เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย...แต่เป็นเด็กลำบากกว่าเยอะ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โดย  ซาเสียวเอี้ย

 

 

นอกเหนือจากคำประกาศเปรี้ยงว่า "ห้ามโฆษณาเหล้าเบียร์ออกอากาศ" ซึ่งยืดเยื้อมาสักพัก ได้จบภาค 1 ลงไปแล้ว (...โปรดติดตามตอนไป...) กระแสที่มาแรงแซงโค้งในวงการโทรทัศน์วิทยุประเทศไทยตอนนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นหัวข้อ "ปฏิรูปทีวีเพื่อสาธารณะ" หรือ Public Service Broadcasting ที่ถูกโจษจันกันอึงมี่ไปทั่วทั้งวงการ

 

ความมุ่งมั่นที่จะให้เมืองไทยมีสถานีโทรทัศน์ที่เป็นอิสระเสรี ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจทางการเมืองหรืออิทธิพลของผลประโยชน์ทางธุรกิจใดๆ ฟังดูคล้ายจะเป็นความหวังอันเรืองรองผ่องอำไพที่คนไทยจะมีช่องทางไว้เสพสื่อดีๆ โดยไม่จำเป็นต้องติดเคเบิลทีวีให้เปลืองเงิน

 

แต่ขอประทานโทษ...แค่ประกาศเริ่มต้นก็ส่อเค้าสงคราม 3 ฝ่ายที่ดูท่าจะซัดกันนัวเนียไปอีกนานซะแล้ว

 

ในเมื่อเรายังหาตอนจบที่ลงตัวสวยงามให้กับการปะทะ (สังสรรค์?) ทางความคิดในเรื่องนี้ไม่ได้ ก็ขอตัวไปรับชม "สิ่งที่น่าสนใจ" กันก่อนดีกว่า...

 

0 0 0

 

เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมาหมาดๆ มีการประกาศรางวัลสารคดีเพื่อสิทธิเด็กยอดเยี่ยม โดยรางวัลนี้เป็นผลผลิตจากการที่องค์กรระดับประเทศ 3 แห่งจับมือแท็กทีมกัน

 

[องค์กรเหล่านั้น ได้แก่ สหภาพวิทยุและโทรทัศน์แห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือเอบียู Asia-Pacific Broadcasting Union: ABU ร่วมกับสมาคมแพร่ภาพกระจายเสียงเคเบิลและดาวเทียมในเอเซีย หรือคาสบา Cable & Satellite Broadcasting Association of Asia: CASBAA และท้ายสุดเป็นหน่วยงานที่เราคงคุ้นหูกันดี คือ UNICEF หรือ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ]

 

ด้วยสูตรผสมแบบนี้เองที่ทำให้รางวัล ABU CASBAA UNICEF Child Rights Award มีกฏเกณฑ์ในการพิจารณาว่า ผู้มีคุณสมบัติที่จะรับรางวัลนี้ไปตั้งเป็นเกียรติเป็นศรีประดับบ้านได้ ต้องทำมาหากินด้วยการผลิตรายการโทรทัศน์อยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และจะต้องออกอากาศรายการที่ส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็กในสังคมที่ตัวเองอยู่อาศัย (แต่จะถือว่าดีที่สุด ถ้าหากเรื่องที่ถ่ายทอดจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระดับประเทศหรือระดับโลกได้-ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี)

 

สารคดีที่ได้รางวัลยอดเยี่ยมประจำปีนี้ คือ "Conquering the Darkness: The Fight Against Memories of Abuse" ผลงานของโปรดิวเซอร์ชาวญี่ปุ่น ชื่อ Shinichi Sugimoto แต่ถูกส่งประกวดในนามของบริษัท Kansai Telecasting Corporation

 

ความน่าสนใจของสารคดีรางวัลสิทธิเด็กเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่การตีแผ่ชีวิตของเด็กๆ ที่มีปัญหา แต่เป็นการถ่ายทอดชีวิต "ผู้ใหญ่" คนหนึ่งที่ลงมือทำร้ายลูกของตัวเองบ่อยๆ

 

สารคดีเรื่องนี้ค่อยๆ เปิดเผยให้คนดูเข้าใจว่า "Aya" วัย 33 ปี ที่เป็นศูนย์กลางของเรื่อง เคยถูกพ่อแม่ทุบตีและทำร้ายร่างกายเป็นประจำเมื่อตอนยังเด็ก และประสบการณ์เลวร้ายเหล่านั้น ส่งผลมาถึงวิถีชีวิตของอายะในปัจจุบัน ทำให้ (บางครั้ง) ลูกทั้ง 3 คน ต้องกลายเป็นที่ระบายอารมณ์ของเธอไปซะ

 

จากสถิติที่ "ชินอิจิ สุกิโมโต" ไปค้นมา มีตัวเลขที่น่าตกใจว่าในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีทันสมัย อย่างประเทศญี่ปุ่น มีเด็กเสียฃีวิตจากการถูกทำร้ายร่างกายโดยเฉลี่ย 3 วัน ต่อ 1 คน และร้อยละ 80 ของคนญี่ปุ่นที่เป็นพ่อแม่คน ณ เวลาปัจจุบัน ล้วนเคยถูกพ่อแม่ผู้ปกครองของตนทำร้ายร่างกายทั้งสิ้น จำนวนผู้มีประสบการณ์อันโหดร้ายจึงกลายเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจทีเดียว

 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าหากว่าหัวจิตหัวใจของพ่อแม่สมัยใหม่จะขาดแคลนความอบอุ่น รวมถึงไม่รู้วิธีดูแลเอาใจใส่เด็กเล็กๆ ให้เติบโตมาอย่างไม่มีปมด้อยเหมือนคนรุ่นเก่าอีกมากมายที่ผ่านการถูกทำร้ายมาก่อน

 

อาจเพราะพ่อแม่ที่มีบาดแผลในจิตใจเหล่านี้ ไม่เคยมีประสบการณ์ที่จะสามารถนำมาใช้เป็นแบบอย่างในการเลี้ยงดูเด็กๆ ในครอบครัวของตัวเอง ทำให้การรับมือหรือจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและลูก [ซึ่งอยู่ในสถานะและบทบาทที่ด้อยกว่า] กลายเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ผู้อยู่เหนือกว่าสามารถออกคำสั่งและทำร้ายผู้มีสถานะต่ำกว่าให้ทำตามความต้องการของตัวเอง

 

แนวคิดของโปรดิวเซอร์สุกิโมโตจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมันคือการมองข้ามช็อตที่หลุดพ้นจากกรอบคิดเดิมๆ ว่าการแก้ปัญหาเด็ก-ต้องแก้ที่ตัวเด็ก ทั้งที่ในความเป็นจริง เด็กเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ยอดของมันขึ้นมาเหนือน้ำ แต่ปัญหาที่แท้จริงหมายถึงสิ่งแวดล้อมและผู้คน (รวมถึงสถาบันในสังคม) ที่เป็นรากฐานของความวุ่นวายและความไม่พอดีทั้งหลายทั้งปวง

 

การติดตามไปบันทึกชีวิตและความเคลื่อนไหวของอายะมาทำเป็นสารคดีต้องใช้เวลานานเป็นปี แต่มันก็ช่วยให้เธอสามารถละลายพฤติกรรมในการใช้ความรุนแรงของตัวเองลงได้ในบางส่วน และภาพการต่อสู้เพื่อเอาชนะความแปรปรวนในจิตใจของอายะก็ชวนให้สะเทือนใจและน่าปรบมือให้ในความพยายาม...

 

มีสารคดีน้อยมากที่เสนอต้นเหตุของปัญหาอันมาจากพื้นฐานครอบครัวและสังคม สารคดีเรื่องนี้จึงสามารถเอาชนะคู่แข่งจากประเทศต่างๆ ที่มุ่งเน้นไปยังความคับแค้นของเด็ก ซึ่งเป็นเพียงปลายเหตุเท่านั้น

 

รางวัลสารคดีเพื่อสิทธิเด็กของ 3 องค์กรนี้ไม่เปิดโอกาสให้ผู้กำกับหรือนักทำหนังสั้นเพื่อล่ารางวัลส่งผลงานเข้าประกวด เพราะจุดมุ่งหมายหลักของเอบียูและคาสบาคือการส่งเสริมให้สถานีโทรทัศน์ผลิตรายการดีๆ ออกมากันให้มากๆ เนื่องจากทั้งสององค์กรเห็นพ้องต้องกันว่าถ้าหากใช้ทีวีเป็นเครื่องมือสื่อสารอย่างระมัดระวัง ทีวีสามารถเป็นช่องทางในการกระจายข้อมูลข่าวสารที่ได้ผลมากที่สุด เพราะภาพและเสียงจะช่วยดึงดูดความสนใจได้ง่ายกว่าตัวอักษร และแม้กระทั่งคนที่ไม่รู้หนังสือก็สามารถเข้าถึงได้ เช่นเดียวกับความจริงที่ว่าคนทั่วโลกเป็นโรคขาดทีวีไม่ได้กันไปหมดแล้ว...

 

0 0 0

 

เมื่อหันกลับมามองท่าทีของทีวีเพื่อสาธารณะในบ้านเราบ้าง ก็ถือว่ายังพอจะมีความหวังและความอุ่นใจรำไรขึ้นมานิดๆ เพราะแนวคิดเรื่องการปฏิรูปสื่อโทรทัศน์วิทยุที่โผล่แพลมออกมาจากรัฐบาล พอจะสรุปใจความได้ว่า จะมีการโอนช่อง 11 หรือไม่ก็ยึดสัมปทานไอทีวีคืนจากบริษัทเทมาเสก และสถานีทีวีและวิทยุที่ปราศจากโฆษณาก็กำลังจะปรากฏโฉมหน้าในยุคนี้ด้วย

 

รายการทีวีเพื่อสาธารณะจะเสนอแต่สิ่งที่มีสาระเท่านั้น และรายการที่เน้นการศึกษาหรือรายการเพื่อเด็ก จะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งรัฐพยายามง้างอ้อยจากปากช้างด้วยการออกหมัดแย้ปว่า ถ้าธุรกิจทีวีรายใหญ่ๆ สามารถบริจาคเงินให้สถานีโทรทัศน์สาธารณะเพื่อนำไปผลิตรายการเด็กและรายการสารคดีที่เป็นประโยชน์โดยไม่หวังผลตอบแทนทางการตลาดได้...ก็คงจะเป็นเรื่องดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก

 

รายการเด็กที่เป็นเหมือนจุดอ่อนของแต่ละสถานีจึงได้รับการปัดฝุ่นมาพิจารณากันใหม่ เพราะเด็กคือคนรุ่นต่อไปที่จะเป็นอนาคตของประเทศชาติ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีรายการโทรทัศน์คุณภาพเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของพวกเขานับตั้งแต่วันนี้-ตอนนี้เป็นต้นไป!

 

ติดอยู่อย่างเดียวก็คือ คำจำกัดความของรายการที่มีคุณภาพในสายตาของแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย...

 

ทุกวันนี้เราจึงได้เห็นรายการเด็กที่ผู้ใหญ่แอบคิดเอาเองว่ามันน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเกมโชว์ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ มาตอบคำถาม "ประเทืองปัญญา" แลกเงินรางวัล หรือละครก่อนข่าวภาคค่ำที่ส่งเสริมจินตนาการของเด็กๆ ด้วยเรื่องราวแฟนตาซีและการผจญภัยต่างยุคที่สุดแสนจะโอเวอร์แอ๊กติง รวมถึงการ์ตูนอนิเมชั่นมากมายที่มุ่งแต่จะขาย "ความเป็นไทย" แต่นิทานพื้นบ้านกลับถูกใส่สีตีไข่จนแทบไม่เหลือเค้าเดิม...

 

โจทย์อีกข้อหนึ่งที่ "ผู้มีอำนาจ" ชี้เป็นชี้ตายให้กับสถานีโทรทัศน์น่าจะหยิบไปพิจารณาดู จึงไม่ใช่แค่การประกาศว่า รายการโทรทัศน์จะต้องมีสาระเป็นสารัตถะ แต่มันหมายถึงการตีความว่า "สาระ" ที่เหมาะสมกับสังคมไทยมันคืออะไรกันแน่ และการใช้คำว่าสาระมาตีกรอบอย่างเคร่งครัดเกินไป อาจทำให้รายการดีๆ ที่มีบุคลิกแตกต่างไปจากกรอบที่ใช้ชี้วัดต้องหลุดจากสารบบวงการโทรทัศน์วิทยุไทยไปอย่างน่าเสียดาย

 

แต่ถ้าตีโจทย์ข้อนี้ไม่แตก การปฏิรูปสื่อก็คงไปไหนไม่ได้ไกล

 

นอกจากพายเรือวนในอ่างไปวันๆ ก็เท่านั้น...

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท