Skip to main content
sharethis


รายงานโดย ศูนย์ข่าวประชาสังคมอุบลฯ

 


 


อบจ.อุบลฯ มอบรถไถนา เร่งฟื้นประเพณีลงแขก ด้านผู้บริหาร อบต.หลายแห่งบ่นค่าแรงงานแพง ทั้งเสียค่าจ้างทั้งเลี้ยงข้าว  ชี้ประเพณีลงแขกยากจะฟื้น โดยคาดว่าปีนี้ได้ผลผลิตกว่า 1 ล้านตัน


 


เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา นายพรชัย โควสุรัตน์ นายกองค์การบริการส่วนจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยนายยอดยุทธ เดชรุ่งเรือง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลฯ ได้เดินทางไปที่ ต.คำเจริญ และ ต.ขามเปี้ย อ.ตระการพืชผลเพื่อมอบรถไถนา ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญให้กับ อบต.ดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร รวมทั้งได้เปิดงานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวอีกด้วย โดยทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลฯ ได้มีการส่งเสริมประเพณีดังกล่าวมาตลอดทุกปี ซึ่งโอกาสนี้นายพรชัย ได้กล่าวว่า ในปัจจุบันประเพณีดังกล่าวได้เลือนหายไปตามยุคสมัย ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน เพื่ออนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามให้คงอยู่สืบไป ซึ่งจะส่งผลที่ดีต่อความสัมพันธ์ของคนในชุมชน


 


ในขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง อบต.ต่างๆ ของจังหวัดอุบลฯ พบว่า ส่วนใหญ่การเก็บข้าวในปีนี้ เกษตรกรนิยมการจ้างแรงงานมากกว่าที่จะมีการลงแขกเช่นที่ผ่านมา โดยนายวิทยา สำเภา นายกองค์การบริการส่วนตำบลกุดประทาย อ.เดชอุดม เปิดเผยว่า ในพื้นที่ของตนเองนั้นมักจะมีการจ้างแรงงานในการเก็บเกี่ยว ข้าวเนื่องจากจะต้องรีบเก็บเกี่ยวเพื่อจะให้ทันต่อการนำไปขาย ถึงแม้จะต้องลงทุนมากก็ตาม แต่ก็ยังมีบางหมู่บ้านมีการลงแขกเช่นกัน สำหรับค่าจ้างแรงงานเก็บเกี่ยวข้าวนั้นจะจ้างวันละ 150 บาทต่อวันขึ้น บางครั้งมีการให้ราคาจ้างตัดหน้ากันถึง 200 บาทต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่ได้เก็บเกี่ยวไปแล้วกว่า 50%


 


"ถ้าหากจ้างเราต้องเลี้ยงอาหารกับแรงงานเหล่านั้น 2 มื้อ ซึ่งราคาจ้างจะแตกต่างกัน เช่น 150 บาทต่อวัน จะเริ่มทำงาน 08.00 น. ไปขึ้นในเวลา 06.00 น. แต่ถ้าจ้างวันละ 200 จะเริ่มเวลา 07.00 น.ไปขึ้นในเวลา 17.00 น."


 


ด้านนายบุญล้อม แสงสุข นายกองค์การบริการส่วนตำบลนากะแซง อ.เดชอุดม เปิดเผยว่า ส่วนใหญ่ในพื้นที่ของตนเองก็นิยมจ้างแรงงานเช่นเดียวกัน ซึ่งราคาจ้างสูงถึงวันละ 200 บาท ทั้งนี้จากการสอบถามชาวบ้านตนเองคาดว่าน่าจะเกิดจากความต้องการประหยัดเวลาในการเก็บเกี่ยว เพื่อใช้เวลาหลังจากนั้นไปประกอบอาชีพอย่างอื่น หรือปรับพื้นที่เพื่อปลูกผักและพืชไร่ ล้มลุกสลับกันไป ซึ่งตนเองคาดว่า ประเพณีการลงแขกนั้นคงฟื้นให้กลับมาได้ยากมาก เนื่องจากเป็นเรื่องของแต่ละครอบครัว


 


"การลงแขกบางคนที่ไม่ไปก็เอาเหล้าขาวมาแทน หรือถ้าไปก็ไปสายประมาณ 10.00 น. และจะขึ้นจากนาเร็วมากประมาณ 16.00 น. ซึ่งผู้ที่วานจะต้องเลี้ยงดูอย่างดี"


 


นายวัน เพาะพืช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกาบิน อ.กุดข้าวปุ้น ได้เปิดเผยเช่นเดียวกันว่า ชาวนาทุกวันนี้นิยมจ้างแรงงานเก็บเกี่ยว  โดยหากเก็บเกี่ยวได้ 100 มัด จะได้ค่าจ้าง 120 บาท บางชุมชนก็ให้ราคาตัดหน้ากัน 140 บาท โดยแรงงานส่วนใหญ่มาจากคนในพื้นที่ หากไม่มีความเพียงพอก็จะจ้างแรงงานในตำบลอื่นๆ ในส่วนของการลงแขกนั้น ตนเองได้วางแผนที่จะส่งเสริมประเพณีดังกล่าวในปีหน้า เพื่ออนุรักษ์ประเพณีดังกล่าวไว้


 


"บางคนให้เหตุผลว่า การจ้างเกี่ยวก็เอาเงินตนเองไปจ้างไม่ได้เอาเงินคนอื่นซักหน่อย จึงเป็นห่วงว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร สำหรับที่นาของผมนั้น ให้ลูกเมียและญาติพี่น้องช่วยกันทำ เพราะต้องมีหน้าที่บริหารบ้านเมือง"


 


นางประไพร เจือจันทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร ได้เปิดเผยกรณีดังกล่าวว่า การลงแขกนับวันจะไม่มีให้เห็นในพื้นที่ ซึ่งน่าจะไม่เกิน 5 % เนื่องจากเป็นเรื่องส่วนบุคคล รวมทั้งในพื้นที่ของตนเองจะต้องรีบปรับพื้นที่เหาะเห็ดฟาง ซึ่งเป็นผลผลิตในท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงโดยมีพื้นที่เพาะเห็ดกว่า 80 %


 


เช่นเดียวกับ นายจำนงค์ ทีอุทิศ นายกองค์การบริการส่วนตำบลขามเปี้ย อ.ตระการพืชผลที่เปิดเผยว่า การจ้างแรงงานเก็บเกี่ยวข้าวเป็นที่นิยมของเกษตรกรเพราะจะได้ประหยัดเวลา โดยราคาค่าจ้างคิดตามจำนวนที่เก็บเกี่ยวได้คือ 100 มัดจะได้ค่าจ้าง 120 บาท ทั้งนี้ประเพณีการลงแขกนั้นไม่ค่อยมีในพื้นที่ ซึ่งน่าจะเกิดจากต่างคนต่างทำมาหากิน ขาดการประสานงานกันในชุมชน โดยในปีนี้ผลผลิตโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วส่วนใหญ่จะนำไปจำนำกับ ธกส.เช่นทุกปีที่ผ่านมา  นอกจากนี้นายสมพงษ์ รักไทย นายกองค์การบริการส่วนตำบลพังเคน กิ่ง อ.นาตาล ก็เปิดเผยว่า ส่วนใหญ่เป็นการจ้างแรงงานเช่นเดียวกัน โดยในฤดูกาลผลิตในปีหน้าทาง อบต. จะเป็นแม่งานในการฟื้นประเพณีดังกล่าว เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชน


 


อย่างไรก็ตามในปีนี้(2549)จังหวัดอุบลราชธานีมีพื้นที่การทำนาทั้งหมดประมาณ 4.2 ล้านไร่ ซึ่งเป็นข้าวจ้าวประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยคาดว่าจะมีผลผลิตเฉพาะข้าวจ้าวออกสู่ตลาดประมาณ 9 แสนถึง 1 ล้านตัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net