จม.เปิดผนึกจุฬาฯ ถึง ศ.สุชาดา "หากเชื่อว่านั่ง สนช.ถูกต้อง"สอดคล้องกับมโนสำนึก"ก็ให้ลาออกจากอธิการฯ

31 ต.ค.49 - ประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกจดหมายเปิดผนึกถึงคุณหญิงสุชาดา กีระนันท์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อเสนอและเรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)หรืออธิการบดีอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

ทั้งนี้ จดหมายดังกล่าวมีเนื้อความว่าการแก้ไขปัญหาของคณะปฏิรูปการกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข(คปค.)ไม่ใช่การแก้ปัญหาของผู้ที่ไม่ฝักใฝ่เผด็จการอำนาจนิยมและเชื่อมั่นว่าการแก้ปัญหาต้องกระทำตามครรลองประชาธิปไตย และเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นๆ ย่อมถือว่าการกระทำรัฐประหารของ คปค.ในวันที่ 19 ก.ย.ไม่มีความชอบธรรมและส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

 

จากการขาดความชอบธรรมดังกล่าว ทำให้คณะรัฐประหารจำเป็นต้องระดมผู้คนที่มีชื่อเสียง นักวิชาการ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายต่างๆ เข้ามาสู่กลไก กระบวนการ และองค์กรต่างๆ เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ร่วมกันรับรองและสร้างความชอบธรรมให้

 

ในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความห่วงใยและปรารถนาดีต่อ คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น สนช. จึงเรียกร้องว่าการได้เป็นสนช.เป็นการแต่งตั้งในนามส่วนตัวไม่ได้อิงกับตำแหน่งอธิการบดี แต่พึงตระหนักว่า การรับรู้ของสาธารณชนอาจจะไม่สามารถแยกแยะหรือรับรู้ข้อมูลส่วนนี้ได้ เนื่องจากคุณหญิงสุชาดายังดำรงตำแหน่งอธิการบดี  ข้อต่อมา การตัดสินใจเป็น สนช.ย่อมมีผลกระทบต่อการบริหารและมหาวิทยาลัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญการนำตำแหน่งอธิการบดีติดตัวไปด้วยไม่ได้เป็นตามเจตจำนงค์และได้รับความยินยอมจากประชาคมทั้งหมด ดังนั้น เพื่อความโปร่งใสและแสดงความบริสุทธิ์ใจ ควรที่จะเลือกรับตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง กรณีนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในส่วนของสื่อมวลชน

 

ข้อสุดท้าย ขอเรียกร้องต่ออธิการบดีให้ลาออกจากการเป็น สนช.อย่างไม่มีเงื่อนไข หรือหากเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า สิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง "สอดคล้องกับมโนสำนึก" ก็ขอเคารพในการตัดสินใจในฐานะปัจเจกบุคล แต่ขอเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี เพื่อไม่ให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย

 

ในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวยังระบุให้ผู้ที่เห็นด้วยสามารถร่วมลงชื่อหรือติดต่อกลับได้ที่ ร.ศ. ใจ อึ๊งภากรณ์ และ ร.ศ. สุชาย ตรีรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ gji.ungpakorn@yahoo.com

 

 

จดหมายเปิดผนึกถึง คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เรื่อง ขอเสนอและเรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือตำแหน่ง

        อธิการบดีอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่คณะบุคคลในนามของ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (คปค.)" ได้กระทำการรัฐประหาร ในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยคณะบุคคลดังกล่าวได้อ้างเหตุผลว่า ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย แต่สำหรับผู้ที่ไม่ฝักใฝ่เผด็จการอำนาจนิยม เชื่อมั่นว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องกระทำตามครรลองระบอบประชาธิปไตย และเคารพในสิทธิ เสรีภาพ ของบุคคลอื่นๆ ย่อมถือว่า การกระทำของคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้น จนส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถที่จะยอมรับได้ด้วยประการทั้งปวง ตลอดจนไม่ได้รับยอมรับจากนานาประเทศที่มีอารยะ

 

จากปัญหาการขาดความชอบธรรมดังกล่าว ทำให้คณะรัฐประหาร จำเป็นต้องระดมผู้คนที่มีชื่อเสียง นักวิชาการ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายต่างๆ เข้ามาสู่กลไก กระบวนการ และองค์กรต่างๆ เช่น คณะที่ปรึกษา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ร่วมกันรับรองและสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำการดังกล่าว

 

พวกเราในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความห่วงใยและปรารถนาดีต่อ คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยอีกด้วย ขอแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องต่อท่านอธิการบดีดังต่อไปนี้

 

1. แม้ว่าการได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติของท่าน ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยอิงกับ ตำแหน่งอธิการบดี แต่ได้รับการแต่งตั้งในนามส่วนตัวก็ตาม แต่พึงตระหนักว่า การรับรู้ของสาธารณชน อาจจะไม่สามารถแยกแยะหรือรับรู้ข้อมูลส่วนนี้ได้ เนื่องจากท่านยังดำรงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งตำแหน่งนี้ก็จะคงยังติดตัวท่านไปตลอดการทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างเลี่ยงเลี่ยงมิได้

 

2. การตัดสินใจเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของท่านย่อมมีผลกระทบต่อการบริหาร และ มหาวิทยาลัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในประการสำคัญคือ  การตัดสินใจรับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น ซึ่งนำตำแหน่งอธิการบดีติดตัวไปด้วย ไม่ได้เป็นตามเจตจำนงค์และได้รับความยินยอมจากประชาคม แม้ว่าในประชาคมจะมีความเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นนี้ก็ตาม ดังนั้น เพื่อความโปร่งใสและแสดงความบริสุทธิ์ใจ ท่านควรที่จะเลือกรับตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในส่วนของสื่อมวลชน

 

3. ดังนั้นในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย จึงขอเรียกร้องต่อท่านในฐานะอธิการบดีให้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือหากท่านเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า สิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง "สอดคล้องกับมโนสำนึก" ของท่าน เราขอเคารพในการตัดสินใจของท่านในฐานะปัจเจกบุคล แต่ขอเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี เพื่อไม่ให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย

 

เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย

 

 

ผู้ใดอยากร่วมลงนามเชิญติดต่อกลับมาที่

ร.ศ. ใจ อึ๊งภากรณ์ และ ร.ศ. สุชาย ตรีรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ gji.ungpakorn@yahoo.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท