Skip to main content
sharethis

ปัญหาการบริหารสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งมีปัจจัยมาจากการเข้าไม่ถึงบริการ หรือการให้บริการของบุคลากรสาธารณสุขเข้าไม่ถึงชุมชน อันเนื่องมาจากปัญหาความไม่สงบ

 

ความกังวลเรื่องความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุขมีสูง โดยเฉพาะในบางแห่งไม่สามารถทำงานเชิงรุกในพื้นที่ได้เลย การสร้างระบบการบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมกับพื้นที่ จึงถูกขับเคลื่อนมาก่อนแล้ว โดยกลุ่มแพทย์ในพื้นที่

 

จนกระทั่งรัฐบาลเห็นความสำคัญในเรื่องนี้นายแพทย์ ธาดา ยิบอินซอย อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ผลักดันสำคัญ และได้รับการแต่งตั้งจากนายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นประธานคณะกรรมการศูนย์สุขภาพชายแดนใต้ โดยเน้นพื้นที่เข้าถึงยาก

 

คุณหมอธาดา ให้สัมภาษณ์กับ "ประชาไท" เพื่อความเข้าใจถึงแนวคิดดังกล่าว ซึ่งเป็นความท้าท้ายสำหรับคนทำงานในพื้นที่อย่างไร...เชิญติดตาม

 

 

 

0 0 0

 

โครงการนี้มีขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อ?

ผมกับพวกกลุ่มแพทย์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำงานกันมาตลอดอยู่แล้ว คิดว่าทำอย่างไรถึงจะให้มีการพัฒนาสุขภาพของทุกแห่งในภาคใต้ที่เราเกี่ยวข้อง เราก็ทำอยู่ก่อนแล้ว ตอนที่เพิ่งมีเหตุการณ์ความไม่สงบ ก็ต้องปรับรูปแบบ เพราะถึงอย่างไรเราก็อยากให้ชาวบ้านมีสุขภาพที่ดี

 

เขาคือคนที่อยู่ข้างนอก ห่างจากโรงพยาบาลออกไป ขณะเดียวกันเราก็ไม่อยากให้คนของเรา คือคนที่อยู่ในโรงพยาบาลต้องเผชิญกับอันตราย ซึ่งเราคิดของเราอยู่แล้ว

 

อย่างเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์มงคล ณ สงขลา) มา ผมก็ตั้งคำถามอยู่อย่างเดียวว่า ท่านต้องการอะไร ท่านก็พูดมาว่า คำที่เขาใช้คือ พัฒนาสุขภาพให้เข้ากับชุมชน ให้ถึงชุมชน ซึ่งมันแปลได้หลายอย่าง ใหญ่โตมาก ซึ่งเรารับ เพราะเราก็ทำอยู่แล้ว

 

ทีนี้มาตั้งเป็นองค์กร หรือองค์การ มันก็ทำให้การทำงานง่ายขึ้น เพราะเมื่อก่อนเราทำโดยพวกเรากันเอง ที่ อ.เทพา ผมคุยกับหมอสุวัฒน์ เราจะทำอะไรเราก็ทำกันเอง มาตอนนี้เราสามารถใช้ส่วนกลางได้

 

ที่บอกว่าทำกันเองเมื่อก่อน คือทำอย่างไร

เราทำวิจัยของเรา ว่าทำอย่างไร ไปคุยกันว่า ชาวบ้านต่างๆ จะทำอย่างไรให้สุขภาพเขาดีขึ้น ทำอย่างไรที่จะสนับสนุนให้ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐานในหมู่บ้าน) เข้มแข็งขึ้น ทำอย่างไรให้เขาสามารถโทรศัพท์มาหาเราเมื่อไหร่ก็ได้ ทำอย่างไรถึงเราสามารถติดตามคนซึ่งเรานัดแล้วไม่มา ทำอย่างไรให้เขาสามารถส่งคนไข้มาให้ผมได้ แล้วผมส่งกลับไปให้เขาได้

 

ยกตัวอย่าง หมอที่ตรังขอให้ผมตรวจคุณซึ่งเป็นคนไข้ให้ เขาก็สามารถหยิบโทรศัพท์บอกหมอธาดา เอ้อ นี่มันดีนี่หว่า ผมตรวจเสร็จแล้ว ผมก็รายงานส่งผลตรวจกลับไปให้เขา ทุกคนรู้เรื่องหมด คุณไปหาเขาก็สะดวก คุณมาหาผมก็สะดวก อะไรต่างๆ พวกนี้

 

เมื่อก่อนมีลักษณะเป็นอย่างไร

เมื่อก่อนตัวใครตัวมัน ไม่มีอย่างนี้ อย่างเมื่อตอนที่มีปัญหาขาดแคลนแพทย์ ก็เราเองเป็นคนตั้งระบบการส่งต่อให้ได้ ก็ใช้เวลา 2 - 3 ปี

 

เวลามีปัญหาอะไร ก็คุยกัน เราต้องมีน้ำใจ มีอย่างที่ไหนเวลาน้องส่งมา พี่ไม่ดู ผมในฐานะคนแก่ที่สุด ไปคุยกับเขาได้ ตอนนี้จะกลายเป็นองค์กรที่ผู้ใหญ่ยอมรับแล้ว เมื่อก่อนเราก็ทำกันเอง

 

ส่วนรายรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรยังให้ไม่ได้ คือเราจะคุยกับคณะทำงานที่เป็นหมอในพื้นที่ ที่ทำงานอยู่อีกหลายครั้ง

 

โอเค หัวข้อคุณอยากทำอะไร คุณจะทำอย่างไร ตรงนี้ ต้องมาจากคนที่ทำงาน ไม่ใช่ผม หน้าที่ผมคือคุยกับผู้ใหญ่เท่านั้นเอง ใครมาทำอะไร แล้วมีใครมาเย้ว ผมก็ไปป้องกันเขา พวกนี้เขาถนัดกว่า ตกลงเรื่องรายละเอียด ที่บอกไม่ได้เพราะว่าเรายังไม่ได้คุยกัน

 

แล้วที่อาจารย์คิดไว้มันควรจะมีรูปแบบอย่างไร

ยังบอกไม่ได้ แล้วแต่การพูดคุย แต่รูปแบบจะออกมาหลายรูปแบบ บางอย่างเราต้องไปเก็บข้อมูลก่อนว่า ทำไมเขาไม่มาหาเรา บางอย่างเรามีข้อมูลแล้ว เราก็ต้องไปหาวิธีสร้างให้มันเข้มแข็งขึ้น

 

มันไม่ใช่ว่าทุกอย่างต้องทำเหมือนกันหมด แล้วแต่พื้นที่ แล้วแต่คนที่มีอยู่ บางอย่างเราเพียงแต่เอา อสม. (อาสาสมัครสาธรณสุขมูลฐาน) มา แล้วเทรนเขาให้ดีขึ้น เมื่อเทรนเขาให้ดีขึ้นแล้ว เรายังกลับไปหาเขา ทำให้เขารู้ว่า เรายังช่วยเขาอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เทรนเสร็จแล้วก็ส่งกลับไป โดยไม่ตาม บางอย่างเราต้องไปลงพื้นที่เอง แล้วแต่พวกนี้เขาจะคิดอย่างไร

 

ที่ผ่านมา มีกรณีการเข้าถึงพื้นที่ยาก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเรื่องสุขภาพของประชาชนหรือไม่

บอกไม่ได้เพราะผมไม่มีข้อมูล พูดในฐานะนักวิชาการแล้วกัน ไม่ใช่ในฐานะหมอ ก็คือว่า โดยมากแล้ว โรคส่วนใหญ่ ดูแลตัวเองดีกว่ากินยา ถ้าพูดถึงคนหนึ่งร้อยคน ถ้าเข้าถึงการบริการไม่ได้ไม่ใช่เป็นเรื่องใหญ่ แต่ทำอย่างไรให้เขารู้จักดูแลตัวเองได้ต่างหาก เช่น ถ้าผมมีโทรศัพท์ มีวิทยุ สอนให้ผู้ใหญ่บ้านรู้จักใช้ นั่นข้อที่หนึ่ง

 

ข้อที่สอง เพราะความไม่รู้ของเรานี่ แพทย์ส่วนมากมักจะให้ยาเกิน ผลเสียจากยาเกินมันมากกว่าผลจากไม่ให้ยา

 

เป็นเพราะการที่แพทย์ไม่รู้หรือคนไข้ให้ข้อมูลไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง

ทั้งสองอย่าง แพทย์จะรักษาโดยป้องกันตัวเอง ไม่แน่ใจให้ยาไว้ก่อน ยาหลายอย่าง ยกตัวอย่าง ยาความดัน ผมบอกผมจะให้ยาไปเพื่อป้องกันอัมพาต อัมพฤกษ์ ผมจะช่วยคนได้ประมาณ 1 คนใน 1 พันคน ใน 1 ปี เท่านั้นเองจากการได้ยา ส่วนอีก 999 คน กินยาฟรี คือกินยาแล้วไม่ได้อะไร กินยาแล้วยังเป็นห่วง

 

นั่นเป็นวิธีเพราะความไม่รู้ของเรา

 

ทีนี้ถ้าเราไม่มีเวลาดูแลคนไข้ เพราะเราต้องการหาตังค์ เราก็ให้ยาเยอะ แต่ใช้ในร้อยคนนี่ มีหนึ่งคนที่เขาต้องการแพทย์ แต่เขามาไม่ได้ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าไม่มีแพทย์

 

ในพื้นที่ 3 จังหวัดที่คนเข้าไม่ถึงแพทย์ หรือแพทย์เข้าไปไม่ถึงมีมากน้อยแค่ไหน

มันมี แต่มันอาจจะไม่แยะ ยกตัวอย่าง กลุ่มที่ถูกรถชนซึ่งต้องการแพทย์ด่วน ซึ่งจะมีปัญหามาก

 

บางโรคมีการพูดกันว่า เป็นโรคพื้นฐานมาก ที่ที่อื่นไม่เป็นกัน แต่ที่นี่เป็น เช่นโรคเท้าช้าง ไข้เลือดออก มันสะท้อนอะไรได้บ้าง

ทุกแห่งมีไข้เลือดออก โรคเท้าช้าง ทางเหนือแถวชายแดนที่ติดกับพม่าก็เป็นกันมาก ถ้าเหล่านั้นเราจะขาดทุน แต่มันไม่ใช่โรคที่ทำให้คนตายทันที ก็มาที่โรงพยาบาลได้

 

โรคไข้เลือดออกก็ควรจะมาโรงพยาบาลได้ แต่เราไม่ขาดคนไข้ที่มาโรงพยาบาล เราต่างหากที่เราไปถึงเขาไม่ได้ ทำให้เราไม่สามารถสร้างพื้นฐานของการดูแลสุขภาพ เราต้องการให้เกิด Self Care คือการดูแลตัวเอง

 

ยกตัวอย่าง ที่ตรังเรามีคนไข้ที่มีความดันแล้วก็เบาหวาน 20 คนใน 100 คน โรคพวกนี้มันไม่ค่อยแสดงอาการ เพราะฉะนั้นจะมาโรงพยาบาล มันก็เป็นเรื่องใหญ่โต โดยเฉพาะถ้ามีอันตราย เราไปหาเขาก็ไม่ดี เข้าไม่ได้ อันนี้ขาดทุน แต่เขาไม่ได้ตายเลยนะ แต่อายุเขาสั้น แทนที่จะตาย 15 ปี เหลือ 10 ปี ซึ่งถ้าเราสามารถไปคุยกับเขาได้ แนะนำเขาได้ มีคนไปช่วย ติดตามบางอย่างได้ พออ้วนขึ้น มีใครไปด่าเขา จะแนะนำว่า เขาควรออกกำลังกายอะไรต่างๆ นั่นซิดี ตรงนี้เป็นการดูแลตัวเองที่ผมคิดว่าเราขาด

 

เพราะฉะนั้น เราสามารถไปสร้างฐานความรู้ให้เขาได้ ซึ่งที่เคยทำก็โทรศัพท์มาคุย ไม่มีปัญหา ก็โทรศัพท์มาคุยได้ ไม่ต้องใช้หมอให้ออกไปถึงตรงนั้น แต่เราต้องไปสร้างฐานพวกนี้ ต้องมีคนรับโทรศัพท์ 24 ชั่วโมง

 

ที่ผ่านมาที่อื่นเคยทำอย่างนี้มาบ้างหรือไม่

คงหลายแห่งเขาเริ่มทำ ทำกันอย่างใครถนัดอะไรก็ทำไป

 

เพราะอย่างนี้เราถึงสร้างฐานพวกนี้ ให้เขาสามารถติดต่อได้เมื่อไหร่ก็ได้ ยกตัวอย่าง ผมอยู่ที่หาดใหญ่ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัย แต่คนไข้ของผมอยู่ภูเก็ตบ้าง พังงาบ้าง แต่เขาสามารถ โทรศัพท์มาหาผมได้ บางอย่างพอรักษาเสร็จ หมอบอก โอเค กลับไปรักษาที่บ้าน แต่พอนัดตรวจเลือด อย่าลืมนะ ไปตรวจเลือดเดือนมีนาคม พอได้ผลแล้วโทรศัพท์มาให้ผม ทุกฝ่ายได้หมด

 

แทนที่จะให้คนไข้มาด้วยตัวเอง

ใช่ ของผมไม่มีตรวจเลือดแล้วต้องมาฟังผล ถ้าเขาตรวจเลือดไปแล้ว หากเขาต้องการผล ผมก็จะส่งรายงานไปให้

 

คล้ายๆ วิธีที่เราควรจะดูแลคนไข้ ไม่ใช่เราเป็นเทวดาที่คลานมาหาเรา เพราะฉะนั้นเราแค่เปลี่ยนทัศนะเท่านั้นเอง

 

แนวคิดได้เคยเสนอไปบ้างหรือยัง

มันเป็นวงจรที่ไม่ดี ถ้าผมต้องดูแลคนไข้ 100 คน ใน 3 ชั่งโมง ทำอย่างนี้ไม่ได้ แต่ถ้าผมดูแลคนไข้ 40 คน ผมดูตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึงบ่าย 3 โมง แล้วพอเสร็จแล้ว คืนนั้นผมเอาผลติดต่อเขา คนไข้เราต้องให้ 100 เปอร์เซ็นต์ พวกนี้ต้องดูแลคนไข้ 100 คน ใน 3 -4 ชั่วโมง แล้วเย็นต้องไปเปิดร้านอีก มันเป็นวัฒนธรรมที่ผิดหมด

 

รัฐบาลจ้างหมอมาเป็นข้าราชการ ทำงาน 8 โมง ถึง 4 โมงเย็น การแพทย์มัน 24 ชั่วโมง ให้เงินเดือนน้อยคนก็ยิ่งต้องไปหาเงินข้างนอก แล้วดันประกาศอีกว่า ใครเป็นอะไรก็มาหาได้ โรงพยาบาลเปิด 24 ชั่วโมง มันเป็นการเซ่อมาก

 

แนวคิดนี้ดี ที่เราจะทำ คือให้ดูแลตัวเอง มีปัญหาโทรศัพท์มา เราก็ได้มาใช้แพทย์จริงๆ ไม่ใช่น้ำมูกไหลหน่อยก็มาหาแพทย์ มันเป็นอย่างนั้นนี่ ต้องเลิกประกาศอย่างนี้ รัฐมนตรีทุกคนก็พูดอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะพูดอย่างอื่นไม่ได้นี่ แต่ผมพูดได้

 

อย่างวันนี้มีหลายคนมากบอกว่า ช่วยเจาะไขมันให้หน่อย ผมบอกว่าไม่เจาะ เพราะไม่มีประโยชน์ รักษาก็ไม่ได้อะไรซักอย่าง ผมยอมเสียเวลาซัก 5 นาทีให้ผมอธิบายให้เขาฟัง ถ้าผมเจาะใช้เวลา 2 วินาที ผมยังได้เงินอีก แต่ผมคิดว่าผมยอมเสียเวลาอธิบายให้เขาดีกว่าว่า ถึงแม้ไขมันสูง ผมให้ยาไป คุณอาจจะตายจากยาก็ได้ ไขมันของคุณลด แต่คุณไม่ได้อะไรสักอย่าง

 

ก็ดูรัฐบาลประกาศ ทุกคนก็จะเอาออกไขมันหมด โรงพยาบาลจ่ายยาก็เสริมไปเลย อะไรพวกนี้ นี่เป็นความผิดพลาด คุณไปดูทีวีซิ แพทย์ออกประกาศ ทุกอย่างทำได้หมด มันไม่ใช่เป็นการรักษาคน เป็นการรักษาภาวะบางอย่างเพื่อหาเงินเข้า ดูอย่างโรงพยาบาลซิ มีแยะแค่ไหน มีไปถึงในตลาดหุ้น

 

อาจารย์เองก็อึดอัดกับระบบราชการ จึงเสนอแนวคิดเรื่องการตั้งศูนย์นี้ขึ้นมา เพราะหวังพึ่งระบบราชการทั้งหมดไม่ได้

ผมคิดอย่างนี้ว่า อะไรที่ใหญ่โตจนเป็นราชการ ที่เป็นองค์กรที่ใหญ่โตมากๆ มันเปลี่ยนระดับของความคิด เปลี่ยนระดับการวัด เอาขั้นต่ำเป็นเกณฑ์ ทุกอย่างต้องเหมือนกันหมด หรืออย่างไม่ใช่ราชการก็ตาม อย่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ซึ่งไม่ใช่ข้าราชการก็จะเป็นอย่างนั้น การบินไทยก็เป็นอย่างนั้น พยาบาลก็จะเป็นอย่างนั้น มันต้องมีขั้น ต้องมีกฎระเบียบ ใครออกนอกแนวมันก็เจ๊งหมด ไม่ได้ ผมคิดถึงอย่างนี้ว่า ถึงแม้เรามีระบบอย่างไรก็แล้วแต่ เราสามารถเบี้ยวระบบได้ แต่ที่สำคัญเราต้องรู้ว่าเราอยากทำอะไร เพราะฉะนั้นผมไม่ไปว่าเขาเท่าไหร่ เพราะไปแก้เขาไม่ได้ มันต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ต้องมีเบอร์หนึ่ง เบอร์สองต้องมีสามคน เบอร์สามต้องมีเก้าคนอะไรต่างๆ เหมือนกันหมด เราไปแก้ไม่ได้ เราอย่าไปแก้เขา แต่เราซิกแซ็กได้

 

ในเมื่อระบบราชการมันไม่เอื้อ แล้วการตั้งศูนย์ฯ ซึ่งต้องใช้งบและใช้คน มันสามารถมาตอบสนองตรงนี้ได้

ไม่ใช่ มันมีงานอยู่แล้ว การที่รัฐมนตรีหรือใครก็แล้วแต่ มาคิดมาบอกว่าทำให้มันเป็นระบบจริงๆ ผมคิดว่ามันดี หน้าที่ของผมคือซิกแซ็ก คล้ายๆ ติต่าง ทางส่วนกลางบอกไม่ให้ทำอย่างนี้ แต่เราคิดว่าควรจะทำ หน้าที่ผมก็ไปถามเอาส่วนกลาง พวกนี้ก็ไม่ต้องไปยุ่ง

 

หน้าที่ผมอันนั้นง่ายที่สุด ส่วนกลางบอกว่าไม่มีเงินมาเลย แต่ผมคิดว่าเขาทำดี ผมก็จะไปที่เอกชนแล้วขอเงินมา ผมไม่แคร์ เพราะเราคิดว่ามันจำเป็นต้องทำ เพราะพวกนี้ทำงานกับเราตลอด

 

ทราบว่า ในทีมงานได้จำลองการบริการสาธารณสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสถานการณ์ต่างๆ ด้วย อันนี้เป็นอย่างไร

เราเคยคุยกันครั้งหนึ่งว่า ถ้ามันเลวร้ายกว่านี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Force Trust หมายความว่า แต่ละโรงพยาบาลจะต้องมีกำแพงล้อมรอบ คนของผมต้องปลอดภัย ในขณะเดียวกันเราปล่อยให้ชุมชนทุกข์ทรมานกับการไม่มีสาธารณสุขไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องหาวิธีที่เชื่อมโยงกับเขาให้ได้ ก็อย่างที่บอกคือต้องใช้วิทยุ ใช้โทรศัพท์ทุกอย่างให้ได้ เราต้องมีทางให้เขาให้ได้ ในขณะเดียวกันพวกเราเจ็บตัวไม่ได้ นั่นหมายความที่กุ๊ยที่สุดแล้ว

 

แล้วที่ดีเป็นอย่างไร

ที่ดีก็คือสถานการณ์ดีขึ้น เราอยากไปไหนก็ไปได้ อยากไปดูหนังที่ไหนก็ได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นนั้น ขณะนี้เราอยู่ระหว่างกลางไปก่อน แล้วการที่เป็นอย่างนี้ก็คือว่า มีแต่เจ๊ากับดีขึ้น เท่านั้นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net