Skip to main content
sharethis

คืนวันที่ 29 ตุลาคม 2549 "Testimony Reporter" ได้อีเมล์บทความนี้มายังประชาไทรวมถึงสื่อหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ เพื่อบอกเล่าภาพรวมความชุลมุนของวงการสื่อในช่วงนี้ ประชาไทพิจารณาแล้วถึงความน่าเชื่อถือ และน่าจะเป็นประโยชน์ในฐานะการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ถกเถียงได้ร่วมกัน

0 0 0

สถานการณ์ในวงการสื่อมวลชนขณะนี้กำลังตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะการพุ่งเป้าไปที่ผู้แทนองค์กรสื่อ 3 คนที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คือ นางบัญญัติ ทัศนียะเวช ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นาย

ภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายสมชาย แสวงการ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

แรกทีเดียวการเคลื่อนไหวต่างๆ ของนักข่าวจำนวน 30 คน ซึ่งภายหลังเพิ่มชื่ออีก 20 คน ดูจะเป็นเรื่องของอุดมการณ์และความเห็นที่ไม่ตรงกันของคนในวงการสื่อมวลชนเท่านั้น โดยการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาของนักข่าวกลุ่มนี้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนในทุกวิชาชีพ

แต่บัดนี้เมื่อผ่านพ้นไป 18 วัน ท่ามกลางบรรยากาศอันชุลมุนและฝุ่นฟุ้งไปทั่ว หากประติดประต่อภาพทั้งหมด ทำให้พอเห็นเค้าลางที่นำมาวิเคราะห์ได้ว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้องที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นการขับไล่ในภายหลังนั้น ยังคงตรงไปตรงมาอยู่หรือไม่ ที่สำคัญใครคือตัวการที่อยู่เบื้องหลัง และเขาเหล่านั้นมีความต้องการอะไร

การประติดประต่อภาพทั้งหมดอาจพอทำให้สังคมโดยเฉพาะคนในแวดวงสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นนักข่าว นักวิชาการ ฯลฯ ได้รับรู้ถึงวิธีการน้ำเน่า และพฤติกรรมกลิ้งกลอกของผู้ใหญ่บางคนในวงการสื่อมวลชน

28 กันยายน: หลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครอบในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. เข้ายึดอำนาจประมาณ 1 สัปดาห์ สมาคมนักข่าวฯ ได้เชิญผู้บริหารของแต่ละสำนักพิมพ์มาร่วมประชุม เพื่อหารือถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชีพสื่อมวลชน โดยนายสุทธิชัย หยุ่น ผู้บริหารจากเครือเนชั่น ได้เสนอให้ผู้แทนสื่อฯ เข้าพบ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คปค.

ตรงนี้คือจุดเริ่มต้นของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสื่อมวลชนยอมรับวิธีการรัฐประหารครั้งนี้ ซึ่งในการเดินทางเข้าพบ คปค.ในครั้งนั้นมีผู้บริหารจากสำนักสื่อต่างๆ เข้าไปพบ 20 คน โดยนายสุทธิชัยได้มอบหมายให้ นายเทพชัย หย่อง ไปแทนในนามเครือเนชั่น

29 กันยายน:  นางบัญญัติ ทัศนียะเวช ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้นำผู้แทนองค์กรสื่อมวลชน จำนวนรวม 20 คนเข้าพบ พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน หัวหน้า คปค. ที่กองบัญชาการทหารบก เพื่อนำข้อเสนอของสื่อมวลชนในเรื่องขอให้กำหนดเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนในธรรมนูญการปกครองให้มีความชัดเจนขึ้น โดยใช้เวลาพูดคุยกันอยู่นานประมาณ 45 นาที

หลังจากนั้นได้มีการเรียกประชุมองค์กรสื่ออีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้องค์กรสื่อมาประชุมกันไม่ครบ เพื่อเลือกตัวแทนไปเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และได้มีมติให้นายมานิจ สุขสมจิตร จากไทยรัฐเป็นตัวแทน เพราะมีประสบการต่อสู้มายาวนาน อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมได้มีการพูดถึงการส่งผู้แทนเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในลำดับถัดมาด้วย

มีการเสนอว่า ควรส่งเป็นบัญชีรายชื่อรวมไปทั้งหมดเพื่อให้ คปค.เลือก หรือส่งไปเพียงคนเดียว โดยแรกทีเดียวได้มีการเสนอชื่อนางบัญญัติเข้าไปเป็นตัวแทนในนามตัวแทนหนังสือพิมพ์ แต่ในที่สุดมีการเสนออีกว่าควรมีตัวแทนจากสมาคมฯ วิทยุเข้าไปด้วย โดยได้มีการเสนอชื่อ นายเทพชัย หย่อง แต่มีคนแย้งว่าควรเป็นคนที่มีมาจากระบบตัวแทนหรือเป็นตัวแทนองค์กรที่มีการเลือกตั้งมา มีคนเสนอว่าทำไมไม่เสนอชื่อนายกสมาคมทั้งวิทยุและหนังสือพิมพ์ไปเลยเพราะเหมาะสมดี ในที่สุด สรุปว่าเสนอไปทั้ง 3 สมาคมซึ่งถือเป็นตัวแทนทั้งวิชาชีพ จึงได้มีการเสนอชื่อนางบัญญัติ นายสมชาย และนายภัทระ เรียงตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในวันนั้นมีบางคนไม่เห็นด้วย

หลังจากนั้น คปค.ได้ประกาศรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติทั้งชุด ซึ่งมีผู้แทนสื่อมวลชนจากสำนักข่าวต่างๆ เข้าไปจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ผู้จัดการ ฯลฯ รวมทั้งผู้แทนองค์กรสื่อทั้ง 3 คน ยกเว้นผู้แทนจากเครือเนชั่นที่ไม่ได้รับเลือกเข้าไปเป็น สนช.เลย

13 ตุลาคม: ผู้สื่อข่าวกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 4-5 คน ได้นัดกันกินข้าวในร้านย่านสามเสน และมีการพูดถึงความไม่เหมาะสมที่ผู้แทนองค์กรสื่อเข้าไปเป็น สนช.วันรุ่งขึ้นเริ่มมีการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อกดดันให้ตัวแทนสมาคมฯ สื่อทั้ง 3 คนลาออก โดยใช้นามว่า "ผู้สื่อข่าวรัฐสภา"

เช้าวันที่ 15 ตุลาคม: มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับ โดยเฉพาะในเครือเนชั่นได้เสนอข่าวมีนักข่าวรัฐสภาออกแถลงการณ์คัดค้านการทำหน้าที่ ในจำนวนนี้มีมติชนอ้างเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจว่ามีคณะนักข่าวกลุ่มหนึ่งคัดค้านองค์กรสื่อ

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในบรรดานักข่าวภาคสนาม โดยเฉพาะที่รัฐสภา เพราะนักข่าวส่วนใหญ่ที่ประจำรัฐสภาไม่เคยรับรู้เรื่องการล่าชื่อครั้งนี้มาก่อนอีกทั้งยังมีบางส่วนไม่เห็นด้วย แต่มีการใช้ชื่อสื่อมวลชนประจำสภา เช่นเดียวกับนักข่าวประจำทำเนียบก็ได้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันมากพอสมควร โดยเฉพาะกรณีการกดดันนางบัญญัติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นปูชณียบุคลของวงการ

16 ตุลาคม: เวลา 9.30 น.มีการประชุมอนุกรรมการชุดเร่งด่วนของสมาคมนักข่าวฯ ซึ่งเป็นอนุกรรมการที่มีไว้สำหรับพิจารณาเรื่องเร่งด่วน โดยนายภัทระได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงผลการประชุม 7 องค์กรวิชาชีพว่ามติเป็นอย่างไร ขณะที่สมาชิกบางรายเสนอให้ลาออกจาก สนช.มาทำหน้าที่นายกสมาคมฯ เพียงอย่างเดียว

ระหว่างนี้นายเทพชัย หย่อง โทรศัพท์มาหานางบัญญัติ ซึ่งนั่งอยู่ในห้องประชุมพอดี และนางบัญญัติเล่าให้ที่ประชุมฟังว่านายเทพชัยโทรมาขอให้ลาออก โดยให้เหตุผลว่าไม่เคยมีตัวแทนในนามสมาคมฯ เข้าไปเป็น สนช. หากเข้าไปจะทำให้พันธมิตรเครือข่ายวิชาการที่สนับสนุนเรารับไม่ได้

ขณะที่กรรมการคนหนึ่งจากเครือเนชั่นให้ความเห็นสนับสนุนในการเข้าไปทำหน้าที่ของนายกสมาคมนักข่าวฯ เพราะดีกว่าอยู่ข้างนอก เพียงแต่แนะว่าให้ระวังเรื่องที่จะเกิดฝุ่นตลบหลังจากนี้ เช่น เรื่องเงินเดือนที่จะถูกถามเรื่องผลประโยชน์ ถ้าให้ดีก็ให้หักเป็นค่าใช้จ่ายเสียหรืออาจขอไม่ขึ้นเครื่องบินฟรี จะได้ดูดีกว่า

เช่นเดียวกับนางบัญญัติที่ให้แง่คิดว่าถ้าลาออกจาก สนช.จะทำให้น้ำกระเพื่อมหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีผู้เสนอให้ตัวแทนองค์กรสื่อที่เป็น สนช.พักการทำงานในองค์กรสื่อเพื่อไปทำหน้าที่ใน สนช.อย่างเดียว

ส่วนนายสมชาย นายกสมาคมวิทยุฯ บอกว่าเข้าไปแค่ 3 เดือน 6 เดือน ถ้าทำงานไม่ได้ แม้ไม่ออก เพื่อนเราก็จะจี้ให้ออกเอง และเห็นด้วยกับการพักงานในสมาคมฯ

นายภัทระเสนอว่าเรื่องพักงานหรือไม่ ให้หารือกับบอร์ดสมาคมฯ แต่เรื่องงานสมาคมฯ มีแผนชัดเจนอยู่แล้ว ที่ประชุมสรุปว่าวันที่ 17 ตุลาคมจะมีการประชุม 7 องค์กร และจะแถลงชี้แจงเหตุผลทั้งหมดขอให้นักข่าวที่คัดค้านมารับฟังและซักถามได้

นอกจากนี้ยังสรุปว่าจะออกแถลงการณ์ในนาม 3 คน เพื่อชี้แจงเหตุผลในการเข้ารับตำแหน่ง สนช. โดยมีการแจกแถลงการณ์ดังกล่าวหลังรายงานตัวที่อาคารรัฐสภา มีเนื้อหาระบุว่าหากทั้ง 3 คนเข้าไปทำหน้าที่ในสภาแล้วไม่สามารถรักษาประโยชน์โดยรวมไว้ได้จะยินดีจะทบทวนท่าที

หลังรายงานตัวแล้วมีนักข่าวสัมภาษณ์นางบัญญัติ เรื่องเหตุผลการเข้าทำหน้าที่โดยได้ชี้แจงว่าจะใช้โอกาสในการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพสื่อ การอยู่ข้างนอกไม่สามารถทำอะไรได้เพราะมีประสบการณ์ต่อสู้กับรัฐประหารมาแล้ว

ตอนเย็นวันเดียวกัน นักข่าวภาคสนาม(รัฐสภา) ออกแถลงการณ์อีกครั้งพร้อมมีการล่ารายชื่อได้ 30 คน เนื้อหาสรุปว่าคัดค้านทั้งระบอบทักษิณและระบอบ คปค. ให้สื่อทำตัวเป็นกลางไม่เข้าไปเกี่ยวกับอำนาจรัฐ และขอให้ลาออกจาก สนช.

17 ตุลาคม:  มีการประชุม 7 องค์กร แต่สมาคมนักข่าวเศรษฐกิจขอไม่เข้าร่วม จึงเหลือแค่ 6 องค์กร ที่ประชุมได้อธิบายที่มาที่ไปของการไปเป็น สนช.ว่า เป็นการเห็นร่วมกันและได้โทรไปแจ้งมติกับทุกคน ไม่ใช่มุบมิบส่งไป ในที่สุดสรุปกันว่าให้ตั้งคณะทำงาน 2 ฝ่ายคือคณะที่ปรึกษา และฝ่ายวิชาการ เรื่องเงินเดือนจะบริจาคให้ส่วนกลางเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของคณะทำงาน โดยนายมานิจ สุขสมจิตร เล่าที่มาประวัติศาสตร์การต่อสู้ของนักหนังสือพิมพ์ในอดีต รวมถึงบอกว่าเด็กๆ อาจไม่เข้าใจ 

นายดำฤทธิ์ จากไทยรัฐบอกว่าเพื่อไม่ให้แตกแยก ขอให้นักข่าวที่ไม่เห็นด้วยมาฟังคำชี้แจง และร่วมเป็นคณะทำงานงานด้วยจะได้เข้าใจ และให้ผู้เข้าร่วมประชุมต่อสายไปยังนักข่าวกลุ่มคัดค้านให้มายื่นหนังสือหรือมาฟังเหตุผลจะได้เข้าใจกัน แต่ไม่มีนักข่าวคนใดมาฟัง และไม่มีการยื่นหนังสือใด ๆ ทางสภาการฯ จึงได้ออกแถลงการณ์ว่าที่ประชุม 6 องค์กรเห็นชอบให้ตัวแทนทั้ง 3 คนเดินหน้าทำหน้าที่ โดยองค์กรวิชาชีพได้ตั้งคณะทำงานสนับสนุนข้อมูลเพื่อประกอบการทำงาน           

18 ตุลาคม: สุทธิชัย หยุ่น แจ้งเข้ามายังสมาคมนักข่าวฯ โดยบอกว่ากลัวจะเกิดความแตกแยก ควรจะหันหน้ามาคุยกัน จึงขอเสนอตัวว่าจะเป็นเจ้าภาพกินข้าวพูดคุยทำความเข้าใจกันของทั้งสองฝ่าย

19 ตุลาคม: ได้มีการนัดหมายกันเวลา 11.00 น. ที่โรงแรมปริ๊นเซส หลานหลวง โดยมีนายสุทธิชัย หยุ่น  และตัวแทนนักข่าวที่คัดค้าน รวมถึงนางบัญญัติ นายภัทระ นายสมชาย นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์อาวุโสอย่างนายมานิจ นายตุลสถิตย์  นายดำฤทธิ์  เข้าร่วมด้วย ที่ประชุมได้เคลียร์ใจกันเรียบร้อย โดยฝ่าย 3 คน ชี้แจงเหตุผลที่ต้องเข้าไปเป็น สนช. และความจำเป็นในการร่างกฎหมาย หากไม่เข้าไปจะลำบากเหมือนยุค รสช. และยุคเผด็จการก่อน ๆ

ขณะที่ฝ่ายนักข่าวที่ไม่เห็นด้วยบอกว่าการส่งตัวแทนเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสื่อ ควรจะมีการรักษาระยะห่างที่เหมาะสม ดำรงไว้เพื่ออิสระในการทำหน้าที่การตรวจสอบ ซึ่งนายสุทธิชัยได้เสนอต่อที่ประชุมว่าให้นางบัญญัติ กับนายสมชายลาออกจาก สนช. เพื่อจะได้เห็นว่าเข้าไปคนเดียวก็พอ แต่นายภัทระไม่เห็นด้วย ในที่สุดก็สรุปเข้าใจตรงกันว่าทุกคนพร้อมสนับสนุนให้ไปทำหน้าที่ สนช. แต่ให้ไปพิจารณาเรื่องว่าจะลาออกหรือไม่ลาออกหรือจะรักษาระยะห่างอย่างไรให้เหมาะสมต่อกรรมการสมาคมฯ ของแต่ละสมาคมเอง

จากนั้นได้มีการร่วมกันเขียนข่าวตามข้อเท็จจริง เนื้อหาระบุว่าทุกคนได้หารือกันอย่างกว้างขวางโดยคำนึงถึงวิชาชีพเป็นหลัก แล้วต่างก็เข้าใจและตระหนักถึงข้อดี ข้อเสียของทุกเหตุผล เคารพในความเห็นที่แตกต่าง ข้อความนี้ได้ระบุเป็นคำพูดของนายภัทร

แต่ในค่ำวันเดียวกัน ข่าวที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของเนชั่น กรุงเทพธุรกิจ แนวหน้า กลับรายงานไปอีกมุมหนึ่ง โดยเนื้อหาหลักระบุว่า 3 นายกฯ ทิ้งเก้าอี้ สนช. ที่สำคัญมีการ "แปลงสาร" ในแถลงการณ์ โดยในเว็บไซต์เนชั่นไปตัดและเพิ่มเนื้อหาข่าวใน (เวลา 21.00 น.) ตัดคำที่นายปรัชญาชัย แห่งไทยโพสต์ ระบุว่าสนับสนุนทั้ง 3 คนทิ้ง เหลือแต่ข้อความให้รักษาระยะห่าง พร้อมทั้งไปเขียนรายงานข่าวต่อท้ายว่าผู้นำ 3 องค์กรได้ตัดสินใจเตรียมลาออกเพื่อไปรับตำแหน่ง สนช.อย่างเดียว

อย่างไรก็ตามได้มีการติดต่อไปยังเครือเนชั่นเรื่องข่าวที่คลาดเคลื่อนและได้มีการแก้ไขข่าวที่นำเสนอผ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจในวันที่ 20 ตุลาคม

20 ตุลาคม: ขณะที่หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์เขียนข่าวลงตามแถลงการณ์  มติชนนำข่าวจากเว็บกรุงเทพออนไลน์ ที่ระบุว่าสามคนจะลาออกจากสมาคมฯ เว็บไซต์เนชั่น และแนวหน้า ขึ้นว่า "ป้าหยัด-สมชายแสดงสปิริตลาออก ด้านภัทระตัดสินใจ 23 ตุลาคม" เว็บกรุงเทพธุรกิจขึ้นว่านักเคลื่อนไหวทางสังคมจี้ 3 สมาคมฯสื่อถอนตัวจาก สนช. เรียกร้อง 4 ข้อ ลงชื่อกัน 15 คน และระบุในเว็บกรุงเทพธุรกิจด้วยว่า ได้มีการเปิดเว็บ petitiononline มีอาจารย์อุบลรัตน์ และ สุภิญญา กลางณรงค์ก็ร่วมคัดค้านด้วย

คนเขียนแถลงการณ์ในนามนักเคลื่อนไหวครั้งนี้ระบุชื่อ ศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี จากเนชั่น และมีการฟอร์เวิร์ดแถลงการณ์นี้ไปยังนักข่าวทั่วไปด้วย

23 ตุลาคม:  มีการประชุมกรรมการสมาคมนักข่าวฯ เพื่อหารือเรื่องพิจารณารักษาระยะห่างของนายกสมาคมนักข่าวกับการทำหน้าที่ สนช.  แต่กรรมการคนหนึ่งของเครือเนชั่นบอกว่าในเมื่อเราถูกสมาชิกเลือกเรามา เราก็ควรรับฟังสมาชิกของเราก่อน ด้วยการเปิดประชุมวิสามัญ เพื่อให้สง่างาม และลดกระแสได้ ไม่ต้องให้คนนอกเข้าก็ดีเพราะจะไม่ได้ไม่วุ่นวาย ขณะที่นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์แห่งมติชน และนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์จากบางกอกโพสต์เห็นว่าให้บอร์ดเปิดประชุมวิสามัญเสียเองเลย โดยไม่ต้องให้สมาชิกเข้าชื่อ มติคือให้เปิดวิสามัญเพื่อชี้แจงเรื่องราวต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีกรรมการบางคนอัดเทป หลังจากนั้นได้มีการแกะรายรายละเอียดแล้วนำไปเผยแพร่เป็น "เมลล์ลูกโซ่" ไปทั่วรวมถึงสำนักข่าวประชาไทด้วย โดยมีการตัดต่อบางถ้อยคำออก เช่น คำอธิบายของนายภัทระถึงที่มาที่ไปของการได้รับแต่งตั้งออก แต่เนื้อหาที่วิจารณ์นักข่าวบางคนที่มาสัมภาษณ์แล้วลงไม่ตรงข้อเท็จจริง กลับปรากฏอยู่ในรายละเอียดทั้งหมด

24 ตุลาคม:  กรรมการสมาคมจากฝ่ายเนชั่นบางคน โทร.แจ้งกรรมการบางคนเพื่อหารือให้ยกเลิกมติการเปิดประชุมวิสามัญ โดยระบุว่าสถานการณ์เปลี่ยนขอให้กรรมการทบทวนมติไม่เปิดวิสามัญฯได้หรือไม่ โดยยืนยันว่าควรกลับมติ เพราะมีนักข่าวขู่ว่าจะไปตั้งสมาคมฯ ใหม่และมีการฟอร์เวิร์ดบันทึกลับการประชุมที่บิดเบือนจนเกิดความเสียหาย

26 ตุลาคม: ช่วงเช้ามีการประชุมกรรมการสถาบันข่าวอิศรา แต่กรรมการสมาคมนักข่าวเข้าเกือบครบ เพื่อพิจารณาเรื่องศูนย์ข่าวอิศรา (โต๊ะข่าวภาคใต้) เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์และปล่อยข่าวว่าในการดำเนินจัดตั้งศูนย์ข่าวอิศราในรอบกว่า 1 ปีมีการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม เมื่อนายอายุป ปาทาน บก.ศูนย์ข่าวได้ชี้แจง รวมทั้งผู้แทนจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติหรือ มสช.ในฐานะองค์กรทุนได้การันตีว่าได้ตรวจสอบทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนและไม่มีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ พร้อมทิ้งเอกสารการเงินจำนวนหนึ่งไว้ที่สมาคมนักข่าวฯ เพื่อจักได้ดูกันอย่างละเอียด

หลังจากนั้นมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการของกรรมการสมาคมนักข่าวฯ ที่เหลือ ที่ประชุมเสียงแตกเรื่องการสนับสนุนและการลาออกของนายภัทระ โดยสรุปให้นายภัทระไปตัดสินใจเองว่าจะเลือกตำแหน่งใด ความเห็นส่วนหนึ่งบอกให้ออกจากสมาคมฯ ไปเลย บางคนให้ออกทั้ง 2 เก้าอี้ บางคนบอกให้ออกจาก สนช. แต่เห็นว่าไม่ต้องเปิดประชุมวิสามัญแล้ว

กรรมการจากเนชั่นคนหนึ่งเป็นคนเสนอเองว่าก่อนประชุมครั้งนี้ นายสุทธิชัย หยุ่น ได้เรียกไปคุย และเสนอว่าไม่ควรเปิดวิสามัญเพราะจะเกิดความวุ่นวายไปกันใหญ่ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยน ขณะที่กรรมการตัวแทนเนชั่นอีกคนหนึ่งก็ให้เหตุผลสนับสนุนอีกว่าสถานการณ์เปลี่ยน แต่ที่ประชุมได้ทักท้วงว่าเป็นมติไปแล้ว ทุกคนทุกโรงพิมพ์รู้หมดแล้วว่าจะเปิดประชุม ถ้าถอยจะเสียหาย กรรมการฝ่ายเนชั่นคนเดิมยังแย้งว่าไม่มีใครรู้เพราะยังไม่ทำหนังสือแจ้งสมาชิกว่าจะเปิดประชุม จึงไม่ต้องเปิด มติไม่เป็นทางการของกรรมการสมาคมนักข่าวก็คือ นายภัทระขอเวลาไปตัดสินใจว่าจะเลือกทางใดแล้วจะแจ้งให้กรรมการทราบ

นายภัทระเสนอให้เรียกประชุมกรรมการวันที่ 28 ตุลาคม เพราะมีการบีบในทุกทางว่าจะต้องออก จึงนัดประชุมเวลา 11.00 น. แต่กรรมการไม่ครบองค์ประชุม จึงได้เลื่อนนัดไปประชุมอีกครั้งในวันที่ 30 ตุลาคม เวลา 11  โมงเช้า

ขณะที่สภาการฯ ก็มีความเคลื่อนไหวไม่ต่างกันแต่ดีกรีความร้อนแรงแตกต่างกัน เพราะนางบัญญัติได้ประกาศจะลาออกจากเก้าอี้ประธานสภาการฯ เนื่องจากไม่ได้ทับซ้อนใดๆ เพราะเกษียณอายุไปแล้ว แต่มีความไม่พอใจของสมาชิกอยู่ไม่น้อย หนังสือพิมพ์บางฉบับได้ขอลาออกจากสมาชิกไปแล้ว อย่างไรก็ตาม  ความเคลื่อนไหวของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ก็ยังไปปรากฏที่สำนักข่าวประชาไทอีกครั้ง

ด้านสมาคมนักข่าววิทยุฯ มีความชัดเจนว่านายกสมาคมพร้อมลาออกหากกรรมการเห็นชอบ แต่ก็กรรมการบางคนก็ไปโพสต์ความเห็นคัดค้านอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการชี้แจงจากองค์กรวิชาชีพถึงความจำเป็นในการทำหน้าที่ใน สนช.แล้วก็ตาม

แต่ดูเหมือน "เป้า" ไม่ได้อยู่ที่สภาการฯ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์  แต่ "เป้า" เทน้ำหนักไปที่ตัวนายกสมาคมนักข่าวฯ มากกว่า

ทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ผู้อ่านได้รับรู้ข้อมูลประกอบการพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ในวงการสื่อมวลชนต่างพูดกันมากถึงเรื่อง "ผลประโยชน์ทับซ้อน" ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครเห็นด้วย แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็น "เกม" ที่สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้ "คนวงใน" ที่รับรู้พฤติกรรมของคนวิชาชีพสื่อบางกลุ่ม แต่ไม่อาจกระชากหน้ากากให้สังคมได้เห็นตัวตนที่แท้จริงได้ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสื่อสารมวลชน ก็ควรได้รับทราบเพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักฐานข้อมูลที่ปรากฏ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net