Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 8 พ.ย. เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 49  บ้านราชวิถี กรุงเทพฯ  -- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แถลงนโยบาย 1 ปี "สังคมไม่ทอดทิ้งกัน" มุ่งสร้าง  "สังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน" แจกแจง 3 ยุทธศาสตร์หลัก และ 4 นโยบายเร่งด่วน พร้อมเชิญผู้นำชุมชนไม่ทอดทิ้งกันมาร่วมพูดคุย  เชื่อสังคมดีและมั่นคงเกิดขึ้นได้จากฐานรากชุมชน


                 


นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แถลงนโยบายของกระทรวงฯว่า มีความต้องการให้เกิดสังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยมี หลัก 8 ประการคือ เป็นสังคมที่มีน้ำใจไม่ทอดทิ้งกัน มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง มีการกระจายทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน มีการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีความเป็นธรรมในสังคม เป็นสังคมสันติภาพ เป็นสังคมที่ผู้คนมีการพัฒนาจิตใจสูงขึ้น เห็นแก่ความสุขและประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และสุดท้ายเป็นสังคมที่ชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมมีความเข้มแข็ง อันจะเป็นรากฐานในการพัฒนา 7 ประการข้างต้นอย่างบูรณาการ


 


กำหนดยุทธศาสตร์ 3 ประการคือ คือ สังคมเอื้อเฟื้อ สังคมเข้มแข็ง และสังคมคุณธรรม และ นโยบายเร่งด่วน 4 ประการคือ 1.การสร้างสังคมสมานฉันท์ รณรงค์ให้สังคมไทยดูและเอื้อเฟื้อผู้ด้อยโอกาสในชุมชน เพื่อเป็นความดีภวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2.ฟื้นฟูและพัฒนา 3 จังหวัดภาคใต้ 3.ร่วมฟื้นฟูพัฒนาชุมชนที่ได้รับภัยพิบัติน้ำท่วม 46 จังหวัด 4. สร้าง "สังคมคุณธรรม" โดยเริ่มจากกระทรวงและหน่วยงานในสังกัดก่อน โดยรณรงค์ให้เป็นหน่วยงานซื่อสัตย์ ใสสะอาด มีจิตอาสาทำความดี โดยมีแนวทางให้คนในองค์กรสามารถทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมได้โดยไม่ถือว่าเป็นการลางาน จากนั้นจึงขยายการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครที่จะทำงานร่วมกับกระทรวงต่อไป


 


ในงานแถลงข่าว มีการเสวนา "ยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ" โดยเชิญผู้นำชุมชนทำความดีไม่ทอดทิ้งกัน 6 ชุมชน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงประสบการณ์และความคิดเห็นต่อนโยบายดังกล่าว โดยมีชุมชนรักเด็ก (CCF), ชุมชนออมดูแลผู้ด้อยโอกาส (กองทุนสวัสดิการตำบาลที่น้ำขาว) , ชุมชนบ้านมั่นคงดูแลผู้ยากไร้ ,เครือข่ายชุมชนอุ้มชู (ประสบปัญหาน้ำท่วม) ,ชุมชนผู้สูงอายุดูแลชุมชน (กลุ่มวัยทองแสนสุข) , กลุ่มผู้พิการดูแลผู้พิการในชุมชน


 


ครูชบ ยอดแก้ว ผู้นำชุมชนออมดูแลผู้ด้อยโอกาส หรือ สวัสดิการวันละบาทที่น้ำขาว กล่าวว่า สวัสดิการจากการออมวันละบาทของชุมชนของครูชบถือเป็นกรณีตัวอย่างให้เห็นว่า ทุกชุมชนสามารถช่วยกันดูแลคนในชุมชนได้ ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ คนชรา คุณแม่ที่มีลูกเกิดใหม่ เมื่อมีการเกื้อกูลกันอย่างเป็นระบบก็ทำให้คนทุกคนได้รับการดูแลและอยู่ร่วมกันอย่างอยู่เย็นเป็นสุข


 


นายนพรัตน์ หวลระลึก ครือข่ายชุมชนอุ้มชู จังหวัดอยุธยา ชุมชนที่เกิดขึ้นจากกรณีน้ำท่วมปี 2549 บอกเล่าประสบการณ์ว่า เดิมทีชุมชนนี้เป็นชุมชนเมือง ไม่เคยมีการรวมกลุ่มกันทำอะไร แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็มีการรวมตัวรวมน้ำใจกันอย่างไม่ได้นัดหมาย และเมื่อร่วมมือแก้ปัญหาน้ำท่วมในชุมชนแล้ว องค์กรหน่วยงานและคนภายนอกก็เข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน


 


ด้าน นายจตุพล พรหมอาภรณ์ อาสาสมัครดูแลคนพิการดีเด่นปี 2547 กลุ่มผู้พิการดูแลผู้พิการในชุมชน (CBR) แลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า จากการตั้งกลุ่มดังกล่าวทำให้คนพิการจำนวนมากรู้ถึงสิทธิของตนเองมากขึ้น และได้รับการจดทะเบียนกว่า 5,000 ราย ชุมชนและผู้พิการมีความเข้าใจกันและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขมากขึ้น


 


"ชุมชนคือการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก การอยู่ร่วมกับชุมชนคือการเรียนที่เรียนอย่างไรก็ไม่จบ มันมีความรู้ มีจิตใจดีๆ ที่เอื้อให้แก่กัน ผมยึดหลักทำงานอย่างเป็นธรรมชาติ อาสาช่วยเหลือกันและกัน และ เรื่องใจต้องมาก่อนสิ่งอื่น ถ้าเราได้ใจแล้ว ทุกอย่างก็เป็นไปได้หมด" นายจตุพลกล่าว


 


หลังการเสวนา นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า "จากการพูดคุยวันนี้ผมเห็นชัดเจนว่า 1. คนไทยเราดูและกันได้ เรามีจิตใจที่เอื้อเฟื้อชัดเจนไม่ทอดทิ้งกัน 2.คนที่จะดูแลกันได้คือคนที่อยู่ใกล้ที่สุด คือคนในชุมชนในครอบครัว 3.จิตใจและปัญญาสำคัญว่าเงินทอง ขอแค่มีใจทุกคนสามารถให้ได้ให้ ช่วยทั้งตัวเองและผู้อื่น ทำให้ไม่มีใครในสังคมเป็นคนอ่อนแอ 4.การช่วงสร้างพลังให้ชุมชนสำคัญที่สุด 5.ไม่ใช่แค่คนที่ลำบากช่วยกัน แต่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นหลายฝ่ายจะระดมกำลังเข้ามาช่วย เป็นการประสานพลังพหุภาคี 6.ส่วนกลางต้องทำงานเพื่อนเสริมหนุนเกื้อกูลให้กลไกการทำงานดำเนินไปได้ด้วยดี 7.ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องชื้การทำความดีที่จะเกิดขึ้น วันนี้ผมถือว่าเป็นการตีระฆังเริ่มยกทำความดีของคนทั้งประเทศถวายแก่ในหลวงของเรา"


 


ที่มา : ฝ่ายสื่อสารสาธารณะ  เครือข่ายจิตอาสา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net