Skip to main content
sharethis


โดย อ. อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ ดินอะ

 


 


ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่านสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน


 


ภายหลังการเอ่ยคำขอโทษจากปาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีต่อกรณีเหตุการณ์ตากใบและผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากกลไกการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ณ จังหวัดปัตตานีต่อหน้าประชาชนทุกภาคส่วน นับว่าเป็นการ "ส่งสัญญาณ" และวิธีการที่ส่งผลทางจิตวิทยาสูง ไม่ต่างกับการถอนฟ้องจำเลยคดีตากใบ รวมทั้งการรื้อคดีอุ้มฆ่าทนายสมชาย นีละไพจิตรที่น่าที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาภาคใต้ในระยะยาว


 


การขอโทษหรือภาษามลายูซึ่งคนชายแดนใต้เรียกว่ามินเตาะมอัฟนั้นตามทัศนะอิสลามแล้วมีความสำคัญมากโดยเฉพาะหลังเทศกาลถือศีลอดซึ่งนายกรัฐมนตรีทำได้ถูกจังหวะ


 


มนุษย์นั้นซึ่งโดยธรรมชาติที่อัลลอฮฺสร้างมานั้นย่อมหนีไม่พ้นการกระทำความผิดหรือข้อบกพร่องต่างๆ ดังนั้นอัลลอฮฺตะอาลาจึงทรงได้บัญญัติให้การขอโทษเป็นวิธีการที่ดีเยี่ยมที่สุดในการกลับตัวและแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง


 ท่านศาสดาได้ทรงกล่าวไว้ความว่า มนุษย์ย่อมไม่สามารถสามารถหลีกเลี่ยงจากความผิดแต่ผู้ที่ดีเลิศของผู้ทำความผิดคือผู้ขอโทษ


 


ในขณะเดียวกันพระเจ้าเมื่อบ่าวของพระงค์นั้นขอโทษและกลับเนื้อกลับตัวพระองค์ก็จะทรงให้อภัย อัลลอฮฺเจ้าได้ดำรัสความว่า "พวกเขาไม่รู้ดอกหรือว่า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงรับการสำนึกผิดจากปวงบ่าวของพระองค์ และทรงรับบรรดาสิ่งที่เป็นทาน(ศ่อดะเกาะฮฺ) และแท้จริงอัลลอฮฺนั้นคือ ผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ" (9:104)


 


และพระองค์ยังได้ดำรัสอีก ความว่า " และจงขอโทษต่อพระองค์เถิด แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษเสมอ" (110:3)


 


ศาสนาอิสลามสอนมุสลิมให้รู้สึกและสำนึกว่าความผิดทุกชนิดไม่ว่าใหญ่หรือเล็กนั้นเป็นเรื่องใหญ่ มิใช่เรื่องเล็กๆที่ถูกมองข้ามและเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักในโทษทัณฑ์ มีหะดีษ(วัจนะศาสดา)ที่รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุมัสอูด ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทรงกล่าวไว้ความว่าแท้จริงนั้นผู้ศรัทธาจะเห็นความชั่วที่เขาได้กระทำเป็นเรื่องใหญ่ เปรียบเสมือนว่าเขาได้นั่งอยู่ใต้ภูเขาซึ่งเขากลัวว่าซักวันหนึ่งมันจะถล่มลงมาทับตัวเขา แต่คนชั่วจะเห็นบาปของเขาเหมือนแมลงวันที่ผ่านมาบนจมูก


 


ท่านอิบนุมัสอูดรายงานอีกว่า ท่านศาสดาได้ทรงกล่าวไว้อีกความว่าแท้จริงอัลลอฮฺนั้นดีใจต่อการการกลับเนื้อกลับตัวของบ่าวของพระองค์ มากกว่าการดีใจของผู้ชายคนหนึ่งที่เดินทางและมาถึงที่ที่หนึ่งซึ่งมีความยากลำบาก เขามาพร้อมกับสัตว์พาหนะของเขาที่แบกอาหารและเครื่องดื่ม จากนั้นเขาได้นอนหลับ หลังจากเขาตื่นขึ้นมา สัตว์พาหนะของเขาได้หนีไปพร้อมด้วยอาหารและเครื่องดื่ม จนกระทั่งเขาได้รู้สึกถึงความร้อนและความกระหาย(หรือสิ่งที่อัลลอฮฺประสงค์)อย่างแสนสาหัส (เขาได้ออกตามหา) จนกระทั่งเขาพูดกับตัวเองว่า ฉันจะกลับไปยังสถานที่ของฉัน(ที่ฉันเคยนอน) เมื่อเขามาถึงยังที่นั้นเขาได้นอนหลับอีกครั้ง ครั้นเมื่อเขาตื่นขึ้นมาเขาก็ได้พบกับสัตว์พาหนะของเขาอีกครั้ง


 


นักวิชาการอิสลามได้ระบุถึงเงื่อนไขหรือหลักปฎิบัติที่ผู้ต้องการขอโทษต้องกระทำมีดังนี้


 


หนึ่ง ถอนตัวจากความไม่ดีนั้น โดยผู้ที่ต้องการขอโทษต้องละทิ้งและเลิกการกระทำที่ไม่ดีและผิดพลาดนั้นด้วยความเต็มใจของตัวเขาเอง


 


สอง ต้องรู้สึกเสียใจและสำนึกผิดในความชั่วและสิ่งไม่ดีที่ได้กระทำ


 


สาม ต้องตั้งใจอย่างแน่วแน่และสัญญากับตัวเองว่าจะไม่กลับไปกระทำนั้นความชั่วและสิ่งไม่ดีอีก


สี่ ต้องปลดพันธนาการตัวเองและรับผิดชอบต่อหนี้หรือสิทธิของผู้อื่นที่เขาได้ละเมิด ในกรณีที่ความชั่วและสิ่งไม่ดีนั้นเกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้อื่น โดยคืนสิทธินั้นให้กับเจ้าของหรือต้องขออภัยโทษจากผู้ที่ถูกละเมิด


 


จากหลักเกณฑ์ที่ได้กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่า การสำนึกหรือการรับสารภาพในความผิดและการละทิ้งความชั่วและสิ่งไม่ดีนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งคนที่ไม่รู้สึกถึงความชั่วและสิ่งไม่ดีที่เขากระทำและไม่ยอมรับผิดในความชั่วและสิ่งไม่ดีนั้น เขาจะไม่มีวันที่จะละทิ้งการกระทำที่เป็นความชั่วและสิ่งไม่ดีนั้นได้ เปรียบได้กับคนป่วยที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองมีโรค เขาจะไม่มีทางรักษาให้หายได้ เพราะเขาจะปฎิเสธอย่างแข็งขันที่จะไปหาหมอ


 


และจากเงื่อนไขดังกล่าวนั้นเราจะเห็นว่าความผิดหรือสิทธิระหว่างมนุษย์กับอัลลอฮฺนั้นจะอยู่บนพื้นฐานของ การให้อภัย หรือ มุสาหะมะฮฺในศัพท์ทางศาสนาซึ่งทำได้โดยการวิงวอนขออภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา


 


แต่ความผิดหรือสิทธิระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันนั้นจะอยู่บนพื้นฐานการขอโทษต่อเจ้าของสิทธิ ซึ่งการที่จะหลุดจากพันธนาการนี้ต้องได้รับการอภัยจากเจ้าของสิทธิและจากเงื่อนไขดังที่กล่าวมาเช่นกัน ทำให้เราเข้าใจว่าการขอโทษนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ มิใช่เป็นสิ่งที่อนุโลมให้ทำ (คือจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้) เพราะการขอโทษในอิสลามนั้นย่อมมีผลต่อการกระทำและคำพูดของตัวผู้ที่ขอโทษ กล่าวคือเป็นไปไม่ได้เลยที่คนหนึ่งจะอ้างว่าเขาได้ขอโทษแล้ว แต่ในขณะเดียวกันเขายังคงกระทำความชั่วและสิ่งไม่ดีนั้นอยู่ และเป็นไปไม่ได้เลยที่คนหนึ่งคนใดจะบอกว่าเขาเป็นผู้ขอโทษแล้วในขณะที่เขายังคงเรียกร้องและเชิญชวนผู้อื่นไปสู่การทำบาปหรือความผิดนั้น


 


ฉะนั้นการขอโทษของคนๆหนึ่งจะไม่ประสบความสำเร็จและไม่เป็นการขอโทษที่มีความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) ถ้าหากเขายังคงดื้อดึงและมั่นคงอยู่กับความผิดนั้น


 


อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ดำรัสไว้ความว่า โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงขอโทษแด่อัลลอฮฺด้วยการขอโทษอย่างจริงจังเถิด บางทีพระเจ้าของพวกเจ้าจะลบล้างความผิดของพวกเจ้าออกจากพวกเจ้า และจะทรงให้พวกเจ้าเข้าสวนสวรรค์หลากหลาย ณ เบื้องล่างสวนสวรรค์นั้นมีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน วันที่อัลลอฮฺจะไม่ทรงทำให้ศาสดาและบรรดาผู้ศรัทธาร่วมกับเขาต้องอัปยศ แสงสว่างของพวกเขาจะส่องจ้าไปเบื้องหน้าของพวกเขาและทางเบื้องขวาของพวกเขา พวกเขาจะกล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของเรา ขอพระองค์ได้ทรงโปรดทำให้แสงสว่างของเราอยู่กับเราตลอดไปและทรงยกโทษให้แก่เราแท้จริงพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงอานุภาพเหนือทุกสิ่ง (66:8)


 


ซึ่งท่านอุมัร บินอัลคอฏฏ๊อบ (กาหลิบคนที่2ของอิสลาม) ได้ถูกถามถึง การขอโทษที่บริสุทธิ์ ท่านได้ตอบไว้ความว่า การที่คนๆหนึ่งได้ขอโทษจากความผิด จากนั้นเขาจะไม่หวนกลับไปกระทำมันอีกเลยตลอดไป


 


 จะเห็นได้ว่าหลักการขอโทษข้อสองและสามนั้นเป็นหลักการที่เกี่ยวข้องกับจิตใจและสามัญสำนึก ไม่มีผู้ใดที่จะรับรู้ได้นอกจากอัลลอฮฺตะอาลา ฉะนั้นการสำนึกในความผิดและการตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะไม่หวนกลับไปปฎิบัติอีกนั้นเป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในหัวใจของผู้ขอโทษ ไม่มีผู้ใดสามารถล่วงรู้ได้ นี่แสดงให้เห็นถึงการที่ผู้กระทำผิดนั้นย่อมต้องรับผิดชอบต่อบาปของเขา และเขาคนเดียวเท่านั้นที่สามารถเติมเต็มความดีในชีวิตของเขาได้ ดังที่อัลลอฮฺได้ดำรัสความว่า และหากพวกเขาสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว ก็เป็นสิ่งดีแก่พวกเขา (9:74)


 


อย่างไรก็ตามจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรจะเน้นย้ำและกำชับถึงเรื่องการชดใช้หนี้หรือคืนสิทธิต่างๆกลับไปสู่เจ้าของในกรณีที่ความผิดนั้นเป็นเรื่องระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน ฉะนั้นแล้วหากใครขโมยหรือยักยอกทรัพย์สินของผู้อื่น จำเป็นที่เขาต้องคืนหรือชดใช้ทรัพย์สินนั้นให้กับเจ้าของ หากใครที่นินทาว่าร้ายผู้อื่น จำเป็นที่เขาต้องไปขออภัยจากคนๆนั้น หากใครทำร้ายคนอื่นก็เช่นกัน จำเป็นที่เขาต้องขอโทษจากคนนั้นก่อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน กล่าวคือหากมีความยากลำบากหรือไม่มีความเป็นเป็นไปได้ที่จะขอโทษจากคนที่เราอธรรมเขา อย่างน้อยเราก็ควรขอพรหรือดุอาอฺและขออภัยโทษให้เขาแทน


 


และเพื่อให้การขอโทษนั้นมีความสมบูรณ์ ผู้ขอโทษแก้ไขความผิดหรือสิ่งที่เขาได้ทำให้เสียหาย ดังนั้นผู้ใดที่ชักชวนผู้อื่นไปสู่ความผิดหรือบาป เช่น คนเสพยา รวมถึงผู้ที่กระทำความผิดอย่างเปิดเผยและเป็นตัวอย่างในทางที่ไม่ดีทั้งหลาย นอกจากพวกเขาต้องละทิ้งพฤติกรรมชั่วทั้งหลายแล้ว พวกเขายังต้องรับผิดชอบและแก้ไขในสิ่งที่พวกเขาได้กระทำด้วยอย่างสุดความสามารถ


 


สำหรับคำขอโทษจากปาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีต่อกรณีเหตุการณ์ตากใบและผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากกลไกการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ณ จังหวัดปัตตานีต่อหน้าตัวแทนประชาชนทุกภาคส่วนนั้น การเวลาและผลงานเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวท่านและทีมงาน โดยเฉพาะการปฏิบัติจริงต่อเรื่องสมานฉันท์ ยุติธรรมและการชดเชยต่อผู้สูญเสียซึ่งจะเป็นทางออกลดเงื่อนไขความรุนแรง แก้ปัญหาไฟใต้


 


 


.......................................................................................................................


ศึกษาการขอโทษตามทัศนะอิสลามเพิ่มเติมได้ที่


1.www.sunna.info/Lessons/islam_466.html - 15k


2. www.islamway.com/?iw_s=Lesson&iw_a=search&con=cat&category_id=39 - 75k


3. http://www.islaminthailand.com/text.php?id=228

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net