Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 10 พ.ย. 2549 เมื่อวันที่ 9 พ.ย. เวลา 9.00น. ที่กระทรวงยุติธรรม สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เข้ายื่นข้อร้องเรียนกับนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อนำเสนอปัญหาความเจ็บป่วยของคนงาน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคฝุ่นฝ้ายและแนวทางการแก้ไขที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการยุติธรรม


         


นางสาวสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายฯ กล่าวถึงคดีคนงานที่ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย 38 คนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโรงงานและให้โรงงานปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานว่า ศาลแรงงานกลางได้พิพากษาให้โรงงานจ่ายค่าเสียหายคนป่วยเป็นรายๆ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 46 แต่ก็มีการยื่นอุทธรณ์ โดยเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 49 ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลแรงงานกลางสืบข้อเท็จจริงใหม่อีกครั้ง นัดแรกในวันที่ 17 และ 27 พ.ย. 49 ทั้งนี้ นับแต่ยื่นฟ้องคดีจนถึงปัจจุบันซึ่งคดียังไม่สิ้นสุด ใช้เวลากว่า 11 ปี ซึ่งสร้างความลำบากให้กับผู้ป่วยทั้ง 37 คนที่ยากจน เจ็บป่วยและแก่ชราลง


 


ดังนั้น จึงมาเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนและขอความเป็นธรรมจากรมว.ยุติธรรม เนื่องจากต้องการให้มีการยุติคดีดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางไปแล้ว และยังเรียกร้องให้มีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการตามที่คนงานเรียกร้อง โดยขอให้กระทรวงยุติธรรมสนับสนุนร่างพรบ. จัดตั้งสถาบันฯ ดังกล่าว


 


นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการปรับปรุงเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคจากการทำงานตามข้อเสนอของสภาเครือข่ายฯ ที่ได้สรุปร่วมกับหน่วยงานด้านแรงงานเมื่อปี 2545 ทั้งยังเสนอให้กระทรวงยุติธรรมจัดการอบรมให้ผู้พิพากษามีความรู้เรื่องคดีแรงงานและโรคที่เกิดจากการทำงาน เพื่อให้ผู้พิพากษาเข้าใจบริบทของปัญหาแรงงาน เพื่อพิจารณาคดีให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเรียกร้องให้เร่งผลิตแพทย์ทางด้านอาชีวะเวชศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมรวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำงานเชิงรุกในด้านการป้องกันต่อไป


         


ด้านนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า คดีที่อยู่ในศาลติดค้างมานานแล้วทางฝ่ายโจทก์เห็นว่าคดีติดค้างมานานและล่าช้า แต่ว่าทางกระทรวงยุติธรรมไม่สามารถไปบอกกับศาลได้ว่าให้เร่งพิจารณาคดี ทั้งหมดต้องแล้วแต่ศาล ทางกระทรวงยุติธรรมได้แต่ช่วยประสานงาน ส่วนการช่วยเหลือทางด้านอื่นทางอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิก็จะลงไปช่วยเหลือตามระเบียบ


 


สำหรับข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานที่ต้องการให้กระทรวงยุติธรรมสนับสนุนเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยจากการทำงานด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมโดยการตั้งสถาบันดังกล่าว ทางฝ่ายแรงงานเคยเสนอมาแล้วแต่ยังอยู่ในสภาแล้วปรากฏว่าเกิดการยุบสภาก่อนจึงทำให้เรื่องที่เสนอยุติลงและส่งเรื่องคืนมาที่กระทรวงแรงงานซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง ทางกระทรวงยุติธรรมก็จะสนับสนุนการตั้งสถาบันแห่งนี้ เพื่อที่จะได้คุ้มครองคนที่ทำงาน


 



กระทรวงแรงงาน


 


จากนั้น เวลา 13.00น. สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เดินทางไปกระทรวงแรงงานเพื่อยื่นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานต่อนายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่เนื่องจากนายอภัย ติดราชการเดินทางไปสิงคโปร์และบรูไนกับพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี นายฐาปบุตร ชมเสวี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงรับเรื่องไว้แทน


 


โดยนางสมบุญ เสนอให้กระทรวงแรงงานผลักดันการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองแรงงานที่เรียกร้องมาแล้วถึง 9 ปี ทั้งยังเรียกร้องให้นำเกณฑ์การวินิจฉัยโรคที่เกิดจากการตกลงร่วมกันเมื่อปี 2545 มาปฏิบัติ และให้ตรวจสุขภาพผู้ใช้แรงงานด้วยอาชีวะเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ตามที่กระทรวงแรงงานได้ออกประกาศวิธีการตรวจสุขภาพคนงานประจำปี 2547 และเรียกร้องให้รัฐมีเกณฑ์การตรวจสอบสถานประกอบการประจำปี เพื่อลดวิกฤตสิ่งแวดล้อมในโรงงาน เพราะลูกจ้างอาจถูกปลดจากการทำงานหากเรียกร้องให้ภาครัฐมาตรวจโรงงานของตัวเอง


 


นอกจากนี้ เธอเสนอปัญหาของกลุ่มผู้ป่วยโรคฝุ่นฝ้ายที่ต้องเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อให้ปากคำ ตามที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้สืบข้อเท็จจริงใหม่ ว่า เมื่อคดียังไม่จบทำให้พวกเขาต้องประสบปัญหาเรื่องค่ายารักษา ค่าครองชีพและค่าเดินทาง โดยเมื่อช่วงเช้ากระทรวงยุติธรรมได้แนะนำให้ได้ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือที่กรมคุ้มครองสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อไปยื่นกลับพบว่า กรมฯ จะคุ้มครองเฉพาะคดีอาญาเท่านั้น


 


ด้านนายฐาปบุตร กล่าวว่า รับจะทำหน้าที่ประสานงาน โดยจะรายงานเรื่องนี้ให้นายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับทราบ เพื่อเร่งดำเนินการต่อไป สำหรับการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยฯ เขาเสนอว่าจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันยกร่างพ.ร.บ. โดยอยากให้ผลักดันร่างออกมาก่อนแล้วค่อยๆ ปรับแก้กันภายหลัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net