Skip to main content
sharethis

 

 

จดจ้องมานานครับ ว่าจะเขียนก็ไม่ได้เขียนเรื่องนี้สักที จนเมื่อวานได้ข่าวว่า เว็บข่าวประชาไท ตัดสินใจแสดงหมายเลข "ไอพี" คนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นตั้งแต่ 2 พฤศจิกานี้เป็นต้นไป ประกอบกับอาทิตย์ที่แล้ว กระทู้เรื่องหนึ่ง ในกระดานข่าวสมาคมนักเรียนไทยในเยอรมัน เค้าถกเถียงกัน ถึงขั้นมีคนปลอมตัว ใช้ชื่อคู่กรณี หวังสวมรอยให้เกิดการเข้าใจผิด จนเกือบจะลงนวม ประเด็นอยากให้โชว์ไอพี ก็เลยประทุอีกครั้ง...ผมกะว่า ถ้าหยิบประเด็นพวกนี้มาคิด มาเขียน แสดงความคิดเห็นในมุมตัวเองในช่วงนี้ คงสนุกและทันสมัยดีไม่หยอก

ถ้าเราพูดถึงเรื่องราวของ "สื่อ" ในปัจจุบันแล้วล่ะก็ คงไม่มีใครปฏิเสธนะครับว่า อินเทอร์เน็ต ถือเป็นสื่อทางเลือกที่เป็น สาธารณะ เปิดกว้าง สะดวก และเป็นที่นิยมมากที่สุด ในเวลานี้ จุดเด่น และเสน่ห์ของมัน อยู่ที่...

 

มันเป็นสื่อที่ใช้การสื่อสารแบบสองทาง ผู้ใช้เป็นได้ทั้งผู้รับและส่งสารในเวลาเดียวกัน ประกอบกับอินเทอร์เน็ต เป็นระบบที่ไม่มีเจ้าของที่แท้จริงครับ ปรากฎการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ต ถูกขับเคลื่อนจากผู้ใช้บริการทุกคน และผู้ให้บริการทุกคน การตรวจสอบควบคุมจึงเกิดไม่ได้อย่างสัมบูรณ์ในโลกเสมือนจริงใบนี้ ดังนั้นเสรีภาพในการรับและส่งข่าวสารจึงมีมากกว่าสื่อแบบอื่น ๆ

เว็บไซท์ทั่วไป, เว็บประชาสัมพันธ์หน่วยงานต่าง ๆ, เว็บข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบัน บล็อก ล้วนแล้วแต่ต้องมีพื้นที่ให้ผู้อ่านร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น ถ้าเว็บไหนไม่เปิดพื้นที่สาธารณะแบบนี้ไว้ให้เลย หรือจำกัดการแสดงความคิดเห็นด้วยเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ต้องเป็นสมาชิกก่อนจึงจะแสดงความคิดเห็นได้ จำนวนคนอ่านก็อาจลดน้อยร่อยหรอ เพราะประเภทของกลุ่มผู้ใช้ถูกจำกัด ยกเว้นก็แต่ เว็บที่เนื้อหาดีมากจริง ๆ หรือไม่ก็เป็นเว็บที่เปิดมานานมากจนคนติด มีลูกค้าประจำ นั่นแหละครับ ที่การลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง หรือสร้างเงื่อนไขบางอย่างไม่กระทบต่อฐานลูกค้าเดิม เช่น กระดานสนทนาที่พันทิป เป็นต้น

แต่ ทุกอย่างในโลกเปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้านเสมอ และไอ้เจ้านี่ก็ไม่ต่างกัน เมื่อมันมีเสน่ห์ มันก็อาจมีจุดขี้ริ้วขี้เหร่ผสม ๆ อยู่

ด้วยความที่อินเทอร์เน็ต เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพตรวจสอบได้ยาก และเป็นโลกเสมือนจริง ผู้คน และตัวตนในสังคมอินเทอร์เน็ต ก็เลย "เสมือนจริง" ตามไปด้วย เป็นเรื่องแสนจะปกติธรรมดา (และผมคิดว่า) ที่คนใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 90% ใช้นามแฝง หรือนามปากกา (Pseudonym) หรือไม่ก็ เป็นบุคคลไร้ชื่อ หรือ เป็นนายนิรนาม (Anonym) เพื่อการแสดงความคิดเห็นต่อกัน ทั้งนี้เพื่อไม่แสดงให้ใครต่อใครรู้ว่าเขาเป็นใครในโลกจริง ๆ

ด้วยเหตุผลในแง่กฎหมาย (คุ้มครองความเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนบุคคล และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น) เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้เขียน และลักษณะเฉพาะของอินเทอร์เน็ตเองที่ตรวจสอบได้ยากว่า ใครเป็นใคร ทำให้การใช้นามแฝง หรือ ไม่ใช้นามอะไรเลย ได้รับการรับรอง เป็นสิทธิของผู้ใช้ทุกคน และทำได้เสมอ

 

 

ความเสมือนจริง ที่ไม่จริงนี้ ยังผลให้การแสดงความคิดเห็นทั้งหลายเกิดขึ้นได้อย่างอิสระ เพราะผู้แสดงไม่ต้องติดอยู่ในกรอบข้อจำกัดบางอย่าง อาทิ อิทธิพล ความกลัว ความเกรงใจ ระบบบังคับบัญชา มิตรภาพ หรือความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในบางสถานะ ที่อาจให้ผลอันไม่พึงประสงค์ต่อผู้แสดงได้หากทะเล่ทะล่าทำแบบเดียวกันนี้ในส ังคมจริง ๆ อินเทอร์เน็ตเลยทำให้ผู้คนกล้าคิด กล้าแสดงความเห็นกันมากขึ้น

นอกจากนี้ คนจำนวนหนึ่งยังมองว่า การเข้าไปโต้เถียงกันในอินเทอร์เน็ต แทนที่จะถกเถียงกันข้างนอก ช่วยลดการเผชิญหน้า และลดความความรุนแรง ในยามที่ต้องทะเลาะเบาะแว้งที่เกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่างได้ (แต่บางคนบอกว่า ด่ากันด้วยคำแรง ๆ ในอินเทอร์เน็ต ก็ถือเป็นการใช้ความรุนแรง รูปแบบหนึ่ง)

อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดเห็น หรือ การส่งสารภายใต้นามแฝงที่รู้ไม่ได้ว่าเป็นใคร หรือ การปิดบังตัวตนโดยไม่มีชื่อ หรือเครื่องมือใด ๆ เลย ที่สื่อถึง "ตัวตน" ได้นี้ หลายคนกลับมองว่ามันเป็นปัญหานะครับ ! โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปรากฎว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่งไม่ได้รู้สึกว่า ตนต้องรับผิดชอบใ ด ๆ กับสารที่ส่งไป เพราะไม่มีใครตรวจสอบใครได้ การใช้สำบัดสำนวน ความเลอะเทอะเลื่อนเปื้อน ใช้คำหยาบคาย ด่าทอ ดูหมิ่น หรือ ถึงขั้นหมิ่นประมาท ลากไส้ กลายเป็นของคู่ขวัญกับกระดานสนทนาฮอท ๆ ไปเรียบร้อย

ปรากฎการณ์ประเภท คนเดียวกันแต่ใช้หลายชื่อ เข้ามาปลุกปั่น ก่อกวน สร้างกระแส โต้แย้ง หรือเห็นด้วย เพื่อเสริมกำลังให้สารของตัวมีน้ำหนักมากขึ้น เริ่มขยายตัว แม้แต่ฝ่ายการเมือง ก็นำประเด็นนี้ไปใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างคะแนนนิยมให้ฝ่ายตน หรือใช้เพื่อโจมตีฝ่ายตรงกันข้าม จนกระทั่ง ความน่าเชื่อถือของสาร หรือตัวผู้ส่งสาร เริ่มถูกตั้งคำถามว่า มันน่าเชื่อถือหรือไม่ เพียงใด มันเป็นของคนกลุ่มเดียวกันหรือไม่ หรือแม้แต่ มันเป็นคน ๆ เดียวกัน (แต่ใช้หลายชื่อ) หรือไม่ ?

อ่ะ ก็บอกแล้วไงครับว่า มันมีสองด้าน...

นายนิรนาม กับ ไอ้นามปากกา

ปัจจุบัน เรื่องกวนใจที่ผู้ใช้ ผู้อ่านอินเทอร์เน็ตน้ำดี (คือ แม้ไม่ได้คิดจะใช้ชื่อจริง แต่ก็ไม่ได้คิดด่าทอกันแบบไร้สาระ และไม่รับผิดชอบ) รวมทั้งผู้ใช้ขี้รำคาญอย่างผม จำต้องพบเจออยู่บ่อย ๆ (ซึ่งเป็นผลพวงมาจากปัญหาข้างบน) ก็คือ หลาย ๆ ครั้งในการสนทนากัน แล้วมีการโต้เถียง หรือทะเลาะเบาะแว้ง มักมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหยิบยกเรื่อง "ตัวตน" และ "ความน่าเชื่อถือ" ของฝ่ายตรงข้ามขึ้นมาพูด ประเภท ไม่แสดงตัวตนบ้างล่ะ, เป็นผีอินเทอร์เน็ตบ้างล่ะ, ไม่เป็นลูกผู้ชายบ้างล่ะ เป็นการตะโกนด่าจากที่มืด (คือ ถ้าด่ากันเห็น ๆ ตัวจะดีกว่า อะไรประมาณนี้..ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จะด่าที่ไหนก็ตาม ถ้าไม่มีเหตุผลเสียแล้ว มันจะลูกผู้ชายกว่า หรือดีกว่าที่ตรงไหน ?) จนถึงขั้นท้ารบกันในโลกแห่งความเป็นจริงเลยก็มี แทนที่จะถกเถียงกันในประเด็น "หัวข้อที่สนทนา" ก็กลับต้องมาเสียเวลาโต้ตีกันนานสองนานในเรื่อง "ตัวตน"

ผู้แสดงความคิดเห็นบางคน ก็ประสงค์ใส่ชื่อจริง หรือ ชื่อที่สื่อได้ว่าเขาเป็นใคร เพราะเชื่อว่า นั่นเป็นการแสดงความจริงใจ และซื่อสัตย์ พร้อมรับผิดชอบ ในสิ่งที่เขียน แล้วก็เลยอยากให้คนอื่น ๆ คิดเหมือนกับตัวบ้าง ! บางคนกล่าวว่า การใส่ชื่อไว้ในข้อเขียน หรือ การแสดงความคิดเห็น จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และอาจทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนอื่น ๆ จัดแบ่งประเภท หรือจัดระดับความน่าอ่านของข้อเขียนนั้น ๆ ได้ ...แต่ผมกลับเห็นว่า...ถ้าใช้ตรรกนี้ เราจะอธิบาย หนังสือ หรือบทความจำนวนมากมายที่ได้รับการยอมรับ ภายใต้ นามแฝง หรือ เป็นของนักเขียนนิรนามได้อย่างไร ?

แอบคิดต่อไปอีกด้วยว่า ตรรกเรื่องต้องเปิดเผยตัวตน หรือชื่อผู้เขียน จึงจะดี จึงน่าอ่านนี้ หรือเปล่าที่ช่วยยืนยัน "กระบวนทัศน์ ในเรื่องความเชื่อแบบไทย ๆ" ให้ยิ่งหนักแน่นขึ้น กล่าวคือ ปกติคนไทยส่วนใหญ่ (ผมไม่ได้บอกว่าทั้งหมด) จะเชื่อเรื่องอะไร หรือสนใจเรื่องอะไรขึ้นมาสักเรื่อง ก็ต่อเมื่อ คนเขียนเรื่องนั้น ๆ เป็นที่ยอมรับ น่าเชื่อถือ โด่งดัง มีคนรู้จัก และอีกหลาย ๆ เหตุผลที่เกี่ยวกับ "ตัวตน" และ "หน้าตา" ล้วน ๆ เช่น เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือ เป็นราษฎรอวุโส เป็นต้น

จะเชื่อหรือไม่...เรามักไม่ค่อยพิจารณา พินิจพิเคราะห์กันที่ "เนื้อหา" "มุมมอง" ของคนเขียน จนบางทีก็กลายเป็นเรื่องติดหลง คือ ถ้าเป็นคนนี้เขียน คนนี้พูด ก็น่าเชื่อไปซะหมด...ไม่มีอะไรให้ต้องตั้งคำถาม ส่วนใครที่ไม่มีชื่อแส้ เขียนมาลอย ๆ แม้จะอ่านแล้วรู้สึกได้อะไรบ้าง แต่ก็ไม่อยากจะเชื่อถือสักเท่าไหร่

และก็ด้วยวิธีคิดเชื่อมโยงชื่อกับตัวตนจริง ๆ แบบนี้ล่ะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพยายามถามหาตัวตน และหน้าตา จากคนที่คิดต่าง และไม่เห็นด้วยกับตัว บางที ก็แสดงให้เห็นว่า เราคนไทย พร้อมที่จะหาเรื่อง หาราวกันต่อในโลกจริง ๆ ได้เสมอ เพราะยอมรับความเห็นที่แตกต่างกันไม่ได้ ...อย่าให้เจอที่ไหนนะมึ้ง

(มีบล็อกเกอร์ที่ผมรู้จักบางคน พยายามสืบถามตัวตน ถึงขั้นให้เบอร์โทรศัพท์ไว้ จะได้โทรไปนัดฟาดปากกันต่อ บางคนเคยรู้จักกันในโลกจริงมาก่อน พอมาทะเลาะกันแบบออนไลน์ ก็กลับมองหน้ากันไม่ติดไปเสียเฉย ๆ)

อนึ่ง มีเรื่องชวนสังเกตสนุก ๆ ว่า ในโลกไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเท่าที่พบเห็นในประเทศไทย การใช้นามแฝง หรือ นามปากกา กับการไม่ใส่ชื่อเลย เป็นนายนิรนาม ผู้คนในชุมชนออนไลน์ จะให้การต้อนรับไม่เหมือนกันนะครับ เหมือน ๆ กับว่า การใช้นามปากกา ให้ความรู้สึกของตัวตนที่จับต้องได้มากกว่าการไม่มีชื่อเลย ว่ากันอย่างนั้น (ไม่รู้ใครเคยเจอแบบนี้บ้างหรือเปล่า ?)

อย่างที่ผมเจอมา บล็อกเกอร์จำนวนหนึ่ง ยินดีรับฟัง ความคิดเห็นของ นายหมู นายหมา ที่ไหนไม่รู้ที่คิดนามปากกา แล้วพิมพ์ใส่ลงไปด้วยพร้อมความคิดเห็น แต่บล็อกเกอร์นั้นกลับไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น (แม้จะดีก็ตาม) ของนายหมู นายหมา ที่ไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่บังเอิญลืมใส่หรือคิดนามปากกาดี ๆ ไม่ออก เลยโชว์หลาว่าเป็นนายนิรนาม หรือ ไอ้ Anonym

ไอ้นิรนามคนนี้จะหมดความน่าเชื่อถือโดยฉับพลันทันที ทั้ง ๆ ที่เอาเข้าจริง บล็อกเกอร์คนนั้นก็ไม่รู้ หรือตรวจสอบไม่ได้เหมือนกันว่า นายหมู นายหมา ที่มีนามปากกาอีกคนหนึ่งมันคือ ใคร ? ....ผมแอบคิดเล่นๆ ว่า "ชื่อ" สำหรับบล็อกเกอร์ประเภทนี้ มันสำคัญแบบ "ผิวเผิน" และ "ตื้นเขิน" ชะมัดญาติ !

อย่างไรก็ตาม คงต้องคิดให้ต่างออกไปอีก สำหรับการใช้ นามแฝง หรือ นามปากกา ที่เล่นกันในวงแคบ ๆ เพราะกรณีหลังนี้ แม้จะเป็นนามแฝง ก็ยังสามารถระบุ หรือพอจะทราบกันได้ว่า มันผู้นั้นเป็นใคร เช่น ชุมชนบล็อกเกอร์จำนวนมาก เกิดขึ้นจากการเป็นคนรู้จักมักจี่กันมาก่อนในโลกจริง ชักชวนกันมาเขียน เลยไม่ค่อยมีปัญหา เพราะรู้กันว่า ใครใช้นามแฝงอะไร เรียกว่า นามแฝงก็แทบจะกลายเป็นนามจริงไปเลย นั่นแหละ... อย่างนี้ เลยไม่ใช่ นายหมู นายหมาที่ไหน ที่ผมว่าไปในกรณีแรก

นอกจากนี้ โดยปกติคนที่มีบล็อกเป็นของตัวเอง เพื่อการโฆษณาบล็อกไปด้วยในตัว เวลาไปแสดงความคิดเห็นที่ไหน ก็มักใส่ชื่อบล็อกไว้ด้วย เพื่อให้คนอ่านคนอื่น ๆ จิ้มต่อไปยังบล็อกของตัวอีกที แบบนี้ก็พอจะเห็นได้ว่า ไอ้นายนี่มันเป็นใครมาจากไหน ถ้าไม่พอใจก็พอจะตามไปจิก ไปด่ากันได้ด้วย "ชื่อ" ยิ่งบล็อกเกอร์ที่โชว์โพรไฟล์เต็มสตรีมยิ่งชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากนามแฝงของคนไม่มีบล็อก อย่างกรณีแรกอีกเหมือนกัน

ทำนองเดียวกันครับ กรณีบอร์ดนักเรียนไทยในเยอรมัน (สนทย.) จะว่าไปแล้ว หลาย ๆ ครั้ง ก็เป็นการเล่น การแสดงความคิดเห็นกันในวงแคบ ๆ นามแฝงหนึ่ง ๆ ถ้าใช้ไปสักพัก ก็มักเป็นที่รู้จักกันว่า ไอ้นายนี่เป็นใคร เรียนอยู่เมืองไหน พอคาดเดากันออก เป็นต้น (ซึ่งรวมทั้งการโชว์เลขไอพีในวงแคบ ๆ ด้วย ซึ่งจะพูดถึงต่อไป)

ดังนั้น นามแฝง ในกรณีหลัง ๆ ที่ผมยกมานี้ เลยทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ เพราะแฝงยังไง ก็ยังรู้ได้อยู่ดีว่า ใครเป็นใคร (ถ้าไม่อยากให้รู้ ก็ต้องลงทุนเปลี่ยนชื่อ หรือ ไม่มีชื่อไปเลยหมดเรื่อง) ซึ่งโดยส่วนตัวผมเห็นว่า นามแฝงที่ไม่แฝง แบบนี้ มันไม่สนุก และไม่เต็มที่กับการแสดงความคิดเห็น เพราะเหมือนคุยกันทางเมล กับคนรู้จักมากกว่าที่จะคุยกันแบบไร้ตัวตน หลุดพ้นจากกรอบบางอย่าง ที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่แบบไม่เจือผสมความเสแสร้ง

ดู ๆ ไปแล้ว ก็เลยเหมือนกับว่า ในบ้านเรา คนจำนวนมากคาดหวังให้ สภาพความจำแนกได้ ความเจาะจงได้ การชี้ชัดได้ รวมทั้งคุณธรรม ศีลธรรม และความรับผิดชอบ และกรอบความสัมพันธ์ทั้งหลาย เกิดขึ้นได้ในโลกเสมือนจริง .. เสมือนหนึ่งว่ายกเอาโลกและสังคมจริง ๆ มาจำลองไว้ในอินเทอร์เน็ตเลยก็ไม่ปาน ...โดยอาจไม่สนใจด้วยว่า การเรียกร้อง หรือความคาดหวังแบบนี้ จะกระทบต่อธรรมชาติของอินเทอร์เน็ต หรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบ้างหรือไม่ หรืออาจลืมไปว่า บางที การแสดงความคิดเห็นอะไรที่ออกมาจากใจจริง ๆ ไม่ต้องเสแสร้งแกล้งทำเพราะกรอบบางอย่าง เหมือนโลกจริงที่ต้องประสบพบเจออยู่ทุกวี่วัน ก็มีประโยชน์อยู่มาก ในอันที่จะเก็บไปพิจารณา และพัฒนาตัวเองต่อ

โชว์ไอพี : สาดไฟใส่ (ไม่เลือก) หน้า

เมื่อคนให้ความสำคัญกับ "ชื่อ" ที่สามารถแสดงตัวตนได้บ้างไม่มากก็น้อย ดังกล่าวมาแล้ว การเรียกร้องให้แสดงชื่อ หรือเปิดเผยตัวตน หรือให้ใช้ชื่อใดชื่อหนึ่งไปเลยชื่อเดียวเพื่อเจาะจงได้ไม่สับสน จึงมักเกิดขึ้นอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตามบนอินเทอร์เน็ต ไม่มีใครบังคับใครได้จริง ครับ ! การไม่ใส่ชื่อ ใช้ชื่อแฝง หรือ ใช้หลายชื่อ ฯลฯ จึงยังคงมีอยู่ต่อไป วิธีการแบบใหม่ ที่จะทำหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่การตัดสินใจของผู้เล่น ผู้ใช้แต่ละคน แต่ขึ้นอยู่กับ "ผู้ดูแลทั้งระบบ" เพื่อชดเชยการบังคับไม่ได้ในเรื่อง "ชื่อ" อย่างการขอให้แสดงเลขไอพีกำกับความคิดเห็น ก็เลยเกิดขึ้น เพื่อต่อไปเราจะได้ไม่ต้องไปสนใจชื่อ แล้วหันไปดู (หรือจับผิด) กันที่เลขไอพีแทน (บางที่นอกจากไม่สนใจชื่อแล้ว ก็พาลไม่สนใจเนื้อหาที่คน ๆ นั้นพยายามสื่อไปด้วยเลย...ฮา)

เพื่อป้องกันความวุ่นวาย ทำตามข้อเรียกร้อง ขี้เกียจปวดหัว รวมทั้งยัดเยียดความคาดหวังของผู้ที่ยังติดกับตัวตนในโลกจริง ให้กับทุก ๆ คน ไม้เว้นแม้แต่คนที่อยากหลุดออกจากกรอบของโลกจริง จริง ๆ ... ผู้ดูแลบอร์ดแสดงความคิดเห็นหลาย ๆ แห่ง เลยต้องวางมาตรการใหม่ และเข้มงวดขึ้น ทั้งนี้เพราะหวังกรองผู้ใช้ สาดไฟใส่มุมมืด และเพิ่มความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นได้ในพื้นที่ของตัว

เว็บไซท์จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่มีคนเข้ามาสนทนากันมาก ๆ มักใช้วิธีโชว์เลขไอพีของผู้ใช้ไว้ข้าง ๆ โดยไม่ได้ขอข้อมูลเพื่อการตรวจสอบอะไรเพิ่มเติมเลย แล้วให้เหตุผลว่า ...ผู้ใช้จะได้รับผิดชอบในความคิดเห็นของตัว สร้างความโปร่งใส เปิดหน้าเปิดตา และจะได้ไม่มีใครกล้าด่าใครได้จากที่มืด (ประชาไทเอง ก็ใช้เหตุผลนี้)

อย่างไรก็ตาม ผมอยากให้ลองสังเกตดูให้ดี ๆ นะครับว่า ที่เมืองไทยนั้น เหตุผลของการเรียกร้องให้เว็บไซท์แสดงเลขหมายไอพี มักไม่ใช่ประเด็น ความน่าเชื่อถือ ความมีตัวตน หรือจับต้องได้ เพื่อประเมินว่า น่าคุยด้วยหรือไม่ แล้วนะครับ

เหตุผลของการขอให้ผู้ดูแลโชว์ไอพี กลับกลายเป็นเรื่องใน เชิงจับผิด ข่มขู่ หรือตีกันเอาไว้ก่อน เพื่อให้คนที่คิดจะใช้หลายชื่อภายใต้หมายเลขไอพีเดียวกัน เกิดความกลัว ละอาย หรือไม่กล้าทำ เพราะคนอื่นจะจับได้ว่า ....ฮั่นแน่...เอ็งมันเป็นคนลวงโลก(เสมือนจริง) เล่นพรรคเล่นพวก ก่อกวน ปั่นปวน ที่เข้า ๆ มานี่ มันก็พวกเดียวกันทั้งนั้น

แม้เหตุผลแบบนี้ จะสื่อว่า คนไทยไม่ชอบ การปลุก การปั่น การทะเลาะเบาะแว้ง รุมตี หมาหมู่ ซึ่งน่าจะดี... แต่กับเรื่องคุยกันแบบออนไลน์นี้ ผมขอมองมุมต่าง...

ด้วยเหตุผลนั้น ผมแอบคิดว่า ทำไม เราช่างไร้เดียงสาซะเหลือเกินกับเทคโนโลยีชนิดนี้ เหมือนเด็กที่จำแนก แยกแยะโลกจริง กับโลกเสมือนจริงไม่ออก ชั่งน้ำหนักเองไม่ได้ ไม่รู้จักการปฏิเสธ หรือเพิกเฉย ต่อความคิดเห็นที่ไร้สาระ ถึงแม้มันจะมีจำนวนมากก็ตาม หรือ ทำไมความอดทนเราน้อยเหลือเกินกับการแสดงความคิดเห็นเชิงก่อกวน หรือปั่นปวน ในขณะที่กลับมีความอดทนมากเหลือเกินกับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความค ิดเห็นไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม....

และนี่คงเป็นอีกครั้งกระมังที่เราใช้ "จำนวน กับ หน้าตา" มาชี้วัดอะไรแบบ "ตื้นเขิน" ประเภท ใครพวกมากกว่า คนนั้นชนะ ใครแสดงหน้าตา คนนั้นโปร่งใสกว่า ดีกว่า ทั้ง ๆ ที่ บางทีไอ้พวกที่มาก ๆ กับไอ้พวกที่โชว์หน้าตานี่ ความเห็นสุดแสนจะเลอะเทอะ !! เหตุใด บ้านเราจึงต้องให้ความสำคัญกับ "จำนวน และหน้าตาของผู้แสดงความคิดเห็น" มากกว่า "เนื้อหา และ คุณภาพ" ของความคิดนั้น ?

ปัจจุบัน กระดานสนทนาท้ายข่าวฉบับไหน มีจำนวนคนเล่นมาก ไม่ว่าความคิดเห็นเหล่านั้นจะมีคุณภาพหรือไม่ มักมีอิทธิพลกับข่าว ๆ นั้นเสมอ คนที่ตกเป็นข่าวจะหนาว ๆ ร้อน ๆ (ในขณะที่คนอ่านข่าวหลายคนเลิกอ่าน ความเห็นท้ายข่าวไปนานแล้ว เพราะมองว่า ความคิดเห็นส่วนใหญ่ ไร้สาระ เชียร์กันไป ด่ากันมาลอย ๆ ขาดเหตุผลสนับสนุน)

จำนวนคนเล่น จำนวนคนเห็นด้วย และจำนวนคนไม่เห็นด้วย ในกระทู้ หรือในข่าวหนึ่ง ๆ จึงดูเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผู้คนหันไปยึดถือ หลาย ๆ ครั้ง ถึงขั้นชี้นำแนวคิด และความเป็นไปในสังคมได้ .... ปรากฎการณ์เข้ามาหลายที ใช้หลายชื่อ เลยเพิ่มมากขึ้น เพราะคนพวกนี้รู็นิสัยคนไทยดี

ผิดกับเว็บไซท์ดัง ๆ ในต่างประเทศ หรือเว็บที่มีอิทธิพลต่อวงการใดวงการหนึ่ง มักดูกันที่ "เนื้อหา" และ "แนวคิด" ของคนเขียน ดูคุณภาพในการแสดงความคิดเห็น บล็อกเกอร์ต่างประเทศหลายคนแจ้งเกิด และมีอิทธิพลได้ เพราะเขียนดี มีเนื้อหา น่าอ่าน ไม่ใช่วัดกันที่ "จำนวนความคิดเห็น ที่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย"

 

สรุปประเด็นนี้ก็คือ เนื่องจากผมเอง ไม่เคยให้ความสำคัญกับจำนวนความคิดเห็น และไม่เคยสนใจความคิดเห็นที่ไม่มีประเด็น หรือพูดจาเลอะเทอะ ก่อกวน อีกทั้ง ผมไม่เคยอยากรู้ หรือไม่นึกอยากสืบค้นตัวตน หรือหน้าตาของใครในโลกอินเทอร์เน็ตเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวตนของคนเลื่อนเปื้อนเหล่านั้น (คนความเห็นดี ๆ น่ารู้จักมากกว่า) ผมจึงมักสงสัยเสมอ ๆ ว่า

... เราจะกลัวอะไรกันนักกันหนา กับการปั่นกระทู้ กับการก่อกวน กลัวอะไรหนักหนากับความเห็นไม่มีคุณภาพ ที่แม้มันจะเข้ามาบ่อย เข้ามาเยอะแยะไปหมด แต่อ่านยังไง ก็ซ้ำ ๆ ซาก ๆ วนไปเวียนมา แถมออกจะเลื่อนลอย ไร้เหตุผลสนับสนุน หรือถึงขั้นไร้สาระ ! หรือ เราจะสนใจอะไรกันนักหนากับ "หน้าตา" ของผู้แสดงความคิดเห็น จนต้องพากันมาเสนอว่า โชว์ไอพีสักทีเถอะ จะได้คอยช่วยกันจับผิด (ไอพี) ว่า ใครมันมาซ้ำ ใครมันมาป่วน...

สำหรับผม ถ้าไม่ชอบ รำคาญ ก็ข้ามไปไม่ต้องอ่าน เถียงแล้วไม่ได้อะไรขึ้นมา ก็ไม่ต้องเสวนาด้วยเท่านั้นเอง... อะไรที่ไม่ได้รับความสนใจ ย่อมเท่ากับว่า มันไม่สำคัญ ตรงกันข้าม เพราะคุณให้ความสำคัญ คุณจึงไปสนใจ ไม่ว่าการสนใจนั้นจะแง่ดี หรือแง่ร้ายก็ตาม

อย่าปล่อยให้จำนวนที่ไร้คุณภาพ กับ หน้าตาที่ไร้แก่นสาร เหล่านั้น กลายเป็นมายาคติตามหลอกหลอนผู้คนในโลกจริงได้เลยครับ

 

การแสดงเลขไอพีตามเว็บบอร์ดที่บ้านเราเพื่อหวังขู่ให้ คนคิดจะเข้ามาป่วน หรือกระทำความผิดเกรงกลัวนี้ นอกจากเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางอ้อม ขัดกับเป้าหมายและธรรมชาติของสื่ออินเทอร์เน็ตแล้ว ยังอาจกลายเป็นช่องโหว่ให ้ "ผู้ใช้ที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์" ในระดับดีกว่าผู้ใช้ธรรมดา ๆ ได้เปรียบ เกิดเป็นชนชั้นทางอินเทอร์เน็ตได้อีก เพราะคนเหล่านี้ไม่กลัวไอพี แถมยังปลอมไอพีให้เป็นของคนอื่นได้อีกต่างหาก

ไอ้วิธีการขู่ง่าย ๆ ด้วยแค่โชว์เลขไอพี โดยไม่จัดเก็บข้อมูลใด ๆ เพิ่มเติมเลยแบบนี้ มันจะมีผลก็แต่กับ "คนไม่ประสาความในเรื่องคอมพิวเตอร์" ที่เขาอาจไม่ได้เตรียมตัวเป็นคนร้าย หรือจอมป่วน เท่านั้นครับ เพราะเข้าใจไปว่า เมื่อมีการโชว์เลขไอพีแล้ว ใคร ๆ ก็จะสาวไปถึงตัวเขาหรือเธอได้ การแสดงความคิดเห็นของคนกลุ่มนี้้ เลยออกมาแบบกล้า ๆ กลัว ๆ คิดอะไรได้ไม่เต็มที่

 

ผู้ใช้ทั้งหลาย ควรต้องทำความเข้าใจด้วยนะครับว่า ลำพังแต่หมายเลขไอพีเพียงอย่างเดียว มันมักไม่เพียงพอหรอก ที่จะระบุได้ว่าข้อความที่เขียนนั้น มาจากที่ใด หรือ ใครเป็นคนเขียน เพราะปัจจุบัน การปลอมหมายเลขไอพีเครื่องเป็นของคนอื่น มันทำไม่ยาก, ส่วนการใช้หมายเลขร่วมกันหลาย ๆ เครื่อง ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา

การสืบค้นตัวตนจะเกิดขึ้นได้จริง จำเป็นต้องใช้ข้อมูลอื่น ๆ ประกอบอีกหลายอย่างครับ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับวัน เวลา ที่ใช้, สถิติการใช้เครื่อง (เหล่านี้ เขาเรียกกันว่า "ข้อมูลจราจร") รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวกับการจัดสรรหมายเลขไอพีให้กับเครื่องภายในองค์กร หรือภายในบริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ อย่างกรณีเก็บหมายเลขบัตรประชาชนของบอร์ดพันทิป อันนั้นน่ากลัวมาก เพราะจะสามารถระบุตัวผู้ส่งข้อความได้แน่นอน

"ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์" (ตาม มาตรา ๓ ร่างพรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์) หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร ของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลา ชนิดของบริการ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบ คอมพิวเตอร์นั้น

ความยากลำบากในการระบุตัวตน เพิ่มมากขึ้นไปอีกครับ เมื่อปัจจุบัน มีเว็บที่ให้บริการปิดบังตัวตน ระหว่างท่องอินเทอร์เน็ตให้บริการ เช่น www.anonymouse.org ระบบการทำงานของมัน ก็คือ ผู้ใช้สามารถป้อนชื่อของเว็บ ที่ต้องการดูไปในเว็บไซท์ นี้ จากนั้นระบบเว็บจะค้นหา และไปนำข้อมูล มาส่งต่อกลับมาให้เราอีกทีหนึ่ง ด้วยวิธีนี้ จะเหมือนเป็นการตบตา เครื่อง Server ของเว็บไซท์ที่เราป้อนไป ให้เห็นว่าผู้อ่านก็คือ เครื่องของผู้ให้บริการเพื่อปิดบังตัวตน ไม่ใช่เครื่องคอม ฯ ของเราเอง ซึ่งย่อมทำให้หลุดลอดจากการตามล่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐได้

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีระบบช่วยปิดบังตัวตนที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก ที่รู้จักกันในนาม Tor (http://tor.eff.org/) เครือข่้าย TOR เป็นเครือข่ายที่สร้างขึ้นมาเพื่อลบร่องรอยการส่งข้อมูล โดยเครื่องเซิร์ฟเวอร์แต่ละตัวจะรับคำร้องขอจากผู้ใช้ แล้วเลือกว่าจะส่งต่อไปให้เครื่องต่อไปเครื่องใดในเครือข่าย จนกว่าจะถึงเครื่องที่ยอมเชื่อมต่อกับปลายทาง วิธีนี้ทำให้เครื่องเซิร์ฟเวอร์ไม่สามารถบอกได้ว่า ผู้ที่เปิดช่องทางเชื่อมต่อนั้นเป็นใคร ในเยอรมัน เครือข่าย Tor ก็เพิ่งถูกตรวจค้น ไปเมื่อไม่นานมานี้

อย่างไรก็ตามอาจ ต้องยอมรับว่า การโชว์ไอพีให้ผลทางด้านจิตวิทยาบางอย่างต่อผู้ใช้ธรรมดา ๆ เพราะเกรงว่าความคิดเห็นของตัวจะไปกระทบใครเข้า หรือ แม้แต่ประเด็นว่า มีผู้มีบารมี (นอกรัฐธรรมนูญ...ฮา) ใช้อำนาจบางอย่างบีบให้เกิดการตรวจสอบผ่านหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญ หรือ หน่วยงานของรัฐได้ ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อความคิด และเสรีภาพทั้งสิ้น

นอกจากนี้ การแสดงหมายเลขไอพี ในกระดานสนทนาที่ใช้กันในเฉพาะกลุ่มแคบ ๆ เป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะแม้จะรู้แบบกว้าง ๆ เจาะจงตัวไม่ได้ชัด ๆ แต่ การเจาะกลุ่มได้กว้าง ๆ เลา ๆ แบบนั้นล่ะครับ ที่จะยิ่งสร้างปัญหา เพราะพวกคอยจับผิดไอพี จะคาดเดาตามความรู้สึกไปเองว่า มันต้องเป็นคนนั้น คนนี้ ในกลุ่มไอพีนี้แน่ ๆ เกิดความบาดหมางในโลกจริง ๆ แบบลวง ๆ กลายเป็นการป้ายสีกันด้วยกระดาษเปล่า

ในต่างประเทศ ความเป็นนิรนาม หรือการปกปิดตัวตนผู้แสดงความคิดเห็น ถือเป็นส่วนสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนะครับ การจะออกกฏหมาย หรือกฎเกณฑ์ใด ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวดังกล่าว การเปิดโปง หรือแม้แต่การสืบค้นตัวตนของพลเมือง ทำได้อย่างจำกัด แม้แต่การโชว์หมายเลขไอพี ก็เป็นเรื่องที่ต้องคัดง้างกันทางความคิด เพราะแม้ผู้เล่นธรรมดา ๆ ทั่วไปจะทำอะไรไม่ได้กับไอพีนั่น แต่สำหรับผู้เล่นที่มีความรู้คอมพิวเตอร์ และเรื่องพวกนี้อยู่บ้าง เพียงแค่โชว์เลขไอพีก็อาจให้ผลทำลายความเป็นส่วนตัวบางประการได้แล้ว แม้ไม่ถึงขั้นเจาะจงตัวได้ก็ตามที

ในขณะที่เมืองไทย เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะแม้ว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิพื้นฐานและเคยกำหนดรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 (ที่โดนฉีกไปละ) แต่ประเด็นการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้แสดงความคิดเห็น กลับไม่ค่อยมีใครเรียกร้อง ตรงกันข้ามกลับพยายามให้มีการแสดงชื่อ ไอพี เพื่อการสืบหาตัวตนกันมากขึ้นทุกที

บางคนคิดเลยไปด้วยครับว่า การแสดงหมายเลขไอพีนี้ จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ดูแลเว็บ ในอันที่ต้องรีบจัดการลบ หรือขจัดข้อความไม่พึงประสงค์ออกไปให้ได้ทันท่วงที ทั้ง ๆ ที่เอาเข้าจริง ไม่ว่าจะโชว์ไอพีให้ผู้เล่นคนอื่น ๆ เห็นด้วยหรือไม่ ถ้าผู้ดูแลระบบเขียนโปรแกรมเก็บไอพีไว้ ไอ้เลขไอพีนี่ก็ถูกล่วงรู้ และเก็บไว้ได้อยู่ดี โดยผู้ดูแลระบบนั่นแหละครับ...(หรือไม่เช่นนั้นก็เข้าไปขอดูใน log file ในเครื่องคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ได้)

เพียงแต่โดยปกติ ถ้าไม่มีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้น ข้อมูลดังกล่าวจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ (เพราะมักได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล..ที่บ้านเราก ำลังร่างกันอยู่ แต่ต่างประเทศมีไปตั้งโกษปีแล้ว) แต่ก็มักมีข้อยกเว้นว่า เจ้าพนักงานสามารถขอดูได้ถ้ามีส่วนเกี่ยวข้อง กับการดำเนินคดี ดังนั้น จึง อย่าไปเข้าใจผิดว่า ไม่โชว์ ก็คือ ไม่เก็บ หรือไม่มีใครรู้ เป็นอันขาด ...ประเด็นโชว์แล้ว จะสะดวกต่อผู้ดูแลระบบ จึงไม่สมเหตุสมผลพอ

ดังกล่าวถึงไปบ้างแล้วว่า ในต่างประเทศ การเก็บข้อมูล หรือการแสดงโพรไฟล์ รายการไอเดนติตี้ทั้งหลายของผู้ใช้เป็นเรื่องสำคัญนะครับ เขาจะทำไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้เกิดจากความยินยอมของผู้ใช้บริการนั้น ๆ เอง

แล้วก็มักไม่ได้ทำกันในบอร์ดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั่ว ๆ ไป อย่างบ้านเราด้วย แต่มักจะทำกับเว็บที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความน่าเชื่อถือของตัวผู้ใช้ เช่น เว็บไซท์ขายของ ช็อปปิ้งออนไลน์ หรือ เว็บไซท์ประมูลสินค้าอย่าง Ebay ปกติ เว็บพวกนี้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับ ชื่อเสียง ของผู้ใช้แต่ละคน ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ใช้บริการคนอื่น ๆ มีข้อมูลตัดสินใจได้เองว่า ควรจะทำธุรกรรมใด ๆ กับ นายคนนั้นหรือไม่

ดังนั้น เป้าหมายในการเก็บ หรือแสดงข้อมูลจึงเป็นเรื่องของการ "ป้องกันการกระทำความผิด ทำให้การฉ้อโกง หรือหลอกลวงกันทำได้ยากขึ้น" มากกว่า เพื่อป้องกันแค่เพียง การทะเลาะเบาะแว้ง แสดงความคิดเห็นทำคะแนน หรือการอาศัยจำนวนมากเพื่อชี้นำความคิดของคนในสังคม อย่างบ้านเรา

นอกจากเป้าหมายเก็บข้อมูล หรือแสดงข้อมูล เพื่อแสดงตัวตน และความน่าเชื่อถือในขอบเขตเรื่องธุรกิจ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว ปัจจุบันการขอเก็บข้อมูล เพื่อยืนยันตัวตนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ยังมีสาเหตุมาจาก การเพิ่มขึ้นของการกระทำความผิดบนเครือข่าย ประกอบกับความยากลำบากในการติดตามร่องรอย และไอเดนติไฟล์ผู้กระทำความผิดที่แท้จริง ทำได้ยาก อีกด้วย

หลายประเทศ นอกจากกำหนดให้การกระทำอันมิชอบทั้งหลายบนอินเทอร์เน็ต เป็นความผิดไม่ต่างจากกระทำในโลกจริงแล้ว ยังพยายามแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายวิธีสบัญญัติ เพิ่มอำนาจ การสืบสวนสอบสวน เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานให้กับเจ้าพนักงานของรัฐ รวมทั้งกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวพันกับข้อมูลการใช้อินเทอ ร์เน็ตทั้งหลาย มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องจัดเก็บ ส่งมอบ หรือให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานเพื่อช่วยกัน นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

Cybercrime Convention ข้อตกลง ว่าด้วยการป้องกันและปราบรามอาชญากรรมบนเครือข่าย ที่ออกโดยคณะมนตรีร่วมยุโรป (Europarat) มีหลายมาตรา (§§ 14-19) เกี่ยวกับอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ประเทศที่ลงนาม และให้สัตยาบันแล้ว ต้องกลับไปแก้ไขปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศตน เพื่อให้สอดคล้องกัน ซึ่งบทบัญญัติต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นบทเพิ่มอำนาจเจ้าพนักงานมากขึ้น ในการเรียกพยาน สั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งกำหนดหน้าที่จัดเก็บข้อมูลโดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และผู้ดูแลระบบบางประเภท ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเจ้าพนักงานในการสอบสวน แสวงหาพยานหลักฐาน รวมทั้งสาวไปให้ถึงตัวผู้กระทำความผิด ให้ได้

แต่แม้กระนั้นก็ตาม กว่าตัวข้อตกลงนี้จะออกมาได้ และมีผลใช้บังคับไปแล้วเมื่อปี 2004 ประเด็นการให้อำนาจเจ้าพนักงานเรียกดูข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ก็เคย และยังเป็นข้อกังขาที่ถูกโต้แย้งคัดค้านกันอยู่จนทุกวันนี้ครับ ว่ามันขัดกับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพลเมืองยุโรปหรือไม่

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของไทยเอง ที่ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภา ก็มีมาตราที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตโดยผู้ให้บริก ารอินเทอร์เน็ต เช่นกัน

มาตรา ๒๔ ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน นับแต่วันที่ ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็นพนักงาน เจ้าหน้าที่จะสั่งให้ผู้ให้บริการผู้ใดเก็บรักษา ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกินสามสิบวัน แต่ไม่เกินเก้าสิบวัน เป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายและเฉพาะคราวก็ได้

ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีสัญญาหรือข้อตกลงในการให้บริการกับผู้ใช้บริการ ผู้ให้ บริการต้องเก็บสัญญาหรือ ข้อตกลงนั้นไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน นับตั้งแต่วันที่ สัญญาหรือข้อตกลงนั้นสิ้นอายุ

ความในวรรคหนึ่งจะใช้กับผู้ให้บริการประเภทใด และเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่ รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผู้ให้บริการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ถกเถียงกันมาก (ทำนองเดียวกับ Cybercrime Convention) คือ ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐในอันที่จะสั่งให้จัดเก็บ ส่งมอบ หรือแม้กระทั่งดักรับข้อมูลส่วนบุคคลของคนที่เจ้าพนักงานต้องการข้อมูลด้วย ทั้งนี้เพราะร่างกฎหมายดังกล่าว ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐไว้ค่อนข้างกว้าง จนน่าจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และพื้นที่ส่วนบุคคลที่ประชาชนควรได้รับความคุ้มครอง หรืออาจเป็นช่องทางให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลนั้นในจุดประสงค์อื่น หรือในทางที่มิชอบอื่นได้ เช่น ข่มขู่ หวังผลทางการเมือง ทางธุรกิจ ต่อไป

 

มาตรา ๑๖ ในกรณีมีเหตุอันสมควสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) สั่งให้บุคคซึ่งครอบครอง หรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดังกล่าว ให้แก่ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ทั้งนี้เฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ ในการหาตัวผู้กระทำความผิด

(๒) ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์จากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัตินี้

(๓) ตรวจสอบ หรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจร ทางคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด อันเป็นหลักฐาน หรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับ การกระทำความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำ ความผิดในกรณีจำเป็นจะสั่งบุคคลนั้นให้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็น ให้ด้วยก็ได้

(๔) ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง กับการเข้ารหัสลับ ของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับ พนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับ

(๕) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงเนื้อหาของข้อมูล ที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน

(๖) สั่งให้ผู้ให้บริการสงมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ ที่ต้องเก็บตามมาตรา ๒๔ หรือที่อยู่ในความ ครอบครองหรือควบคุมของผู้ให้บริการให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่

(๗) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบ รายละเอียด แห่งความผิด และผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

(๘) มีหนังสือสอบถาม หรือเรียกบุคคลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัตินี้ มาเพื่อให้ถ้อยคำส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือ หลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถ เข้าใจได้

แม้นักวิชาการจำนวนหนึ่ง กลุ่มผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ต รวมทั้งสภาวิชาชีพผู้ดูแลเว็บ และสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย พยายามเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ในการสัมนนา และการยกร่างหลายครั้ง เช่น ขอให้เพิ่มเงื่อนไขว่าจะต้องมีการขออนุญาตจากศาลก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ จะเรียกดูข้อมูลต่าง ๆ ได้ หรือ จำกัดเวลาให้การจัดเก็บข้อมูลให้น้อยลง แต่สุดท้ายก็มักตกไป ด้วยเหตุผลที่ว่า เจ้าพนักงานต้องการความรวดเร็วอย่างมากในการรวบรวมพยานหลักฐานดิจิตอลเหล่าน ี้ เพราะมันสามารถถูกทำให้สูญหาย เปลี่ยนแปลง แก้ไข ชั่วเวลาพริบตา และต้องเก็บข้อมูลเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อประโยชน์ในการสืบหา ตัวผู้กระทำความผิด



...ครับจะเห็นได้ว่า การเรียกเก็บ การแสดง หรือการส่งมอบข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหลาย เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่จะนำมาไปสืบหาตัวตนของคน ๆ หนึ่งในโลกเสมือนจริงได้ มันไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ หรือเพียงเพื่อป้องกันการทะเลาะเบาะแว้ง ลดความรำคาญ ที่เกิดจากความเห็นต่าง อันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่เกิดได้ในสังคมประชาธิปไตย นะครับ

ตรงกันข้าม สังคมไหนที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย อ้างว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กลับพยายามปกป้อง ความเป็นส่วนตัวของพลเมืองของตน ทั้งจากการสืบค้นโดยเอกชน และภาครัฐ ต้องมีมาตรการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มาตรการใด ๆ ที่ให้ผลทางตรง หรือทางอ้อมในการควบคุมการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าที่ไหน ๆ ไม่เฉพาะอินเทอร์เน็ต เป็นเรื่องต้องห้าม หรือถ้าจะทำก็ต้องมีเหตุผลพิเศษอย่างยิ่ง

 

จริงอยู่ครับที่ว่า ทุกสังคมไม่ควรปล่อยให้การกระทำค วามผิด อาทิ การหม่ินประมาทบุคคลอื่น ไม่ว่าด้วยถ้อยคำ หรือ ด้วยภาพ การเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร ฯลฯ เกิดขึ้นก่อน แล้วค่อยตามแก้ ตามจับ

จริงอยู่ครับที่ เลขหมายไอพี เป็นข้อมูลหนึ่งในการตามหาผู้กระทำความผิดเหล่านั้นได้

แต่ดังกล่าวไปแล้วว่า เลขไอพีอย่างเดียวไม่ได้ช่วยเจาะจงตัวผู้กระทำที่แน่ชัด อีกทั้งการโชว์แค่เพียงเลขไอพีไว้ใต้ความคิดเห็นเฉย ๆ (อย่างที่เว็บไซท์ทั่วไปทำ) ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ดูแลระบบ หรือต่อการดำเนินคดีใด ๆ มากขึ้นไปกว่าเดิม หรือมากขึ้นไปกว่าการจัดเก็บไว้โดยผู้ดูแลระบบเอง โดยไม่ได้เปิดเผยต่อใครเป็นการสาธารณะ

ในทางปฏิบัติ หากมีการใช้ถ้อยคำ หรือ ภาพที่ไม่เหมาะสมขึ้น ผู้ใช้คนอื่น ๆ เห็นแล้ว คิดว่าผิดกฎหมาย หรือเกินว่ามาตรฐานสังคมจะยอมรับได้ ย่อมทำอะไรเองไม่ได้อยู่ดี นอกจากแจ้งไปยังผู้ดูแลระบบ หรือเจ้าหน้าที่ให้จัดการ ซึ่งจะจัดการได้ เจ้าหน้าที่ก็ยังต้องอาศัยข้อมูลในส่วนอื่น ๆ จากผู้ดูแลระบบ หรือผู้ให้บริการอินเทอรเน็ตอื่น ๆ อีก

ถูกหรือ ? ที่เราจะใช้เลขไอพี เป็นเครื่องมือสาดไฟ เข้าไปแบบไม่เลือกหน้า (แทนที่จะเก็บไว้แก้ปัญหาเป็นกรณีไป) ซึ่งอาจส่งผลกับเสรีภาพ ความกล้าคิด กล้าแสดงออก ของคนจำนวนมาก ...โดยอ้างว่า จะทำให้ผู้แสดงความคิดเห็น ระวังถ้อยคำมากขึ้น ละอายขึ้น ไม่กล้าเข้ามาป่วน...ทั้ง ๆ ที่เอาเข้าจริง เรื่องราวเหล่านี้ และถ้อยคำก็ไม่ได้ร้ายแรงถึงขนาดทนไม่ได้ หรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับ "การกระทำความผิดตามกฎหมายใด ๆ" เลย

น่าแปลกใจ ที่แต่ก่อนคนมักด่าว่านักกฎหมาย เพราะคอยแต่จะออกกฎหมายมาควบคุมการกระทำบนเครือข่าย โดยไม่สนใจความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำลายธรรมชาติของอินเทอร์เน็ต หรือไม่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่พอตอนนี้ ผู้คนกลับอยากให้ใช้มาตรการเหวี่ยงแห ที่ส่งผลอ้อม ๆ ควบคุมการแสดงความเห็นทุกอย่าง แม้มันไม่ได้เป็นความผิดอะไรทางกฎหมายก็ตาม

ถูกหรือ ? ที่เราไปให้น้ำหนักกับ "จำนวน และหน้าตา" ของคนแสดงความคิดเห็น มากว่า "คุณภาพ" ของความคิดเห็น ที่ถูกแสดงไว้ตามที่ต่าง ๆ หรือ ติดอยู่กับมายาคติ ที่ว่าโลกเสมือนจริง ก็ควรต้องเหมือนกับโลกจริง จนแยกแยะไม่ออกว่า อะไรจริง อะไรลวง

และถูกหรือ ? ที่เราจะพากันหันมาบอกว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ทุกคนต้องเปิดเผยหน้าตา และแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา ในการสนทนาพูดคุยกันในโลกไซเบอร์ ...หากคำตอบ คือ ถูก...ถ้าเช่นนั้น โลกเสมือนจริง จะยังเป็นโลกเสมือนจริงที่มีเสน่ห์อยู่ที่ความอิสระเสรี อีกหรือไม่ ?

สุดท้าย ควรต้องออกตัวด้วยว่า ผมไม่ใช่ผีที่กลัวแสง หรือเลขไอพีนะครับ และไม่เคยคิดจับผิดไอพีของใครด้วย แม้หลาย ๆ ครั้ง ผมไม่แสดงตัวตนที่แท้จริง แต่ผมก็ไม่เคยด่าใครแบบไร้เหตุผล บางครั้งอาจใช้คำตรงไปบ้าง แต่ที่ใช้ ก็เพราะ่่่่รู้สึกว่า ทำแบบนี้ไม่ได้ หรือไม่ควรทำในสังคมจริง ๆ รวมทั้งไม่อยากมีปัญหา หรือบาดหมางกับใครเป็นตัว ๆ โดยใช่เหตุ

แต่ด้วย ปัญหาในประเด็น ที่ไอพีอาจให้ผลอะไรบางอย่างกับคนจำนวนหนึ่ง จนน่าจะขัดต่อเสรีภาพแสดงความคิดเห็น และธรรมชาติของอินเทอร์เน็ต, มันป้องกันการกระทำความผิดได้ไม่จริง, ก่อให้เกิดชนชั้นพิเศษทางอินเทอร์เน็ต, รำคาญพวกจับผิดไอพีโดยไม่ใส่ใจเนื้อหา ประกอบกับผมเห็นว่า การทะเลาะกันที่เกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ต ที่พอทะเลาะเสร็จ ปิดคอม ฯ ไปนอนแล้วตื่นเช้าไปทำงานตามปกติ ไม่เห็นมีอะไรเสียหาย ..จะไม่ดีกว่าหรือ ที่เราจะให้พื้นที่อินเทอร์เน็ตเป็นที่แสดงออกอย่างเต็มที่ (แน่นอนคุมเรื่องผิดกฎหมาย) แล้วคุมการทะเลาะนี้ไว้ ให้มันอยู่เฉพาะในโลกไซเบอร์เท่านั้น แทนที่จะปล่อยให้เกิดช่องทาง หรือลามปามไปวิวาทในโลกจริง ๆ กันต่อ

โดยส่วนตัว ผมจึงไม่เห็นเหตุผล หรือความจำเป็นใด ๆ เลยครับ กับการต้องโชว์ไอพีไว้ให้คนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดู ......นอกเสียจาก  เหตุผลเลือน ๆ ในแง่ต่าง ๆ ที่กล่าวไปแล้ว  คือ ป้องกันความปั่นป่วน ลดความขัดแย้ง เพื่อความสบายใจของคนที่ติดหลง ที่แยกไม่ออกระหว่างโลกจริง กับโลกเสมือนจริง กลัวมุมมืด และยึดติดกับจำนวนและหน้าตา ...ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่บ้านอื่นเมืองอื่น  เขาไม่ได้ใช้กัน !

อย่างไรก็ตาม บล็อกนี้ผมไม่ได้บอกนะครับว่า เราไม่ควรควบคุมการแสดงความคิดเห็นใด ๆ เลย หรือปล่อยให้เป็นเสรีภาพสุด ๆ ไปเลย เพราะอย่างน้อย ถ้าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ก็ควรต้องคุม เพียงแค่อยากจะชี้ว่า ... บางที เราอาจต้องกลับมานั่งชั่งน้ำหนักกันใหม่ ระหว่าง เสรีภาพกับการควบคุมได้ หรือ เสรีภาพในการแสดงออก กับ การป้องกันการก่อกวน ปั่นป่วน หรือกล่าวร้ายป้ายสี รวมทั้งอาจต้องนั่งลงทบทวน เหตุผล และ คิดหาวิธี "การควบคุม" วิธีอื่นใด ที่ไม่ใช่แบบที่เป็นอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับยุคนี้ ยุคที่พื้นที่อิสระ ที่เปิดโอกาสให้พลเมืองแสดงความคิดเห็น ระบายความอัดอั้นตันใจ กันได้อย่างเสรี ลดน้อย ถอยลงไป ทุกวัน ๆ

   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net