Skip to main content
sharethis


                          


 


" … เราไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้


 


"เมื่อเราไม่อาจจะย้อนเวลากลับไปได้อีกแล้ว แต่เราสามารถที่จะสร้างอนาคตของเราข้างหน้าได้ แน่นอนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นอุบัติการณ์ทางการเมืองซึ่งภาคประชาชนที่อ่อนแรงอย่างสังคมไทยไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่เป็นผู้เสียหาย เป็นผู้ที่ถูกริบประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิ และสิ่งอื่นๆ ทั้งหมดที่เคยเป็นสิทธิโดยธรรมชาติของเรา ด้วยวิธีการรัฐประหารของคณะนายทหารชุดหนึ่ง แน่นอนสิ่งเหล่านี้คืออุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเราไม่สามารถแก้ไขได้ แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือ การวางอนาคตให้กับสังคมไทยและลูกหลานไทย โดยตัวแทนที่ปรากฎอยู่ต่อหน้าพวกท่านเป็นส่วนหนึ่ง เป็นก้าวเล็กๆ ที่จะบอกว่า เราไม่ยินยอมที่จะถูกปล้นสิทธิโดยธรรมชาติของเราไป และเราไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ด้วยเหตุผลสามประการคือ


 


"ข้อที่ 1 ไม่โปร่งใส , ข้อที่ 2 ไม่มีส่วนร่วม , ข้อที่ 3 ไม่มีการให้ความชอบธรรมโดยผ่านประชามติ


 


"แน่นอนทุกคนอาจสงสัยว่าธรรมนูญชั่วคราวทำไมต้องผ่านการรับรอง  ผมคิดว่าประชาธิปไตยหลังการรัฐประหารของ รสช. 2534 จนถึง ณ วันนี้ 15 - 16 ปี ประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนไทย เติบโตขึ้นมากแล้ว กว่า 16 ปีที่แล้ว สิ่งที่เราอยากทำก็คือ การมีส่วนร่วมทุกสิ่งทุกอย่างกับธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญที่จะมาปกครองเราในอนาคต  ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตาม รวมทั้งธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับนี้ด้วย จึงเป็นธรรมนูณฉบับชั่วคราวที่อยู่ในแนวคิดของนักรัฐประหารในโลกใบเก่าในโลกที่ล้าหลัง ซึ่งเราไม่อาจยอมรับ ความไม่โปร่งใส การไม่มีส่วนร่วม และการไม่ถูกรับรองจากประชาชนได้ เราไม่สามารถยินยอมให้คน 4-5 คน ปิดห้องประชุมแล้วเขียนธรรมนูญขึ้นมาปกครองคน 60 ล้านคนภายในหนึ่งปี  เราไม่ยินยอมให้คน 4-5 คนทำอะไรในสิ่งที่ไม่มีส่วนร่วม และเราไม่ยอมให้คน 4-5 คนทำอะไร โดยที่เราไม่รับรอง  เราไม่มีฉันทานุมัติ ดังนั้นเราจึงขอทำลายธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ … "


 


… นั่นคือถ้อยแถลงของตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม ก่อนนำทีมคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน "ขัดขืนเชิงสัญลักษณ์*" ด้วยการฉีก "ธรรมนูญฉบับชั่วคราว" ของ คปค. ที่กำลังเถลิงอำนาจอยู่ในขณะนี้ 


 


*การขัดขืนเชิงสัญลักษณ์ เป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดอนาธิปไตยและการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ (New Social Movement) ที่ได้รับการตำหนิติติงจากฝ่ายซ้ายเก่าที่เน้นการต่อสู้โดยยึดอำนาจรัฐบางพวก หรือแม้แต่พวกอนุรักษ์นิยมที่มองว่าเป็นวิธีการของพวก "พั๊งค์" หรือ พวก "เด็กข้างถนน" … แต่วิธีการนี้ก็เป็นเหมือนการแสดงตัวตนในการขัดขืนภายใต้กรอบที่ว่า "คนตัวเล็กๆ ที่ไร้อำนาจ สามารถสร้างวิธีการต่อกรอำนาจได้ตามแบบฉบับของพวกเขาเอง หรือสามารถทำให้คนอื่นๆ มาสนใจในปัญหาของตนเองได้ ด้วยวิธีการเชิงสัญลักษณ์" --- ในสังคมไทยก็เคยมีกรณีตัวอย่างให้เห็นเช่น ลุงแก่ๆ แก้ผ้าเหลือแต่กางเกงในตัวเดียวบุกหน้าทำเนียบรัฐบาล , พ่อค้าเอาขี้ใส่ถุงปาหน้ารัฐมนตรี , การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนด้วยการแสดงการละเล่นพื้นบ้าน , การเอาขี้มาราดตัวเอง , หรือแม้แต่การสวมชุดดำไว้ทุกข์ให้กับ การรัฐประหารครั้งนี้ เป็นต้น (แต่คนผมยาวที่ฉีกบัตรเลือกตั้งนั้นไม่ใช่อนาคิสต์แน่นอน เขาเคยบอกว่าเขาเป็น เพลโตเรี่ยน ;-)  


 


รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม แห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นปัญญาชนน้อยคนนักของสังคมไทยในปัจจุบัน ที่ริเริ่มการใช้วิธีขัดขืนเชิงสัญลักษณ์แปลกๆ ในการ "ต่อกร" กับ "อำนาจที่ผิด" เช่น เคยติดสติ๊กเกอร์ไว้ท้ายรถส่วนตัวข้อความ "ใครไม่ชอบทักษิณให้กดแตร" ในตอนที่สังคมไทยยังมีปัญหากับการใช้อำนาจของชายที่ชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" (แน่นอนว่าช่วงนั้นเสียงแตรดังสนั่นหวั่นไหวในทุกที่ที่รถของอาจารย์สมเกียรติผ่านไป) หรือในครั้งล่าสุดนี้ อาจารย์สมเกียรติ ก็เสนอให้ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัว "เปิดไฟหน้า" เพื่อให้สังคมไทย "มีแสงสว่าง" ในการมองหาเสรีภาพ-ประชาธิปไตย ที่ถูก คปค. นำไปปู้ยี่ปู้ยำ


 


และหากใครตามงานเขียนงานแปล หรือการบรรยายทางวิชาการของ อ.สมเกียรติ ในช่วงหลังๆ แล้ว จะพบว่า อาจารย์กำลังให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่อง "public sphere" ของ "Habermas" อยู่


 


ซึ่งถึงแม้ว่าเงินตราในยุคสมัยของทักษิณหรือกระสุนปืนในลำกล้องรถถังในยุคของ คปค. มันจะซื้อหาและขู่เข็ญหรือปล้นเอา Public sphere ในสังคมไทยไปพอสมควร แต่ทีมงานของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (ตั้งแต่ภารโรงยันอธิการฯ) ยังคงช่วยกันรักษา "public sphere" พื้นที่เล็กๆ แบ็คกราวนด์สีทึมๆ นั้นไว้อย่างขยันขันแข็ง!


 


0 0 0




  


 


ต่อจากนี้ไป ม.เที่ยงคืนจะมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางไหน?


… ภายใต้บรรยากาศการรัฐประหาร มันมีประกาศคำสั่งออกมาทุกวันแล้วแต่ว่าบรรยากาศช่วงนั้นมันจะเปลี่ยนแปลงไป ถ้าถามว่ามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะเคลื่อนไหวแบบไหน? เรากำหนดอนาคตหรือสถานการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ แต่เราเคลื่อนไหวแน่นอน


 


หลักการของเรา … คือถ้า อะไรก็ตามที่ไปละเมิดสิทธิหรือธรรมชาติสิทธิของปวงชนชาวไทย เราเคลื่อนไหวแน่นอน เรามี "Natural Right" ที่จะทำ 


 


อาจารย์คิดยังไงกับกระแสที่คนไทยออกไปค่ายรูปกับรถถัง? … ใช้กล้องดิจิตอล , แฟชั่นตะวันตก ดูเหมือนว่าเราได้แต่ด่าๆ วัฒนธรรมตะวันตกที่เลวๆ โดยเฉพาะสิ่งฟุ่มเฟือยเหล่านี้ แต่เราก็รับมันมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ … แต่สิ่งที่ดีที่สุดของอารยธรรมตะวันตกก็คือ "จิตสำนึกแห่งเสรีภาพ" ซึ่งเหมือนกับว่าเราไม่ได้รับมันมาเลย ?


ผมคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ผ่อนคลายจากความขัดแย้งมากกว่า นี่มันเป็นพฤติกรรมในเชิงจิตวิทยาหลังจากที่ถูกกดอัดกดบีบ โดยบรรยากาศที่มันกดดันอารมณ์มาตลอดระยะเวลา 8 เดือน --- บรรยายกาศแบบนี้ผมว่ามันเป็นบรรยากาศของ "ความผ่อนคลาย" ซึ่งคงจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากที่พวกเขาเข้าใจถึงสถานการณ์แล้ว


 


อีกอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านไป 16 ปี (รัฐประหารหนก่อนโดย รสช.) มันทำให้คนรุ่นใหม่แทบที่จะไม่รู้จักมันเลย แม้แต่คนอายุ 20 กว่าที่ไปแต่งงานหน้ารถถัง เรียกว่า "มนต์รักรถถังก็แล้วกัน" ไอ้มนต์รักรถถังแบบนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นคนหนุ่มอายุ 20 กว่าๆ ซึ่งรัฐประหารปี 34 เขาอายุ 4 ขวบ ลูกของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ผมรู้จัก อายุ 16 ปีและตอนนี้ก็ไปเรียนเมืองนอก เพื่อนฝรั่งถามถึงว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสังคมคุณ? เขายังตอบไม่ได้ ต้องโทรมาถามพ่อของเขาที่เมืองไทยว่ามันเป็นอย่างไร … พวกเขาไม่รู้เรื่องกันหรอก คนรุ่นใหม่ที่อายุ 20 กว่า ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับเขา


 


อาจารย์คิดว่าเราต้องให้ชาวบ้านรากหญ้ามีความเข้าใจในสถานการณ์ และเป็นหน้าที่ของใครในการเป็นกระบอกเสียง?


ผมคิดว่าทุกส่วนที่ทำงานประเภทนี้ได้ ให้ทำเลย ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน, NGOs , ครูบาอาจารย์ ที่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ ควรจะชี้แจง คือ ทุกคนสามารถที่จะสร้างประชาธิปไตยด้วยก้าวเล็กๆ ของตัวเองได้หมด --- .เที่ยงคืนไม่ใช่ศูนย์กลาง ม.เที่ยงคืนเป็นเพียงส่วนหนึ่งในก้าวเล็กๆ นั้น ในการเรียกร้องสิทธิโดยธรรมชาติ


 


แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนว่าองค์กรภาคประชาชนกำลังสับสนเรื่องนี้อยู่?


คุณต้องแบ่งองค์กรภาคประชาชนเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งโดยหัวคะแนน ส่วนหนึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งโดยภาคประชาชนอย่างแท้จริง เช่น สมัชชาคนจน, บ้านกรูด , บ่อนอก , จะนะ ฯลฯ พวกนี้ NGOs ลงไปจัดตั้ง


 


ผมคิดว่าเวลาเราพูดถึงเราต้องหมวดหมู่และจำแนกมันว่าภาคประชาชนภาคไหน --- แน่นอนพวกภาคประชาชนที่จัดตั้งโดยหัวคะแนนพรรคไทยรักไทยนี่ไม่ฟังแน่นอน หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่เราทำในวันนี้อาจจะเป็นประโยชน์ต่อเขาด้วย ซึ่งเราไม่ได้ให้คำตอบเขา แต่เขาอาจจะเอาไปใช้ด้วย


 


การที่ประชาชนอ่อนแอนั้นดังที่ผมได้แถลงไปนั้น … ยังไงมันต้องอ่อนแอ เพราะเหมือนกับว่าตลอดชีวิตคุณ มันเหมือนกับว่าคุณถูกสั่งโดย "คุณพ่อบุญธรรม" จัดสรรแต่สิ่งดีๆ ให้คุณมาตลอดชีวิต


 


แล้ววันนี้คุณจะลุกขึ้นมาพูดด้วยตัวคุณเอง มันเหมือนกับว่าคุณยังพูดไม่เป็น … แต่นี่ก็เป็นเหมือนก้าวเล็กๆ ก้าวหนึ่งที่เราจะเดินไปข้างหน้า --- ต่อไปนี้เราจะ Independence ตัวเอง เราจะเป็นอิสระ เราจะคิดด้วยตัวของเราเองได้ ถือว่าเป็นหลักไมล์ก็แล้วกัน


 


อีกประเด็นคือ ตอนนี้องค์กรภาคประชาชนที่ต้องถอยออกมาจากการประกาศชัยชนะต่อทักษิณในยกแรก แล้วมาต้องลงต่อสู้กับรัฐบาลชุดใหม่ ก็คือองค์กรภาคประชาชนที่ต้านนโยบายเสรีนิยมใหม่ เพราะว่านโยบายทางเศรษฐกิจของ คปค. ก็ยังเดินตามแนวเสรีนิยมใหม่อยู่? แล้วเราควรเคลื่อนไหวไปในทิศทางไหน?


ผมคิดว่าในยุคโลกาภิวัฒน์ เราไม่สามารถที่จะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ได้ แต่เราสามารถเผชิญกับมันแบบชาญฉลาดได้อย่างไร? อย่างเช่นในลาตินอเมริกา โบลิเวียของโมราเลส (Juan Evo Morales Ayma ประธานาธิบดีของโบลิเวีย) เผชิญกับ FTA ด้วยวิธีการที่ชาญฉลาด โดยมุ่งที่ประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ข้อไหนที่ประเทศคู่สัญญาทวิภาคีไม่เป็นเป็นธรรมโมราเลสบอกไม่เอา เขากล้าที่จะปฏิเสธ 


 


ที่เขากล้าปฏิเสธก็เพราะว่าเขามีฐานที่เรียกว่าเป็นฐานภายในของลาตินอเมริการ่วมกันคือ คิวบา เวเนซูเอลา โบลิเวีย ล้วนอยู่ในกลุ่มที่เราเรียกว่า "ปฏิวัติโบลิวาร์" ทั้งสิ้น 


 


กลุ่มนี้สนับสนุนทรัพยากรให้เขา คุณมีแพทย์ไม่พอ ผมส่งแพทย์ให้คุณ คุณมีพลังงานไม่พอผมป้อนพลังงานให้คุณ คุณมีอะไรมาแลกกับผม คือกลุ่มนี้เขามีฐานและมีหลักประกันขั้นพื้นฐานที่สามารถต่อรองได้ ฉะนั้นในเอเชียด้วยกัน ผมคิดว่าวิธีการแบบลาตินอเมริกา คือ มีกลุ่มเล็กๆ ของเราที่พึ่งพิงกันเองได้ เช่น เราพึ่งพิงน้ำมันจาก มาเลเชีย,อินโดนีเชีย แทนที่จะพึ่งจากโอเปค แล้วเราก็เอาข้าวไปให้เขา --- คือเราต้องแลกเปลี่ยนกันแบบนี้ พอเราร่วมกันได้แบบนี้ เราก็จะมีฐานที่จะต่อสู้กับ FTA ที่ไม่เป็นธรรม ปฏิเสธมันได้บางข้อ


 


เสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) มันมีหลักการของมันด้วยกันอยู่ 3 ข้อด้วยกัน คือ ให้ทุนสามารถไหลเวียนได้อย่างอิสระ (Capital flow) อันที่สองคือการถอดถอนอุปสรรคทางด้านกฎหมาย กฎระเบียบภาษีหรืออะไรก็แล้วแต่ (Deregulation) และอันดับที่สามก็คือ เรื่องของของการแปรรูป (Privatization) เพื่อให้ทุนที่ไหลอิสระไปลงทุนในตัวที่มั่นคง


 


เศรษฐกิจและการเกี่ยวพันกับประชาธิปไตยของไทยสังคมเป็นอย่างไร? 


ผมบอกเลยว่า ประชาธิปไตยของเรา ไม่อาจจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยของทุกคนได้ ต้องเรียกว่า "กระฎุมพีธิปไตย" เพราะว่ามันเป็นประชาธิปไตยของชนชั้นกลาง


 


แล้วก็คนที่มีอำนาจที่จะเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจ มันมาจากไม่กี่ส่วนหรอกในสังคมไทย ซึ่งมันเป็นชนชั้นกลางขึ้นไป เช่นกลุ่มของนายกสภาอุตสาหกรรม , สภาหอการค้า และสมาคมธนาคาร สามกลุ่มนี้แหละจะเป็นคนผลักดันเศรษฐกิจ ซึ่งกลุ่มนี้เสนอเรื่องนี้มาตลอด โดยที่ประชาชนไม่สามารถเรียกร้องเศรษฐกิจอีกระบอบหนึ่งไม่ได้เลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net