คู่มือการทำเอฟทีเอสำหรับรัฐบาล ฒ.ผู้เฒ่า : "วิธีการ" สำคัญกว่า "เป้าหมาย"

มุทิตา เชื้อชั่ง 

.....................................................................

 

 

"เอฟทีเอ" หรือข้อตกลงการค้าเสรี เคยเป็นวาระใหญ่ที่ใช้โจมตีรัฐบาลทักษิณบนเวทีพันธมิตรฯ จนเรียกให้ผู้คนหันมาจับตาการทำข้อตกลงระหว่างประเทศนี้ได้มาก

 

ถึงวันนี้แม้รัฐบาลเปลี่ยนไปแล้วอย่างกะทันหัน แต่เรื่องนี้ยังเดินหน้าไปในแนวทางเดิมอย่างมั่นคง ไม่เกี่ยวว่าเป็นรัฐบาลนายทุนขี้ฉ้อ หรือรัฐบาลข้าราชการเปี่ยมจริยธรรม  

 

ส่วนแกนนำพันธมิตรฯ ที่เคยด่าเรื่องนี้ปาวๆ ก็ดูเหมือนจะลืมมันเสียสนิท...

 

ถึงที่สุดแล้ว เรื่องการทำเอฟทีเออาจเป็นอาการปกติของผู้เดินบนเส้นสายทุนนิยมโลกาภิวัตน์ และดำเนินนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งกลายเป็นเนื้อหนังของเราไปแล้วในทุกวันนี้

 

สิ่งเบื้องต้นที่สุดที่รัฐต้องทำก็คือ สร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศอย่างโปร่งใสสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวนาหรือพ่อค้าข้าว ใส่หมวกอะไรหรือยืนอยู่จุดไหนบนโลกใบนี้

 

ที่ผ่านมา ในสมัยรัฐบาลทักษิณ การทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ ถูกผลักดันรวดเร็ว-รวมศูนย์ คำถามและความกังวลมากมายจากฝั่งของเอ็นจีโอและนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้ โดยเฉพาะกรณีที่ทำกับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ไม่ได้รับการตอบแบบ "จริงจัง" มีเพียงการชี้แจงราวแผ่นเสียงตกร่องให้ "เชื่อ" ว่าคณะผู้เจรจาจะทำเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติ

 

... แล้ว "ชาติ" ที่ว่ามันคือใคร !!??!!

 

เนื้อหาการเจรจาเป็นอย่างไร ข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายคืออะไร จะมีผลกระทบกับใครบ้าง การได้บางอย่างต้องเสียกี่อย่าง ทั้งหมดเป็น....ความลับ

 

กับสหรัฐฯ เราเจรจาไปแล้ว 6 รอบ และขณะนี้ทางสหรัฐฯ ขอระงับการเจรจารอรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่กับญี่ปุ่น เราเจรจากับบน "ความลับ" แบบนี้จนได้ร่างข้อตกลงร่วมกันแล้ว เหลือเพียงการลงนามเท่านั้น

 

แม้ว่าตอนนี้ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ จะประกาศให้มีการประชาพิจารณ์และนำเอฟทีเอทุกฉบับเข้าสภา (นิติบัญญัติแห่งชาติ) ตามที่เคยเรียกร้องกันปากจะฉีกถึงหูในสมัยรัฐบาลทักษิณ แต่มันก็ยังผิดไปจากสาระสำคัญ และเดาว่าคงสร้างความกระอักกระอ่วนให้เอ็นจีโอ นักวิชาการที่ต่อสู้เรื่องนี้ไม่น้อย

 

เหตุผลก็คือ มันยังคงไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาและปรึกษาประชาชนอย่างเป็นกระบวนการ ส่วนการทำประชาพิจารณ์เป็นแค่พิธีกรรม ไม่เชื่อถามชาวบ้านต่างจังหวัดที่ต้องต่อสู้กับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐดูก็ได้ และที่สำคัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเสียด้วย

 

เร็วๆ นี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงจัดแถลงข่าวเพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องใหม่ที่ควรพิจารณา

 

1.หยุดการเจรจาทั้งหมดไว้ก่อน

 

2. จัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคีที่มีความอิสระ เพื่อทบทวนข้อดีข้อเสียจากเอฟทีเอที่ลงนามไปแล้ว พร้อมทั้งทำการศึกษาอย่างรอบด้านในเอฟทีเอที่กำลังจะลงนาม และนำมาเผยแพร่แก่ประชาชนเพื่อร่วมตัดสินใจ

 

3.จัดทำพระราชบัญญัติว่าด้วยการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศเพื่อเป็นกรอบกติกาที่ชัดเจนให้ถือปฏิบัติต่อไป

 

 

การทำให้โปร่งใส มีส่วนร่วม ไม่ใช่เรื่องแค่พูดกันเท่ห์ๆ หรือเป็นไปไม่ได้ตามข้ออ้าง "มารยาทในการเจรจา"  เพราะแม้แต่สหรัฐฯ ที่เรียกร้องให้เรามีมารยาทเหลือเกินนั้น เขาเองหาได้เป็นเช่นเดียวกันไม่

 

ไม่ใช่เพราะสหรัฐฯ หลอกลวงสับปลับ แต่ในสหรัฐฯ มีการจัดระบบภายในที่พอจะตรวจสอบได้ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็มีกติกา มาตรฐานพอสมควร จนอาจทำให้คนไทยหลายอิจฉา

 

สหรัฐอเมริกา กว่าจะรัฐบาลบุชจะเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ ได้ ต้องแจ้งเจตจำนง-กรอบการเจรจาให้รัฐสภาอนุมัติ หลังจากนั้นฝ่ายบริหารจึงจะเดินหน้าเจรจาไปโดยสะดวกโยธิน เพราะได้รับอำนาจจากกฎหมายส่งเสริมการค้า (Trade Promotion Authority 2002/TPA2002) (แต่กำลังจะหมดอายุในกลางปีหน้า และนักวิเคราะห์หลายคนเห็นว่า งานนี้คงต่ออายุไม่ได้ง่ายๆ แน่)

 

กระนั้นก็ตาม รัฐบาลจะไปเปลี่ยนแปลงขอบเขตและผลประโยชน์ในกรอบหลักๆ ที่เคยนำเสนอสภาไม่ได้ ทั้งยังต้องรายงาน ปรึกษาหารือกับคณะกรรมาธิการของสภาอยู่เป็นระยะๆ

 

หลังเสร็จสิ้นการเจรจา รัฐบาลก็ต้องส่งบทสรุป รวมทั้งส่งรายละเอียดกฎหมายที่จะต้องแก้ให้รัฐสภาเพื่อให้ลงมติรับหรือปฏิเสธเอฟทีเอฉบับนั้น โดยไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา หากรัฐสภารับประธานาธิบดีจึงเซ็นลงนามบังคับใช้ข้อตกลง       

 

ไทย นั้นกลับตาลปัตร นอกจากจะไม่มีมาตรฐานใดๆ รัฐบาลชุดที่แล้วยังยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าสภา เพราะไม่มีการแก้กฎหมายอะไร

 

นิตย์ พิบูลย์สงคราม หัวหน้าคณะเจรจาในขณะนั้นซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนี้ เคยระบุว่า "การเจรจาการค้าของสหรัฐขึ้นอยู่กับอำนาจหน้าที่ของคองเกรสด้วย นั่นเป็นประเพณีของเขาไม่ใช่เป็นประเพณีของประเทศไทย...เรื่องที่รัฐบาลไปทำเป็นความตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ ฉะนั้น หน้าที่ของผมคือเจรจาให้เป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของชาติ"

 

ขณะที่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดไทย-ญี่ปุ่น (ตระกูลเดียวกับเอฟทีเอนั่นเอง) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือเอฟทีเอวอทช์ ได้ทำหนังสือขอให้เปิดเผยเนื้อหาไปแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม และยังคงเงียบอยู่จนปัจจุบัน

 

ท้ายที่สุด  กลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ ร่วมกับกลุ่มอดีตวุฒิสมาชิกชุดแรกและนักวิชาการ ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการทำเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลียโดยไม่ผ่านสภาว่าละเมิดรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 224 วรรค 2 หรือไม่ ขณะนี้เรื่องยังอยู่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน

 

ส่วนรัฐบาลปัจจุบันกำลังจะนำเอฟทีฉบับที่จัดทำบนวัฒนธรรมของความลับในการเจรจาเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งมาจากการแต่งตั้ง ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล และสัดส่วนสมาชิก....เป็นดังรู้กัน

 

ออสเตรเลีย มีการจัดตั้งสภาสนธิสัญญา (Treaty Council) (สหพันธ์-มลรัฐ-เขตปกครอง) ที่คอยรับแจ้งรายการเจรจาสนธิสัญญาทั้งหมดที่ออสเตรเลียจะทำเพื่อพิจารณาว่าควรทำหรือไม่  และยังมีการก่อตั้งคณะกรรมาธิการด้านร่วมสนธิสัญญาของรัฐสภา (JSCOT) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและรายงานการดำเนินการของรัฐบาลในการทำสนธิสัญญา มีอำนาจในการรับฟังข้อมูลและรายงาน ประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับสนธิสัญญา

 

ที่สำคัญ JSCOT ต้องนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interest Analysis-NIA) เพื่อประกอบการพิจารณาสนธิสัญญาของรัฐสภา

 

เนื้อหาใน NIA จะครอบคลุมผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม, พันธกรณีที่จะเกิดขึ้นตามความตกลงและการมีผลบังคับใช้, ค่าใช้จ่ายในการรองรับการบังคับใช้ความตกลง, ผลการปรึกษากับมลรัฐและเขตปกครองตลอดจนภาคส่วนอื่นๆ, จดหมายตอบโต้ระหว่างคู่สัญญา

 

นอกจากนี้ยังต้องมีคำแถลงผลกระทบทางกฎหมาย (Regulation Impact Statement-RIS) ว่าจะต้องมีการตรากฎหมายฉบับใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายได้เพื่อรองรับข้อตกลงที่จัดทำขึ้น

 

นิวซีแลนด์ มีการกำหนดชัดเจนว่าข้อตกลงประเภทไหนต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เช่น สิทธิสัญญาที่กระทบผลประโยชน์สาธารณะ เกี่ยวข้องกับงบประมาณ หรือต้องมีการตรากฎหมายรองรับ เป็นต้น 

 

นอกจากนี้ยังมีการวางหลักเกณฑ์การพิจารณาไว้อย่างเป็นระบบ มีกรรมาธิการต่างประเทศ ความมั่นคงและการค้า สภาผู้แทนราษฎรคอยกลั่นกรองสนธิสัญญาก่อนส่งให้กรรมาธิการชุดอื่นๆ ที่เหมาะสมพิจารณา โดยระหว่างนี้ประชาชนสามารถส่งความเห็น ข้อเสนอแนะมาที่กรรมาธิการได้

 

ฝรั่งเศส กำหนดไว้ชัดแจ้งว่า "สนธิสัญญาทางการค้า" ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งในกรณีที่มีปัญหาการตีความก็เปิดโอกาสให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดว่าเข้าข่ายต้องนำเข้าสภาหรือไม่

 

ก่อนนำเข้าสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต้องนำร่างข้อตกลงไปให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาเห็นชอบเสียก่อน และนำส่งไปยังศาลปกครองสูงสุด (ศาลสภาแห่งรัฐ) ตรวจสอบข้อความในสนธิสัญญาด้วย โดยจะต้องแนบรายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากากรทำสนธิสัญญา ซึ่งต้องจัดทำตั้งแต่เนิ่นๆ ทันทีที่ทำการเจรจายกร่าง

 

อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสน่าสนใจตรงที่ระบุอย่างชัดเจนว่าภาษาที่ใช้ในข้อตกลงต้องเป็นภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น เว้นแต่จำเป็นต้องกระทำสองภาษาก็ให้ภาษาหนึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส เอกสารประกอบความตกลง รายงานการประชุม และเอกสารอื่นๆ ตลอดกระบวนการก็ต้องเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วย

 

ฯลฯ

 

มาตรฐานของประเทศเหล่านี้สอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะยาว

 

สิ่งที่รัฐบาลนี้พอจะทำได้ นั่นก็คือ พิจารณาข้อเสนอเหล่านี้และสร้างมาตรฐานกระบวนการที่เป็นธรรมเสียก่อนเป็นอันดับแรก ข้อมูลจะมีกี่ชุด ความจริงจะมีกี่แบบ ไม่ใช่ปัญหา ขอเพียงให้สังคมทั้งหมดได้รับทราบและถกเถียงร่วมกัน

 

เป็นไปได้ไหมที่รัฐบาลทหารจะได้รู้ว่า บางทีกระบวนการก็สำคัญกว่าเป้าหมาย...คงต้องติดตามต่อไปด้วยใจระทึก !

 

 

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

 

*  รายงานการวิจัย :  กลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหารในการเจรจาความตกลงการค้าเสรี      

 

บทความ : บทบาทของรัฐสภาออสเตรเลียในการทำความตกลงเอฟทีเอ

 

 

หนังสือ : ข้อตกลงเขตการค้าเสรี : ผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย (เล่ม 2)  โดย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

 

'หม่อมอุ๋ย' เล็งเปิดประชาพิจารณ์ 'เอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น' ธ.ค.นี้

 

 

กก.สิทธิฯ จี้รัฐบาลระงับทำข้อตกลง FTA

 

 

ร้องศาลฯ ตีความ ทำเอฟทีเอ ไทย-ออสเตรเลีย ละเมิดรธน.

 

 

ครั้งแรก "ทูตนิตย์พบประชาชน" แจงปัญหาคาใจเอฟทีเอไทย-สหรัฐ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท