Skip to main content
sharethis


บรรยากาศอึมครึมหลังคณะทหารก้าวเข้าปกครองประเทศยังดำเนินต่อไป พร้อมๆ คำสั่ง-ประกาศ-แถลงการณ์หลายฉบับจากคณะปฏิรูปฯ ที่ทยอยออกมาให้ประชาชนยึดถือในช่วงยังไม่มีธรรมนูญใดๆ หนึ่งในนั้นคือการ "ขอความร่วมมือ" จากสื่อมวลชนในการเสนอข่าวที่สร้างสรรค์ไปในทางเดียวกัน


 


เท่าที่ปรากฏอาจนับว่าได้รับความร่วมมือดียิ่ง...


 


แต่ลึกลงไปกว่านั้น คลื่นคนที่ต่อต้าน ตั้งคำถาม ไม่เห็นด้วยต่อการรัฐประหารครั้งนี้ พากันหลั่งไหลมาสู่โลกไซเบอร์สเปซ ไม่ว่าจะเป็นคนมีชื่อเสียงหรือคนเดินถนนทั่วไป มีการสร้างพื้นที่สาธารณะในการวิพากษ์วิจารณ์คณะปฏิรูปฯ มีการออกแถลงการณ์ประณาม เรียกร้อง ตลอดจนแลกเปลี่ยนข่าวสาร ความคิดเห็นกันอุตลุดในอินเตอร์เน็ต


 


ไม่นานนัก เว็บบอร์ดทยอยปิดตัวลง หลังจากคนดูแลเว็บรู้สึก "เกินควบคุม" กับความคิดเห็นที่ทั้งเร็ว แรง และมีจำนวนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เว็บไซต์ต่อต้านรัฐหารบางแห่ง เช่น 19 sep.net ไม่คิดจะปิดตัวเองแต่ก็ถูกปิดโดยบางอย่างไม่ทราบสัญชาติ ทำให้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่มีน้อยอยู่แล้วเริ่มแคบเข้าทุกทีๆ


 


ปรากฏการณ์นี้ทำให้สมาคมนักข่าวฯ สนใจจัดเสวนา "ที่ทางของสื่อทางเลือก (New Media) ในบรรยากาศแห่งความกลัว" เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยเชิญหลายกลุ่มเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น สมบัติ บุญงามอนงค์จากมูลนิธิกระจกเงา ผู้ก่อตั้งเว็บ 19 sep.org จีรนุช เปรมชัยพร ผู้จัดการเว็บไซต์ประชาไท ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการข่าวประชาไท  ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล อาจารย์คณะวิศวะคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และภูมิจิตร ยอง จากสมาคมผู้ดูแลเว็บ


 


จีรนุช เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ประชาไทยังคงนำเสนอข่าวโดยใช้วิจารณญาณของตนเองเป็นหลัก และเปิดกว้างต่อการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะสนับสนุนหรือต่อต้านรัฐประหาร ทำให้ผู้อ่านประชาไทมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าตัว อย่างไรก็ตาม มีการปิดเว็บบอร์ดทั้งหมดชั่วคราวเพื่อคัดกรองการแสดงความคิดเห็นอยู่บ้าง หลังจากทางไอซีทีโทรแจ้งให้ดำเนินการด่วน และในช่วงหลังมีการป่วนเว็บบอร์ดโดยบุคคลไม่ทราบกลุ่มด้วยการตั้งกระทู้ซ้ำๆ กันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งที่เป็นถ้อยคำที่หยาบคาย  ทำให้ต้องปิดเว็บบอร์ดเพื่อจัดการอยู่เป็นระยะ แต่ประชาไทยังคงยืนยันจะทำหน้าที่ต่อไป พร้อมทั้งเตรียมแผนสำรองไว้ในกรณีที่ถูกปิด


 


"สังคมกำลังถูกสถาปนาความกลัวขึ้นมา โดยใช้เครื่องมือคือคำว่า "ความสงบเรียบร้อย" และคนในสังคมก็ยอมรับเงื่อนไขที่ถูกจำกัดสิทธิเพราะต้องการให้สังคมสงบสุข มันทำให้ตอนนี้ทั้งคนอ่าน คนเขียน ล้วนหวาดระแวงในการแสดงความเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล อันที่จริงแล้วแม้คณะปฏิรูปฯ จะฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไปแล้ว แต่สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารยังเป็นเรื่องที่ต้องเคารพ และมี article19-องค์กรสิทธิมนุษยชนสากลให้การรับรองเรื่องนี้อยู่" จีรนุชกล่าว


 


ส่วนของเว็บไซต์ 19 sep.org ที่ถูกปิดไปนั้น สมบัติ หรือบก.ลายจุด ให้ข้อมูลว่า ในเบื้องต้นต้องการให้สังคมได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนถกเถียงกันถึงสถานการณ์บ้านเมืองได้อย่างเสรี แต่กลับถูกกระทรวงไอซีทีปิด โดยการปิด server ซึ่งเว็บไซต์อื่นๆ 20-30 เว็บใน server เดียวกันก็พลอยถูกปิดไปด้วย ต่อมาได้เปิดเว็บไซต์อีกครั้งในชื่อ 19sep.net โดยมี server อยู่ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อเริ่มเปิดได้เพียง 2 ชั่วโมง ก็ไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ได้ ทั้งยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนปิด สอบถามไปยังผู้ให้บริการก็ไม่สามารถตอบได้ ด้านไอซีทีก็ยืนยันว่าไม่ได้สั่งปิด สุดท้ายเมื่อขู่ว่าจะฟ้อง ทางผู้ให้บริการก็บอกว่า แก้ปัญหาได้แล้ว โดยบอกว่า เป็นการ bypass proxy ซึ่งเป็นการเอาชื่อเว็บไซต์ออกไป


 


"สิทธิในการแสดงความเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่ว่ารัฐบาลฉ้อฉล หรือรัฐบาลยึดอำนาจก็ไม่สามารถเอาสิทธินี้ไป ผมรู้สึกว่าคนที่คิดว่าความหลากหลายทางความคิดเป็นสิ่งไม่สมควร คนคิดต่างคือผู้ไม่หวังดี ถ้าคิดอย่างนี้สิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่มันก็จะไม่นำไปสู่ประชาธิปไตย เพราะเราไม่มีทางปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประชาธิปไตยได้ภายใต้ความกลัว และนิวมีเดียก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะยืนยันสิทธิตรงนี้" บก.ลายจุด กล่าว


 


เขายืนยันด้วยว่า การปิดเว็บนั้นกระทำได้ หากพบว่ามีการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ในกรณีเว็บ 19 sep.org ผู้มีอำนาจต้องกระทำอย่างโปร่งใสตามกระบวนการทางกฎหมาย และต้องมีการพิสูจน์ว่าสิทธิของเขานั้นผิดกฎหมาย หรือผิดตามคำสั่งคณะปฏิรูปอย่างไร


 


ดร.จิตร์ทัศน์ กล่าวว่า การคุกคามสื่อนั้นมีมานานแล้ว และเป็นสิ่งที่รัฐเผด็จการทำกันเป็นปกติ คำถามคือสื่ออินเตอร์เน็ตจะหลุดพ้นจากการปิดกั้นไปได้อย่างไร การรวมศูนย์เช่น การเปิดเว็บไซต์ให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนข่าวสารก็เป็นการดี แต่ง่ายต่อการถูกปิดกั้น ดังนั้น การกระจายเครือข่ายจำนวนมากจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อ blog เริ่มเป็นที่นิยมในปัจจุบัน "มันต้องเป็นสงครามกองโจร"


 


ภูมิจิตร จากสมาคมผู้ดูแลเว็บ ระบุว่า หากมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในแง่ดี จะพบว่าหลังรัฐประหารและมีการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลทางเว็บไซต์นั้น ผู้คนตื่นตัวกันมาก มีการให้ความรู้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันเองอย่างกว้างขวางในการใช้ proxy หรือการเช็ค IP ซึ่งเรื่องเหล่านี้สมาคมก็เคยจัดอบรมให้ความรู้มายาวนานแต่ยังไม่สามารถสร้างการตื่นตัวได้ขนาดนี้


 


ฐิตินบ โกมลนิมิ จากสมาคมผู้สื่อข่าวฯ กล่าวถึงบทบาทของหนังสือพิมพ์กระแสหลักว่า ที่ผ่านมาเจ้าของสื่อกระแสหลักไม่มีความตระหนักเลยว่า สิทธิของสื่อถูกคุกคามจากการที่คณะปฏิรูปฯ เรียกเข้าพบ และขอความร่วมมือในการนำเสนอข่าว หรือแม้แต่พื้นที่วิชาการ อำนาจก็ยังเข้าไปจัดการ เช่น การลบกระทู้ในเว็บบล็อก go to know การลบความเห็น การแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องรัฐประหารในเว็บวิกีพีเดีย  (wikipedia.org)


 


ฐิตินบยังกล่าวด้วยว่า นอกจากจะให้ความร่วมมือกับคณะปฏิรูปฯ โดยการเสนอข่าวสารสร้างสรรค์ไปในทางเดียวกันแล้ว สื่อกระแสหลักยังพากันสนใจแต่เรื่องการเมือง โดยละเลยการนำเสนอข่าวอื่นๆ เช่น ข่าวแผ่นดินไหวรุนแรงที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อไม่กี่วันนี้ ซึ่งไม่มีสถานโทรทัศน์วิทยุใดที่ประกาศเตือนชาวบ้านเลย


 


ในส่วนขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ฐิตินบระบุว่า องค์กรเหล่านี้ยังคงมีกรอบคิดเก่าๆ ว่าสื่อมวลชนจะต้องเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือวิทยุ เท่านั้น โดยยังไม่ให้การยอมรับว่าสื่อเว็บไซต์หรือสื่ออื่นๆ ถือเป็นสื่อมวลชนที่สามารถสังกัดและได้รับการปกป้องจากองค์กรวิชาชีพด้วย


 


ปิยะพงศ์ ป้องภัย อดีตผู้สื่อข่าวอิสระสายไอที กล่าวเพิ่มเติมถึงจุดอ่อนขององค์กรวิชาชีพสื่อ โดยตั้งคำถามว่า ขณะนี้ผู้สื่อข่าวทางเว็บไซต์ในต่างจังหวัดไม่ได้รับการยอมรับและคุ้มครองจากองค์กรวิชาชีพ ทั้งที่การทำงานในพื้นที่ต่างจังหวัดมีความเสี่ยง หลายคนถูกอิทธิพลมืดทำร้ายถึงแก่ชีวิต


 


นอกจากนี้เขายังเสนอว่า ตราบใดที่เว็บบอร์ดยังไม่มีกฎหมายรองรับว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ ก็จะทำให้โดนปิดได้ง่าย และในกรณีที่เว็บบอร์ดมีการละเมิดจริง ควรจะมีการคุ้มครองเว็บมาสเตอร์ด้วยว่าทำหน้าที่เป็นเพียงคนเฝ้าประตู ไม่ใช่ผู้สมรู้ร่วมคิด กลายเป็นผู้กระทำความผิดด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วเว็บมาสเตอร์ก็จะต้องเซฟตัวเองโดยการปิดเว็บบอร์ดที่สุ่มเสี่ยงทันที ทำให้เสียพื้นที่สาธารณะไปอย่างน่าเสียดาย


 


ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สมาคมฯ ต้องทบทวนอย่างจริงจัง เพราะทุกวันนี้แนวโน้มของพลเมืองนักข่าว (citizen journalist) เริ่มขยายวงกว้างขึ้นทุกที


 


ในส่วนการทำหน้าที่สื่อมวลชนในบรรยากาศแห่งความกลัวนั้น เขาเห็นว่า การต่อสู้เพื่อให้ New Media อยู่รอดในขณะนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าสื่อทางเลือกที่เป็นพื้นที่ของการคัดค้านรัฐประหาร การไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการที่ขาดการมีส่วนร่วมยังสามารถอยู่รอดได้ แม้จะถูกไล่ปิด ถูกคุกคาม สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้มีอำนาจรู้ว่า ไม่สามารถใช้วิธีรัฐประหารในการจัดการปัญหาทางการเมืองได้อีกต่อไป ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าเนื้อหาในเว็บเสียอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net