Skip to main content
sharethis


วันที่ 31 ตุลาคม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เปิดเผยถึงผลการติดตามคดีของนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ทนายความนักสิทธิมนุษยชน ว่าได้รับรายงานผลการสืบสวนสอบสวนของคณะทำงานว่า อาจมีบุคคลใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการหายตัวไปของนายสมชาย ทั้งนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลคดีดังกล่าวแล้ว และได้รับข้อมูลทั้งหมดแล้วเช่นกัน แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า คณะทำงานประกอบด้วยใครบ้าง รวมทั้งไม่สามารถเปิดเผยว่าใครอยู่เบื้องหลังคดีดังกล่าว


 



หลังการเปิดเผยของพล.อ.สนธิ  พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า จะประสานขอให้ พล.อ.สนธิ ส่งหลักฐาน หรือผู้ที่ให้ข้อมูลดังกล่าวมาเป็นพยาน เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้สำนวนคดี คาดว่าผู้ที่ให้ข้อมูลอาจจะเป็นผู้ที่อยู่ในคณะรัฐบาลชุดที่ผ่านมา สำหรับการสอบสวนในขณะนี้ ดีเอสไอได้ให้น้ำหนักกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์ติดต่อของกลุ่มบุคคลที่ร่วมปฏิบัติการอุ้มนายสมชาย และได้ทำหมายเรียกเอกสารการใช้โทรศัพท์ของกลุ่มผู้ต้องสงสัยไปยังทุกบริษัทที่ให้บริการด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเบอร์โทรศัพท์ทั้งแบบโชว์เบอร์ หรือเป็นเบอร์ลูกค้าวีไอพี ที่ไม่โชว์หมายเลขก็สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด ยกเว้นเป็นรายการโทรศัพท์ ที่บริษัทผู้ให้บริการลบข้อมูลทิ้ง แต่ก็สามารถตรวจสอบได้จากเบอร์ปลายทางที่อาจใช้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ของบริษัทอื่น


 


โฆษกดีเอสไอกล่าวด้วยว่า การสอบสวนของดีเอสไอ เป็นการอุดช่องว่างในคดีหน่วงเหนี่ยวกักขังนายสมชายของกองบัญชาการตำรวจนครบาลสอบสวน โดยเฉพาะหลักฐานรายการใช้โทรศัพท์ที่ศาลไม่รับฟัง เพราะไม่ใช่ต้นฉบับและไม่ใช่เอกสารรับรองสำเนาถูกต้อง ดีเอสไอจึงไปขอต้นฉบับจากบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ มาเป็นหลักฐานสำคัญ และทำการสอบสวนขยายผลถึงหมายเลขโทรศัพท์ที่เพิ่มเติมขึ้นมา นอกจากนี้ยังสอบสวนต่อยอดจากเดิม ที่ตำรวจสอบสวนอยู่แค่เวลา 20.35 น. วันที่ 12 มีนาคม 2547  ซึ่งเป็นช่วงที่นายสมชายถูกผลักขึ้นรถ แต่ไม่ได้สอบสวนว่านายสมชายถูกนำตัวไปที่ใด


 



รายงานข่าวเปิดเผยว่า ข้อมูลรายการใช้โทรศัพท์ติดต่อของกลุ่มผู้ต้องสงสัย ในคดีอุ้มฆ่านายสมชาย ระบุว่าในวันที่ 12 มีนาคม 2547 มีการติดต่อกันผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ตลอดทั้งวัน โดยหลังเวลา 20.35 น. สัญญาณโทรศัพท์ของกลุ่มผู้ต้องสงสัย ได้เคลื่อนตัวออกจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าพื้นที่ จ.ราชบุรี โดยมีความถี่ในการติดต่อโทรศัพท์จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 มีนาคม 2547 จากนั้นก็หยุดการติดต่อถึงกัน


 



"ดีเอสไอยังไม่สามารถระบุได้ว่า จะออกหมายจับได้หรือไม่ เพราะการขออนุมัติหมายจับ หรือการสั่งฟ้องจะต้องมีหลักฐานเพียงพอ ที่ผ่านมาแนวทางการสืบสวนพอจะรู้ตัวกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน" โฆษกดีเอสไอ  กล่าวและว่า ดีเอสไอไม่ได้เริ่มทำคดีตั้งแต่เริ่มต้น แต่รับโอนคดีมาจากตำรวจ โดยเป็นคดีที่ขาดประจักษ์พยาน ไม่มีประชาชนเข้าให้การยืนยัน หรือให้เบาะแส รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ทำให้คดีมีแต่พยานแวดล้อม หากรีบร้อนสั่งฟ้อง อาจมีน้ำหนักไม่เพียงพอให้ศาลลงโทษ


 



ด้านนายเมธา มาสขาว ผู้ประสานงานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)  กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.สนธิ ออกมาเปิดเผยว่ามีคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ พัวพันการอุ้มทนายสมชายว่า เป็นการแสดงให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าที่คดีล่าช้ามานาน 2 ปีกว่า และดีเอสไอไม่กล้าคลี่คลายคดีเพิ่มเติมนั้น เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงและนักการเมืองที่มีอำนาจอยู่  ไม่ใช่เฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยที่ตกเป็นผู้ต้องหาเท่านั้น  เนื่องจากไม่มีความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกันมาก่อน  ดังนั้นเชื่อว่าต้องมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่รู้เห็นเป็นใจและสั่งการร่วมอย่างแน่นอน ซึ่งคดีนี้สิ้นสุดในศาลชั้นต้นว่ามีการอุ้มจริง โดยจำคุกผู้ต้องหา 1 คน คือ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก ข้อหาอุ้มและพาทรัพย์ ศาลจำคุกสูงสุดตามคดี 3 ปี ส่วนผู้ต้องหาอีก 4 คน หลักฐานไม่เพียงพอ


 



นายเมธา กล่าวอีกว่า พล.อ.สนธิ ต้องรับผิดชอบความจริงในคำพูดของตัวเอง และเปิดเผยการอุ้มสะเทือนโลกครั้งนี้ออกมาโดยเร็ว เพราะยังไม่ทราบว่าคนที่นั่งบงการอยู่ในทำเนียบคือใคร เข้าใจว่า พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ เป็นรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบดูแลปัญหาภาคใต้ เป็นคนพูดประเด็นนี้กับ คมช. จึงอยากให้สอบสวนบุคคลผู้นี้อย่างละเอียดในชั้นศาล ว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง และคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณคือใคร รวมถึงเรื่องนี้เชื่อมโยงกับเมื่อครั้งครบรอบ 1 ปี ทนายสมชายที่ผ่านมา ที่มีหลักฐานทางโทรศัพท์เปิดเผยในชั้นศาลว่า มีโทรศัพท์จากทำเนียบโทรหา 1 ใน 5 ผู้ต้องหาอุ้มทนายสมชายในช่วงวันเวลาที่เกิดเหตุ แต่หลักฐานดังกล่าวกลับไม่สามารถใช้ในชั้นศาลได้ เพราะไม่ถูกรับรอง


 


"ถ้าคนสั่งเป็นคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ไม่ใช่ระดับผู้รับผิดชอบทางนโยบายปัญหาภาคใต้ แสดงว่าอาจได้รับความเห็นชอบจากอดีตนายกรัฐมนตรี แล้ว พล.อ.สนธิจะเอาผิดเรื่องนี้อย่างไร เข้าใจว่า คมช.สอบสวน พล.ต.อ.ชิดชัย และ พล.ต.อ.ชิดชัย โยนไปที่คนที่ใกล้ตัวนายกฯ ตลอดเวลาคนหนึ่งที่เป็นมือไม้ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ที่สำคัญที่สุดผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองจะต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน" นายเมธา กล่าว


 


นายเมธา กล่าวอีกว่า ถ้าระดับนายกรัฐมนตรีประเทศใดสั่งอุ้มฆ่าคนได้โดยหลงอำนาจแล้ว จะต้องส่งตัวให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) จัดการด้วย เพื่อเป็นบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนโลก ถ้าเรื่องนี้เป็นจริงก็จะเป็นคดีอุ้มสะเทือนโลกเลยทีเดียว และอยากให้เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ คมช. ว่า อย่าหลงระเริงกับอำนาจที่มี ต้องเร่งคลี่คลายความจริงนี้และคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็ว


 



ส่วนนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า คดีทนายสมชาย ดีเอสไอได้มีการสืบสวนสอบสวนคดีไปเยอะแล้ว แต่ขาดตัวเชื่อมเกี่ยวกับหลักฐานที่เป็นจุดที่เผาศพว่าอยู่ตรงไหนแน่ และเสียชีวิตหรือยัง ตนเห็นว่าคดีนี้ไม่จำเป็นต้องพบชิ้นส่วนศพของนายสมชาย ก็สามารถตั้งข้อหาดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาได้


 



"หากพยานแวดล้อมบ่งชัดว่านายสมชายตายแล้ว มันก็ต้องตาย อย่างไรก็ตามบ้านเรายังไม่เคยมีคดีที่ศาลลงโทษจำเลยฐานฆ่าคนตาย โดยไม่พบชิ้นส่วนศพ แต่ในต่างประเทศใช้พยานแวดล้อมลงโทษจำเลยได้  สำหรับคดีนี้หากเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ มีหลักฐานพอ ก็คงขอศาลออกหมายจับผู้เกี่ยวข้อง ตอนนี้ผมก็คงพอรู้บ้างว่า ใครอยู่ในข่ายที่จะออกหมายจับ เพราะทางดีเอสไอได้มารายงานให้ทราบ แต่ในรายละเอียดต้องให้ดีเอสไอเป็นคนพิจารณา" นายชาญชัย กล่าว


 



นอกจากนี้ รมว.ยุติธรรม ยังได้กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าจะมีการโยกย้าย พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ ) ออกจากตำแหน่งว่า คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ต้องหาอัตราพิเศษให้ พล.ต.อ.สมบัติ ให้ได้ เพราะตำแหน่งของ พล.ต.อ.สมบัติ นั้น เป็นตำแหน่งเฉพาะตัว และหากมีการเปลี่ยนตัวอธิบดีดีเอสไอ จะไม่มีการแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.สมบัติ อยู่ในกระทรวงยุติธรรมในตำแหน่งอื่น เช่น ตำแหน่งผู้ตรวจกระทรวงยุติธรรมอย่างแน่นอน


 



"เข้าใจว่าคงต้องมีการเปลี่ยนตัวอธิบดีดีเอสไอแน่นอน ขณะนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ และ พล.อ.สนธิ กำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ สาเหตุก็เพราะ พล.ต.อ.สมบัติ ขอย้ายกลับ สตช. และส่วนหนึ่งก็มาจากที่ผ่านการทำคดีของดีเอสไอล่าช้า รวมทั้งคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร หายตัวไปด้วย ส่วนผู้ที่จะมาเป็นอธิบดีดีเอสไอคนใหม่นั้น ควรเป็นข้าราชการพลเรือน เพราะไม่ต้องการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นกรมตำรวจย่อยๆ อีกกรมหนึ่ง เป็นหน่วยงานที่คานกับตำรวจ ไม่ใช่เป็นเนื้อเดียวกัน แต่ที่ผ่านมารูปแบบมันไม่ถูก" นายชาญชัย กล่าวและว่า ได้มีการทาบทามผู้ที่จะมาเป็นอธิบดีแล้ว แต่เจ้าตัวยังไม่ตอบรับ




 


 


…………………………………………………..


ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net