Skip to main content
sharethis

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานแหล่งข่าวจากตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งเปิดเผยถึงความคืบหน้าการเตรียมวินิจฉัยคดียุบ 5 พรรคการเมืองว่า หลังจากเมื่อวันที่ 26 ต.ค.49 ที่ผ่านมา ที่ประชุมองค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ได้ร่างระเบียบคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เรื่องข้อกำหนดการจัดองค์คณะพิจารณาพิพากษา วิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย ซึ่งได้นำกรอบข้อกำหนดเดิมที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเคยใช้ปฏิบัติมาแก้ไขปรับปรุงแล้วทั้งในเรื่องการจัดองค์คณะ 5 คนจาก 9 คน เพื่อวินิจฉัยคำร้อง, การเปิดให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงด้วยวาจาได้ และการให้อำนาจตุลาการรัฐธรรมนูญเรียกเอกสารพยานหลักฐานในวันอังคารที่ 31 ต.ค.นี้


 


องค์คณะตุลาการทั้ง 9 จะร่วมประชุมหารือเพื่อพิจารณาตรวจทวบทวนรายละเอียดในร่างระเบียบคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ฯ ที่ให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแก้ไขเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้ง ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าการร่างระเบียบวิธีพิจารณานั้นเสร็จสิ้นแล้ว เพียงแต่รอกระบวนการให้ที่ประชุมองค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญลงนามเห็นชอบโดยพร้อมเพรียงกันในวันพรุ่งนี้ (อังคารที่ 31) หากที่ประชุมเห็นชอบแล้ว ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะได้ส่งระเบียบประกาศใช้ลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไปโดยคาดว่ากระบวนการทางธุรการดังกล่าวจะใช้เวลาสักระยะหนึ่ง


 


"แม้ว่าขณะนี้สังคมและประชาชน อาจจะเห็นว่ากระบวนการต่างๆ จะล่าช้า แต่ความล่าช้านี้เป็นการสร้างความชัดเจนให้เกิดกับกระบวนการพิจารณาคดีที่ตุลาการรัฐธรรมนูญทุกคนต้องการให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งการกำหนดกระบวนวิธีพิจารณาที่ชัดเจนจะสร้างความรวดเร็วต่อการวินิจฉัยคดีในภายหลัง ที่องค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะไม่เกิดความสับสน ตีความอำนาจของตุลาการในการวินิจฉัยคดีอีก " แหล่งข่าวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนเดิม กล่าวและว่า ในส่วนของการกำหนดกรอบวินิจฉัยคดี ทั้งในส่วนของคดีค้างเก่าศาลรัฐธรรมนูญกว่า 30 คดี และการวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมืองอีก 5 เรื่อง การประชุมองค์คณะ ฯ ล่าสุดครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ได้กำหนดร่างระเบียบวิธี


 


พิจารณาคดี ฯ ตุลาการรัฐธรรมนูญยังไม่ได้พูดคุยเรื่องนี้อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ดีเชื่อว่าตุลาการทุกคนได้กำหนดกรอบเวลาไว้ในใจกันแล้วเพราะทุกคนเป็นผู้พิพากษาและตุลาการผู้ใหญ่ มีประสบการณ์ทำงานยาวนาน มีสัญชาตญาณรู้ดีว่าเรื่องใดมีความสำคัญ เรื่องใดต้องทำอย่างไร ควรทำก่อนหรือหลังหรือทำพร้อมกันอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ต้องรอประชุมหารือกันอีกครั้งเพื่อกำหนดกรอบเวลาการวินิจฉัยคดีที่ แน่นอน


 


แหล่งข่าวตุลาการรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สำหรับการวินิจฉัยเรื่องยุบพรรคการเมืองนั้น เนื่องจาก มีความสำคัญต่อระบบการปกครอง ส่วนตัวจึงเชื่อว่าเมื่อประกาศใช้ระเบียบวิธีพิจารณาคดี ฯ ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาวินิจฉัยก่อน ส่วนจะวินิจฉัยพรรคขนาดเล็กคือ พรรคแผ่นดินไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ก่อนหรือหลังการวินิจฉัยการกระทำผิดของพรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่หรือจะหยิบเรื่องพรรคไทยรักไทยมาพร้อมวินิจฉัยกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างไรนั้น ต้องรอพิจารณาหลังจากที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญส่งสรุปสำนวนเสนอต่อที่ประชุมองค์คณะเพื่อรับทราบข้อเท็จจริงแห่งสำนวนคดี


 


อย่างไรก็ตามหากข้อเท็จจริงในส่วน 3 พรรคการเมืองขนาดเล็กมีความชัดเจนแล้ว และไม่มีรายละเอียดใดที่แสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีก ก็เป็นไปได้ว่าจะหยิบยกประเด็นของพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์มาวินิจฉัยไปพร้อมกัน เนื่องจากข้อเท็จจริงในสำนวนคดีเกี่ยวพันกัน ซึ่งการวินิจฉัยเรื่องยุบพรรค องค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีความตั้งใจจะดำเนินการให้เสร็จภายในเวลารวดเร็วที่ทุกฝ่ายจะต้องได้ความเป็นธรรมด้วย โดยส่วนตัวเห็นว่า การวินิจฉัยคดียุบพรรคน่าจะใช้เวลาไต่สวนพยานหลักฐานและมีคำวินิจฉัยได้ภายในเวลาไม่เกิน 2 เดือน ซึ่งการไต่สวนจะเป็นไปตามลำดับต่อเนื่อง ทั้งนี้หากกระบวนไต่สวนคดีเริ่มได้ในเดือน พ.ย.นี้ เชื่อว่าไม่เกินเดือน ม.ค.ปี 2550 จะมีผลคำวินิจฉัยเรื่องสั่งยุบพรรคการเมืองได้


 


เมื่อถามว่าการไต่สวนเรื่องยุบพรรค จำเป็นที่องค์คณะตุลาการต้องเรียก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่ปัจจุบันพำนักอยู่ต่างประเทศ เข้าให้ถ้อยคำด้วยหรือไม่ แหล่งข่าวตุลาการรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่สามารถพูดล่วงหน้าได้ ต้องรอให้องค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ได้เห็นและตรวจพิจารณาข้อเท็จจริงในสำนวนเสียก่อน ซึ่งก่อนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะถูกยกเลิก ในการวินิจฉัยคดียุบพรรคนั้นทราบว่าพรรคการเมืองได้ยื่นคำชี้แจงมาแล้ว ดังนั้นจึงต้องตรวจดูสำนวนอีกครั้งเพื่อตั้งประเด็นว่ามีส่วนใดบกพร่อง และต้องให้พยานบุคคลเข้าชี้แจงด้วยตัวเองด้วยวาจาหรือไม่


 


อย่างไร หากพบว่าสำนวนยังขาดข้อเท็จจริงในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ องค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ อาจดำเนินการ 1.เรียกให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าให้ถ้อยคำด้วยวาจาต่อหน้าองค์คณะฯ ตามกระบวนพิจารณาระบบไต่สวนที่ตุลาการมีอำนาจเรียกสอบพยานหลักฐานเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยตัวเองจนกว่าสำนวนคดีจะสมบูรณ์ 2.การสั่งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยื่นคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร โดยยังไม่ต้องแสดงตนต่อองค์คณะ และ 3.เนื่องจากอุปสรรคการเดินทางจากต่างประเทศ ก็อาจใช้เทคโนโลยีระบบคอนเฟอร์เรนซ์ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ถ้อยคำด้วยวาจา ซึ่งความจำเป็นการเรียกสอบ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ปรากฏตามสำนวน แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าการไต่สวนองค์คณะ ตุลาการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวาหาแสดงพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ในเวลาที่พอสมควร โดยจะไม่ให้ช้าจนเป็นการประวิงเวลา และไม่ได้ตัดสิทธิที่ผู้ถูกกกล่าวหาจะเข้าชี้แจงด้วยวาจาด้วยตนเอง


 


"การไต่สวนเรื่องยุบพรรค ฝ่ายที่ยื่นคำร้อง ก็อยากให้ผลออกมาเร็ว แต่ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาอยากให้ช้าลง ซึ่งองค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นคนกลางตัดสิน ก็จะทำให้เป็นธรรมในเวลาอันรวดเร็วตามสมควร ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวชี้แจง แสดงหลักฐาน เหมือนการพิจารณาพิพากษาคดีให้ทรัพย์ของนายรักเกียรติ สุขธนะ อดีต รมว.สาธารณสุข ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้โอกาสจำเลยเรียกพยานหลักฐานจากบ่อนคาสิโนในต่างประเทศเพื่อมายืนยัน " แหล่งข่าวตุลาการรัฐธรรมนูญ


 


 


.........................................................................................................


ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net