การ์ตูนล้อการเมือง: เรื่องขำๆ ที่ไม่ขำ(เท่าไร)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


 






บทความใน "มุมคิดจากนักเรียนน้อย" เป็นผลการศึกษาจากงานวิจัยเกี่ยวกับวงการหนังสือพิมพ์ ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี  คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

นางสาวณัฐกานต์ กิจประสงค์

นายศรุต โคตะสินธ์

นางสาวเนสินี เอี่ยมนิ่ม

นางสาววริษา ลัคนาศิโรรัตน์

 

ช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรถือเป็นช่วงที่ได้รับการวิพากษ์อย่างหนักว่าเป็นช่วงที่สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนถูกลิดรอน ถูกแทรกแซงหรือแม้แต่ถูกปิดกั้น ทั้งจากการควบคุมโดยรัฐและผ่านการควบคุมด้านเศรษฐกิจ ดังเช่น กรณีการซื้อกิจการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เมื่อสื่อไม่มีเสรีภาพเต็มที่ การนำเสนอข่าวสารต่างๆ ที่เป็นไปในทางวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลก็ดูจะมีพื้นที่น้อยลง สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ "หมาเฝ้าบ้าน" ได้อย่างที่ควรเป็น

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีคอลัมน์หนึ่งในสื่อหนังสือพิมพ์ที่ดูเหมือนจะยังคง "เสรีภาพ" ในการนำเสนอความคิดเห็น กล้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างไม่เกรงกลัว และแนบเนียน เสมือนดังกับเด็กที่ไม่รับรู้ถึงความตึงเครียด หรือแรงกดดันใดๆ ยังคงพูดในสิ่งที่คิด นั่นก็คือ คอลัมน์ "การ์ตูนล้อการเมือง" นั่นเอง

 

ข้อสนับสนุนที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่หากวิเคราะห์เนื้อหาทั้งหมดแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่าแทบไม่มีพื้นที่ที่เสนอข่าวในด้านลบ หรือในทิศทางตรงข้ามกับรัฐบาลเลย แต่คอลัมน์การ์ตูนล้อการเมือง "ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน" ของชัย ราชวัตรกลับกล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลในแง่ตำหนิ เสียดสี เหน็บแนมอย่างชัดเจน

 

การ์ตูนล้อการเมืองจึงดูเหมือนเป็น "ช่องทาง" ในการทำหน้าที่ "หมาเฝ้าบ้าน" ที่เหลืออยู่ และเมื่อลองศึกษา วิเคราะห์คอลัมน์การ์ตูนล้อการเมืองของหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ได้แก่ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "การ์ตูน"ศล" และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ "ตูน"ณาการ" ก็พบว่าคอลัมน์การ์ตูนล้อการเมืองของทั้งสองหนังสือพิมพ์นี้ก็ยังคงวิพากษ์วิจารณ์ เสียดสี ตำหนิการทำงานของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างสม่ำเสมอไม่ต่างไปจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ทำให้แนวคิดที่ว่าการ์ตูนล้อการเมือง "ดูเหมือน" จะเป็นช่องทางในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่เหลืออยู่ในยุคที่สื่อถูกแทรกแซงดูชัดเจนมากขึ้น

 

ทว่า สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในยุคของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เข้าทำรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาล  เหตุการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปแล้ว การเมืองเปลี่ยน สถานการณ์ของสื่อก็เปลี่ยนเช่นกัน เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงกลับไปหา "สิ่งที่คุ้นเคย" ที่ "เข้มข้น" กว่าเดิม

 

หลังจาก คปค.ทำรัฐประหารแล้ว ก็ได้ประกาศของความร่วมมือให้สื่อมวลชนเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการเมือง ให้ระวังการเผยแพร่ความคิดเห็นในทางตรงข้ามกับ คปค. ดังที่ปรากฏกรณีการปิดห้องราชดำเนิน ในเว็บไซต์พันทิพย์ดอทคอม หรือการขอให้เว็บไซต์ประชาไท คัดกรองความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมต่อ คปค.ออกไป ซึ่งถือว่าเป็นการปิดกั้นสื่อที่ชัดเจนและรุนแรงกว่าในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรมาก 

 

หลายๆ คนอาจสงสัยว่าการ์ตูนล้อการเมืองจะยังคงสภาพเป็นพื้นที่ในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือขั้วอำนาจอยู่หรือไม่?

 

สิ่งที่พบหลังการปฏิรูปการเมืองของ คปค. คือ ไม่มีการแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งต่อ คปค.ในคอลัมน์การ์ตูนล้อการเมืองของหนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับที่เคยสังเกตและวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ ในช่วงของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเลย ตูน"ณาการยังเหน็บแนมและเสียดสี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรด้วยการสื่อความที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง การ์ตูน"ศลและผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมินยังคงเสียดสีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเช่นกัน

 

เราไม่อาจรู้ หรืออนุมานได้ว่าการ์ตูนนิสต์ของหนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับมีความเห็นที่สอดคล้องกับ คปค. หรือไม่ อย่างไร แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ในยุคของคปค. สื่อยังคงถูกแทรกแซงและมีทีท่าว่าจะถูกแทรกแซงอย่างเข้มข้นมากกว่าเดิม และในภาวะเช่นนี้การที่คอลัมน์การ์ตูนล้อการเมืองไม่ปรากฏมีการล้อเลียน วิพากษ์วิจารณ์ หรือเหน็บแนมขั้วอำนาจปัจจุบันให้เห็น คงจะพอบอกเราได้ว่าเมื่อถึงภาวะบีบคั้นอย่างรุนแรง สื่อถูกกดดันอย่างชัดเจน การ์ตูนล้อการเมืองก็อาจไม่ใช่ทางออกที่แนบเนียนในการเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้นำประเทศ

 

บางทีสิ่งที่แย่ที่สุดในขณะนี้อาจไม่ใช่การที่การ์ตูนล้อการเมืองไม่สามารถเป็นช่องทางวิพากษ์รัฐบาลหรือขั้วอำนาจ แต่เป็นการที่ต่อไปนี้เราอาจจะ "ขำไม่ออก" เวลาอ่านการ์ตูนล้อการเมืองแล้วต่างหาก.

 








บทความทั้งหมด

 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : จุดยืนยอดแย่
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : ยังมีโอกาสแก้ตัว
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : ใครโง่ ?
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : แม่น้ำมูลกับปลาแซลมอน
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : เซ็กส์ยังคงเย้ายวน
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : จะส่องไฟไปทำไม
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : พูดมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : แห่นางแมว: ฝนไม่ตก ก็สุขได้
 มุมคิดจากนักเขียนน้อย: อยู่ได้อย่างเป็นสุข (ในใจ)
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : กฎอัยการศึกฉบับป่าชุมชน

 มุมคิดจากนักเรียนน้อย:น้อมรับพระราชดำรัส พูดง่ายแต่ทำยาก

 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : แก้มลิง
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : Children of Heaven เรื่องเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่
 
มุมคิดจากนักเรียนน้อย : ชนะเลิศ...ได้ "ที่สาม"
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : สิทธิบัตรชีวิต
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ โอกาสหรือหายนะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท