Skip to main content
sharethis


ภาพจาก AFP


ประชาไท - 8 พ.ย.2549 ภายหลังจากการกล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงอาหารค่ำของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศซักถามในเรื่องที่ยังข้องใจเกี่ยวกับทิศทางของประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากข้อซักถามแต่ละหัวข้อ เป็นประเด็นที่เกี่ยวโยงในระดับประเทศ


 


นอกจากนี้ ยังมีคณะรัฐมนตรีไปร่วมในงานดังกล่าวด้วย เพื่อช่วยให้การตอบข้อซักถามดำเนินไปอย่างครอบคลุมมากขึ้น โดยรัฐมนตรีที่ไปร่วมงานดังกล่าว ได้แก่ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากรรม, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, เกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นิตย์ พิบูลย์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ


 


คำถามที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศสนใจและอยากทราบคำตอบจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย ได้แก่ เรื่องอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, กำหนดการเลือกตั้ง, แนวทางของรัฐบาลที่มีต่อปัญหาจังหวัดชายแดนใต้, การจัดการเรื่องบริษัท "นอมินี" ในประเทศไทย, ความโปร่งใสในการดำเนินคดีเทมาเส็ก, การส่งเสริมประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศอาเซียน และเสรีภาพสื่อ


 


ความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร


คำถามแรกที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้ความสนใจ คือ ความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีผู้สงสัยว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับการติดต่อจากอดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่าตนได้คุยโทรศัพท์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ไม่ได้คุยถึงการขอกลับประเทศ พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่าอดีตนายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยในความปลอดภัยของสมาชิกครอบครัวชินวัตร และสอบถามเรื่องการจัดการทรัพย์สินซึ่งยังอยู่ในเมืองไทยเท่านั้น


 


กำหนดการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและโปร่งใส


ผู้สื่อข่าวจาก Herald Tribune ได้สอบถาม พล.อ.สุรยุทธ์ ถึงการเลือกตั้งว่ารัฐบาลจะสามารถกำหนดวันเวลาอย่างเป็นทางการได้เมื่อไหร่ และ พล.อ.สุรยุทธ์ คาดหวังว่าตนจะต้องดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศไปอีกนานหรือไม่


 


พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า การดำรงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองถือเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ที่ตนต้องแบกรับไว้ จึงจำเป็นต้องมีการหาตัวผู้รับผิดชอบในตำแหน่งนี้ต่อไปโดยเร็วที่สุด และตนไม่เคยคาดหวังว่าจะต้องดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะไม่เคยคิดฝักใฝ่ในด้านนี้มาก่อน แต่สำหรับกำหนดการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้น อาจจะยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด เนื่องจากเรื่องสำคัญที่ต้องจัดการให้เสร็จสิ้นในตอนนี้คือการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลกำลังพยายามสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมมาปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวอยู่ แต่มั่นใจได้ว่าขั้นตอนการดำเนินงานทุกอย่างจะโปร่งใสและเป็นธรรม


 


อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวอิสระรายหนึ่งได้ตั้งคำถามว่าการเลือกตั้ง "โปร่งใสและเป็นธรรม" ที่ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวถึง จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งและมีฐานเสียงของประชาชนกว่า 16 ล้านคนยังถูกขับไล่ไปจากประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


 


ต่อข้อซักถามดังกล่าว พล.อ.สุรยุทธ์ มองว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมามีปัญหาในการทุจริตซื้อเสียง เนื่องจากประชาชนไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง และวิธีแก้ไขที่จะทำให้ประชาชนรับรู้ว่าการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและโปร่งในเป็นอย่างไรนั้น ต้องเริ่มที่การให้ข้อมูล ความรู้ และการศึกษา ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ เห็นว่าประชาชนในแต่ละภูมิภาคไม่ได้รับการศึกษาที่เพียงพอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความรู้และความเข้าใจในเรื่องของกระบวนการด้านประชาธิปไตย แม้ว่าจะต้องใช้เวลายาวนาน แต่ก็เป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลที่จะต้องสร้างพื้นฐานความรู้แก่ประชาชนโดยเท่าเทียมกัน


 


แนวทางของรัฐบาลที่มีต่อปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้


พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่อยากทราบแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในเขตจังหวัดชายแดนใต้ โดยย้ำจุดยืนที่ชัดเจนว่า "จะต้องไม่มีการแบ่งแยกดินแดนอย่างเด็ดขาด" (No Separation) โดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญเดิมว่าประเทศไทยจะไม่มีการแบ่งแยกการปกครองหรือการแบ่งแยกดินแดนใดๆ และนี่คือกฏของแผ่นดินไทยที่จะต้องธำรงรักษาไว้ แต่การแก้ปัญหาความขัดแย้งจะใช้วิธีการสมานฉันท์ เพราะไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงเพิ่มขึ้น


 


คดีเทมาเส็ก-กุหลาบแก้ว และการจัดการเรื่องบริษัท "นอมินี" ในประเทศไทย


ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจรายหนึ่งกล่าวว่า กว่าครึ่งของผู้ที่มาร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฯ ล้วนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งอยากรู้ว่าการจัดการเรื่องบริษัท "นอมินี" ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร พล.อ.สุรยุทธ์ จึงให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้ตอบคำถามนี้


 


ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า การตรวจสอบและพิจารณาความผิดเรื่องการใช้ตัวแทนถือหุ้น (นอมินี) ในกรณีเทมาเส็ก-กุหลาบแก้ว เป็นเรื่องที่ต้องกระทำอย่างเร่งด่วน เนื่องจากระยะเวลาในการพิจารณาคดีใกล้จะหมดแล้ว อีกทั้งกรณีดังกล่าวอยู่ในความสนใจของประชาชนจำนวนมาก แต่การกำหนดนโยบายจัดการเรื่องบริษัทนอมินีในประเทศไทย ยังไม่สามารถบอกได้ในตอนนี้ เนื่องจากยังไม่มีรัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้กำหนดกฏเกณฑ์หรือมาตรฐานใดๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป


 


การส่งเสริมประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศอาเซียน


ผู้สื่อข่าวชาวพม่ารายหนึ่งได้อ้างถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง พล.อ.สุรยุทธ์ และรัฐบาลทหารของพม่า เมื่อครั้งที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการทหาร พร้อมกับตั้งคำถามว่ารัฐบาลไทยมีจุดยืนอย่างไรในการส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศพม่า และความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.สุรยุทธ์ กับผู้นำพม่าที่เป็นทหารเป็นอย่างไรบ้าง


 


พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวถึงการไปร่วมงานประชุมระหว่างประเทศซึ่งจัดขึ้นที่จีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่าตนได้พูดคุยกับผู้นำพม่าว่าสถานะของประเทศไทยและประเทศพม่าในสายตาของกลุ่มประเทศอาเซียน ณ เวลานี้ อาจไม่แตกต่างกันมากนัก เนื่องจากถูกมองว่าเป็นประเทศปกครองโดยรัฐบาลทหาร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยและพม่าจะต้องส่งเสริมกระบวนการด้านประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ และจะต้องแก้ไขความเข้าใจของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย


 


อย่างไรก็ตาม พล.อ.สุรยุทธ์ เห็นว่าประเทศไทยมีข้อแตกต่างจากพม่า เนื่องจากรัฐบาลไทยมีแนวทางที่ชัดเจนในการส่งเสริมประชาธิปไตย นั่นคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ และจะจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ในขณะที่รัฐบาลพม่ายังไม่ได้เคลื่อนไหวในจุดนี้อย่างชัดเจนเท่าไรนัก


 


เสรีภาพสื่อ


ผู้สื่อข่าวต่างประเทศรายหนึ่งตั้งข้อสงสัยในตอนต้นของสุนทรพจน์ที่ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่ารัฐบาลของตนจะส่งเสริมเสรีภาพสื่อ เพราะตลอดรัฐบาลที่ผ่านมา สื่อมวลชนถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการเสนอข่าว แต่ผู้สื่อข่าวรายนี้ได้อ้างถึงการที่กองกำลังทหารบุกไปควบคุมสถานีโทรทัศน์และสำนักข่าวต่างๆ เพื่อมิให้เผยแพร่หรือรายงานข่าวแก่ประชาชนในคินวันที่ 19 ก.ย. และถามว่าการกระทำเช่นนี้ไม่ถือเป็นการคุกคามสื่อหรืออย่างไร


 


พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ให้เหตุผลว่าตนไม่ทราบเรื่องการทำรัฐประหาร และไม่ได้มีการวางแผนมาก่อน แต่เชื่อว่าคณะปฏิรูปการปกครองฯ คงไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวาย และเมื่อมีการประกาศกฏอัยการศึก ก็ไม่มีการส่งทหารไปควบคุมสื่อแต่อย่างใด และ ณ เวลานี้ สื่อมวลชนก็สามารถเสนอข่าวได้ตามปกติแล้ว


 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 


"สุรยุทธ์" พบสื่อต่างประเทศ "ประวัติศาสตร์จะเป็นผู้ตัดสินความชอบธรรม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net