Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (9 พ.ย.2549)  พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมกองบัญชาการทหารสูงสุด (บก.สส.) และกองบัญชาการทหารอากาศ (บก.ทอ.) ถึงการจะประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกว่า ภายใน 3 วันนี้ คมช.จะสรุปว่าจะมีการยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ไหนบ้าง โดยยืนยันว่าจะมีประกาศยกเลิกแน่นอนก่อนที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี จะไปประชุมกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่ประเทศเวียดนาม กลางเดือนพฤศจิกายนนี้


 



พล.อ.บุญรอด กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในฐานะประธาน คมช.ได้หารือกับนายกรัฐมนตรี โดยได้ข้อยุติชัดเจน ว่า คมช.ขอเวลา 2-3 วัน ที่จะสรุปเรื่อง โดยมีแนวโน้มว่าจะยกเลิกกฎอัยการศึก เนื่องจากนายกฯ จะต้องเดินทางไปประชุมเอเปค และเพื่อไม่ให้มีปัญหาและสร้างความอึดอัดให้มิตรประเทศ



 


"หากต้องการให้ยกเลิกกฎอัยการศึก อยากจะขอร้องประชาชนให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเชื่อว่าภายในเดือนนี้สามารถที่จะยกเลิกกฎอัยการศึกได้ ก่อนที่นายกฯ จะไปประชุมเอเปคอย่างแน่นอน" รมว.กลาโหม กล่าว



 


พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า ส่วนการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ประกาศยกเลิกการชุมนุมเกิน 5 คนนั้น คมช.และรัฐบาลมีความคิดเห็นตรงกัน และไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว ว่าจะให้ยกเลิกประกาศฉบับนี้ เพราะที่ผ่านมา แม้จะมีประกาศดังกล่าว แต่ คมช.ก็มีการผ่อนผัน อะลุ้มอล่วยให้มีการชุมนุมทางการเมืองอยู่แล้ว ขณะนี้จึงไม่มีความจำเป็นที่จะใช้ประกาศนี้อีกต่อไป



 


ทั้งนี้ มีรายงานว่า ขณะนี้กองทัพภาคต่างๆ กำลังรวบรวมข้อมูลการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่ต่อต้าน คมช.และรัฐบาล (คลื่นใต้น้ำ) เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาตัดสินใจในปลายสัปดาห์นี้



 


ชี้เลิก ฉ.7 แต่ยัง "ห้ามการเมืองขยับ"



วันเดียวกัน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช.ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 7 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองลงวันที่ 20 กันยายน 2549 พ.ศ....ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอว่า โดยปกติประชาชนก็ชุมนุมปรึกษาหารือกันได้อยู่แล้ว และพรรคการเมืองเวลาประชุมก็พูดเรื่องการเมืองทั้งนั้น



 


ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคการเมืองก็ไม่มั่นใจว่าการยกเลิกคำสั่ง คปค.สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ถ้ายกเลิกแล้วก็ทำได้ เฉพาะในส่วนที่ถูกห้ามในฉบับนี้ แต่สำหรับพรรคการเมืองนั้น ถ้ามีฉบับอื่นห้ามอีกก็ต้องไปดู เพราะนี่คือผลพวงของกฎอัยการศึก กฎอัยการศึกยังอยู่ เพียงแต่ส่วนนี้เพิกถอนไป เหมือนเวลาประกาศกฎอัยการศึก ก็อาจจะประกาศ "เคอร์ฟิว" (ห้ามออกนอกเคหสถาน) ก็ได้ แต่เมื่อหมดความจำเป็นก็ถอนเคอร์ฟิว ส่วนกฎอัยการศึกเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารยกเลิกเองได้



 


นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า เหตุที่รัฐบาลเสนอให้ยกเลิกประกาศ คปค.เพื่อเป็นช่องทางผ่อนปรนทางการเมือง เป็นการคลี่คลายสถานการณ์ทีละเปลาะ เชื่อว่าภายใน 1 เดือน จะยกเลิกกฎอัยการศึกได้หมด เหลือเพียงพื้นที่ กทม.ด้านใน เพราะเป็นพื้นที่ละเอียดอ่อน ยากต่อการควบคุมสถานการณ์ เชื่อว่าประชาธิปไตยจะเบ่งบานได้ภายใน 1 เดือน



 


เมื่อถามว่า เหตุใดรัฐบาลถึงไม่เสนอให้มีการยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับที่ 15 และ 27 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองควบคู่กัน นายวัลลภ กล่าวว่า ถือเป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่ง ที่ผ่อนคลายไปทีละเปลาะ แต่สังคมต้องเข้าใจว่า คมช.มีสถานะที่เสี่ยงกว่าคนอื่นๆ แต่อยากฝากให้ คมช.และรัฐบาลพิจารณาการผ่อนปรนกฎอัยการศึกในบางพื้นที่ด้วย



 


"ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ไม่ใช่คลื่นใต้น้ำ แต่เป็นคลื่นความจริง ที่มีอยู่จริง จากประชาชนที่ยังรักอดีตนายกฯ เนื่องจากรัฐบาลทักษิณอยู่มา 6-7 ปี ก็ต้องมีคลื่นความคิดเดิมๆ บ้าง ดังนั้นรัฐบาลต้องให้เวลาคนเหล่านี้ด้วย แต่เชื่อว่าประชาชนก็กำลังทำความเข้าใจกับรัฐบาลชุดใหม่ด้วย เชื่อว่าเวลาจะช่วยทำให้เหตุการณ์คลี่คลาย ขณะนี้แนวโน้มก็ดีขึ้นแล้ว" นายวัลลภ กล่าว



 


สนช.เอกฉันท์เลิกประกาศ คปค.ฉ.7



เมื่อเวลา 15.00 น. วันเดียวกัน ที่ประชุม สนช. ที่มีนายมีชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับที่ 7 ที่รัฐบาลเสนอโดยนายบัญญัติ จันทน์เสนะ รมช.มหาดไทย ซึ่งได้ชี้แจงเหตุผลว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 7 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมีสาระสำคัญห้ามมิให้มีการชุมนุมทางการเมือง ณ สถานที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืนนั้น เป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้เพื่อยกเลิกประกาศ คปค.



 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สนช.หลายคนได้อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นี้ โดยนายอรรคพล สรสุชาติ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ถึงเวลาสมควรที่รัฐบาลจะเสนอยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับที่ 7 แต่ก็มีข้อสังเกตว่า หาก สนช.มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.นี้ แต่การที่กฎอัยการศึกยังมีอยู่ จะทำให้รัฐบาลมีอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาควบคุมสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศได้ ซึ่งตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ทหารมีคำสั่งห้ามมั่วสุมชุมนุมได้ ใครฝ่าฝืนมีอำนาจกักตัวได้ไม่เกิน 7 วัน ถามว่าที่รัฐบาลเสนอยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับที่ 7 ครม.จะชี้แจงได้หรือไม่ว่า จะใช้กฎหมายอะไรดูแลความสงบเรียบร้อยแทน รวมทั้งจะแก้ไขปัญหาทั้งคลื่นใต้น้ำ ความไม่สงบเรียบร้อย การจัดการการชุมนุมในระบอบประชาธิปไตยของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจรัฐบาลอย่างไร



 


นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ กล่าวว่า ขอรับหลักการกฎหมายนี้และควรประชุม 3 วาระด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เต็มสภา เพราะการที่รัฐบาลเสนอให้ยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับที่ 7 นี้ เป็นการเปิดไฟเขียวดวงแรกให้ชุมนุมทางการเมืองได้ แต่มีคำถามตามมาคือ เมื่อไร คมช.จะเลิกกฎอัยการศึก



 


นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ขอชื่นชมที่รัฐบาลจะยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับที่ 7 แต่ยังมีอีกหลายฉบับ เช่น ฉบับที่ 15 และ 27 ที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ขัดรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว มาตรา 3 ที่บัญญัติให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค ที่คนไทยเคยได้รับการคุ้มครอง ซึ่งหากไม่รวมกันเสนอมา ก็จะต้องเสนอมาใหม่อีก ส่วนเรื่องกฎอัยการศึกนั้น แสดงถึงความไม่ปกติในบ้านเมือง กระทบถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย



 


"ได้ยินว่าอาจจะยกเลิกก่อนที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ไปประชุมเอเปคที่เวียดนาม ซึ่งจากประสบการณ์ การชุมนุมจะน่ากลัวเมื่อรัฐบาลทำผิด แต่หากรัฐบาลไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่มีเหตุอะไรที่รัฐบาลจะกลัว ถือเป็นความท้าทายว่า รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ จะบริหารประเทศโดยไม่ใช้กฎหมายพิเศษได้หรือไม่ รัฐบาลคงต้องพิสูจน์ฝีมือนำพาประเทศชาติไปสู่ระบอบประชาธิปไตย" นายสมบัติ กล่าว



 


เผยตัดสินใจเลิกกฎอัยการศึก 14 พ.ย.



พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม ชี้แจงว่า ขอขอบคุณสมาชิกที่ไม่ติดใจที่จะยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับที่ 7 ส่วนที่ติดใจในเรื่องกฎอัยการศึก ขอชี้แจงสั้นๆ ได้ว่า รัฐบาลตระหนักเรื่องนี้ดี พล.อ.สุรยุทธ์ให้สัมภาษณ์แล้วว่า ได้ประชุมกับ คมช. ขณะนี้คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ คมช.จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ซึ่ง คมช.จะให้คำตอบไม่เกินวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้



 


จากนั้นที่ประชุมมีมติเอกฉันท์รับหลักการในวาระที่ 1 และให้พิจารณา 3 วาระรวด ซึ่งในที่สุดที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ผ่านร่าง พ.ร.บ.นี้ ทั้งนี้นายบวรศักดิ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การจะยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่ ตามหลักกฎหมาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ คมช. แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ในฐานะที่นายกฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เพราะเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว อำนาจทั้งหมดของ คปค.หมดไปโดยผลของรัฐธรรมนูญ เมื่อ คปค.แปลงเป็น คมช.ก็จะมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่ประชุมจึงมีมติส่งข้อสังเกตของนายบวรศักดิ์ให้แก่รัฐบาลด้วย



 


"สภาทนายความ" จี้ เลิกทุกพื้นที่



นายสมชาย หอมละออ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความแห่งประเทศไทย  กล่าวถึงกรณีที่จะยกเลิกกฎอัยการศึกบางพื้นที่ โดยให้คงไว้ในพื้นที่ชายแดนและบางอำเภอในภาคเหนือและอีสาน ว่า รัฐบาลควรยกเลิกทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ให้คงไว้เฉพาะพื้นที่ชายแดน ที่ต้องให้อำนาจทหารในการดูแล เนื่องจากขณะนี้ไม่ได้อยู่ในภาวะร้ายแรงจนเป็นภัยต่ออำนาจอธิปไตย สถานการณ์ที่เป็นอยู่ไม่มีเหตุผลเพียงพอกับการประกาศใช้กฎอัยการศึก



 


"เหตุผลที่ให้คงกฎอัยการศึกไว้ เพราะเกรงว่าจะเกิดคลื่นใต้น้ำในบางพื้นที่ฟังไม่ขึ้น เพราะหากมีการเคลื่อนไหวเกินเหตุ รัฐบาลก็มีกฎหมายอีกร้อยแปดพันเก้ามาจัดการได้อยู่แล้ว" นายสมชาย กล่าว



 


ส่วนการยกเลิกประกาศของ คปค.ฉบับที่ 7 นั้น นายสมชาย กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวถือเป็นความไร้เดียงสาของที่ปรึกษา คปค.ในขณะนั้น  เพราะไม่รู้ว่าออกประกาศมาทับซ้อนกฎอัยการศึก ทำให้ต้องยุ่งยากมายกเลิกประกาศภายหลัง รวมทั้งยังมีประกาศ คปค.อีกหลายฉบับที่ไม่ควรออกมา เช่น การกักตุนสินค้า เป็นต้น เพราะมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว



 


พันธมิตรเชื่อกระแสประท้วงพรึ่บ



นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การที่ สนช.มีมติยกเลิกห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองไทยเป็นที่ยอมรับในสากลมากขึ้นหลังถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากการที่ทหารเข้ายึดอำนาจ แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้นจากทุกฝ่ายแน่นอน เพราะยังเป็นช่วงที่เป็นเผด็จการ ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ต้องสร้างหลักประกันในเรื่องความปลอดภัยกับประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว



 


"การสกัดกั้นการชุมนุมที่ดีที่สุดไม่ใช่การห้ามการชุมนุมแต่เป็นการขจัดเงื่อนไขการชุมนุม เชื่อรัฐบาลมีพฤติกรรมส่อไปในทางคอรัปชั่น มีโครงการใหญ่ที่ส่งผลต่อชุมชน และที่รุนแรงที่สุดสำหรับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ คือการสืบทอดอำนาจตัวเองและพวกพ้องก็จะต้องเจอการต่อต้านครั้งใหญ่ที่สุด" แกนนำพันธมิตร กล่าวและว่า ขณะนี้พันธมิตรยังไม่คิดที่จะจัดชุมนุม เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ผิดพลาดจนเป็นเงื่อนไขได้



 


นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการยกเลิก เพราะผลของกฎอัยการศึกเป็นการเหวี่ยงแหปิดกั้นการเคลื่อนไหวโดยปกติของภาคประชาชนทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับการจัดตั้งของคนในพรรคไทยรักไทย (ทรท.)  หรือกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งรัฐบาลหรือฝ่ายความมั่นคงต้องไปใช้กฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้วควบคุมแทน อาจต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นในบางพื้นที่ที่อาจเป็นจุดเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้สนับสนุนระบอบทักษิณ



 


ส่วนเรื่องคลื่นใต้น้ำนั้น เลขาธิการ ครป. เชื่อว่ายังมีอยู่จริงและคงไปห้ามลำบาก โดยเฉพาะกลุ่มแรกที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารด้วยความสุจริตใจจริงและมีอยู่ไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่าการเมืองไม่มีทางออก จึงขอเรียกร้องให้ คมช.เร่งพิสูจน์ผลงานและคืนอำนาจให้ประชาชนเร็วที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด ขณะที่อีกกลุ่มซึ่งเสียประโยชน์และมีบางคนในพรรค ทรท.หนุนหลังอยู่  ซึ่งต้องระวัง เพราะถึงจุดหนึ่งอาจจะมีการระดมมวลชนมาหนุนกลุ่มแรกจนเกิดเป็นแรงต้านขนาดใหญ่ได้ในที่สุด



 


"กลุ่มแรกก็ต้องระมัดระวังให้มาก ฝ่ายข่าวกรองรัฐบาลคงทราบดีว่าใครเป็นใคร วิธีเดียวที่จะลดปัญหาคลื่นใต้น้ำได้  รัฐบาลต้องเร่งสร้างผลงานพิสูจน์ความผิดของระบอบทักษิณและให้ข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงกับประชาชนในวงกว้างอย่างถูกต้อง" เลขาธิการ ครป. กล่าว



 


นายสุริยะใส กล่าวว่า การจัดการกับแรงต้านด้วยอำนาจหรือกฎหมายอย่างเดียวจะไม่แก้ปัญหา รัฐบาลต้องสร้างงานมวลชนเชิงรุกเพื่อเอาชนะใจมวลชนหรือให้มวลชนเชื่อมั่นให้มากที่สุดว่า การยึดอำนาจครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องประโยชน์ส่วนตัวหรือมีการสืบทอดอำนาจ ซึ่งควรให้กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญประชาชนมี


ส่วนร่วมให้มากที่สุด เพื่อเป็นเวทีสมานฉันท์และดึงประชาชนทุกกลุ่มให้หันมาใส่ใจกับการออกแบบการเมืองใหม่และกำหนดวาระแห่งชาติร่วมกัน



 


ส่วนพันธมิตร นายสุริยะใส กล่าวว่า ได้เตรียมปรับบทบาทในสถานการณ์ใหม่โดยจะจัดตั้งสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง (สปป.) ขึ้น ทำหน้าที่ผลักดันวาระประชาชน ตรวจสอบรัฐบาล และร่างรัฐธรรมนูญคู่ขนานไปพร้อมกัน  ซึ่งจะจัดเวทีครั้งแรกในวันที่ 12 พ.ย.นี้ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ



         


         


 


 


          ที่มา: http://www.komchadluek.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net