Skip to main content
sharethis

รองศาสตราจารย์ศิวรักษ์ ศิวารมย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

ในการสัมมนาหัวข้อ "คนรุ่นใหม่กับการปฏิรูปการเมือง" ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมานั้น ได้มีการเสวนาหัวข้อ "วัฒนธรรมกับการบริโภค : ความหมายกับการเคลื่อนไหวในโลกสินค้า" ซึ่งมี รศ.ดร.ศิวรักษ์ ศิวารมย์ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ และสถาบันสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากรนั้น

 

เสนอทุนผลิตสินค้าเพิ่มคุณค่าการบริโภค

อาจารย์ศิวรักษ์มีแง่มุมต่อ "การบริโภค" และ "แรงงาน" ที่น่าสนใจโดยเสนอว่า แต่เดิมระบบทุนนิยมไม่ได้รับอิทธิพลของการออกแบบสินค้า ทุนนิยมเพียงแต่เปลี่ยนสินค้าจากเพื่อประโยชน์ของการใช้สอยและได้เพิ่มความปรารถนาเข้าไป จากนั้นจึงได้สร้างคุณค่าให้กับสินค้านั้น

 

คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx - นักวิชาการ, นักปฏิวัติสังคมนิยม ผู้เขียนแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1848) ได้อธิบายสังคมทุนนิยมในยุคของตนว่า มีการกดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานอย่างรุนแรง การค้าและอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างขนานใหญ่ ทำให้ระบบตลาดและการแลกเปลี่ยนเป็นแก่นสาระสำคัญของสังคม วัตถุถูกทำให้กลายเป็นสินค้าเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนด้วยการกำหนดมูลค่าแลกเปลี่ยน (ราคา) วัตถุนอกจากจะมีคุณค่าตามประโยชน์ใช้สอย ยังถูกกำหนดคุณค่าด้วยการตีราคาเพื่อใช้แลกเปลี่ยนตามหลักการแบ่งงานกันทำ ทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมทุนนิยมถูกทำให้เป็นสินค้าแม้กระทั่งแรงงานมนุษย์

 

ทุนนิยมสร้างวัฒนธรรมการบริโภค กินแล้วยกฐานะ

ยุคต่อมาได้มองแง่มุมเกี่ยวกับสินค้าต่างกันออกไป โดยอาจารย์ศิวรักษ์ได้กล่าวถึงกรณีของเยอรมันตะวันออก กำแพงเบอร์ลินพังทลาย สังคมนิยมได้เปลี่ยนจากการเข้าแถวเพื่อรอซื้อสินค้า เช่น กางเกงยีนยี่ห้อลีวาย  ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมากในสังคมเยอรมัน เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของปัจเจกที่ถูกวัฒนธรรมทุนนิยมปรับตัวเข้ามาสร้างวัฒนธรรมบริโภค คือไม่ใช่แค่มนุษย์กินเพราะจำเป็นหรือหิวข้าวอย่างเดียว แต่ได้มีการขยับซ้อนความหมายของความปรารถนาให้มากกว่าความต้องการทางกายภาพ เช่น ต้องดูดี แต่ใช้เงินซื้อ เช่น กินแมคโดนัลด์แล้ว เกิดความรู้สึกว่าได้ยกฐานะของตนเอง

 

คาร์ล มาร์กซ์ เคยอธิบายเรื่อง ความแปลกแยกในโรงงานเอาไว้ว่า การผลิตสินค้าเหมือนเดิมทุกๆ วันของคนงานในโรงงานนั้น จะทำให้คนงานแปลกแยกกับวัตถุ แต่ทุนนิยมได้แก้ไขปัญหาของตัวมันเอง คือมันมีการผลิตสินค้าโดยตั้งโจทย์เพื่อแก้ปัญหาความแปลกแยกจากการผลิต โดยตอบโจทย์ปัญหาผลิตสินค้า คือมันผลิตโทรศัพท์มือถือ ที่ถ่ายรูปและฟังเพลงได้ และคนงานก็ได้หลงใหลกับความแปลกแยกนั้นคือปลื้มกับการบริโภคสินค้าด้วยว่า มีสินค้าที่รองรับจากความแปลกแยกนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุในโทรศัพท์มือถือเอง

 

"ทำให้คนงานคิดว่าเราเป็นผู้กระทำ คือเลือกซื้อสินค้านั้นโดยไม่แปลกแยก และเป็นผู้บริโภคที่ "ฉลาดซื้อ" ด้วย เมื่อมีนักออกแบบ ทำการสร้างวัตถุให้เป็นแฟชั่น คือสินค้า เป็นวัฒนธรรมเพื่อสร้างความหมาย คอยกระตุ้นดึงความปรารถนาต่อสินค้า ทำให้ดูเหมือนเรามีความจำเป็นที่จะต้องบริโภค อันมีความหมายของชนชั้นและเพศ รสนิยม ที่กำหนดจากสังคมทุนนิยม" อาจารย์ศิวรักษ์กล่าว

 

"การปฏิวัติชนชั้น" หรือ? ยังห่างไกลและไม่น่าจะเป็นไปได้

อาจารย์ศิวรักษ์เสนอว่าการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพตามทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ ยังคงไกลห่าง และไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะบทเรียนของการปฏิวัติสังคมนิยมในยุโรปได้บอกแล้วว่า ปัจเจกยังได้รับอิทธิพลจากเจตจำนงเสรี ฝังลึก ทำให้ตกอยู่ภายใต้การบริโภคของปัจเจกชน มีความหรูหรา สะดวกสบายของแต่ละคน แม้ในรัฐสังคมนิยมร้านรวงเป็นของรัฐ มีสินค้าราคาถูกของรัฐ แต่ว่ามีร้านเอกชนที่นำเข้าสินค้า ดังนั้นมือหนึ่งจึงถือมาร์กซ์ อีกมือหนึ่งถือมาร์ลโบโล (Marlboro) เพราะคนต้องการเป็นปัจเจก แต่ว่าเขาเป็นปัจเจกเลิศหรูบริโภคไม่ได้ในสังคมนิยม ทุนนิยมจึงเข้าไปในช่องโหว่นี้และเข้ามาในประเทศไทยเองด้วย

 

ความเป็นปัจเจกที่เกิดจากผลกระทบของทุนนิยมในชนชั้นคนงานและแม้กระทั่งชนชั้นกลาง จึงเกิดสินค้าเพื่อแก้ปัญหาความแปลกแยกของผู้คนจากการทำการผลิตในโรงงานของตน ดังนั้นคนงานกลับมาจากที่โรงงานก็อยากพักผ่อน ฟังเพลง ฟังวิทยุ เล่นเกม นี่เป็นการบริโภคเพื่อมุ่งแก้ปัญหาความแปลกแยกนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า ทุนนิยมได้อาศัยช่องโหว่ในความต้องการของปัจเจกชน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการบริโภค พิซซ่า แมคโดนัลด์  ฯลฯ

 

การศึกษาสร้างคนให้เชื่อว่า ตนให้เป็น "คนชั้นกลาง" ไม่ใช่ "คนงาน"

โดยที่แม้เขาจะถูกเรียกว่า คนงาน แต่เขาเองก็มีฐานะเป็นปัจเจก มาจากต่างจังหวัด เขาไม่ได้ถูกกำหนด ถูกนิยามว่าเป็น "ชนชั้นคนงาน" โดยเขาเอง เพราะกระบวนการทางการศึกษาในสังคมให้เขาเป็น "ชนชั้นกลาง" มีแนวทางและอุดมการณ์ของการบริโภค มันทำให้การซื้อ "ผ้าอนามัย" ของคนงานหญิงในโรงงาน ต้องใช้บริโภคความหมายของสินค้าว่า คุณภาพดีกว่า แตกต่าง เหนือกว่าคนอื่น ด้วยรสนิยมของการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นผ้าอนามัย และไม่ว่าจะทางตรง หรือในทางอ้อม เช่นผ่านการแนะนำจากเพื่อนที่ชมภาพจากโทรทัศน์

 

ทั้งนี้ การบริโภคของสินค้ามีความหมายรวมถึงสัญญะ เช่น โฆษณาแชมพูหรือครีมนวดผม "เพื่อสุขภาพเส้นผม" เป็นต้น คือปัจจุบันมันเกิดโจทย์ของการวิเคราะห์การบริโภคสินค้าซึ่งต่างจากการวิเคราะห์กระบวนการผลิตแบบทุนนิยมของคาร์ล มาร์กซ์

 

ที่ว่าการบริโภคสินค้าเพราะจำเป็นในแบบหน่วยการผลิตและการแลกเปลี่ยนสินค้า แต่ปัจจุบันนี้ เมื่อเกิดการผลิตสินค้าแล้วไม่ได้กระจายสินค้าอย่างจำเป็นในความหมายของมาร์กซ์ แต่มันมีระดับของการอธิบายวัตถุหรือสินค้าที่แตกต่างไปจากเดิม

 

สหภาพแรงงานไม่ตอบโจทย์ คงใช้เวลาอธิบายกันอีกนาน

อาจารย์ศิวรักษ์ ศิวารมย์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า อิทธิพลกระแสบริโภคของทุนนิยมได้แพร่ขยายไปทั่ว ทั้งในด้านอุตสาหกรรมและด้านการบริโภค โดยมีตัวกระตุ้นในเรื่องของความต้องการซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน ซึ่ง แอนโทนี กิดเดน (Anthony Gidden - นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน) เสนอว่า ทุนนิยมทำให้คนไว้วางใจในสินค้า เพราะฉะนั้นคนจึงเชื่อในยี่ห้อสินค้า

 

ในเรื่องของการเคลื่อนไหวเรียกร้องของสหภาพแรงงานของคนงานนั้น อาจารย์ศิวรักษ์มองว่า ในการขับเคลื่อน ในการเรียกร้องเรื่องสวัสดิการ ตนเห็นว่า มันไม่ตอบใจคนงาน ที่จะให้มาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน  สหภาพแรงงานมันดันไปตอบโจทย์อื่น การอธิบายเรื่องการขูดรีด มันยาก เพราะคนงานไทย เติบโตแบบผสมศักดินาที่เน้น "ขยัน อดทน ซื่อสัตย์ มัธยัสถ์" และทุนนิยม ที่ทำให้คนมองไม่ให้เห็นการขูดรีด

 

ดังนั้น จึงต้องใช้ความสามารถมากที่จะเปลี่ยน เพื่อบอกว่าเราถูกขูดรีด เพราะสังคมไทยสอนให้เราขูดรีดตัวเอง กล่าวแบบภาษาเศรษฐศาสตร์คือ "เราจัดการคนอื่นไม่ได้ เราต้องจัดการตัวเอง ถ้าเราอดทนเดี๋ยวก็ข้ามพ้นไปได้"

 

ยกตัวอย่างเรื่องความอดทนในแบบสังคมตะวันตก เช่น การเข้าแถว คนไทยจะไม่อดทน และคนไทยถูกเลี้ยงสอนมาในมิติคนละแบบ ดังนั้นประเด็นเรื่องสหภาพต้องใช้เวลาอีกนาน ในการอธิบายเรื่องการขูดรีดเป็นรูปธรรม อาจารย์ศิวรักษ์กล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net