159 ชีวิตสังเวยน้ำท่วมในช่วงสองเดือน สธ.ชี้ ป่วยแล้ว 6 แสนราย

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสรุปว่า ตลอดช่วงปลายเดือน ส.ค.-ก.ย. ที่ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องฝนกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยพายุดีเปรสชั่นเคลื่อนตัวผ่าน และมีพายุดีเปรสชั่น "ช้างสาร" ทำให้มีฝนตกหนักมากในหลายพื้นที่ ระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่ม ส่งผลให้ประเทศไทยประสบกับปัญหาอุทกภัยโดยรวมทั้งสิ้น 47 จังหวัด และมีผู้เสียชีวิต 159 คน ทรัพย์สินเสียหายเบื้องต้นราว 377.68 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมทรัพย์สินบ้านเรือน และความเสียหายด้านการเกษตร

 

ขณะนี้มีพื้นที่ที่คลี่คลายแล้ว 32 จังหวัด และยังคงมีพื้นที่ที่มีสถานการณ์อุทกภัย 15 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก, สุโขทัย, พิจิตร, นครสวรรค์,ชัยนาท, อุทัยธานี, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี, สระบุรี, สุพรรณบุรี, ปทุมธานี, นนทบุรี และกรุงเทพฯ

 

ด้าน นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่ามีความหนักใจกับการให้บริการสาธารณสุขในสถานการณ์น้ำท่วม เช่นเดียวกับคณะทำงานที่เดินทางมาจากทุกภาคของประเทศหมุนเวียนเข้าไปให้บริการ ในขณะที่สถานบริการสาธารณสุข สถานีอนามัย โรงพยาบาล และบ้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ได้รับความเสียหายจากน้ำเช่นเดียวกับประชาชนคนอื่น

 

"สิ่งที่เป็นห่วงคือก่อนน้ำลด น้ำจะนิ่ง และมีโอกาสเพาะเชื้อ เช่น โรคฉี่หนู ท้องร่วง เชื้อรา เชื้อจะมีความรุนแรง และโอกาสที่เชื้อจะติดต่อมีมาก ดังนั้น การดูแลสุขภาพประชาชนในเขตน้ำท่วม ทั้งก่อนและขณะน้ำท่วมเป็นการให้บริการรักษาพยาบาลโรคที่ไม่รุนแรง แต่หลังจากน้ำท่วมเชื่อว่าโรคจะมีความรุนแรงสูง"

 

ด้าน นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปยอดผู้เจ็บป่วยจากน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2549 เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ มีทั้งหมด 590,630 ราย โรคที่พบอันดับ 1 คือ น้ำกัดเท้า 261,168 ราย รองลงมา ผื่นคัน 83,928 ราย ไข้หวัด 65,826 ราย โรคเครียด 38,182 ราย โรคตาแดง 20,020 ราย ถูกสัตว์มีพิษกัด 12,204 ราย โรคอุจจาระร่วง 10,960 ราย และโรคอื่นๆ เช่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย เนื่องจากขนของหนีน้ำ จำนวน 98,342 ราย ตลอดวันที่ 28 ตุลาคม 2549 หน่วยแพทย์ให้บริการทั้งหมด 150 หน่วย พบผู้เจ็บป่วยรายใหม่ 16,704 ราย อาการป่วยมากที่สุดยังคงเป็นเรื่องน้ำกัดเท้า ได้ให้โรงพยาบาลจังหวัดต่างๆ เร่งผลิตยารักษา เสริมกับองค์การเภสัชกรรม เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนให้เพียงพอและทั่วถึงฟรี

 

สำหรับผลการเฝ้าระวังโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วมที่สำคัญ ได้แก่ โรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วงอย่างแรง อหิวาตกโรค โรคบิด ไข้ไทฟอยด์ โรคตับอักเสบ หัด ตลอดระยะกว่า 2 เดือนหลังน้ำท่วมมานี้ ทุกจังหวัดยังไม่พบมีการระบาดแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท