Skip to main content
sharethis

พระไพศาล วิสาโล ได้ให้คำจำกัดความความหมายของ "ธรรมยาตรา" ที่เป็นปฏิบัติการทางสังคม บนพื้นฐานของศาสนธรรม ไว้ในคำนำของหนังสือ "8 ขวบธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา กระบวนการเพื่อสุขภาวะของชุมชน" เขียนโดยประสาท มีแต้ม


 


ปฏิบัติการดังกล่าว ดูเหมือนจะเริ่มต้นเป็นครั้งแรก ณ ประเทศกัมพูชา โดยการนำของสมเด็จพระมหาโษนันทะ เมื่อปี 2535 มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะนำสันติภาพและสมานฉันท์คืนสู่ประเทศกัมพูชาที่บอบช้ำจากภัยสงคราม...


 


...นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดธรรมยาตราขึ้นในประเทศไทย เริ่มจาก "ธรรมยาตราเพื่อสันติภาพและชีวิต"


 


แต่ธรรมยาตราที่จัดได้ต่อเนื่องยาวนานที่สุด คือ "ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา" ซึ่งเริ่มเมื่อปี 2539...


 


ดังนั้นจึงมีการจัดสัมมนาถอดบทเรียน : หนึ่งทศวรรษธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา เมื่อวันที่ 16 - 18 ตุลาคม 2549 ที่คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


 


 



เท็ด  เมเยอร์ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง 8 ขวบ ธรรมยาตรา : กระบวนการเพื่อสุขภาวะของชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา


 


นายเท็ด เมเยอร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะผู้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง "8 ขวบ ธรรมยาตรา : กระบวนการเพื่อสุขภาวะของชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา" แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล สหรัฐอเมริกา ได้ร่วมถอดบทเรียนครั้งนี้ด้วย


 


เท็ด ระบุว่า ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาเปิดโอกาสให้ฆราวาสและนักบวชบางท่านได้เติบโตด้านใน ได้ขัดเกลาตัวเอง คือได้ปฏิบัติธรรม


 


วิธีปฏิบัติในการเดินธรรมยาตรามีหลายรูปแบบ ทั้งการเดินเท้า อยู่แบบเรียบง่าย สัมผัสและรับรู้ความจริงของธรรมชาติแวดล้อม สังคมรอบทะเลสาบสงขลา ฟังความทุกข์ของคนที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อย่างให้เกียรติผู้พูด เผชิญหน้ากับความงดงามของตัวเองและเพื่อนมนุษย์เวลาเอื้อเฟื้อหรือสามัคคีกันดี เผชิญหน้ากับกิเลสของตนเองและเพื่อนมนุษย์เวลาเห็นแก่ตัว และพร้อมที่จะขัดแย้งพร้อมที่จะด่า


 


"พูดง่ายๆ คือทุกส่วนของการเดินธรรมยาตราอาจถือเป็นการปฏิบัติธรรมได้


 


สำหรับบทเรียนของธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลานั้น มีลักษณะบางอย่างที่ทำให้การประสานงาน การจัดและการบรรลุเป้าหมายค่อนข้างยาก เพราะเป้าหมายกว้าง


 


โดยยกเป้าหมายขึ้นมาทบทวน คือการประยุกต์ใช้ศาสนธรรมในการเปลี่ยนแปลงสังคม การประยุกต์ใช้ศาสนธรรมในการพัฒนาตนเอง การสร้างจิตสำนึกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น การสร้างเครือข่ายพระสงฆ์รอบทะเลสาบสงขลาการประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่ม องค์กร และชุมชนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ความร่วมมือระหว่างศาสนา ในการหาแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา


 


เป้าหมายที่กว้างทำให้เกิดความเสี่ยง 3 อย่าง คือเสี่ยงที่จะเสียความชัดเจนในเรื่องเป้าหมายหลัก เสี่ยงที่จะท้อแท้ และบางครั้ง รู้สึกว่ามีการยึดติดกับรูปแบบของธรรมยาตรา แล้วในที่สุดก็สร้างภาระกับตัวเองมากเกินไป อย่างเช่นถือป้ายมากเกินไป หรือต้องมีการตีกลอง


 


ถ้าการประยุกต์ใช้ศาสนธรรม ทั้งในการพัฒนาตนเอง การเปลี่ยนแปลงสังคมและการฟื้นฟูธรรมชาติ เป็นเป้าหมายหลัก เป้าหมายอื่นก็ตามมา ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไม ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาต้องทำอะไรเยอะแยะ ทำไมต้องเครียดกับภาระเยอะ หรือยึดติดกับรูปแบบที่เคยมี


 


"ถ้าวันหนึ่งมี 6 คน ได้รับพรจากกลุ่มแกน เดินเงียบๆ ถือป้ายเดียว ฟังทุกข์ของพลเมืองลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แล้วให้กำลังใจเขา เก็บข้อมูลและแบ่งปันบ้าง จะพอหรือไม่ ถือเป็นธรรมยาตราไหม ผมคิดว่าได้" เท็ด กล่าว


 


บทเรียนต่อมาคือ พื้นที่กว้างมาก ถ้าเปรียบเทียบกับธรรมยาตราที่อื่น เช่น ที่เขาสมโภช จังหวัดลพบุรี หรือที่แม่น้ำลำปะทาว จังหวัดชัยภูมิแล้ว ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาต้องจัดในพื้นที่กว้างมาก ซึ่งเป็นการท้าทายอีกอย่างหนึ่ง คำถามคือ ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาเคยจัดการกับการท้าทายแบบนี้อย่างเพียงพอหรือไม่


 


บทเรียนที่ 3 ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลามีลักษณะเปิดกว้าง เปิดโอกาสให้หลายๆ ฝ่ายมีส่วนร่วมได้ ไม่มีเจ้าของผู้เดียวหรือฝ่ายเดียว บางครั้งดูเหมือนว่าธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาพยายามที่จะรับทุกคนและทุกมุมมอง ดูเหมือนว่าประนีประนอมระหว่างหลายๆ ฝ่ายจนเสียเอกลักษณ์ของมันเอง


 


บทเรียนที่ 4 ความเข้าใจของหลายๆ ฝ่ายเรื่องการประยุกต์ใช้หลักศาสนธรรมหรือแม้แต่เรื่องความหมายของคำว่า ธรรมะเอง ไม่เหมือนกัน


 


ธรรมยาตรามุ่งที่จะปฏิบัติธรรมและประยุกต์ใช้หลักศาสนธรรม ในท่ามกลางสังคมที่ถูกวัตถุนิยม บริโภคนิยม และอำนาจนิยมครอบงำโดยเป็นสังคมที่เข้าใ ในขณะเดียวกันว่าเป็นสังคมพุทธอยู่แล้ว


 


ธรรมยาตราพึ่งพาสถาบันสงฆ์ ซึ่งบางแห่งยังคงเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า และเป็นแหล่งปฏิบัติธรรม แต่มีปัญหาอีกหลายอย่าง เช่น พระคุ้ยเคยกับการทำงานผู้เดียว เจ้าอาวาสยังคงค้นเคยกับการสั่ง สถาบันสงฆ์เคยได้รับอิทธิพลจากสังคมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจากระบบราชการ จากวัตถุนิยม บริโภคนิยม และชาตินิยมอีกด้วย


 


ถ้ารวมการท้าทาย 2 อย่างนี้ว่า ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาเปิดกว้างและมีความเข้าใจอย่างหลากหลาย เรื่องการประยุกต์ใช้ธรรมะ ก็มีปัญหาตามมาด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับผมก็คือ เวลาพระที่เพิ่งร่วมเดิน และยังคงใหม่กับกิจกรรมธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา แต่ขึ้นไปเทศน์แล้วก็บางครั้ง พูดตรงๆ เทศน์แบบไร้สาระและผิดกับเป้าหมายของธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา ทำให้ความเด่นชัดของธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาในฐานะที่เป็นสื่อกับสังคมรอบข้าง เสื่อมไป


 


ส่วนอาจารย์ประสาท มีแต้ม อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ให้ข้อมูลปัญหาที่คณะธรรมยาตราได้พบในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาว่า มีทั้งปัญหาด้านการเมือง ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาด้านวัฒนธรรมชุมชนและศาสนา และปัญหานิเวศวิทยา


 


สำหรับปัญหานิเวศวิทยาทุกครั้งที่เดินธรรมยาตราในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จะพบว่าตามแหล่งน้ำมีปลาตายทุกครั้ง เช่น การเดินธรรมยาตราตามคลองอู่ตะเภา ก็พบปลาตายไปต่อหน้าต่อตา นอกจากนี้ยังพบปัญหาการดูดทราย


 


พร้อมกับข้อมูลเปรียบเทียบว่า น้ำจืดในประเทศไทย มีออกซิเจนน้อยที่สุดในโลก โดยค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 7.7 ลูกบาศก์มิลลิเมตรต่อลิตร แต่ของประเทศไทยอยู่ 2.98 ลูกบาศก์มิลลิเมตรต่อลิตร ยังยกตัวอย่างด้วยว่า ความหลากหลายทางนิเวศวิทยาลดลง ทำให้ความหลากหลายของอาหารในปิ่นโตที่ไปถวายพระก็ลดลงด้วย  


 


สำหรับธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา ทำไม่ได้ตามที่คาดไว้ คือ เครือข่ายสงฆ์เกิดน้อย เครือข่ายอื่นๆ ก็ไม่เกิด แต่อาจดีกว่าเดิม ขณะที่บางคนพูดว่า นี่ไม่ใช่กิจของสงฆ์


 


พร้อมกับตั้งคำถามให้ถกกันต่อว่า ทำไมความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชนจึงเสียสมดุล ธรรมมะแบบไหนที่คนสมัยใหม่ต้องการเพื่อรับมือกับโลกาภิวัตน์


 


แนวทางความร่วมมือระหว่างพระสงฆ์และฆราวาสควรเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้อาจารย์ประสาท ได้เสนอด้วยว่า ให้จัดเดินทุกเดือน กลุ่มเล็กๆ ครบหนึ่งปี ก็จัดใหญ่หนึ่งครั้ง


 


พร้อมให้แง่คิดว่า สังคมไทยเราพัฒนามาทางด้านเมตตา โดยเฉพาะด้านจิตใจ ในแง่การมีน้ำใจ สรุปว่าเป็นวัฒนธรรมแห่งเมตตา แต่ว่าอีกด้านหนึ่งไม่ค่อยพัฒนาทางด้านปัญญา ไม่ค่อยอยากเรียนรู้ ไม่ชอบใช้ห้องสมุด ไม่หาหนังสืออ่าน


 


โดยชี้ว่าธรรมยาตราต้องทำทั้งสองอย่าง ดังคำของของสมเด็จพระมหาโฆษนันทะ ปรารภธรรม ณ ที่พักสงฆ์แหลมโพธิ์ อำเภอหาดใหญ่ เมื่อครั้งจัดธรรมยาตราครั้งที่ 2


 


การเดินธรรมยาตรานี้ให้มีการสมดุล


ให้มีศรัทธาสมดุลกับปัญญา


แล้วก็ให้มีปัญญาสมดุลกับศรัทธา


เหมือนนกที่บิน ต้องมีปีกสองปีกจึงจะบินได้"


 


อาจารย์ประสาท เสนออีกว่า สิ่งสำคัญในการเคลื่อนไหวสังคม จะต้องมี 3 อย่าง คือ 1.นักคิด นักเคลื่อนไหว 2.คนพูด แปลความคิดลึกๆ ให้เข้าใจง่าย และ 3.ทำเป็นเครือข่าย เชื่อมโยงกัน นั้นคือต้องมีผู้ประสานงาน


 


สรุปสุดท้ายสั้นว่า โลกนี้ริเริ่มและขับเคลื่อนด้วยคนส่วนน้อยทั้งสิ้น แต่จะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับการตรวจสอบ ของคนอีกส่วนหนึ่ง


 


ส่วนแนวทางการดำเนินงานต่อไปของธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลานั้น พระไพศาล วิสาโล ประธานเครือข่ายพุทธิกา ซึ่งเป็นพระรูปแรกที่นำเดิน ได้ระบุถึงปัญหาพร้อมกับมีข้อเสนอแนะว่า ธรรมยาตราทำให้ชาวบ้านเห็นปัญหาในภาพรวม แต่ข้าราชการไม่เข้าใจ เพราะมองในมุมของเขาเอง


 


แม้ว่า 10 ปีธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา ไม่สามารถทำให้สมประสงค์ได้ จากการสัมผัสกับท้องถิ่นไม่ว่าพระหรือฆราวาส คณะธรรมยาตราไม่ได้เชื่อมโยงกับองค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานของรัฐ ไม่มีการส่งต่อข้อมูล ยกเว้น เมื่อครั้งที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่ได้มาหากลุ่มธรรมยาตรา โดยบอกว่าจะทำแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา


 


นอกจากนี้คณะธรรมยาตราไม่มีงานพื้นที่ ซึ่งถ้าจะให้มีพลังต้องมีงานพื้นที่ด้วย เพื่อดึงคนให้มาสนใจปัญหา ไม่ว่าจะแก้ปัญหาทะเลสาบได้หรือไม่ แต่ก็ๆได้กระตุ้นให้คนสนใจปัญหามากขึ้น


 


จึงมีข้อเสนอ 2 ทาง คือ คงเป้าหมายเดิมเอาไว้ แต่ทำงานให้มากขึ้นกว่าเดิม


 


ทางที่สอง คือ ถ้าไม่มีงานพื้นที่ ก็ต้องเน้นคนนอกมารับรู้ปัญหาทะเลสาบสงขลามากขึ้น


 


นายภานุ พิทักษ์เผ่า เจ้าของร้านอาหารครัวสุขภาพ หาดใหญ่ เสนอว่า ในธรรมยาตราไม่ต้องมีการเดินได้หรือไม่ หรือให้การเดินเป็นส่วนหนึ่งของธรรมยาตรา แล้วมาทำงานพื้นที่มากขึ้น เช่น รณรงค์เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ หันมาทำวิทยุชุมชนโดยเข้าไปร่วมจัดรายการกับวิทยุมชุมที่มีอยู่แล้ว


 


นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช จากเพลินสถาน สวนสร้างสรรค์ นาคร - บวรรัตน์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เสนอว่า เนื่องจากเป้าหมายของธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาซ้ำซ้อนเกินไป ดังนั้นการทำกิจกรรมพื้นที่บางอย่างจะต้องระมัดระวังด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องรักษาสมดุลไว้ เพราะล่อแหลม ที่จะทำให้ธรรมะเสียไป


 


ขณะที่พระที่เข้าร่วมประชุมเสนอไปทางมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ให้เพิ่มหลักสูตรเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อให้พระได้เข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม งเมื่อเข้าร่วมในธรรมยาตราจะทำให้มีพลังมากขึ้น


 


นั่นเป็นบทเรียนและข้อเสนอแนะบางส่วน ต่อ "ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา" ในโอกาสครบรอบ 10 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net