Skip to main content
sharethis

 






พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ รายงาน

 


 


 



นายกิริยา ปราสาท กัวราลา นายกรัฐมนตรีเนปาล


แถลงถึงความสำเร็จของการเจรจาข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มกบฎลัทธิเหมา


ที่รัฐสภาในกรุงกาฏมาณฑุ ประเทศเนปาลเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2549


(ที่มาของภาพ : AP Photo/Binod Joshi)


 


 


กาฏมาณฑุ - เนปาลเข้าสู่โฉมหน้าใหม่ หลังจากนายกิริยา ปราสาท กัวราลา (Girija Prasad Koirala) นายกรัฐมนตรีเนปาลออกแถลงการณ์ในวันที่ 9 พ.ย. หนึ่งวันภายหลังจากฝ่ายรัฐบาลซึ่งประกอบไปด้วย 7 พรรคการเมือง และกลุ่มกบฏลัทธิเหมา ได้บรรลุข้อตกลงสันติภาพ และฝ่ายกบฏลัทธิเหมาประกาศว่าสงครามการต่อสู้กับรัฐบาลยุติแล้ว ทั้งยังกล่าวว่าพวกเขามีแผนที่จะเข้าไปมีที่นั่งสมาชิกรัฐสภาเพื่อเข้าร่วมกับรัฐบาลเฉพาะกาลของเนปาล


 


 


นายกรัฐมนตรีกล่าว "ชัยชนะของชาวเนปาลทุกคน"


"แม้สุขภาพของข้าพเจ้าจะไม่ค่อยอำนวยนัก แต่ข้าพเจ้าได้ลองเสี่ยงดวงด้วยการนำพาเหล่าพลพรรคลัทธิเหมาเข้าสู่การเมืองกระแสหลัก" นายกัวราลาวัย 85 ปีกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พ.ย. ผ่านมา


 


"ข้าพเจ้าประสบความสำเร็จด้วยข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้" นายกัวราลากล่าว โดยตัวเขาต้องนั่งและแขม่วท้องเพื่อหายใจอยู่ตลอดเวลาและขณะที่เขากล่าวสุนทรพจน์เป็นเวลา 10 นาทีต่อรัฐสภา


 


นายกรัฐมนตรีผู้สูงวัยเรียกสนธิสัญญานี้ว่า "เป็นชัยชนะของชาวเนปาลทุกคน" และ "นี่คือหินถมทางก้อนแรกๆ สำหรับการปฏิวัติเนปาลยุคใหม่"


 


นายกัวราลาผู้นี้เป็นนับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการเจรจาสันติภาพและนำมาสู่การลงนามในสัญญาโดยเขากล่าวว่า "ข้าพเจ้าสนับสนุนให้ชาวพรรคลัทธิเหมาเคารพในถ้อยความและน้ำใจในข้อตกลงสันติภาพนี้ ขอให้ชาวพรรคลัทธิเหมาสร้างบรรยากาศที่ปราศจากความเกรงกลัวใดๆ"


 


 



คนขายหนังสือพิมพ์ชาวเนปาลชูหนังสือพิมพ์หิมาลายันซึ่งพาดหัวว่า "สันติภาพในที่สุด"


ทั้งนี้คาดว่ากระบวนการสันติภาพจะเกิดขึ้นหลังฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายลัทธิเหมา


บรรลุข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันพุธที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา


(ที่มาของภาพ : AFP/Devendra M Singh)


 


 



ตั้งสมัชชาเฉพาะกาลหลังข้อตกลงมีผลบังคับใช้


นายหริทาเยศ ไตรพาที (Hridayesh Tripathi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าหลังจากข้อตกลงสันติภาพฉบับนี้มีผลบังคับใช้ การทำหน้าที่ของรัฐสภาชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดลง และสมัชชาเฉพาะกาลจะได้รับการแต่งตั้งในวันที่ 26 พฤศจิกายน


 


ในส่วนของโครงสร้างอำนาจรัฐของฝ่ายกบฏซึ่งกินพื้นที่ยึดครองเป็นบริเวณกว้างในเนปาลจะสลายตัวลง ภายหลังจากธรรมนูญชั่วคราวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 พฤศจิกายน นายกฤษณา ปราสาท สิตัวลา (Krishna Prasad Sitaula) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าว


 


ภายใต้ข้อตกลงสันติภาพ พรรคคองเกรสเนปาล (the Nepali Congress party) พรรคการเมืองใหญ่ที่สุดในประเทศจะได้รับ 75 ที่นั่งจาก 330 ที่นั่งในสมัชชาเฉพาะกาล ด้านพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเนปาล (มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์) พรรคการเมืองอันดับ 2 และกบฏลัทธิเหมาจะได้รับโควตาพรรคละ 73 ที่นั่ง


 


ส่วนที่นั่งในสมัชชาเฉพาะกาลที่เหลือ ได้รับการจัดสรรให้ 5 พรรคการเมืองต่างๆ ที่เป็นอดีตพรรครัฐบาลผสม


 


 


ปลดอาวุธทั้งสองฝ่ายให้ยูเอ็นควบคุม


นายสิตัวลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังกล่าวอีกด้วยว่ากองทัพของฝ่ายกบฏลัทธิเหมา ซึ่งยึดครองพื้นที่ในชนบทจองเนปาล เห็นชอบที่จะให้คณะตรวจสอบของสหประชาชาติควบคุมภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้


 


โดยการปลดอาวุธอยู่ในกระบวนการสันติภาพนี้ด้วย


 


"กำลังอาวุธของฝ่ายลัทธิเหมาและฝ่ายกองทัพเนปาลซึ่งมีปริมาณใกล้เคียงกันจะถูกควบคุมเช่นกัน" นายสิตัวลากล่าว


 


โดยฝ่ายกบฏเห็นชอบที่จะปลดอาวุธของพวกเขาให้อยู่ภายใต้คณะควบคุมของสหประชาชาติ รื้อถอนโครงสร้างการบริหารของฝ่ายกบฏที่เขาสร้างขึ้นในพื้นที่ยึดครองของฝ่ายกบฏทั่วเนปาล และจะเข้าร่วมกับรัฐบาลผสมในวันที่ 1 ธันวาคม


 


โดยผู้แทนของเลขาธิการทั่วไปแห่งองค์การสหประชาชาติ จะเข้ามามีบทบาทในกระบวนการสันติภาพนี้


 


"เช้าวันพฤหัสบดีนี้ (9 พ.ย.) เราได้พบกับประธานประจันดา (Prachanda - ผู้นำกบฏลัทธิเหมา) และรองผู้บัญชาการกองทัพปลดแอกประชาชน (People"s Liberation Army - PLA) และเริ่มคุยกับพวกเขาถึงทิศทางต่อไปของที่ตั้งทางทหารและการเก็บรักษาอาวุธ" นายเอียน มาร์ติน (Ian Martin) ผู้แทนกระบวนการสันติภาพของนายโคฟี่ อันนันกล่าว


 


ภายใต้ข้อตกลงสันติภาพนี้, กองทัพเนปาลกว่า 90,000 นายจะจำกัดอยู่แต่ในที่ตั้ง และมอบอาวุธบางส่วนให้สหประชาชาติดูแล


 


องค์การสหประชาชาติได้รับเชิญจากทั้ง 2 ฝ่ายให้เข้ามาตรวจตราอาวุธยุทโธปกรณ์ของฝ่ายกบฏและรัฐบาล โดยทั้ง 2 ฝ่ายสมัครใจเองไม่ได้ถูกบังคับแต่อย่างใด นายมาร์ตินกล่าวแก่ผู้สื่อข่าว


 


"ซึ่งถ้ามีรายงานหรือข้อผิดปกติใดๆ ว่ากำลังอาวุธของพวกเขาหายไปอยู่ที่อื่น ก็เป็นความรับผิดชอบของสหประชาชาติที่จะสอบสวนทั้งรัฐบาลและฝ่ายกบฏ" นายมาร์ตินกล่าว


 


"ข้อพิจารณาของเราคือทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพนี้ ด้วยการทำให้แน่ใจว่านานาประเทศรับทราบข้อตกลงทั้งหลายนี้แล้ว"


 


ผลการเจรจาที่น่ายินดีนี้ ได้ยุติการกบฏนองเลือดซึ่งดำเนินมาเป็นเวลากว่า 10 ปี มีผู้เสียชีวิตที่ยืนยันได้กว่า 12,500 ราย และทำให้บรรยากาศในเนปาลผ่อนคลายลงไปในทางที่ดี


 


นายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติที่กำลังจะหมดวาระกล่าวว่า สหประชาชาติมีโครงการที่ช่วยเหลือเพื่อสร้างพื้นที่สันติภาพ ทั้งยังเตือนทั้ง 2 ฝ่ายว่าจะต้อง "รักษาความสมดุลของกระบวนการสันติภาพนี้ ด้วยการยึดถึงข้อตกลงที่ทั้ง 2 ฝ่ายจัดทำขึ้น"


 


 


สหรัฐยังแทงกั๊กถอนชื่อกบฏเหมาออกจากบัญชี "ก่อการร้าย"


โฆษกกิจการระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา นางแนนซี่ เบ็ค (Nancy Beck) กล่าวว่าความสำเร็จของการเจรจาทั้ง 2 ฝ่าย ขึ้นอยู่กับยอมตามข้อตกลง แต่ก็ไม่ได้ระบุว่ากบฏลัทธิเหมาถูกถอดรายชื่อออกจากบัญชีองค์กร "ก่อการร้าย" ของสหรัฐอเมริกาหรือไม่


 


ทั้งนี้ ครั้งนี้เป็นความพยายามในครั้งที่สามแล้วที่ทั้ง 2 ฝ่ายที่จะสร้างข้อตกลงสันติภาพ โดยการเจรจาก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในปี 2001 และ 2003 ซึ่งผลการเจรจาล้มเหลวและนำเนปาลล่วงเข้าสู่วิกฤตการณ์


 


อย่างไรก็ตามกระบวนการสันติภาพ ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือทันทีเมื่อรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมืองขึ้นสู่อำนาจหลังการชุมนุมเรียกร้องให้กษัตริย์คเยนทราสละอำนาจการปกครองโดยตรงในเดือนเมษายน และหลังจากการประกาศหยุดยิงจากทั้ง 2 ฝ่าย


 


 



ผู้นำกบฏลัทธิเหมาสหายประจันดา (ซ้าย) ซึ่งในช่วงปฏิวัติเขาอยู่ในฐานที่มั่นกลางป่าอย่างเงียบๆ


บัดนี้เข้าสู่การจับจ้องของ "สปอตไลท์" ในวงการเมืองเนปาล


(ที่มาของภาพ AFP/Devendra M. Sing)


 


 


กบฏเหมาเผยมี "วิสัยทัศน์ใหม่" สำหรับเนปาล


ด้านนายประจันดา ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรือ Communist Party of Nepal (Maoists) หรือที่รู้จักในนามกลุ่มกบฏลัทธิเหมาบอกแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่าพวกเขามี "วิสัยทัศน์ใหม่" สำหรับเนปาล


 


"ประสบการณ์ของพวกเรา แสดงให้เห็นว่าพวกเราไม่สามารถบรรลุเป้าประสงค์ได้ด้วยเพียงวิถีการปฏิวัติด้วยอาวุธ, ดังนั้นพวกเราจึงเลือกวิถีการเจรจาและผูกพันธมิตรกับพรรคการเมือง" เขากล่าว


 


 


นายกรัฐมนตรีเนปาลยังกังวลขั้นตอนเจรจาสันติภาพ


และนายกรัฐมนตรีกัวราลายังเตือนว่า "ยังมีแรงปฏิกิริยาบางส่วนพยายามที่จะวางอุบายในการเจรจาสันติภาพ"


 


เขาไม่ได้ระบุว่าหมายถึงใคร แต่จากบริบทสื่อมวลชนทั้งในและนอกเนปาลคาดว่าน่าจะหมายถึงกษัตริย์คเยนทรา (King Gyanendra) ผู้ทรงถูกบีบให้สละพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ หลังการประท้วงของมวลชนตามท้องถนนในเดือนเมษายน


 


อย่างไรก็ตาม ประจันดาดูจะไม่พอใจอย่างยิ่งหากจะมีความพยายามในการฟื้นฟูพระราชอำนาจของกษัตริย์ โดยเขากล่าวว่ากบฏลัทธิเหมา "จะเคารพมติของประชาชนแต่ไม่ยอมรับสถาบันกษัตริย์"


 


"ถ้ามีพระราชพิธีสำหรับสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้น เราจะกลับหามวลชนของเราอีกครั้งและบอกพวกเขาว่าเราผิดพลาด สำหรับเนปาลแล้วไม่มีที่ทางสำหรับสถาบันกษัตริย์อีก" ประจันดา ผู้นำฝ่ายกบฏเตือน


 


 


สถานภาพของสถาบันกษัตริย์จะถูกตัดสินหลังมีสภาการร่างรัฐธรรมนูญ


ภายใต้สนธิข้อตกลงสันติภาพนี้ ชะตากรรมของระบอบกษัตริย์จะถูกตัดสินภายหลังจากที่มีการเลือกตั้งสภาพิเศษเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


 


ขณะที่ฝ่ายลัทธิเหมาต้องการสร้างสาธารณรัฐ แต่มุมมองของอีกฝ่ายเห็นว่าสถาบันกษัตริย์สำคัญต่อประเทศเล็กๆ ที่ขนาบข้างด้วยมหาอำนาจอย่างจีนและอินเดีย


 


อย่างไรก็ตามแม้ว่ากษัตริย์คเยนทราจะคงเป็นกษัตริย์อยู่ แต่ปัจจุบันพระองค์ก็ถูกลดทอนพระราชอำนาจลงเป็นแต่เพียงสัญลักษณ์ และถูกถอดจากพระราชอำนาจทางการเมืองและการเป็นจอมทัพของกองทัพเนปาล


 


 



ผู้สนับสนุนและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรือกบฏลัทธิเหมา


เดินขบวนฉลองชัยชนะกลางกรุงกาฏมาณฑุในวันนี้ (10 พ.ย.)


(ที่มาของภาพ : AP photo/Binod Joshi)


 


 


ล่าสุดในวันนี้ (10 พ.ย.) สมาชิกกลุ่มกบฏลัทธิเหมาและผู้สนับสนุนประมาณแปดหมื่นคนเดินขบวนฉลองผลการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาล ที่กลางกรุงกาฏมาณฑุ นอกจากนี้ยังมีการเดินขบวนในเมืองลาลิทเปอร์ (Lalitpur) และบัคทาเปอร์ (Bhaktapur) ด้วย


 


ผู้ร่วมชุมนุมเดินทางด้วยรถยนต์และรถบรรทุกจากพื้นที่นอกเมืองหลวงพร้อมป้าย "ยินดีต้อนรับสู่สาธารณรัฐเนปาล" และ "สหายประจันดาจงเจริญ"


 


โดยผู้นำอาวุโสและกรมการเมืองของพรรคกล่าวว่า "บัดนี้ประเทศเนปาลก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แล้ว"


 


 






 


เส้นทางสู่กระบวนการสันติภาพในเนปาล


ที่มา AFP


 



การชุมนุมของมวลชนเนปาลเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.2006 ที่ผ่านมา


(ที่มาของภาพ: Getty Images)


 


การเจรจาครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างรัฐบาลเนปาลกับกบฏลัทธิเหมาประสบผลสำเร็จเมื่อวันพุธที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมาหลังจากเกิดสงครามกลางเมืองมายาวนานนับ 10 ปี


 


ค.ศ. 1995


กบฏลัทธิเหมาจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลเนปาล


 


ค.ศ. 2002


พฤษภาคม - กษัตริย์คเยนทราล้มเลิกรัฐสภา และไล่นายกรัฐมนตรีออก


 


ค.ศ. 2004


มิถุนายน - กษัตริย์คเยนทราฟื้นฟูระบบรัฐบาลผสม


 


ค.ศ. 2005


กุมภาพันธ์ - กษัตริย์คเยนทราเข้ายึดอำนาจและครองพระราชสมบัติตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


พฤศจิกายน - บรรดาพรรคการเมืองและกบฏลัทธิเหมาร่วมกันเป็นพันธมิตรต่อต้านกษัตริย์คเยนทรา


 


ค.ศ. 2006


เมษายน - เกิดการนัดหยุดงานทั่วประเทศโดยกบฏลัทธิเหมา, พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ทำให้กษัตริย์คเยนทรา ยอมสละพระราชอำนาจให้ระบอบรัฐสภา


พฤษภาคม - คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าทำงาน, มีการประกาศหยุดยิงระหว่างรัฐบาลและกบฏลัทธิเหมา


 


8 พฤศจิกายน ค.ศ.2006 ข้อตกลงสันติภาพ


กบฏลัทธิเหมามีที่นั่งในรัฐบาลเฉพาะกาล และอาวุธจะอยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ


 


จำนวนผู้เสียชีวิต


นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองปี 1996 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 12,500 คน


และมีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 19 คน ระหว่างการนัดหยุดงานทั่วประเทศ 19 วัน ในเดือนเมษายน


 


 


 


 


ที่มาของข่าว


 


Nepal's PM calls on Maoist rebels to respect peace deal, by Sam Taylor, AFP, Thu Nov 9, 7:35 AM ET


Nepal's Maoists declare end to revolt in landmark peace deal. by Sam Taylor, AFP, Wed Nov 8, 11:34 AM ET


Nepal rebels rally to celebrate peace deal, Kyodo via Yahoo! Asia News, Nov 10 4:28 AM


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net