Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา19.00 น.วันที่ 7 พ.ย. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานในงานเลี้ยงอาหารค่ำของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ถนนราชประสงค์


 


พล.อ.สุรยุทธ์ ได้กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยระบุตอนหนึ่งว่า เครื่องมือหนึ่งที่ใช้วัดการทำหน้าที่ของประชาธิปไตยได้ คือความเป็นอิสระและการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ทำให้สื่อมวลชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้น


 


อย่างไรก็ดีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประชาชนไทยได้รับการบิดเบือนข่าวสาร โดยการสร้างสภาวะที่ทำให้ระบบการทำงานของสื่อมวลชนผิดแผกไปจากที่ควรจะเป็น สื่อกระจายเสียงถูกปิดหูปิดตา การรายงานข่าวที่เกิดขึ้นถูกชี้นำโดยรัฐ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าการนำเสนอข่าว


 


และถึงแม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่อาจทำให้สื่อสิ่งพิมพ์หยุดการนำเสนอข่าวต่างๆได้ แต่ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาสื่อสิ่งพิมพ์ตกเป็นเหยื่อของการใช้มาตรการเพื่อบริหารจัดการกับสื่อของรัฐที่เรียกว่า "Carrot and Stick" กล่าวคือหากมีการรายงานข่าวเป็นไปในทางบวก คุณจะได้รับรางวัล แต่หากการเสนอข่าวเป็นไปในเชิงลบ คุณจะต้องทุกข์ทรมานจากผลของการกระทำดังกล่าว


 


เป็นที่แน่นอนว่า ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อดังกล่าวมีอยู่จริง และประชาชนก็มีสิทธิที่จะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น ดังที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยเองและสมาชิกบางท่านคงเคยได้รับบทเรียนดังกล่าวด้วยตนเองมาแล้ว


                                             


นายกรัฐมนตรียังกล่าวย้ำถึงความท้าทายหลัก 4 ประการที่รัฐบาลรักษาการต้องเผชิญในอีก 12 เดือนข้างหน้านี้ ได้แก่ การปฏิรูปการเมืองให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี , การสร้างความเป็นปึกแผ่นของคนในชาติ , ระบบการตอบแทนที่เป็นธรรม และการกอบกู้หลักนิติธรรม (The Rule of Law) ให้กลับมาอีกครั้ง


 


"นี่อาจจะเป็นวาระที่น่าเคลือบแคลงสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้เงื่อนเวลาอันสั้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลนี้มีความได้เปรียบอย่างหนึ่งคือ การเป็นรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง แม้จะไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่ประวัติศาสตร์จะเป็นผู้ตัดสินความชอบธรรมของการแทรกแซงทางทหารที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา โดยพิสูจน์จากความสำเร็จของการทำงานของรัฐบาลรักษาการต่อสิ่งท้าทายทั้ง 4 ประการดังกล่าว"


 


พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวอีกว่า ในระยะเวลาอันใกล้นี้ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) หรือปัจจุบันคือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะออกสมุดปกขาวเพื่อชี้แจงให้ประชาชนชาวไทยเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องมีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว


 


นายกรัฐมนตรียังให้ความเห็นถึงสถานการณ์การเมืองในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันว่า ประการแรก สิ่งที่เกิดขึ้นใน 5 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทยคือประชาธิปไตยเพียงหน้าฉากเท่านั้น เป็นการบิดเบือนระบบการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการบ่อนทำลายหลักการของประชาธิปไตยที่ยึดหลักนิติธรรม หลักความเท่าเทียมกัน หลักความซื่อสัตย์และโปร่งใสของรัฐบาล รวมถึงการให้ความเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน


 


และในอีกแง่มุมหนึ่งของหลักการประชาธิปไตยนั้นได้มีการบิดเบือนหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนได้มอบอำนาจฉันทามติให้แก่รัฐบาลผ่านการรวบอำนาจของพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ทั้งอำนาจทางการเมืองและพลังทางการเงินที่มีอยู่สูงมาก จนกระทั่งทำให้กระบวนการตรวจสอบต่างๆ ของระบบการเมืองที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 กำหนดไว้ ไม่สามารถทำงานให้เกิดความเป็นกลางและสมดุลได้อย่างแท้จริง


 


ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าในช่วง 1 ปีนี้จะเป็นช่วงปีแห่งการเปลี่ยนผ่าน เสมือนการพักเพื่อให้ประเทศได้หายใจ เพื่อพัฒนาระบอบการเมืองตามแนวทางประชาธิปไตย เป็นช่วงเวลาแห่งการปรับเปลี่ยน เป็นช่วงเวลาของการเยียวยาและขจัดปัญหาความขัดแย้ง ความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ เป็นช่วงเวลาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการประชาธิปไตย และที่สำคัญที่สุดคือจะเป็นช่วงเวลาของการให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนถึงทางเลือกของชาติ อันอยู่บนพื้นฐานของการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง


 


ประการที่สองเขาเองคงไม่ยินยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ หากไม่แน่ใจเรื่องการไม่แทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดินโดยทหารของ คปค.


 


ประการที่สามประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ยังเห็นพ้องต่อเหตุและผลของการแทรกแซงของทหารในครั้งนี้ โดยเห็นได้จากการสำรวจความคิดเห็น และเชื่อว่ารัฐบาลรักษาการและสภาคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ จะยึดมั่นตามกรอบเวลาที่ได้กำหนดไว้


 


สำหรับภารกิจหลัก 4 ประการที่รออยู่เบื้องหน้านั้น พล.อ.สุรยุทธ์ บอกว่า ประกอบด้วยการบรรลุถึงการปฏิรูปการเมือง , การฟื้นฟูความสมานฉันท์ของคนในชาติ , การลดความไม่เท่าเทียมทางรายได้ และการสถาปนาหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า ภารกิจทั้ง 4 ประการมีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดและเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศไทย


 


ทั้งนี้ การปฏิรูปการเมืองถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หมายความว่า ภายใน 1 ปีนี้ เราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนคนไทย ภายใต้การจัดทำประชามติ และจะเป็นพื้นฐานของสังคมที่มีความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน และความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น


 


เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว นอกเหนือจากกำลังยกร่างรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว รัฐบาลยังจะมุ่งให้มีการหารืออย่างกว้างขวางเกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ ที่คนไทยทั้ง 64 ล้านคนกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ทุกสังคมเป็นผู้กำหนดว่า สังคมประเภทใดที่เราต้องการอาศัยอยู่ และเป็นสังคมที่เราอยากจะเห็นลูกหลานเราเติบโตต่อไป และประชาชนที่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจะเป็นผู้กำหนดทางเลือกได้ดีที่สุด รัฐบาลจึงไม่เพียงแต่จะริเริ่มและกระตุ้นให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางเท่านั้น แต่รวมถึงการป้อนข้อเท็จจริงและข้อมูลข่าวสาร และรับฟังทุกเสียงทุกความเห็น รวมทั้งการเรียนรู้จากข้อบกพร่องต่างๆ ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน


 


ยิ่งไปกว่านั้น ยังจะได้มีการจัดตั้งสภาพัฒนาการเมือง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยของคนในชาติ และเร่งรัดการปฏิรูปการเมือง โดยจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรด้านการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ทางการเมือง โดยรัฐบาลจะไม่เป็นผู้กำหนดหรือชี้แนะแนวทางหรือแนวคิดใดๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปทางการเมืองแก่ประชาชน การตัดสินใจใดๆ จะขึ้นอยู่กับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้น


 


ส่วนการฟื้นฟูความสมานฉันท์แห่งชาตินั้น จะดำเนินการด้วยการลดความแตกแยกทางการเมืองและสังคม เชื่อมโยงทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะส่วนที่ยากจนและด้อยโอกาสที่สุด ทั้งในเวทีการเมืองและเพื่อส่งเสริมความรุ่งเรืองของชาติ ขจัดวัฒนธรรมความรุนแรงในสังคม รวมทั้งการส่งเสริมความอดทนต่อความหลากหลายในสังคมใหญ่ระดับประเทศ


 


ดังนั้นคงจะไม่มีสถานที่ใดที่มีความจำเป็นในการสร้างความสมานฉันท์ ความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน เท่ากับพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ซึ่งความรุนแรงถึงชีวิตกลายเป็นชะตากรรมรายวัน ซึ่งประชาชนคนไทยทุกคนต้องแบกรับสถานการณ์นี้ร่วมกัน โดยแนวทางที่รัฐบาลรักษาการจะได้ดำเนินการมีดังนี้


 


1.สร้างการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง 2.ใช้ประโยชน์จากข้อมูลของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เป็นแนวทางในการดำเนินการ 3.ตระหนักถึงความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนด้วยความยุติธรรมและตรงไปตรงมา 4.ฟื้นฟูความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นปัจจัยบวกต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว


 


 สำหรับความท้าทายที่สามคือประเด็นความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ถึงแม้ประเทศไทยจะพัฒนาทางเศรษฐกิจมา 40 ปี แต่ถึงวันนี้ประเทศไทยยังมีคนจนที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่าที่ควรจะเป็น ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยยังเป็นเรื่องความแตกต่างทางโอกาส ซึ่งในสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรมนั้น ประชาชนควรมีโอกาสที่เท่าเทียมกันทางการศึกษา สุขภาพ มีชีวิตการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และการเกษียณอายุอย่างสง่างาม ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์มิได้เป็นเช่นนั้น


 


 ดังนั้นในช่วงเวลาอันใกล้นี้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือคนจน และแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งได้มีการร่างขึ้นเพื่อแก้ไขความไม่เป็นธรรมทางรายได้ นโยบายบางด้านจากรัฐบาลที่แล้วจะได้รับการสานต่อ หากพิสูจน์ได้ว่ามีประสิทธิภาพ โปร่งใส และยั่งยืน ขณะที่นโยบายใหม่ๆ ก็จะนำมาดำเนินการ


 


 สิ่งสุดท้ายคือการฟื้นฟูกฎหมาย ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการชำระล้างกฎหมายต่างๆ อย่างรวดเร็ว การฟื้นฟูกฎหมายเป็นพื้นฐานสำคัญของเป้าหมายในการมุ่งสู่สังคมประชาธิปไตยและเอื้ออาทร ในการนี้ รัฐบาลมีความตั้งใจในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตำรวจ และสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องค์กร แก้ไขปัญหาการทุจริต


 


"ความท้าทาย 4 ประเด็นดังกล่าวที่รัฐบาลถือเป็นวาระสำคัญนั้น คณะรัฐมนตรีจะยึดถือแนวทางในการดำเนินงาน คือ ความโปร่งใส เป็นธรรม ประหยัด และประสิทธิภาพ" พล.อ.สุรยุทธ์ ระบุ


 


นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า สำหรับคำถามเกี่ยวกับนโยบายพลังงาน การควบคุมราคา และโครงการเมกะโปรเจ็กนั้น รัฐบาลทราบดี และขอให้มั่นใจว่า ประเทศไทยยังคงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตลาดเสรี หรือ Open Market Economy โดยประเทศยังคงมุ่งขยายการค้าและความเป็นหุ้นส่วนการลงทุน พร้อมไปกับการปฏิสัมพันธ์กับกระแสการรวมตัวทางเศรษฐกิจของโลกและภูมิภาค ซึ่งไม่มีเหตุผลที่จะตีความว่าประเทศไทยจะไม่เข้าร่วมกระแสดังกล่าว


 


ดังนั้น เศรษฐกิจจะต้องเติบโตต่อไปบนพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งกระบวนการดำเนินการนั้น จะต้องวัดทั้งปริมาณและคุณภาพ ความหมายของการเติบโตจะต้องกว้างขึ้น โดยไม่เน้นเฉพาะศักยภาพการแข่งขัน แต่จะต้องมีการพัฒนาที่ยั่งยืน ความสุขและเป็นธรรมของสังคม การเติบโตจะต้องมีหลักธรรมาภิบาลที่สัมพันธ์กับการดำเนินงานของรัฐบาล และการดำเนินการของธุรกิจ กฎ และระเบียบที่ควบคุมกำกับการลงทุนและการค้าจะต้องมีการแก้ไขให้มีความโปร่งใส และสามารถคาดหมายได้ โดยจะไม่มีระบบ Double Standard (สองมาตรฐาน) อีกต่อไป


 


การพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องมีความสมดุลในด้านสังคมและจริยธรรมและให้ความสำคัญแก่ความรู้สึกของประชาชนให้มีความสุข รวมทั้งยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการบริหารประเทศ ทั้งนี้ เศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และรัฐบาลก่อนๆ ได้ดำเนินการไปหลายด้าน ซึ่งรัฐบาลได้นำมารวมอยู่ในกรอบการดำเนินงานของนโยบาย พร้อมด้วยหลักความสมดุลที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย


 


นอกจากนี้รัฐบาลยังคงรักษาพันธสัญญาที่มีไว้ต่อประชาคมโลก และยืนหยัดสังคมและเศรษฐกิจเสรี รวมถึงดำรงไว้ซึ่งการพัฒนา ซึ่งรัฐบาลหวังว่ามิตรทั้งหลายจะเข้าใจและมั่นใจในรัฐบาลและประเทศไทย


 


รัฐบาลมีความตั้งมั่นในกรอบการดำเนินงานทั้งพหุภาคีและทวิภาคีเชิงรุก ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศพันธมิตรทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค นอกจากนี้ รัฐบาลจะทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่อาเซียนในการก้าวไปสู่การก่อตั้งประชาคมอาเซียน และข้ามไปสู่การรวมตัวกันของเอเชียตะวันออก


 


ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net