Skip to main content
sharethis

2 ต.ค. 49 - วันที่ 2 ต.ค.เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ชุมนุมเกินกว่า 5 คนสัญจร หน้ากองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก พร้อมทั้งเผารัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 ฉบับคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการไม่ยอมรับรัฐบาลชั่วคราวและการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา


 


ทั้งนี้ เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหารประมาณ 30 คน เริ่มรวมตัวกันที่หน้ากองทัพบกเมื่อเวลา ประมาณ 17.30 น. พร้อมถือป้ายผ้าที่เขียนถ้อยคำว่า "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" หรือ "ทำไมต้องต้านรัฐประหาร" ทุกคนใส่ชุดดำ และนำเอาป้ายผ้ามาล้อมรอบกลุ่มไว้เป็นวงกลม


 



 


กลุ่มเครือข่าย19 กันยา ต้านรัฐประหาร


 


นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง หนึ่งในเครือข่ายกล่าวถึงเหตุผลที่มาชุมนุมครั้งนี้ว่า การแสดงความเห็นเป็นสิทธิพื้นฐาน การห้ามไม่ว่าจะด้วยการข่มขู่ หรือในรูปแบบการแถลงการณ์ล้วนเป็นการละเมิดสิทธิ จึงมาแสดงสิทธิในการแสดงความเห็นที่หน้ากองทัพบก และชุมนุมเกินกว่า 5 คนอย่างชัดเจนในวันนี้(2 ต.ค.)


 


อย่างไรก็ตาม การชุมนุมมีความวุ่นวายเล็กน้อย เนื่องจากมีฝนตกลงมาโปรยปรายและมีผู้คนพลุกพล่านทำให้การจราจรติดขัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมาจัดขอบเขตการชุมนุมเพื่อให้การจราจรเป็นไปตามปกติ แต่ไม่ได้ห้ามการชุมนุมหรือห้ามการแสดงความเห็นแต่อย่างใด



 


ตำรวจมาจัดการจราจรให้เป็นไปตามปกติ


 


จากนั้น นายโชติศักดิ์ จึงได้อ่านแถลงการณ์ของเครือข่าย มีเนื้อความว่า เป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ ที่คณะเผด็จการภายใต้การนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจการปกครอง ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำลายระบอบประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ออกแถลงการณ์ ประกาศ คำสั่ง โดยมิชอบตามอำเภอใจ ปิดกั้นคุกคามสื่อ จับกุมคุมขังบุคคลโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ยุบเลิกองค์กรอิสระ ห้ามประชาชนแสดงความคิดเห็นและชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน เป็นการกระทำที่ไม่เห็นระบอบประชาธิปไตยและประชาชนอยู่ในสายตา


 


แม้ว่าจะสัญญาถอนตัวใน 2 สัปดาห์ แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวและการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ต.ค. สะท้อนอย่างชัดถึงความพยายามสืบทอดอำนาจ


 


ประการแรก รัฐธรมนูญฉบับชั่วคราวบัญญัติ มาตรา 2 และ 3 ไว้อย่างสวยหรูเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชนและการคุมครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค แต่ในทางปฏิบัติจากคำสั่งที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ไม่ได้ยกเลิกเป็นการสร้างเงื่อนไขเผด็จการอำนาจนิยมต่อไป


 


ประการที่สอง หลักนิติรัฐไม่สามารถทำงานได้ในรัฐธรรมนูญนี้ เพราะฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ องค์กรอิสระและสถาบันการเมืองต่างๆแทบจะไม่สามารถถ่วงดุลตรวจสอบซึ่งกันและกันได้


 


ประการที่สาม อำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติตามรัฐธรมนูญชั่วคราวนี้มีอิทธิพลต่อการได้มาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ การคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ การได้มาและการพ้นตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี จึงเปิดช่องให้มีการรัฐประหารซ้ำซ้อนโดยไม่ต้องใช้กำลัง ทำให้ไม่สามารถปฏิรูปการเมืองได้ภายใต้คณะเผด็จการ


 


ประการที่สี่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ อดีตเคยเป็นผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ย่อมมีสายสัมพันธ์แนบแน่นในกองทัพ ทำให้ไม่อาจวางใจได้ สิ่งสำคัญรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ถูกออกแบบมารองรับอำนาจเผด็จการ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจึงเป็นได้อย่างมากแค่ "ร่างทรงเผด็จการ - รัฐบาลนอมินี"หรือ "เผด็จการพลเรือน" เท่านั้น


 


ประการสุดท้าย การมีบทบัญญัตินิรโทษกรรมตามมาตรา 37 ถือเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบไม่สมกับเป็นชายชาติทหาร-ตำรวจ กล้าทำแต่ไม่กล้ารับ การที่ผู้กระทำผิดออกกฎหมายมายกเลิกความผิดของตนเองถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน


 


นอกจากนี้ในแถลงการณ์ได้ระบุว่า เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ไม่ยอมรับรัฐธรรมนุญฉบับชั่วคราวและฉบับถาวรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและอำนาจคณะมนตรีความมั่นคงทุกรูปแบบ โดยขอเรียกร้องให้คณะเผด็จการเลิกยุ่งกับการเมืองโดยเด็ดขาดและกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 2540 โดยทันที เพราะไม่เชื่อว่าภายใต้ระบอบ "เผด็จการตำรวจ - เผด็จการพลเรือน" ในภาวะที่ประชาชนไร้อำนาจจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ดีได้


 



 


นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง กำลังอ่านแถลงการณ์


 


หลังอ่านแถลงการณ์จบ ตัวแทนเครือข่ายได้ผลัดเปลี่ยนกันอภิปรายถึงความไม่เห็นด้วยในการรัฐประหาร จากนั้นจึงเคลื่อนย้ายไปใกล้หน้าประตูกองทัพบก แล้วทำการเผารัฐธรรมนูญชั่วคราว 39 มาตรา ฉบับ คปค. ใครคนหนึ่งตะโกนทิ้งท้ายว่า


 


"เผามัน เผามัน ประชาธิปไตยต้องเป็นของประชาชน"


 



 


เผารัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ คปค.


 


เวลาประมาณ 18.00 น.ก่อนจะมีการแยกย้ายกลับ กลุ่มกรรมกรปฏิรูปอีกประมาณ 30 คนสวมชุดดำบนอกเสื้อมีการสกรีนคำว่า "สู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ" รูปแบบเดียวกันมาสมทบเพื่ออ่านแถลงการณ์ต้านการรัฐประหารด้วย ซึ่งมีเนื้อความไปในทิศทางเดียวกับแถลงการณ์ของเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร หลังอ่านแถลงการณ์จบทั้งสองกลุ่มจึงสลายตัว



 


กลุ่มกรรมกรปฏิรูปอ่านแถลงการณ์


 


สำหรับการชุมนุมในครั้งนี้มีผู้สนใจ ผู้ชุมนุม รวมทั้งผู้สื่อข่าวประมาณกว่า 100 คน


                            



 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net