Skip to main content
sharethis

"สภาต้านรัฐประหาร" เป็นกิจกรรมที่เครือข่าย 19 กันยาฯ ริเริ่มจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวันเสาร์ 4 โมงเย็น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กิจกรรมนี้อยู่บนแนวคิด-จุดประสงค์อะไร และรูปแบบเป็นแบบไหน ประชาไทพาไปคุยกับส่วนหนึ่งของเครือข่ายฯ ให้ชัดๆ .... ทั้ง คนอยากไป ไม่เอาด้วย ไม่แน่ใจ ฯลฯ ควรพิจารณา

 


 
 
 
 
"...เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร เห็นว่า สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ในการแสดงออกทางประชาธิปไตยถูกทำลาย บรรยากาศทางปัญญาหดหายเพราะความกลัว เพื่อไม่ให้ความอึมครึม ว่างเปล่า กลวงโบ๋ ทรุดหนักกว่านี้ เราขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่รักยิ่งมาร่วมพบปะสังสรรค์สำนึกชนชั้น ประชาธิปไตย ในงานสภาต้านรัฐประหาร..."
 
นี่ คือข้อความส่วนหนึ่งของใบปลิวเชิญชวนผู้คนเข้ามาร่วมกิจกรรม "สภาต้านรัฐประหาร" ของเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร ที่รวมของคนธรรมดา ตัวเล็ก ตัวใหญ่ ที่มีจุดยืนคัดค้านการทำรัฐประหาร โดยงาน "สภาต้าน รัฐประหาร" นี้จัดเป็นประจำทุกวันเสาร์ 4 โมงเย็นที่บริเวณ "ลานโดม" ข้างสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายใต้คอนเซ็ปต์งานที่ว่า "...ใครใคร่พูด ได้พูด ใครใคร่ร้อง ได้ร้อง ใครใคร่รำ ได้รำ ใครใคร่เต้น ได้เต้น ใครใคร่วาด ได้วาด แล้วแต่ว่าจะเตรียมกันมาอย่างไร..."
 
แล้ว "ใครใคร่พูด ได้พูด ใครใคร่เต้น ได้เต้น" นี้คืออะไร การเต้นกับการพูดมาเกี่ยวข้องอะไรกับประชาธิปไตย โอกาสนี้ "ประชาไท" จึงขอคุยกับส่วนหนึ่งของเครือข่าย 19 กันยา เพื่อไขข้อข้องใจ และตอบคำถามบางอย่างที่คนเขาสงสัย โดยมี อุเชนทร์ เชียงเสน, โชติศักดิ์ อ่อนสูง และอดิศร เกิดมงคล มาพูดคุยให้ความกระจ่างกับเราเกี่ยวกับเวทีสภาต้านรัฐประหาร
 
 
เริ่ม ต้นของรูปแบบของงานสภาต้านรัฐประหารมีที่มาอย่างไร
 

"เราอยากเปิดพื้นที่สาธารณะ ให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารได้มาพบปะพูดคุยกัน มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้การการเคลื่อนไหวที่เกิดจากความรู้ ปัญญา เป็นกลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวในเชิงคุณภาพ"

อดิศร เกิดมงคล

 

 
อุเชนทร์ เชียงเสน - เกิดจากการคิดของพวกเราในเครือ ข่าย 19 กันยา ที่ทำกิจกรรมคัดค้านรัฐประหารมาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดการชุมนุมที่สำคัญ เช่น วันที่ 6 ตุลาคม วันที่ 14 ตุลาคม เราก็คิดกันว่าทำอย่างไรที่จะให้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและก็ไม่ได้เรียก ร้องผู้เข้าร่วมมากนัก เพราะว่าการชุมนุม 2 ครั้งที่ผ่านมานี้มันเรียกร้องผู้เข้าร่วมมาก ไม่สามารถทำได้บ่อยๆ ผมเองเป็นคนเสนอกับเครือข่ายว่าน่าจะมีการจัดกิจกรรมที่เป็นประจำ ที่ทุกคนรู้ว่าทุกวันเสาร์จะมีกิจกรรมที่ไหนสักแห่ง เพื่อจะเป็นเวทีให้คนที่คัดค้านรัฐประหารและมีเวลาว่าง มาเจอกัน พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน ถกเถียงกัน หรือมีประเด็นอะไรสำคัญๆ ก็มาพูดกัน
 
อดิศร เกิดมงคล - คอนเซ็ปต์คือเราอยากเปิดพื้นที่สาธารณะให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารได้ มาพบปะพูดคุยกัน มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้การการเคลื่อนไหวไหวที่เกิดจากความรู้ ปัญญา เป็นกลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวในเชิงคุณภาพ
 
อุ เชนทร์ เชียงเสน - และการเปิดเวทีแบบนี้ การจัดการอะไรมันก็ไม่เยอะ มันก็ง่ายต่อการทำ แล้วก็เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เข้ามาร่วมกับเราได้แลกเปลี่ยนพูดคุยด้วย เพราะที่ผ่านมาเวลาชุมนุม เราต้องควบคุมเวทีใช่ไหม ต้องขึ้นไฮด์ปาร์ก คุยกันไปกันมาก็เลยสรุปว่าใช้ที่ธรรมศาสตร์ ทุกวันเสาร์ อันนี้เป็นที่มา
 
 
แสดง ว่าเครือข่าย 19 กันยา ไม่เชื่อเรื่องประชาธิปไตยเสียงข้างมาก?? แต่เชื่อเรื่องประชาธิปไตยคุณภาพแบบพันธมิตร??
 

"ปัญหาของ "คุณภาพ" คือมันถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อที่จะไม่เคารพเสียงข้างมาก แต่จุดยืนของผมคือ ผมเคารพเสียงข้างมาก หมายความว่ายินยอมให้ดำเนินการตามเสียงข้างมาก อย่างไรก็ตาม เสียงข้างมากก็ต้องมีขอบเขต ต้องเคารพเสียงข้างน้อยด้วยคือไม่ใช่ว่าเอะอะอะไรก็เสียงข้างมากเข้าว่า เช่น ถ้าเสียงข้างมากบอกว่าให้เอาคุณไปฆ่าเสีย อันนี้ก็ไม่ถูกต้อง"

โชติศักดิ์ อ่อนสูง

 

 
อดิศร เกิดมงคล - ผมว่าเราต้องการประชาธิปไตยที่เป็นวิถีชีวิตมากกว่า
 
คือมันเป็นสำนึก ของประชาชนว่าประชาธิปไตยคือ เขามีสิทธิในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เขาสามารถสร้างการเมืองที่เหมาะสมและแก้ปัญหาเขาได้ เวทีแห่งนี้จะเปิดให้คนที่เห็นต่างกันได้พูดคุย ได้แสดงออก
 
ขณะที่การเมือง ข้างนอกต้องการสิ่งที่เรียกว่า "สมานฉันท์" ที่แปลว่าทุกคนต้องเห็นพ้องตรงกัน ห้ามเห็นต่าง ข้ออ้างหนึ่งของการรัฐประหารก็คือ สังคมกำลังจะแตกแยก เพราะเราแตกต่าง แต่เราเห็นว่าประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างแตกต่างไม่แตกแยก เราต้องการสร้างประชาธิปไตยแบบนี้ขึ้นมา ประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้สร้างการเมืองของตัวเอง
 
คือรัฐประหาร พยายามจะบอกว่า การเมืองนั้นต้องมีคนมาจัดการให้ แต่เราบอกว่าไม่ การเมืองต้องสร้างโดยประชาชน และสภาต้านรัฐประหาร ก็เป็นรูปธรรมหนึ่งที่เราพยายามแสดงออกมา
 
ทีนี้คุณถามว่า เราไม่เชื่อเรื่องประชาธิปไตยเสียงข้างมาก หรือแบบสนธิใช่ไหม
 
คือผมคิดว่าเรา ไม่ได้ต้องการสร้างประชาธิปไตยที่มันอิงจำนวน แต่ผมอยากให้ประชาธิปไตยมันเกิดขึ้นในหลายๆ รูปแบบ แต่มันต้องเกิดจากการสร้างด้วยการเรียนรู้ของประชาชนเอง ปัญหาของผมคือ ประชาธิปไตยไม่ใช่เสียงข้างมากอย่างเดียว ประมาณว่ามีอะไรเสนอให้โหวตไว้ก่อน
 
โชติ ศักดิ์ อ่อนสูง - คือผมคิดว่าปัญหาของ "คุณภาพ" คือมันถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อที่จะไม่เคารพเสียงข้างมาก แต่จุดยืนของผมคือ ผมเคารพเสียงข้างมาก หมายความว่ายินยอมให้ดำเนินการตามเสียงข้างมาก อย่างไรก็ตามเสียงข้างมากก็ต้องมีขอบเขต ต้องเคารพเสียงข้างน้อยด้วยคือไม่ใช่ว่าเอะอะอะไรก็เสียงข้างมากเข้าว่า เช่น ถ้าเสียงข้างมากบอกว่าให้เอาคุณไปฆ่าเสีย อันนี้ก็ไม่ถูกต้อง
 
เหมือน เรื่องการใช้สิทธิแหละ การใช้สิทธิ์ของคุณจะต้องไม่ละเมิดสิทธิ์คนอื่น การใช้เสียงข้างมากก็ต้องไม่ละเมิดสิทธิ์คนอื่น
 
อดิศร เกิดมงคล - ประชาธิปไตยต้องมีพื้นที่ในการปะทะสังสรรค์ของความเห็นที่ต่างแม้เสียงนั้น จะเป็นเสียงข้างน้อย แต่ในเชิงคุณภาพของผมนี่ไม่เท่ากับว่าเราจะไม่เคารพในความต่าง
 
โชติ ศักดิ์ อ่อนสูง - ส่วนไอ้เรื่อง ประชาธิปไตยคุณภาพนั้น มันสร้างขึ้นมาเพื่อบอกว่าคนจำนวนน้อยของกูนี่แหละที่มีคุณค่าควรแก่การรับ ฟัง ควรแก่การปฏิบัติตามมากกว่าเสียงข้างมากของมึง ซึ่งเอาเข้าจริงเราเอาอะไรมาวัดว่าใครคุณภาพกว่ากัน
 
พวก ทาสปล่อยไม่ไปนั่นเหรอคนมีคุณภาพ?
 
อดิศร เกิดมงคล - คุณภาพของผมไม่ใช่บอกว่าดีกว่าคนอื่น แต่คุณภาพของผมก็คือ เราสามารถใช้ศักยภาพของตัวเองในการแสดงออก คิด และเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตัวเราเองอย่างเต็มที่
ผมไม่อยากเห็น การเคลื่อนไหวแบบมีคนหมู่มากมารวมกันแล้วให้ใครสักคนมาบอกนั่นบอกนี่
 
โชติ ศักดิ์ อ่อนสูง - อืมๆ เห็นด้วย
 
 
รูป แบบใครใคร่ร้องร้อง ใครใคร่เต้นเต้น นี้เป็นอย่างไร
อุเชนทร์ เชียงเสน - ไอเดียนี้ มันก็พัฒนามาเรื่อยๆ นึกถึงเมื่อก่อน ปี 2547 ทุกๆ วันศุกร์ ที่มีการจุดเทียนหน้าทำเนียบรัฐบาลกรณีตากใบ ที่เราไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงที่ตากใบ และเราก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของใคร เราเป็นตัวแทนของตัวเราเอง เพราะฉะนั้น ใครมีประเด็นอะไร ใครมีประเด็นอยากพูด ใครมีแถลงการณ์ก็เตรียมมา ใครมีศิลปะจะทำ มีดนตรีจะเล่นก็เอามา
 
เสร็จแล้วในฐานะ ที่เราเป็นคนจัด ก็จัดการนิดหน่อย จัดคิวให้ขึ้นพูดอะไรอย่างนี้ มันจะทำให้การแสดงออกของกลุ่มคนต่างๆ มันหลากหลาย เพราะการชุมนุมที่ผ่านมา ทุกคนจะถนัดแค่คิดว่ามีผู้จัดการชุมนุม และผู้จัดการชุมนุมต้องทำ คนก็มาฟังไม่ได้มีส่วนร่วม เราก็มีประสบการณ์เรื่องนี้ก็พยายามปรับมาใช้ในรูปแบบของ "สภาต้าน รัฐประหาร"
 
เพราะฉะนั้น ภายใต้จุดยืนต้านรัฐประหาร ก็ระดมมาเลย จะมาเล่นดนตรี จะมาร้องเพลง จะมาวาดรูป จะมาทำงานศิลปะ จะมาเล่นละคร จะมาพูด จะมีแถลงการณ์ จะมีอะไรคุณก็เอามาเลย ใช้เวทีที่ธรรมศาสตร์เป็นเวทีในการทำกิจกรรม ก็คือทุกคนได้แสดงออกในความเห็นของตัวเองซึ่งมีจุดร่วมอย่างเดียว ส่วนอย่างอื่นคุณจะว่าไงก็เรื่องของคุณ
 
เรารู้สึกว่า เวลาเรามาสมาคม หรือมาเจอกันทางการเมืองเนี่ย เราจะไม่พยายามทำแบบพันธมิตร(ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ทำ ก็คือพันธมิตรเนี่ย มันใช้จุดร่วมเดียวกัน แต่ข่มทับจุดต่างไว้ และการข่มทับจุดต่างมันทำให้ เป็นอย่างที่เห็นนี่แหละ
 
ประเด็นก็คือ เรามีส่วนร่วมกันแค่นี้ ส่วนเรื่องอื่นที่เห็นต่าง มีข้อเสนออย่างไร ใครอยากตั้งสภาประชาชน ตั้งรัฐบาล ตั้งพรรคการเมืองภาคประชาชนก็มา มาพูด ก็ว่ากันไป มาแลกเปลี่ยนกัน คือให้ร่วมกันอย่างหลากหลายและทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ แสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างเต็มที่ นี่คือไอเดียหลักในการรวมตัวของปัจเจกชนที่เสรีและมาสมาคมกันอย่างเสรี
 
 
กรณี แบบนี้ ยุทธศาสตร์แบบนี้ เป็นการนำตนเองใช่ไหม เป็นการนำแบบแนวระนาบ
อุเชนทร์ - ใช่
 
 
ที นี้ก็มีข้อวิจารณ์ว่า การนำแบบนี้มันไร้การจัดตั้ง และมันก็ทำให้ทิศทางการต่อสู้ไม่ชัดเจน
 

ก็มีคนที่มางานพูดว่าเขารักทักษิณ เขาสนับสนุนทักษิณ ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ... ประเด็นสำคัญของผมก็คือว่า เรา เคยฟังเหตุผลของเขาหรือเปล่า และผมคิดว่าสิ่งที่เขาพูดก็มีเหตุผล แต่ว่าคนส่วนหนึ่งอาจจะไม่ยอมรับ คือผมไม่ได้คิดว่าคนที่สนับสนุนทักษิณโง่นะ เราต้องเรียนรู้จากคนกลุ่ม นี้ด้วย ไม่ใช่ไม่เรียนรู้

อุเชนทร์ เชียงเสน

 

อุเชนทร์ เชียงเสน - คุณต้องแยก ... จริงๆ เครือข่าย 19 กันยา ก็มีไอเดียเรื่องปัจเจกชนที่เสรี ที่รวมกันอย่างเสรี ถ้าเราคิดอะไรร่วมกันเราก็ทำร่วมกัน ถ้าใครไม่เห็นด้วยหรือเห็นต่าง ก็ไม่เป็นไร ต่างคนก็ต่างทำไป อันนี้มีทิศทางชัดอยู่แล้ว กิจกรรมที่สำคัญของในนามของเครือข่าย เราใช้กระบวนการตัดสินใจร่วมกัน
 
ส่วนเวทีวัน เสาร์ที่กำลังจะเริ่มขึ้นนี้ เราก็ไม่ได้คิดว่าการจัดการแบบนี้จะไปล้มรัฐบาล ล้ม คปค. แต่นี่เป็นการเปิดเวทีนะ คุณต้องแยกระหว่างกิจกรรมลักษณะบางแบบเช่นการชุมนุมเดินขบวน เราก็ใช้เครือข่าย 19 กันยาเป็นคนจัดการคุมทิศทาง แต่ว่าเวทีแบบนี้เราเปิดกว้างสำหรับทุกคน
 
เช่น คนที่รักทักษิณ เขาก็เป็นประชาชนใช่ไหม แล้วเขาก็ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร เขาก็พูดได้
 
ก็มีคนที่มางาน พูดว่าเขารักทักษิณ เขาสนับสนุนทักษิณ ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ... ประเด็นสำคัญของผมก็คือว่า เราเคยฟังเหตุผลของเขาหรือเปล่า และผมคิดว่าสิ่งที่เขาพูดก็มีเหตุผล แต่ว่าคนส่วนหนึ่งอาจจะไม่ยอมรับ คือผมไม่ได้คิดว่าคนที่สนับสนุนทักษิณโง่นะ เราต้องเรียนรู้จากคนกลุ่มนี้ด้วย ไม่ใช่ไม่เรียนรู้
 
เพราะฉะนั้น กิจกรรมวันเสาร์ที่ผ่านมา ก็มีเวทีช่วงหนึ่งที่เป็นการปราศรัยของเครือข่ายฯ เสร็จแล้วเปิดช่วงหนึ่งให้ทุกคนแสดงออก ให้คุณแม่บ้านได้แสดงออกเลยแต่เขาไม่กล้า ก็ให้เขาเขียนใส่กระดาษมา เสร็จแล้วก็อ่านคำถาม คนที่อยู่ข้างล่าง มาชุมนุมกัน ก็ขึ้นมาตอบ ให้มีการแลกเปลี่ยนกัน เป็นการพัฒนาการมีส่วนร่วม และผมคิดว่าเวทีพวกนี้มันจะสร้างการเรียนรู้ทางการเมืองได้ คนอาจจะแค่ 40-50 คน เราค่อยๆ พัฒนาไปได้ มาสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน
 
อดิศร เกิดมงคล - ผมว่าตัวสภาต้านรัฐประหารจะเป็นเวทีที่ดึงคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารมา ร่วมแลกเปลี่ยนคุยกัน เพราะมันไม่ใช่รูปแบบการชุมนุมเหมือนที่ คปค.กลัว แต่มันเป็นเวทีเสวนาแบบชาวบ้านๆ
 
 
มี อะไรเป็นข้อเสนอส่งท้ายหรือไม่
อดิศร เกิดมงคล - ผมอยากชวนทุกคนออกมาร่วมสร้างการเมืองแบบใหม่ที่เรามีส่วนร่วมร่วมกัน หากเราคิดว่าเบื่อนักการเมือง เบื่อทหาร ก็เป็นคิวของประชาชนแบบพวกเราที่จะสร้างการเมือง แน่นอนนั่นเป็นเป้าหมายของเรา คุณจะอยู่ที่ไหนคุณก็ทำได้ แต่การจัดนอกสถานที่คือส่วนหนึ่งมันท้าทายต่อข้อห้าม ผมคิดว่าต่อให้คุณอยู่เชียงใหม่ หาดใหญ่ สงขลา โคราช คุณก็สามารถร่วมกันสร้างพื้นที่ทางการเมืองแบบนี้ขึ้นมาได้
 
ผมว่าการเมือง มันแสดงออกได้ในทุกพื้นที่นะ เมื่อวาน (29 ต.ค.) ในพม่ามีการรวมตัวของกลุ่มคนชุดขาวมานั่งสวดมนต์ที่ชเวดากอง เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง เรียกร้องให้มีการเจรจาเพื่อสร้างความปรองดองภายในประเทศ ซึ่งมันแสดงออกผ่านวิถีชีวิตของพวกเขา เพราะชาวพม่าถูกห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ดังนั้นพวกเขาก็ทำให้เห็นว่าวิถีชีวิตความเชื่อมันก็เคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ เพราะการเมืองไม่ใช่เรืองไกลตัวอย่างที่ผู้นำพยายามจะบอก แต่การเมืองเป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน
 
ผมว่าวันนี้ คปค. มาทำลายวิถีชีวิตของคนเมืองนะ คุณห้ามส่งข้อความเชียร์ประเด็นทางการเมือง รสชาติของรายการแบบคุณสรยุทธ์เลยกร่อยอะ จริงๆ นะ ต่อให้ผมไม่ชอบการแสดงความเห็นแบบนี้ แต่ผมก็รู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ในการสแดงออกทางการเมืองแบบหนึ่ง
 
 
งาน สภาต้านรัฐประหารนี้ คุณมีคำแนะนำให้สันติบาลหรือตำรวจกองปราบเตรียมตัวอย่างไรบ้าง มีหนังสือแนะนำให้เขาอ่านหรือเปล่า
 
อุเชนทร์ เชียงเสน -วันนั้นเราก็มีหนังสือ … ต้านรัฐประหาร ของ ยีน ชาร์ป พิมพ์ตอนปี 2536 โดยมูลนิธิโกมล คีมทอง สืบเนื่องจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มาขายเล่มละ 30 บาท เป็นทุนในการรณรงค์ของเครือข่าย 19 กันยา และหนังสือเรื่อง อารยะขัดขืน ของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สันติบาลก็มาซื้อไป (หัวเราะ)
 
เราไม่พยายามทำให้บรรยากาศเป็นการชุมนุม ชุมนุมบ่อยๆ มันทำให้เคร่งเครียด ทำแบบนี้มันก็สนุกสนาน หัวเราะกัน ก็สบายๆ และผมคิดว่าอันนี้เปิดกว้าง และผมคิดว่าการมีเวทีประจำมันจะรู้เลยว่าถ้าคุณว่างมันก็มา และเราจะได้อัพเดตสถานการณ์ มีความก้าวหน้า มีประเด็นใหม่ๆ เราก็วิพากษ์วิจารณ์ ให้ข้อมูล ให้การศึกษา ก็พยายามระดมกลุ่มต่างๆ เข้ามาเจอกัน
 
ถ้าคุณเอาแต่ ชุมนุม ชุมนุม ชุมนุม คุณก็ลีบกันอยู่แค่นี้ คุณไม่เจอใครเลย เวทีแบบนี้ เช่น กิจกรรมวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมเจอเพื่อนในมหาวิทยาลัยที่เขาไม่ได้ร่วมกับกลุ่มโดมแดง เราก็มาคุยกัน มีแลกเบอร์โทร โอเคหลังจากนี้เดี๋ยวเรามาคุยกัน เราแลกเปลี่ยนกัน
 
สำหรับพวกสันติบาลคงรู้จักเราพอสมควร เราก็ประกาศจุดยืนไม่เอารัฐประหาร และเราจะทอนกำลังเขาทุกทิศทาง คือจะจับก็จับผมไม่กลัว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net