แกนนำพันธมิตรยืนยันไม่ได้จัดชุมนุมสร้างเงื่อนไขรัฐประหาร

1 ต.ค. 49 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ทำการยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากอาจจะมีการประทะกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมถึงกรณีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 24

 

โดยนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป.กล่าวเรียกร้องถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่า ที่ผ่านมา ประชาชนยังไม่เคยเห็นวิสัยทัศน์ว่าที่นายกรัฐมนตรี ว่าจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาบ้านเมืองและสังคมอย่างไร ดังนั้น ครป.จึงขอเรียกร้องให้ว่าที่นายกรัฐมนตรีแสดงวิสัยทัศน์ นโยบายที่จะนำไปสูความสมานฉันท์ 5 ประการ คือ

 

1.ฟื้นฟูความสมานฉันท์ ลดความรุนแรงไม่สร้างความแตกแยกในสังคม ซึ่งตนเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาในการใช้อำนาจรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ แต่แก้ไขได้เพียงช่วงสั้นๆเท่านั้น

 

2.แก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดภาคใต้ ในฐานะที่ พล.อ.สุรยุทธ์ อดีต ผบ.ทบ. และเคยสัมผัสงานด้านนี้ จึงคาดว่า น่าจะเข้าใจรากเหง้าปัญหาเรื่องดังกล่าว และมีวิธีที่จะคลี่คลายความรุนแรงลงได้

 

3.การปฏิรูปการเมือง ซึ่งเรื่องนี้ต้องยอมรับว่าไม่เคยได้ยินจากคำให้สัมภาษณ์เรื่องนี้เลย ดังนั้น ต่อไปควรจะวางแนวทางบทบาทการเมืองใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร ภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

 

4.บทบาทกองทัพกับการเมือง จากประสบการณ์ในการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2535 ยังประสบปัญหาแทรกแซงจากทหารเพื่อนำไปสู่อำนาจการปกครองเพื่อหาผลประโยชน์ ดังนั้น รัฐบาลใหม่ควรมีวิธีป้องกันในระยะยาว

 

5.คำประกาศการจัดการกับระบอบทักษิณ โดยการส่งสัญญาณไปยัง คณะทำงานตรวจสอบต่างๆ ที่ คปค.ตั้งขึ้นให้ดำเนินการอย่างจริงจัง

 

นายสุริยะใส ยังได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่า พบจุดอ่อน 2-3 เรื่อง อาจจะทำให้การปฏิรูปการเมืองถอยหลังเข้าคลองไม่สามารถแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ เนื่องจาก 1.ร่างรัฐธรรมนูญไม่มีการระบุถึงการใช้อำนาจถ่วงดุลตรวจสอบรัฐบาลเฉพาะกาล ทั้งจากในและนอกระบบรวมถึงจากภาคประชาชน โดยไม่มีการระบุถึงเรื่องดังกล่าวแม้แต่มาตราเดียว 2.ไม่มีหลักประกันหมวดสิทธิเสรีภาพประชาชน ยังไม่ชัดเจนว่าสิทธิส่วนไหนที่ประชาชนสามารถใช้ได้โดยมิถูกละเมิด 3.ที่มาของสภานิติบัญญัติ ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองเก่าที่มีความสัมพันธ์กับอดีตนายกรัฐมนตรีกลับมาได้ ซึ่งอาจมาในรูปแบบ ฝ่ายการเมือง ไปจัดตั้งจดทะเบียนในรูปแบบมูลนิธิ สมาคม เพื่อเป็นสมาชิกสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญ 2,000 คน สุดท้ายก็ให้คณะบุคคลดังกล่าวทำการเลือกกันเองและหนีไม่พ้นจากพวกกลุ่มทุน

 

ด้าน นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษา ครป.และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้กล่าวถึง ข้ออ้างในการยึดอำนาจของ คปค.ที่ระบุว่า จะมีการปะทะนำไปสู่ความรุนแรง จึงเป็นเหตุให้ คปค.ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 ก.ย.นั้น ทางพันธมิตรฯและภาคประชาชน ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง โดยดูได้จากการจัดชุมนุมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น มีการชุมนุมอย่างสันติ ปราศจากอาวุธ เพื่อเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากตำแหน่งทางการเมือง ถึงแม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีการยั่วยุของฝ่ายตรงข้ามเพื่อนำไปสู่ความรุนแรงพันธมิตรฯไม่เคยสนับสนุนให้ฝ่ายเราเข้าร่วมเพื่อให้มีการเผชิญหน้า

 

ทั้งนี้ กำหนดการเดิมในการนัดชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็เป็นไปตามข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯในต่างจังหวัด รวมถึงแกนนำทั้ง 5 คนได้พิจารณาให้เป็นไปตามความยืดหยุ่นของสถานการณ์บ้านเมือง นอกจากนี้ การใช้สถานที่ลานพระบรมรูปทรงม้าก็เป็นสถานที่ที่จะสามารถควบคุมดูแลผู้ชุมนุมได้มากกว่าที่สนามหลวง

 

นายพิภพ กล่าวอีกว่า สภานิติบัญญัติ การร่างรัฐธรรมนูญนั้น คปค.และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ควรแถลงถึงที่มาสภานิติบัญญัติ 2,000 คน ว่ามีที่มาอย่างไร มิเช่นนั้นหากทำไปแล้วจะแก้ไขไม่ได้ไม่เหมือนคำประกาศ คปค.รวมทั้งต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนที่เคยมีประสบการณ์ในการสรรหา เข้าไปมีส่วนร่วม

 

นอกจากนี้ เมื่อมีประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เรื่องที่รัฐบาลต้องทำอย่างเร่งด่วน คือยกเลิกกฎอัยการศึกและการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน รัฐบาลใหม่จะต้องร่วมมือกับ คปค. ตามที่ได้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามา และ คปค.อ้างเรื่องการยึดอำนาจเพราะรัฐบาลที่แล้วบริหารประเทศอย่างไม่เป็นธรรม มีการคอร์รัปชัน คปค.ต้องทำตามที่มีข้อกล่าวหา

 

โดยใช้กระบวนการทางกฎหมายตรวจสอบอย่างเป็นธรรม เพราะการเมืองเมื่อมีการตีกลับจะมีความรุนแรงกว่าเก่า หากไม่มีการกระทำดังที่ประกาศไว้ รวมทั้งต้องนำข้อเสนอของ กอส. ที่เคยเสนอรัฐบาลไปนำกลับมาพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้ ต้องทำความเข้าใจประชาชนที่ยังนิยมชมชอบนโยบายรัฐบาลที่แล้ว โดยรัฐบาลที่มาใหม่ต้องดูว่าจะมีการพิจารณาพัฒนาชาวบ้านโดยเฉพาะเรื่องคนจนอย่างไร

 

นายสุวิทย์ วัดหนู ที่ปรึกษา ครป.กล่าวว่า ตามที่ คปค.ระบุว่า หากมีการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา จะนำไปสู่ความรุนแรง นั้นคงตัดสินลำบาก เป็นการคาดการณ์ระดับหนึ่ง รวมถึงนักวิชาการบางคนระบุว่าจะใช้พันธมิตรฯ เป็นสายล่อฟ้า เพื่อเป็นเหตุนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่เรารับฟัง ทัศนะส่วนตัวก็รับฟังความเห็นทักท้วงเพียงแต่ว่าในสถานการณ์จริงๆ แต่ละสถานการณ์มีเหตุมีปัจจัยอยู่

 

ทั้งนี้ ครป.เคยระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจรัฐประหาร อย่างไรก็ดี ในการชุมนุมในอดีตก็เป็นเครื่องยืนยันที่ดี หากมีการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ก.ย.เราได้มีการวางแผนเตรียมการไว้เป็นอย่างดีหากมีการเคลื่อนย้ายกำลังพล เราสามรถดูแลสถานการณ์ได้

 

ที่ปรึกษา ครป.ยังกล่าวถึงการสร้างความสมานฉันท์ในสังคม ว่า คือการให้สิทธิเสรีภาพในสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่การหยุดทะเลาะกันชั่วคราว แต่ยังมีการเอาเปรียบกันในสังคม แล้วเรียกว่าคือความสมานฉันท์ สิ่งแรกที่รัฐบาลใหม่ควรทำคือยกเลิกกฎอัยการศึกโดยเร็ว คืนสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน

 

อย่างไรก็ดี หลังการยึดอำนาจ รสช.และมีการแต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น ไม่มีการยกร่างพระราชบัญญัติกว่า 300 ฉบับ โดยไม่มีเรื่องใดเกี่ยวพันกับคนยากจนแม้แต่ฉบับเดียว จึงหวังว่าสภานิติบัญญัติภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะให้ความสัมพันธ์เรื่องนี้ด้วยไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ร.บ.ความแออัด เป็นต้น

 

...................................................

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท