"สมพร"เต็งผอ.ศอ.บต. - "พล.อ.สนธิ" คุมแผนดับไฟใต้

ประชาไท—29 ต.ค. 2549 นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ยังไม่ได้เสนอรายชื่อบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้กับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีพิจารณา เนื่องจากยังมีเวลา ซึ่งคนที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ ต้องดูแลภาพรวมได้

 

ส่วนผู้ที่คาดหมายว่าผู้ที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว คือ นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และนายสมพร ใช้บางยาง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น นายอารีย์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถยืนยันชัดเจนได้ เพราะต้องหารือกับผู้ใหญ่หลายฝ่าย โดยคุณสมบัติต้องเป็นผู้ที่มีบารมีและประสบการณ์ เป็นผู้ใหญ่ ทำหน้าที่ประสานงานทั้งกับตำรวจ ทหารและพลเรือนได้อย่างดี

 

"ยังเปิดเผยชื่อไม่ได้ เพราะต้องนำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อน คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีลงนามแล้วสามารถปฏิบัติงานได้เลย" นายอารีย์ กล่าว

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2549 ที่ประชุมร่วมระดับปลัดกระทรวง และรัฐมนตรีว่าการ 3 กระทรวง ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประกอบด้วยกระทรวงกลาโหม ยุติธรรม และมหาดไทย อนุมัติการปรับโครงสร้างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.แล้ว

 

พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยหลังการประชุมว่า ที่ประชุมอนุมัติการปรับโครงสร้าง ศอ.บต.ใหม่ และจะเสนอให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งจัดตั้ง ศอ.บต. ในวันที่ 28 ตุลาคม 2549 เพื่อเริ่มใช้โครงสร้างใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป โดยไม่จำเป็นต้องนำกลับไปเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้ง โดยกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) จะทำหน้าที่พี่เลี้ยงในช่วงการถ่ายโอนภารกิจ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ก่อนจะยุบตัวลง

 

"เมื่อ กอ.สสส.จชต. ถ่ายงานเรียบร้อยแล้ว คิดว่าหมดความจำเป็นที่จะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุนเฉิน (พระราชกำหนด ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2548) โดยจะสิ้นสุดตาม กอ.สสส.จชต." พล.อ.บุญรอดกล่าว

 

พล.อ.บุญรอด กล่าวอีกว่า ความแตกต่างของโครงสร้าง ศอ.บต.ใหม่กับโครงสร้างเดิมคือ จะเพิ่มงานที่ประชาชนต้องการเข้าไป ซึ่งเป็นงานด้านยุติธรรมเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน ดังนั้น จะมีผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรมเป็นรอง ผอ.ศอ.บต. แต่กระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้ดูแล ศอ.บต.เป็นหลัก

 

"ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยกำลังพิจารณาเลือกผู้คัดเลือกผู้อำนวยการ ศอ.บต.อยู่ เพื่อลงพื้นที่ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ขณะที่หน่วยผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร หรือ พตท.43 นั้น มีทหารเป็นผู้ดูแล โดยเน้นการถ่ายเทงานที่เกินความจำเป็นและสร้างเงื่อนไขให้แก่ประชาชนออกมา

 

การทำงานของ ศอ.บต.จะประสานกับ พตท. เนื่องจากอยู่ภายใต้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 สรุปคือ เป็นการปรับไปสู่รูปแบบเก่า แต่ปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ดังนั้น ถ้าถามว่าการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะดีขึ้นหรือไม่ ก็ต้องรอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

 

นอกจากนี้ รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทย แจ้งด้วยว่า สำหรับโครงสร้างการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีในวันที่ 28 ตุลาคม 2549 โครงสร้างที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว มี กอ.รมน.เป็นศูนย์กลาง มีชื่อเรียกว่า "กอ.รมน.แห่งชาติ" โดย กอ.รมน.แห่งชาติ มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. เป็นประธาน โดยโครงสร้าง กอ.รมน.แห่งชาติ จะแบ่งสายการบังคับบัญชาให้กองทัพภาคแต่ละภาคดูแล เป็น กอ.รมน. ภาคต่างๆ ในส่วนของ ศอ.บต. และ พตท. (เปลี่ยนจาก พตท.43) จะอยู่ในสายบังคับบัญชาของกองทัพภาคที่ 4 มีแม่ทัพภาคที่ 4 รับผิดชอบ

 

ส่วนโครงสร้าง ศอ.บต.นั้น มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็น ผอ.ศอ.บต. และมีรองปลัดกระทรวงอีกจำนวนหนึ่ง ดำรงตำแหน่งเป็นรอง ผอ.ศอ.บต.ฝ่ายต่างๆ อาทิ พลเรือน ยุติธรรม ศึกษา พัฒนา และเศรษฐกิจ ซึ่งจะดึงข้าราชการระดับ 9 และ 10 มานั่งเป็นรอง ผอ.ศอ.บต. ฝ่ายต่างๆ และจะมีสภาที่ปรึกษา ซึ่งจะมีทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชนเข้าร่วมทำหน้าที่พัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีสำนักงานบริหารงานยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนงานที่เพิ่มเข้ามาในโครงสร้าง ศอ.บต. ซึ่งจะดูแลปัญหา 5 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของ จังหวัดสงขลา

 

ขณะที่โครงสร้าง พตท.นั้น มีแม่ทัพภาค 4 เป็นผู้บังคับบัญชา หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งสายงานจะมีทั้งตำรวจ ทหาร ส่วนการข่าว เป็นต้น ซึ่งการทำงานจะแยกกันชัดเจน โดย ศอ.บต.จะดูแลงานพัฒนา และการอำนวยความยุติธรรม ส่วน พตท.จะรับผิดชอบด้านความมั่นคงรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่และประชาชน ซึ่งเป็นงานด้านยุทธการเป็นหลัก

 

ข่าวแจ้งด้วยว่า ในที่ประชุม สมช.ยังมีมติยกเลิกศูนย์ปฏิบัติการตำรวจส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ซึ่งเดิมเป็นหน่วยที่รับผิดชอบดูแลกำลังตำรวจที่ส่งจากส่วนกลางไปปฏิบัติหน้าที่ประจำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเกิดปัญหาในพื้นที่มาก เช่น การอุ้มฆ่า รีดไถ เป็นต้น ดังนั้นจึงยกเลิก ศปก.ตร.สน. และปรับให้กำลังตำรวจจากส่วนกลางที่จะลงไปปฏิบัติหน้าที่ขึ้นอยู่กับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 แทน โดยยังสามารถประสานขอกำลังจากส่วนกลางได้ตามความเหมาะสม

 

เรียบเรียงจาก เว็บไซด์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการและหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท