Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


เสาวภา พุทธรักษา


 


 



 


 


ตามภาษาท้องถิ่นของชาวอิเหนาแล้ว บาหลี หมายถึง "ดินแดนของพระเจ้า" ซึ่งพระเจ้าของศาสนาฮินดูมีหลายองค์ ผู้คนจึงสามารถที่จะนับถือพระเจ้าหลายองค์ได้พร้อมกัน


 


แต่ "บาหลี" ที่เป็นสวรรค์น้อยๆ ของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก คือดินแดนซึ่งมีมนต์เสน่ห์แห่งศิลปะ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมแบบฮินดู และสถานบันเทิงผสมผสานอยู่ด้วยกัน


 


บาหลีเป็นเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งในจำนวน 17,508 เกาะ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นประเทศอินโดนีเซีย บาหลีได้ชื่อว่าเป็นที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาดื่มด่ำชมวิวทิวทัศน์ของหาดทรายสีขาวและความแปลกของหาดทรายสีดำซึ่งเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ


 


แต่บาหลีเป็นเกาะเดียวของอินโดนีเซียที่ผู้คนยังคงนับถือศาสนาฮินดูกันอย่างเหนียวแน่น และเป็นเกาะที่รวมคนส่วนน้อยที่สามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ได้-ท่ามกลางความงอกเงยของธุรกิจการท่องเที่ยว


 


ตึก ตึก ตึก ตึก! เสียงหัวใจเต้นระรัว


 


บาหลีที่เห็นด้วยสายตาตัวเองจะเป็นอย่างไรนะ...


 


 


บินถลาสู่บาหลี...


ทันทีที่ลงจากเครื่องบิน กลิ่นอายความเป็นบาหลีได้ลอยเข้าสู่จมูกพวกเรา (นั่นคือกลิ่นธูป เพราะชาวบาหลีนิยมจุดธูปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์) และต้องสะดุดตากับไม้แกะสลักรูปแบบแปลกๆ ภายในตัวอาคารสนามบิน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะแกะเป็นรูปยักษ์ หรือสัตว์ประหลาดที่มีดวงตาดุและกลมโต เหตุที่สร้างรูปแกะสลักให้มีหน้าตาที่น่ากลัวนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาภายในอาคาร


 


พวกเราถึงบาหลีเมื่อยามที่อาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว แต่มนต์เสน่ห์ของบาหลีก็ใช่ว่าจะหลับใหลไปด้วย…


 


ที่พักของเราอยู่แถวย่านไนต์คลับของหาดคูตา (KUTA Beach) ย่านนี้เป็นศูนย์กลางของสถานบันเทิง บาร์เบียร์ และแหล่งชอปปิ้ง เป็นย่านเดียวกันกับที่ถูกลอบวางระเบิดเมื่อปี 2545 จำนวนผู้ที่สูญเสียลมหายใจถูกจารึกไว้ที่นั้น เพื่อเตือนใจผู้ก่อการร้ายว่า ได้ทำลายชีวิตบริสุทธ์ไปเป็นจำนวนเท่าไหร่แล้ว


 


จากเหตุบาหลีถูกลอบวางระเบิดเมื่อปี 2545 รายได้หลักจากการท่องเที่ยวของบาหลีหดหายไป เพราะนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาน้อยลง แต่ถือเป็นโชคดีที่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบาหลีส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพิงอยู่กับธรรมชาติ เราจะเห็นได้จากการที่บาหลีสามารถควบคุมสัดส่วนของความเจริญทางเทคโนโลยีไม่ให้ล่วงล้ำก้ำเกินธรรมชาติได้ เช่น ห้ามสร้างโรงแรม ที่พัก สูงกว่าต้นมะพร้าว โดยโยงเข้ากับความเชื่อโบราณทางศาสนา เป็นต้น


 


ยามเช้า...พวกเราออกจากที่พักเดินทางลัดเลาะไปยังหาดคูตา ระหว่างทางบรรดาพ่อค้าแม่ขายวุ่นอยู่กับการจัดข้าวของสำหรับขายนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผ้าลายบาติก เสื้อกระโปรงกว้างคืบยาวศอกสำหรับนักท่องเที่ยวฝรั่งโดยเฉพาะ


 


สิ่งที่ต้องสะดุดตาไม่ใช่สาวแหม่มใส่กระโปรงสั้น แต่กลับเป็นของเซ่นไหว้บูชาเทพเจ้าและเจ้าที่เจ้าทางเพื่อให้ทำมาค้าขึ้น และเพื่อความเป็นสิริมงคล หน้าร้านแต่ละร้านจึงมีเครื่องเซ่นวางอยู่ รวมถึงบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ด้วย


 


 



กระทงเครื่องเซ่นที่พบเห็นได้ทั่วไปในบาหลี บ่งบอกถึงวิถีและความเชื่อดั้งเดิม


 


 


เครื่องเซ่นนั้นประกอบด้วยดอกไม้หลากสี ข้าวสุก และธูปหนึ่งดอก ใส่ในกระธงทำด้วยใบตอง ขนาดพอๆกับกระทงขนมถ้วย กระทงนี้ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า Canang แต่ละร้านต้องทำเครื่องเซ่นนี้ 100 ชิ้นต่อวัน ตอนเช้าก็จะนำไปวางตามสถานที่ต่างๆ เช่นที่ศาลพระภูมิ หน้าร้านอื่นๆ หรือที่วัด เป็นต้น ตกเย็นของเซ่นพวกนี้ก็กลายเป็นขยะที่ไร้ค่า แต่การเซ่นไหว้นี้ก็กลายเป็นกิจวัตรที่ต้องทำทุกเช้า ถ้าไม่ทำ เชื่อว่าเทพเจ้าจะบันดาลโทษ


 


 



วัดฮินดู Ulandanu หลังคาสี่เหลี่ยมซ้อมกันเป็นชั้นๆ


 


 


เอกลักษณ์ของบาหลีที่คล้ายกับไทยก็คือ "วัด" และหลายคนคงสงสัยว่า วัดบาหลีกับวัดไทยแตกต่างกันอย่างไร วัดบาหลีนั้นเป็นวัดฮินดู ศิลปะของวัดก็สังเกตได้ไม่ยาก เห็นได้จากทรงหลังคาเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้นๆ โดยปกติแล้วจำนวนชั้นจะมีตั้งแต่ 3,5,7,9 และ 11 ตามความสำคัญของทวยเทพที่สถิต แต่เหตุที่เป็นเลขคี่เพราะคนบาหลีเชื่อว่าเป็นเลขมงคล


 


นอกจากนี้แล้ว วัดของบาหลีจะสร้างจากอิฐและไม้จากต้นสาคู ขนาดไม่ได้ใหญ่โตเหมือนอย่างวัดไทย และไม่ได้ใช้เป็นที่เทศนาธรรม แต่ใช้เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น


 


 


วิถีชีวิต - วิถีแห่งความเชื่อ...


ความเป็นบาหลีประการแรกที่เราสัมผัสได้ก็คือ ชีวิตที่อิงอยู่กับความเชื่อโบราณ และเราก็ออกเดินทางในตอนเช้าเพื่อมุ่งหน้าสู่วัดตัมปักสีริง (Tampak Siring)


 


วัดแห่งนี้เป็นวัดที่ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าเขา ท่ามกลางอากาศเย็นเยือก และวัดนี้มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งใช้ในพิธีสำคัญๆ ทางศาสนาฮินดูด้วย


 


ชาวพื้นเมืองบางคนนำน้ำจากวัดนี้มาอาบ บ้างก็ดื่มกิน เชื่อว่าเพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บหรือชำระล้างความอัปมงคลให้หมดสิ้นไป เรายังคงเห็นกระธงเครื่องเซ่นลอยวนอยู่ในน้ำ ฟังดูแล้วความเชื่อเหล่านี้ก็เหมือนกับความเชื่อของคนไทย ขณะที่ชาวบ้านกำลังชำระความชั่วร้ายออกไปจากร่างกาย บรรดานักกดถ่ายทั้งหลายก็เก็บภาพเป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งได้มาดูพิธีชำระล้างร่างกายของชาวบ้าน (ทั้งๆ ที่มีข้อห้ามว่า "ห้ามถ่ายภาพ")


 


วัดต่อไปที่พวกเราไปเยือนคือ ทานาล๊อท (Tanalot) หรือเรียกว่าวัดกลางน้ำก็คงไม่ผิด เพราะตั้งอยู่บนเกาะห่างจากชายฝั่งประมาณ 100 เมตรเท่านั้น ยามน้ำลง ก็สามารถเดินไปมาได้ระหว่างเกาะ ภายในเกาะแห่งนี้มีถ้ำซึ่งเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของงูที่ปกปักดูแลสถานที่แห่งนี้ และบนเกาะก็จะมีวัดเพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา


 


 



วัดทานาล๊อท และประตูผ่า (Split Gate) ที่สะท้อนสัญลักษณ์เขาพระสุเมรุ-ที่ประทับของพระเจ้า


 


 


แต่น่าเสียดายที่เราไม่สามารถขึ้นไปชมความงดงามของวัดนี้ได้เพราะคนที่สามารถก้าวย่างไปได้นั้นจะต้องนับถือศาสนาฮินดูและใส่ชุดสีขาวเท่านั้น คู่บ่าวสาวหลายคู่เลือกใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่จัดงานแต่งงานเพราะหลงเสน่ห์เกาะกลางดินที่มีคลื่นซัดสาดโขดหินแห่งนี้


 


นอกจากหลังคาวัดที่เป็นเอกลักษณ์ของบาหลีแล้ว จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือประตูที่เป็นเหมือนประตูบานเดียว แล้วตัดผ่าออกตรงกลาง เชื่อว่านี่สะท้อนสัญลักษณ์เขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่ประทับของเทพเจ้า แยกออกสองข้างสะท้อนความดีความชั่ว ประตูนี้พบเห็นได้ทั่วทั้งเกาะบาหลี


 


 


แสงสีสังเคราะห์ย่านไนต์คลับติดชายหาด...


ย่ำค่ำ...พวกเราไปนั่งร้านบาร์เบียร์เพื่อลิ้มรสความเป็นบาหลีอีกรูปแบบหนึ่ง บรรยากาศแห่งราตรีกาล ผู้คนส่วนใหญ่ที่มารับบริการล้วนแล้วแต่เป็นฝรั่งผมทองต่างมุ่งหน้ามาดื่มน้ำเมาเคล้าแสงไฟ ย่านแถบนี้เหมือนถูกเนรมิตให้เป็นอาณานิคมหรืออาณาจักรย่อยๆ ของฝรั่งนักเดินทางทั้งหลายมาตักตวงความสุข แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าขาดผู้คนกลุ่มนี้แล้ว ธุรกิจการท่องเที่ยวจะอยู่ได้หรือไม่ เงินเป็นกอบเป็นกำจะสูญหายไป ดังนั้นเราจึงอยู่กับอาณานิยมย่อยๆ ได้อย่างอิ่มเอมใจ หากพูดไปแล้วตอนนี้ก็ไม่ได้ต่างจากสมัยล่าอาณานิคมนัก ต่างกันแค่ตอนนี้ทุกคนหันมาต้อนรับต่างชาติแทนที่จะขับไล่เหมือนเมื่อก่อน


 


 



(รูปภาพ Kuta City)


 


 


เราใช้วันสุดท้ายที่บาหลีไปกับการชอปปิ้ง การเลือกซื้อของแต่ละครั้ง นอกจากจะต้องรับมือกับเด็กๆ ที่มารุมล้อมขายของแล้ว ก็ยังต้องรับมือกับราคาเริ่มต้นที่สูงปรี๊ดจนคนฟังแทบหยุดหายใจ แต่เมื่อลูกค้าหน้าซีด ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไป...ราคาลดลงครึ่งหนึ่ง แต่อย่าเพิ่งตัดสินใจซื้อถ้ายังไม่ได้ราคาลดครึ่งต่อครึ่ง


 


วัฒนธรรมของการบอกราคาที่แพงกว่าราคาจริงนั้นก็เป็นเหมือนกันทุกที่ของแหล่งท่องเที่ยว พวกเขาทำเพื่อความอยู่รอด เพราะรายได้ของพวกเขาไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยว แม้บางครั้งจะขัดกับความเชื่อกับทางศาสนาก็ตาม ถ้าเราไม่พอใจในราคาที่เขาเสนอก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ


 


บ่ายแก่ๆ พวกเราตัดสินใจที่จะเล่นน้ำทะเลที่หาดคูตา สายตาพวกเราต่างเพ่งมองไปยังชายหาดซึ่งเห็นแต่ผู้คน ส่วนในทะเลนั้นเห็นแต่ขยะ (เห็นแล้วเศร้าใจ) แต่ถึงอย่างไรผู้คนไม่น้อยก็ยังคงเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน


 


ไม่นาน..หนึ่งในนั้นก็มีพวกเรา ด้วยเหตุผลว่า "ไหนๆ ก็มาถึงบาหลีแล้ว ไม่ลงทะเลก็คงแปลก ……"


 


 



 


 


ดินแดนของพระเจ้าที่เรา (ยัง) เข้าถึงได้


ในขณะที่โลกธุรกิจการท่องเที่ยวของบาหลียิ่งเติบโต ชาวบาหลีส่วนใหญ่ก็ยังใกล้ชิดอยู่กับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และมีวิถีชีวิตใกล้ชิดอยู่กับธรรมชาติ เชื่อเรื่องผีเรื่องสางอยู่เช่นเดิม


 


วัดที่สวยงามก็ยังเป็นแหล่งรวบรวมความเชื่อความศรัทธาในพระเจ้า มีเสน่ห์ที่น่าหลงใหล แต่ถ้าขาดสีสันยามค่ำคืนไป...บาหลีก็คงไม่ต่างอะไรจากเมืองร้าง และด้วยความต่างเช่นนี้เองที่ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวของบาหลียังดำเนินไปได้ แม้ภาวะเสี่ยงภัยจากการก่อการร้ายจะยังมีอยู่ก็ตามที


 


ทั้งสองวิถีชีวิตอยู่ได้เพราะมีจุดขายที่ต่างกัน แต่เราคงหลีกหนีความจริงไม่ได้ว่าตอนนี้ชาวพื้นเมืองบาหลีก็ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้นักท่องเที่ยวดูเพื่อแลกกับตัวเงิน ทำลายความบริสุทธ์ในจิตใจของการศรัทธาในพระเจ้าไป


 


แต่เราคงต้องยกผลประโยชน์ให้กับการปรับตัวของคนบาหลี และการปฏิบัติตามแนวคิดเรื่องการแบ่งโซนการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน


 


สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นวัดจึงตั้งอยู่บริเวณป่า เชิงเขา และหุบเขา ส่วนสถานบันเทิงก็จะตั้งอยู่ในเมือง เราจะไม่ได้เห็นภัตตาคาร หรือโรงแรมอันเป็นต้นตอแห่งความอึกทึกอยู่บริเวณวัดเหมือนอย่างที่บางประเทศ (ที่ไม่ไกลตัวเรา) กำลังเป็นอยู่


 


ดังนั้น...บาหลีจึงเป็นดินแดนที่น่าศึกษา เพราะมีทั้งชีวิตที่กลมกลืนอยู่กับธรรมชาติ และมีวัดเป็นศูนย์รวมแห่งพิธีกรรม รวมถึงชีวิตที่อยู่กับแสงสีและความอึกทึกครึกโครมของเสียงเพลงสมัยใหม่


 


เมื่อหันไปมองภาพบาหลีอีกครั้งก่อนจะจากมา...


 


บาหลีก็ยังคงเมืองแห่งศิลปะ และวัฒนธรรมของฮินดู แต่ก็สามารถดื่มด่ำกับความบันเทิงยามค่ำคืนได้ กลายเป็นสองขั้วที่ลงตัว ผสมผสานกันจนกลายเป็นสวรรค์น้อยๆ (บนดิน) ของบรรดานักทัศนาจรทั้งหลายไปได้อีกนาน…

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net