่งอาชีพ  รถราเข้าชุมชนก็ไม่มี"


 


"มาถึงยุค พอช. ก็ยังมีแนวคิดคล้ายกันคือพี่น้องสามารถเลือกซื้อที่ดินเองตามความต้องการ พอจะผ่อนได้ ก็ต้องเลือกที่ดินที่อยู่ไกลๆ เหมือนเดิม ดังนั้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเสนอว่าเราจะเช่า เป็นการปฏิรูปที่ดินโดยกรเช่า หรือไม่จำเป็นต้องย้ายออกไปไกลนัก"


 


จินดา เจริญสุข ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค ช่วยเท้าความว่า รัฐบาลที่ผ่านมาเผชิญหน้าและแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนไม่เหมือนกัน


 


"รัฐบาลคุณชวน พวกเราต้องม็อบในเรื่องข้อเสนอ ทางออก และการแก้ไขของรัฐบาลชวนก็ไม่ได้มองปัญหาแต่เป็นการคิดว่าปัดสวะให้พ้นบ้านเท่านั้นเองแล้วก็เบียดขับออกไป จนมารัฐบาลคุณทักษิณ เราก็ยังนึกชมเชยอยู่ว่ากล้าเปิดนโยบายปี 2546 ซึ่งมองเห็นสภาพคนจน เกิดโครงการบ้านมั่นคง เพราะเห็นว่าปัญหาของคนจนเยอะ ก็มอบหน้าที่ให้ทางกระทรวงพัฒนาสังคม แล้วกระทรวงก็มอบให้กับ พอช.ทำบ้านมั่นคง ส่วนการเคหะก็ทำบ้านเอื้ออาทรสำหรับคนที่มีเงินเดือน มีรายได้"


 


จินดากล่าวต่อไปว่าแม้รัฐบาลทักษิณ จะ "ขโมย" ไอเดียของเครือข่ายสลัมและคนทำงานคลุกคลีกับปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนในเมือง และรับเอาความดีความชอบไป ก็ยังพอรับได้


 


"แม้ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เครือข่ายสลัมผลักดันมาตั้งแต่ปี 42 โดยเน้นที่ดินการรถไฟเป็นหลัก อยู่ในที่ดินเดิม ใช้สินเชื่อของรัฐในการปลูกบ้าน รัฐบาลทักษิณก็จับเอาโครงการนี้ไปพัฒนาเป็นนโยบายบ้านมั่นคง และเป็นความรับผิดชอบของ พอช."


 


อย่างไรก็ตาม แม้การดำเนินโครงการบ้านมั่นคงจะเดินมาได้ระดับหนึ่ง แต่จนถึงปัจจุบันนี้ ยังมีปัญหา 2 ประเด็นหลักๆ 2 ประการคือ


 


ประการแรก เจ้าของที่ดินไม่ขานรับนโยบายดังกล่าว "ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาเราได้เสนอที่ดินของการรถไฟในการนำร่อง 9,000 กว่าครอบครัวจนกระทั่งปี 2547 ได้ 1 ชุมชนแรกในกรุงเทพฯ คือชุมชนทับแก้วสาเหตุที่ได้ก็เพราะโครงการถนนจตุรทิศ ทำให้ชาวบ้านที่ในชุมชมต้องย้ายออกจากที่ดินของการรถไฟ ซึ่งมีข้อตกลงกันแล้วว่าถ้าต้องย้ายออกจากที่ดินของรัฐต้องจัดหาที่ดินให้ไม่เกิน 5 ก.ม. ช่วงนั้นต้องมเชยคุณวีระ มุสิกพงษ์ ได้ระยะเวลาการเช่า 30 ปี อัตราค่าเช่า 7-20 บาท ต่อตรม.ต่อปี และได้รับการสนับสนุนค่าสาธารณูปโภค 25,000 ต่อแปลง"


 


ประเด็นที่ 2 พอช. โม้มากไปหน่อย "ตั้งเป้าไว้ 5 ปี จะแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้ได้ 3 แสนหน่วย เป็นการตั้งเป้าที่เกินจริงไป เพราะว่า พอช. ต่างจากการเคหะที่มีที่ดินของตัวเองในขณะที่ พอช. ต้องเผชิญปัญหากับเจ้าของที่ดินไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา


 


"ผมคิดว่า พอช. ทำได้แค่แสนหน่วยก็เก่งแล้ว และคงต้องมีการซื้อที่ดินด้วย นโยบายดีแต่หน่วยงานรัฐที่เป็นฝ่ายปฏิบัติไม่เห็นด้วย จากที่เคยกำหนดอัตราการให้ความช่วยเหลือไว้ 3 อัตรา คือ 25,000  แล้วตอนนี้คาดว่า ตอนนี้เหลือ 25000 ทั้งหมด ก็อยากจะพิสูจน์รัฐบาลใหม่นี้ จะมองเห็นปัญหาหรือไม่ เพราะถึงอย่างไรชุมชนแออัดหรือสลัมคนจนที่ต้องอยู่คู่กับเมืองให้ได้"


 


จินดา กล่าวว่า ปัญหาคนจนเมืองถ้าหากว่าร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงใจไม่ใช่ไปออกเป็นนโยบายหาเสียงเท่านั้น และสำหรับคนจนเองก็ต้องคอยติดตามทวงถามสิทธิในที่อยู่อาศัยของตนเองด้วย


 


นโยบายหรือจะสู้ระเบียบและกฎหมาย


จินดาเล่ากรณีปัญหาที่สะท้อนว่าโครงการบ้านมั่นคงนั้นขาดความมั่นคงเพราะขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติมากกว่านโยบาย ที่ชัดเจนก็คือ โครงการบ้านมั่นคงที่ชุมชนบ่อนไก่ คลองเตย ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปเปิดงานด้วยตนเอง แต่หลังจากรัฐบาลทักษิณจากไปพร้อมการมาถึงของคณะรัฐประหาร ปรากฏว่าผู้ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงถูกแจ้งจากเจ้าหน้าที่เขตว่า ตัวอาคารที่สร้างขึ้นตามโครงการบ้านมั่นคงนั้นขัดต่อ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร


 


กรณีนี้ นายสุวิทย์ วัดหนู กล่าวเสริมว่าไม่เชื่อว่ากฎหมายเรื่องพระราชบัญญัติควบคุมอาคารจะเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับความเป็นจริงทางสังคมไม่ได้  พร้อมกันนี้นายสุวิทย์ กล่าววิพากษ์การทำงานของ พอช. ด้วยว่าเป็นการทำงานที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมแต่ขาดความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย


 


" สัมมนาจนชาวบ้านติดกาแฟ ที่ดินก็ไม่มี บ้านก็ไม่ได้ ชาวบ้านติดกาแฟเพราะว่าเน้นแต่กระบวนการ ผมคิดว่ามันต้องมีความคืบหน้า และเป้าหมายด้วย ถ้าทำงานกับชาวบ้านแล้วชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์ก็ลาออกเสียดีกว่า"


 


ท้ายที่สุดนายสุวิทย์ กล่าวท้าทายว่า ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนนั้นแก้ไม่ได้เพราะที่สุดแล้วรัฐบาลไม่กล้าบัญญัติกฎหมายรับรองว่า "รัฐต้องจัดการที่อยู่อาศัยให้คนจน"...... " ผมจะรอดูว่าอาจารย์ไพบูลย์ (วัฒนศิริธรรม-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) กล้าเขียนไหม"


 


ระบบราชการเป็นศัตรูของความสำเร็จของคนจน


อ.ปฐมฤกษ์ เกตุทัต อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาคนจนเมืองนั้นสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับปัญหาชนบท โดยเฉพะอย่างยิ่งในประเทศโลกที่สามที่มีการพัฒนาอย่างไม่สมดุล ปัญหาเหล่านี้ก็ยิ่งมีอัตราเร่งมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว


 


เมื่อย้อนมองดูปัญหาสลัมแล้ว ในด้านหนึ่งก็ต้องบอกว่าดีขึ้นกว่าเดิม เพราะแต่เดิมนั้นคนจนถูกไล่รื้อโดยการจุดไฟเผา ถึงตายไปก็มาก แต่ในอีกแง่หนึ่ง ปัจจุบันก็อาจจะเลวร้ายกว่าเพราะไม่ใช้ไฟเผาแต่ใช้กระบวนการทางศาลบีบบังคับแทน โดยเจ้าของที่ดินใช้วิธีการดำเนินคดีข้อหาบุกรุก


 


อย่างไรก็ตาม อ.ปฐมฤกษ์ กล่าวว่ากรณีที่เป็นที่ดินของรัฐหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้น ต้องยอมรับว่าประชาชนสามารถต่อร่องได้มากขึ้นตลอดระยะเวลาทีผ่านมา 30 ปีต่อรองได้มากขึ้น แต่ที่กรณีที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินเอกชนนั้นก็ต้องยอมรับว่าไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย และเจ้าของที่ดินใช้กระบวนการทางศาลเพื่อบังคับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่สถานเดียว


 


อ.ปฐมฤกษ์กล่าวว่า ปัญหาที่เห็นชัดในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองก็คือ ขาดข้อมูลที่เชื่อมโยงและข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ ตัวเลขประมาณการต่างๆ นั้นมีความสำคัญจำเป็นในการออกแบบนโยบายการแก้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่อยู่อาศัย ซึ่งนับวันจะซับซ้อนมากขึ้นหลากหลายมากขึ้น และจะมีคนที่มีปัญหาที่อยู่อาศัยมากขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่นับว่าต่อไปประเทศไทยจะมีประชากรเป็นคนแก่อีกจำนวนมาก ซึ่งก็จะมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุตามมา


 


ทั้งนี้ อ.ปฐมฤกษ์ กล่าวว่า ปัญหาที่อยู่อาศัยนั้น ค่อยๆ ขยายฐานจากคนจนมาสู่คนชั้นกลางระดับล่างแล้ว เห็นได้จาการไล่รื้อชุมชนหลายๆแห่ง โดยเจ้าของที่ดินเป็นวัด หรือสถานศึกษาเช่น กรณี วัดภูเขาทอง วัดไผ่สิงโต


 


อ.ปฐมฤกษ์ กล่าวว่า สิ่งที่จะเป็นตัวขัดขวางกระบวนการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนก็คือ วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารเมืองรับหรือราชการไรก็แล้วแต่ เช่น กรณีชุมชนป้อมมหากาฬ แสดงให้เห็นว่าถ้าผู้ว่าฯ มีวิสัยทัศน์ก็พอคุยกันได้


 


กระแสการเมืองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง บางช่วงกระแสการเมืองเอื้อให้คนจน บางช่วงเป็นศัตรูกับคนจน กฎระเบียบต่างๆ ที่ยังมีผลบังคับใช้เป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุด


 


ท้ายที่สุด อ.ปฐมฤกษ์กล่าวว่า การปฏิรูปการเมืองที่ทำอยู่นั้นไม่ได้ช่วยคนจนเลย และประเทศไทยก็คงจะได้รัฐธรรมนูญฉบับหน่อมแน้มไม่ต่างอะไรกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ในขณะที่ปัญหาของคนจนนั้นมีอยู่มากมายที่จำเป็นต้องแก้ยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net