Skip to main content
sharethis

ทรรศนะที่แตกต่างในนิยามของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ทำให้การตีความหมายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่างกันออกไปด้วย  ความพอเพียง ในทรรศนะของคนรวยย่อมต่างจาก พอเพียงของคนจน   พอเพียงที่ออกจากปากอภิมหาเศรษฐีแสนล้าน ย่อมต่างจากคนที่เป็นหนี้ ธ...  แสนบาท อย่างแน่นอน


 


ช่องว่างตรงนี้เองที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันจึงยังหาจุดลงตัวไม่ได้สักที    ที่สำคัญกรอบคิดของผู้นำประเทศที่ผ่านๆมานอกจากไม่ชัดเจนในเชิงปรัชญาแล้ว  ยังขาดความจริงใจและยังอาศัยวาทะกรรม "เศรษฐกิจพอเพียง" ไปใช้ในทางการเมืองมากกว่าที่จะสร้างรูปธรรมในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะรัฐบาลในยุคประชานิยมครองเมือง  ที่ปากพร่ำคำว่า พอเพียง ๆ ขณะเดียวกันก็เปิดประตูบ้านให้ต่างชาติมาถล่มทลายภาคเกษตรกรรมและกลุ่มธุรกิจชุมชนซะจนราบคาบไปตาม ๆกัน  แล้วอย่างนี้ความฝันที่ประเทศไทยจะเป็นต้นแบบประเทศเศรษฐกิจพอเพียงจะมีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่


 


วิทยากร    เชียงกูล ผู้อำนวยการวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต  แสดงทรรศนะต่อเรื่องนี้ในเวทีเสวนาย่อยภายใต้ประเด็น  "เศรษฐศาสตร์ทางเลือก" ในงานสมัชชาสังคมไทย (TSF: Thai Social Forum) ครั้งที่ 1 (21-23 ..) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งจัดโดย เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน  เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายศิลปิน  นักวิชาการ  นักศึกษา และองค์กรภาคีต่าง ๆ


 


ผู้อำนวยการวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม  .รังสิต  กล่าวว่า  เศรษฐกิจพอเพียง ที่พูดถึงกันในปัจจุบันเป็นเพียงปรัชญาการดำเนินชีวิต   แต่ยังไม่ได้พูดคุยกันในทางระบบเศรษฐกิจ  เพราะไม่ได้พูดถึงการจัดโครงสร้างอำนาจทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ เช่น การปฏิรูปที่ดิน การผลักดันระบบสหกรณ์  อีกทั้งคำว่าพอเพียงยังเป็นอัตวิสัย ขึ้นอยู่กับการตีความ ดังจะเห็นว่า รัฐมนตรีบางคนมองว่าความพอเพียงไม่ได้ขัดกับการค้าเสรี การทำเอฟทีเอ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพียงแต่เขาอาจทำให้ทุนนิยมก้าวช้าลงอีกหน่อย


 


"ประเทศไทยเป็นทุนนิยมแบบผูกขาด  จะเรียกตัวเองให้ดูดีหน่อยว่า "ตลาดเสรี" หรือ ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ผูกขาดหรือค่อนข้างผูกขาด อยู่ในมือบริษัทไม่กี่บริษัท มีการเอาเปรียบทรัพยากรและแรงงานอย่าง มหาศาล  การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม  ทั้งยังเป็นทุนนิยมบริวารของประเทศพัฒนาแล้ว แต่ไม่ใช่ต้องการให้ปิดประเทศ เพียงแต่เปิดให้แคบลงหน่อย พึ่งพาต่างประเทศให้น้อยลง คือฟื้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ได้ก่อนค่อยเปิดให้ต่างชาติเข้ามา " วิทยากร กล่าว


 


ผู้อำนวยการวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม  .รังสิต  เสนอแนะว่า  ควรจะนำเอาข้อดีของระบอบสังคมนิยม และระบอบทุนนิยมมาปรับใช้   ระบบสหกรณ์เป็นความพยายามที่จะแก้ไขความบกพร่องของทุนนิยมแต่ถูกจัดการภายใต้ระบบราชการซึ่งจุดอ่อนคือการวางแผนมาจากศูนย์กลางต่างคนต่างทำ  กระจายไม่ทั่วถึง จึงไม่ประสบผลเท่าที่ควร


 


ผู้อำนวยการวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม  .รังสิต  กล่าวทิ้งท้ายว่า  ระบบเศรษฐกิจทางเลือกที่ดี จะต้องมีปัจจัย 3 อย่าง คือ 1. ต้องมีประสิทธิภาพใช้แรงงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า 2. ต้องมีความเป็นธรรมมิใช่ ทำแค่เพียงฉาบฉวย เช่นกรณีที่รัฐบาลทักษิณนำเงินอนาคตไปใช้ในโครงการต่างๆ แต่เน้นให้บริโภคซึ่งเป็นเรื่องการตลาด แต่ไม่ได้ปฏิรูปให้คนมีความเข้มแข็งและมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  3.ต้องมีความยั่งยืนทั้งตัวเราและลูกหลานในอนาคต


 


ฐิติพร   ศิริพันธ์  พันธเสน  อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องพูดถึงเศรษฐกิจทางเลือกเพราะว่า ที่ผ่านมาพบความผิดพลาดของระบบทุนนิยมโลกหลายประการโดยเฉพาะการเร่งให้คนอยากรวยเร็ว  ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ดึงคนออกจากท้องถิ่น ทำลายสิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็อธิบายความสัมพันธ์ของมนุษย์ในการแลกเปลี่ยนสินค้าเพียงด้านเดียว  ไม่สนใจมิติอื่นๆ   จึงได้เกิดปรากฏการณ์แอนตี้สังคมขึ้นแทบทุกมุมโลก เช่น ขบวนการอาสาอยู่อย่างเรียบง่ายในแคนาดา หมู่บ้านนิเวศในหลายประเทศ โดยผู้คนจำนวนมากต้องการมีเศรษฐกิจขนาดเล็กและไม่เป็นทางการ


 


"แก่นแกนของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่พอจะสรุปได้  คือการพัฒนาอย่างเป็นธรรม และเป็นแนวคิดที่ไม่ปฏิเสธคุณค่าอื่นๆ ในระบบการผลิต ไม่ปฏิเสธศีลธรรม จิตวิญญาณ  หากถามว่าเอามาทดแทนทุนนิยมได้ไหม  ก็คงต้องยอมรับว่าเริ่มแรกคงต้องอยู่แบบประนีประนอมกันไปก่อน     แต่ในการอยู่ร่วมกันนั้นต้องรู้เท่าทันทุนนิยม และทดลองทางเลือกต่างๆ ที่แตกต่างกันไปตามจริต ความสามารถของแต่ละกลุ่ม ซึ่งอาจมีหลายระดับของทางเลือก ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมเตือนตัวเองว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เริ่มจากจุดเล็กๆ เสมอ" ฐิติพร กล่าว


 


แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา  เพียงแต่การที่รัฐบาลได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยว  โดยเน้นหนักไปทางเกษตรเคมี   ระบบการผลิตแบบพึ่งตนเอง จึงเปลี่ยนไปเป็นระบบการผลิตที่พึ่งคนอื่นมากขึ้นไม่ว่าจะเรื่องเมล็ดพันธุ์   ปุ๋ย  ยาฆ่าแมลง  ไปจนถึงเรื่องการตลาด จึงเป็นสาเหตุให้เราหนีห่าง "วิถีแห่งความพอเพียง"  ไปผูกติดกับระบบการผลิตที่ต้องพึ่งพาภายนอกมากขึ้น  มุมมองเรื่องนี้ของกลุ่มที่เป็นผู้ผลิตทั้งในระบบเกษตรกรรม   อุตสาหกรรม  รวมทั้งกลุ่มตัวแทนผู้บริโภคผู้แสวงหาทางเลือกที่ดีสำหรับสุขภาพจะเป็นอย่างไร


 


พูนศักดิ์ สมบูรณ์ ตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก  (อรหันต์ชาวนา-รายการคนค้นฅน)   กล่าวว่า  ตนอาจไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงดีนัก  แต่วิถีปกติตนก็ทำอยู่ทำกินอยู่แล้ว  ไม่ได้ยื้อแย่งใคร ไม่ได้เอาเปรียบใคร   คิดว่าทำยังไงให้เราอยู่รอด มีความสุข โดยไม่เบียดเบียนใคร พ่อแม่ถ่ายทอดมาอย่างนี้เราก็รักษาไว้ ไม่อยากร่ำเรียนสูงๆ จบแค่ ป.6 ก็สบายใจแล้ว 


 


"ถ้าเศรษฐกิจคือการเอาเปรียบ  ความพอเพียงเฉพาะตัวเองคนเดียวไม่พอ  ต้องแบ่งปันความรู้  อยู่อย่างมีความสุข เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา ทำนา เพาะเห็ด ทำแบบมีความสุข ใครจะเป็นผู้แทนฯ ใครเป็นนายกฯ ไม่เคยสนใจ"


 


พูนศักดิ์ กล่าวต่อว่า  ตนได้มีโอกาสออกรายการโทรทัศน์ (คนค้นฅน)มีแต่คนที่อยู่ไกลๆให้ความสนใจ   แต่คนในท้องถิ่นใกล้ๆ ไม่ให้ความสนใจ  ทางการเองก็ไม่สนใจ  ทั้งที่ควรจะเข้ามาเพื่อจะได้เรียนรู้ร่วมกัน เป็นกำลังใจให้กันและกัน  เศรษฐกิจพอเพียงจะเกิดขึ้นไม่ได้  ถ้ารากหญ้าไม่พอเพียง เมื่อไม่พอเพียงมันจะเกื้อกูลกันได้อย่างไร 


 


ต่อคำถามที่ว่า  คนที่เป็นหนี้มากๆ จะกลับมาทำเศรษฐกิจ พอเพียงได้ไหม  พูนศักดิ์ อธิบายสั้น ๆว่า ความเห็นของตนคืออยากให้เกิดโรงเรียนชาวนาเกิดขึ้นในพื้นที่เล็กๆของแต่ละชุมชน      เพื่อเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างน้อยเดือนละครั้ง มาคุยกัน ทำได้ไม่ได้จะได้รู้ไปด้วยกัน  หนี้สินเป็นปัจจัยที่ชาวบ้านก็หนักใจ   แต่วัฒนธรรมเดิมชาวบ้าน การเอื้ออาทรมาอันดับหนึ่ง  เงินเป็นอันดับถัดไป  และเราจะประสบความสำเร็จได้ก็ด้วยวิธีนี้   ชาวนาจากยโสธรกล่าว


 


กัลยา  อ่อนศรี   ตัวแทนชุมชนทัพไท  เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก  .สุรินทร์ ย้อนประสบการณ์ให้ฟังว่า บทเรียนจากการส่งเสริมให้ทำเกษตรเคมี  เกษตรเชิงเดี่ยว ที่ต้องใช้ปุ๋ย ใช้ยาฆ่าแมลงได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญผลผลิตของเราก็ไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ ทำนา 1 ปี เป็นหนี้ 1 หมื่น ทำ 2 ปีเป็นหนี้ 2 หมื่น  จึงได้หันกลับมาทำเกษตรอินทรีย์ดู  


 


"เริ่มจากการทำนาอินทรีย์ทำแล้วก็ประเมินทุกปีผลก็คือทำนาอินทรีย์อย่างเดียวเราอยู่ไม่ได้  มันไม่ใช่ทางออกจึงได้ประชุมเครือข่ายฯและได้มติว่าเราต้องปลูกพืชผักหลังนา (พืชหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ) ซึ่งต้องปลูกแบบอินทรีย์ด้วย เพื่อสร้างรายได้เสริมจากการทำนา   โดยจะมีการประเมินรายรับ รายจ่ายกันทุก ๆ 3 เดือน ปรากฏว่ารายได้ของแต่ละครัวเรือนดีขึ้น   ครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาอย่างอบอุ่น  และลูกหลานก็ได้เรียนรู้เทคนิคเรื่องการเกษตรไปด้วย เพราะทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีใครสนใจที่จะมาทำเกษตรแล้ว"


 


กัลยา  เล่าต่ออีกว่า  ภายหลังที่ทางเครือข่ายได้หันมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มตัวแล้ว  ก้าวต่อไปคือต้องหาตลาดของเราเองโดยเราเรียกตลาดเราว่า  "ตลาดสีเขียว" เป็นลักษณะ ตลาดทางเลือก ซึ่งกว่าที่ตลาดสีเขียวจะเป็นรูปเป็นร่างได้ต้องต่อสู้ทางความคิดกับทั้งเทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด สุดท้ายเขาก็ยอมยกพื้นที่สวนสาธารณะ(สวนรัก)ให้เราเปิดตลาด   พอมีตลาดสมาชิกเครือข่ายก็มีรายได้สัปดาห์ล่ะ 700- 1,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นตัวชี้วัดได้ว่า เครือข่ายเราสามารถพึ่งตนเองได้ระดับหนึ่ง  คือเรามีการผลิตแบบอินทรีย์มีตลาดสีเขียวเพื่อผู้บริโภค  ซึ่งหลังจากทำตลาดมาได้ 3 ปี  เราก็สามารถซื้อใจผู้บริโภคที่เป็นคนเมืองได้


 


กัลยา กล่าวทิ้งท้ายว่า ต่อแนวคิดเรื่องการค้าเสรี ทางเครือข่ายเราจะให้ความรู้กับสมาชิกให้รู้เท่าทันสถานการณ์ตลอด   โดยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเรา มีแนวทางชัดเจนคือการปฏิเสธนโยบายเขตการค้าเสรี เพราะ  อย่างน้อยตลาดทางเลือกที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบันเราก็สามารถกำหนดราคาร่วมกับผู้บริโภคได้อย่างเป็นธรรม  ถ้าเรายอมรับการเปิดเขตค้าเสรีตลาดทางเลือกของเราต้องถูกทำลายลงอย่างแน่นอน


 


นฤมล   จิรวราพันธ์  กลุ่มผู้บริโภคสนับสนุนเกษตรกร (Consumer  Support Agriculture)   กล่าวว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันจะหาซื้อผลผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์นั่นยากมาก เราไปซื้อตามห้างสรรพสินค้าก็ไม่มั่นใจว่าจะปลอดภัยจริงไหม   บังเอิญว่าตัวเองมีโอกาสได้พบกับคุณรวิวรรณและประยงค์ ศรีทอง ซึ่งทำงานกับคนกลุ่มน้องกระเหรี่ยงในอ.ด่านช้าง และรวมกลุ่มชาวบ้านทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเธอเล่าให้ฟังว่าแต่ก่อน เคยทำตลาดกับเลมอนฟาร์ม (บางจาก)ซึ่งผลผลิตไม่สวย ผู้บริโภคไม่ซื้อ ถูกตีกลับ แต่เธอก็ไม่ย่อท้อเลยปรับมาทำเป็นรูปแบบ   "โครงการผักใจประสานใจ"  ซึ่งโครงการนี้เป็นมากกว่าเรื่องการซื้อขายทั่ว ไปแต่เน้นเรื่องความสัมพันธ์ของผู้ผลิตที่รู้ว่าจะปลูกให้ใครกิน และผู้บริโภครู้ว่ากินผักจากใครปลูก       


 


นฤมล  เล่าถึงขั้นตอนการรับผักจากโครงการฯให้ฟังว่า  ผู้บริโภคจะโอนเงินก้อนให้กับผู้ผลิต เหมือนเป็นการลงทุนร่วม มีการประชุมประจำปี เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาระหว่างกัน ถ้าสภาพอากาศเหมาะสมก็จะได้ผักมาก ถ้ามีปัญหาก็ได้ผักน้อย ผักที่ได้จะรวมเป็นค่าจัดการต่างๆไปด้วย ส่วนประเด็นที่ผู้บริโภคต้องปรับเปลี่ยนคือ ผู้บริโภคต้องปรับมุมมอง กินผักตามฤดูกาล และดัดแปลงเมนูตามผักที่มี


 


 "สำหรับผู้บริโภคนั้นถือว่าระบบแบบนี้เป็นมากกว่าเรื่องสุขภาพ   เพราะนอกจากจะได้ผักที่ปลอดภัยแก่ตนเองและครอบครัว  ยังถือเป็นการลงทุนระยะยาวให้กับสุขภาพคือเราลงทุนกับเรื่องนี้อาจจะสูงหน่อยแต่ก็คุ้มค่าเมื่อเทียบกับที่ต้องไปรักษาพยาบาล  และที่สำคัญเราได้เป็นส่วนหนึ่งของพลังบุกเบิกเพื่อสังคมใหม่ที่พึ่งพาตนเอง และมีเพื่อนร่วมทางมากมาย" ตัวแทนผู้บริโภคกล่าว


 


ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้จำกัดแต่เพียงเรื่องการเกษตรเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง ความพอเพียงในการดำเนินชีวิตโดยทั่ว ๆ ด้วย   ความหลากหลายของสาขาอาชีพต่าง ๆก็มีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องเข้าใจแก่นแท้ของ เศรษฐกิจพอเพียง  และการพึ่งตนเองให้ได้บนฐานอาชีพที่ตนดำรงอยู่  


 


"กลุ่มสมานฉันท์" และโรงงานในฝันของพวกเขา เป็นอีกมุมหนึ่งที่สะท้อนภาพการแสวงหารูปแบบการพึ่งตนเองของกลุ่มผู้ใช้แรงงานภาคอุตสาหรรมในเมืองใหญ่ที่ก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาจากประสบการณ์การต่อสู้กับนายจ้างในระบอบทุนนิยมที่ขูดรีด  


 


"ถ้าบอกว่าข้าวทุกเม็ดมาจากหยาดเหงื่อและน้ำตาชาวนา   เราก็ต้องบอกว่าเสื้อผ้าทุกตัว  รองเท้าทุกคู่  เครื่องประดับต่างๆทุกชิ้น  ที่คุณสวมใส่ก็มาจากหยาดเหงื่อและน้ำตาของผู้ใช้แรงงานอย่างพวกเราเหมือนกัน " มานพ   แก้วผกา  สมาชิกกลุ่ม กลุ่มสมานฉันท์  เปรยขึ้นในเวทีเดียวกัน


 


มานพ   ถ่ายทอดประสบการณ์ของกลุ่มกว่าจะเกิดเป็นโรงงานสมานฉันท์ให้ฟังว่า  โรงงานสมานฉันท์ของพวกเราเกิดขึ้นมาจากการรับแรงกดขี่ เอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างอีกต่อไปไม่ไหว  ภายหลังการต่อสู้เมื่อปี2546 เพื่อเรียกร้องค่าจ้างแรงงานที่ถูกบริษัท "เบดแอนด์บาธ" ลอยแพจนต้องปักหลักต่อสู้เรียกร้องใต้ถุนกระทรวงแรงงานกว่า 3 เดือน การต่อสู้ครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเรารวมกลุ่มกันขึ้นมาภายใต้แบรนด์เนม  " Dignity Returns" คือการกลับมาอย่างมีศักดิ์ศรีของกรรมกร เรียกได้ว่าโรงงานเล็ก ๆของเราถือเป็นโรงงานแรกที่เกิดจากความฝันที่อยากเห็นโรงงานเป็นของคนงานเอง ปราศจากการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ขูดรีด


 


"แม้ว่าคนภายนอกจะมองว่า เรายังต้องทำงานหนักไม่ต่างจากโรงงานอื่น ๆ แต่พวกเรารู้ว่ามันต่างกันมากเพราะโรงงานของเราไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ  ไม่มีเสียงขู่ตะคอกจากนายจ้าง มีเพียงการว่ากล่าวตักเตือนกันบ้างเล็กน้อย  และไม่มีการสั่งการ   เพราะที่นี่มีแต่ความเสมอภาค  ทุกคนมีรายได้ที่เท่าเทียมกันหมด  วันหยุดก็สามารถกำหนดเองได้    ที่สำคัญที่สุดที่นี่คือโรงงานของพวกเราเอง" มานพกล่าว


 


มานพ กล่าวทิ้งท้ายว่า  ความฝันสูงสุดคืออยากให้โรงงานเติบโตและอยู่ได้ด้วยตัวเองจะได้เป็นแบบอย่าง   เป็นความหวังให้เพื่อนผู้ใช้แรงงานและจะได้แบ่งปันผลกำไรมาช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานแรงงานที่ประสบปัญหา


           


การค้นหาความหมายของคำว่า "พอ" ยังเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับมนุษย์ผู้มากด้วยกิเลสและตัณหา เช่นเดียวกับ ความหมายของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะนำมาอธิบายบริบทของสังคมที่เคลื่อนไหวอยู่ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ได้ทั้งหมด  สำคัญที่ว่าเราจะนำแก่นแท้ของปรัชญาความพอเพียง มาปรับใช้อย่างไรให้ตัวเองอยู่ได้   คนอื่นอยู่ได้อย่างมีความสุขและเกื้อกูลต่อกัน  โดยไม่เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป.


 


 


มนูญ   มุ่งชู


สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net