รายงาน : ฤาเนปาลจะสิ้นเสียงปืน (ตอนที่ 2) ชะตากรรมของกษัตริย์สมมติเทพ

พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ  รายงาน

 

 

กษัตริย์คเยนทราแห่งเนปาล

ขณะนี้กำลังเสื่อมพระราชอำนาจหลังเหตุการณ์ประท้วงพระองค์ครั้งใหญ่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

(ที่มาของภาพ : Alyssa Banta/Getty Images)

 

 

เมฆหมอกเข้าปกคลุมอนาคตของกษัตริย์คเยนทรา (king Gyanendra) หลังจากกบฏลัทธิเหมาและรัฐบาลบรรลุสัญญาสันติภาพร่วมกัน นับเป็นข้อตกลงประวัติศาสตร์หลังจากที่สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลกับพลพรรคฝ่ายซ้ายทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าหนึ่งหมื่นคน

 

ข้อตกลงสันติภาพนี้เกิดขึ้นภายหลังจาก 5 ปีที่กษัตริย์คเยนทรา วัย 59 พรรษา ครองราชย์หลังจากการเสียชีวิตหมู่ของกษัตริย์ที่เป็นพระอนุชาของพระองค์และพระราชวงศ์ส่วนใหญ่ โดยมกุฎราชกุมารที่โปรดเสวยน้ำจัณฑ์ซึ่งได้ปลงพระชนม์ตัวเองภายหลัง

 

ราชวงศ์ชาห์ (Shah dynasty) ของกษัตริย์คเยนทราสืบราชสมบัติยาวนานกว่า 238 ปีในประวัติศาสตร์ของเนปาล และขณะที่เนปาลต้องเผชิญกับกบฏลัทธิเหมาที่ต้องการนำระบอบสาธารณรัฐเข้ามาแทนที่ หลายฝ่ายยังคงเห็นว่าสถาบันกษัตริย์มีความสำคัญต่อเนปาล ประเทศเล็กๆ ที่คั่นกลางระหว่างมหาอำนาจทั้งอินเดียและจีน

 

ถึงแม้ว่ากษัตริย์คเยนทราจะได้กลับมาครองราชย์สมบัติ แต่พระองค์ก็จะถูกลดพระราชอำนาจหลงเหลือเพียงแต่ในพิธีการ ขณะที่อำนาจทางการเมืองและการควบคุมกองทัพก็หมดลง

 

นอกจากนี้รัฐบาลเองก็จะผ่านกฎหมายใหม่ที่ทำให้พระราชอาณาจักรฮินดูหนึ่งเดียวของโลกแห่งนี้ต้องกลายเป็นรัฐฆราวาสด้วย

 

ความเสื่อมของสถาบันกษัตริย์ "สมมติเทพ"

นับเป็นเวลาหลายศตวรรษที่ถือกันว่า กษัตริย์เนปาล คือปางอวตารของพระวิษณุ เทพเจ้าแห่งการคุ้มครองตามความเชื่อของศาสนาฮินดู

 

อย่างไรก็ตามแนวคิดที่ต้องการให้เนปาลเป็น "สาธารณรัฐ" ก้าวเข้ามาท้าทายแนวคิด "สมมติเทพ" อย่างแหลมคม ตั้งแต่กษัตริย์คเยนทราเข้าบริหารราชการแผ่นดินโดยตรงเสียเองในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2005 การยึดอำนาจครั้งนั้นพระองค์อ้างว่า เพื่อปราบปรามกบฏลัทธิเหมา ซึ่งนับตั้งแต่มีสงครามกลางเมืองปี 1995 จนถึงปัจจุบันได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 12,500 ราย

 

ต่อมามีการเรียกร้องให้กษัตริย์คเยนทราสละอำนาจการปกครอง และการประท้วงได้ขยายตัวเป็นวงกว้างหลังจากที่ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2005 ซึ่งพรรคการเมือง 7 พรรคในเมืองร่วมกับกบฏลัทธิเหมาในชนบทร่วมกันต่อต้านกษัตริย์คเยทรา ทำให้ในปีนี้เกิดการประท้วงของมวลชนผู้สนับสนุนประชาธิปไตยจำนวนมหาศาล และในการปราบปรามการชุมนุมครั้งนั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้มวลชนในท้องถนนเผาหุ่นของกษัตริย์และประณามกษัตริย์คเยทราว่าเป็น "ฆาตกร" และบีบให้พระองค์คืนระบอบรัฐสภาในปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

ข้อตกลงสันติภาพและชะตากรรมของกษัตริย์เนปาล

หลังจากเนปาลคืนสู่ระบอบรัฐสภาในเดือนเมษายน ได้มีการหยุดยิงระหว่างรัฐบาลและกบฏลัทธิเหมาและเมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมากบฏลัทธิเหมาและรัฐบาลประสบความสำเร็จในการเจรจาข้อตกลงสันติภาพ โดยมีเงื่อนไขว่าจะให้ฝ่ายกบฏเข้าร่วมเป็นรัฐบาล

 

ข้อตกลงสันติภาพระบุให้เริ่มมีการตัดสินทิศทางของสถาบันกษัตริย์ ในการประชุมครั้งแรกหลังจากที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเนปาลในปีหน้า

 

จะอยู่หรือจะไป : 2 คำตอบทิศทางสถาบันกษัตริย์เนปาล

นายกรัฐมนตรีกิริยา ปราสาท กัวราลา กล่าวว่า เขายังคงต้องการที่จะให้กษัตริย์มีบทบาททางพิธีการ แต่นักการเมืองคนอื่นๆ แม้แต่นักการเมืองภายในพรรคคองเกรสเนปาล (the Nepali Congress party) พรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศของนายกรัฐมนตรีเองกลับต้องการให้เนปาลเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบสาธารณรัฐ

 

แน่นอนว่า ในมุมมองของนายประจันดา (Prachanda) ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) เขายืนยันอย่างหนักแน่นว่ากบฏลัทธิเหมานั้น "ไม่เอาสถาบันกษัตริย์"

 

"ถ้ากษัตริย์ยังมีอำนาจแม้จะในทางพระราชพิธี เราจะกลับหามวลชนของเราอีกครั้ง และบอกพวกเขาว่าเราผิดพลาด สำหรับเนปาลแล้วไม่มีแผ่นดินจะให้สถาบันกษัตริย์อยู่ต่อไปอีก" ประจันดาให้สัมภาษณ์ระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันพุธที่ 8 พ.ย. หลังจากที่มีการประกาศผลการเจรจาสันติภาพ

 

การลดทอน "พระราชอำนาจ" หลังการประท้วงเดือนเมษายน

แม้จะยังมี "ความเห็นต่าง" ระหว่างนายกรัฐมนตรีเนปาลและกบฏลัทธิเหมาต่อเรื่องการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์เนปาลว่าจะเอาอย่างไรกันแน่

 

แต่ก็มีรูปธรรมของการลดทอนพระราชอำนาจของกษัตริย์คเยนทราที่ชัดเจนภายหลังการประท้วงของมวลชนจนทำให้กษัตริย์คเยนทราต้องคืนอำนาจให้กับรัฐสภาตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้ ทำให้พระองค์ไม่ค่อยปรากฏพระองค์ในสถานที่สาธารณะ รถนำขบวนพระราชวงศ์ซึ่งการเสด็จครั้งหนึ่งต้องปิดถนนและทำให้รถติดในเมืองหลวงเป็นกินนานหลายชั่วโมงรวมทั้งการเสด็จแปรพระราชฐานไปยังชนบทด้วยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งก็ถูกยกเลิก

 

การโดดเดี่ยวกษัตริย์คเยนทราเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน ในงานเลี้ยงฉลองวันเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 59 ปีซึ่งปราศจากเด็กนักเรียนเป็นจำนวนมากที่จะมาร่วมงานเลี้ยงฉลองเป็นประจำทุกปี และปีนี้รัฐมนตรีในรัฐบาลก็ไม่เข้าร่วมงานเลี้ยงดังกล่าว

 

การตัดสายสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์คเยนทรา กองทัพและองคมนตรี

นอกจากนี้ในทางสัญลักษณ์ คำว่า "รัฐบาลเนปาลในพระองค์" (His Majesty's Government of Nepal) และ "กองทัพของพระมหากษัตริย์เนปาล" (Royal Nepalese Army) ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว

 

เพลงชาติเนปาลซึ่งขึ้นต้นบรรทัดแรกในทำนองว่า "ขอพระบารมีปกเกล้า, เป็นขวัญแด่อธิปไตย" (May glory crown you, courageous Sovereign) ก็กำลังจะถูกเปลี่ยนอีกด้วย

 

สถาบันที่เชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์อย่างสถาบันทหาร ซึ่งเคยมีบทบาทในการช่วยกษัตริย์คเยนทรายึดอำนาจด้วยการกราบบังคมทูลเชิญกษัตริย์คเยนทราขึ้นสู่อำนาจการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การจับนายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ ในขณะนั้น

 

บัดนี้ สถาบันทหารที่เคยมีบทบาท ถูกควบคุมภายใต้คณะรัฐมนตรี และคาดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นการตัดสายสัมพันธ์ระหว่างทหารกับกษัตริย์อย่างสมบูรณ์

 

นอกจากนี้องคาพยพแห่งรัฐของสถาบันกษัตริย์เนปาลอย่างสภาองคมนตรี (the privy council) คณะที่ปรึกษาอันทรงอำนาจ ผู้เคยแนะนำให้กษัตริย์เนปาลเข้าปกครองประเทศด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ได้ถูกรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ยกเลิกไปแล้ว

 

สถาบันกษัตริย์เนปาลกับการเมืองเนปาล

ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของเนปาลในปี 1950 กษัตริย์ตรีภูวัน (king Tribhuvan) พระอัยกาของกษัตริย์คเยนทราทรงลี้ภัยไปอินเดีย ทำให้กษัตริย์คเยนทราซึ่งขณะนั้นมีพระชนม์มายุ 5 พรรษาถูกควบคุมพระองค์และขึ้นเป็นกษัตริย์แทนเสมือนตัวประกันเป็นเวลา 2 เดือน ต่อมาราชวงศ์ชาห์แห่งเนปาลกลับมายึดอำนาจได้สำเร็จ ราชบัลลังก์จึงตกอยู่กับพระอัยกาอีกครั้ง ก่อนที่กษัตริย์พิเรนทรา (King Birendra) พระเชษฐาของกษัตริย์คเยนทราจะสืบราชสมบัติต่อในปี 1972

 

กษัตริย์คเยนทราสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนของชาวคริสต์ในเมืองดาจีลิง (Darjeeling) ประเทศอินเดีย

 

ซึ่งราชวงศ์ชาห์ของเนปาลสมัยนั้นมั่งคั่งที่สุดราชวงศ์หนึ่งของโลก แต่ล่าสุดนี้ รัฐบาลเนปาลได้ยึดคืนทรัพย์สมบัติเหล่านั้นมาส่วนหนึ่ง

 

ข่าวลือกรณี "สังหารโหดในพระราชวัง" และเรื่อง "ในรั้วในวัง" เนปาล

หากกล่าวถึงความนิยมในตัวกษัตริย์ร่างท้วมพระองค์นี้ยังห่างไกลจากความนิยมที่ชาวเนปาลมีต่อพระเชษฐาของพระองค์ กษัตริย์พิเรนทรา (King Birendra) กษัตริย์พระองค์ก่อนซึ่งสิ้นพระชนม์พร้อมพระราชินีอิชวายาร์ (Queen Aishwarya) และพระบรมวงศานุวงศ์รวม 10 พระองค์ในการ "สังหารโหดในพระราชวัง" (the "Palace Massacre")

 

และสิ่งที่ช็อกความรู้สึกชาวเนปาลอีกประการคือการที่คณะลูกขุนของรัฐบาลตัดสินว่าเจ้าชายดิเพนทรา (Prince Dipendra) พระโอรสของกษัตริย์พิเรนทรา ซึ่งยิงพระองค์เองเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยเป็นฆาตกรสังหาร สำหรับเรื่องนี้แล้ว เป็นการยากที่จะให้ชาวเนปาลทำใจเชื่อได้ นอกจากนี้กบฏลัทธิเหมาได้กล่าวหาว่า กษัตริย์คเยนทราผู้สืบราชสมบัติต่อนั่นแหละเป็นตัวการในการสังหารโหดครั้งนั้น

 

กระแสข่าวทางลบในลักษณะนี้ต่อกษัตริย์คเยนทรา ยังคงแพร่กระจายไปทั่วเนปาล ผู้คนต่างตั้งคำถามว่ากษัตริย์คเยนทราหนีออกจากพระราชวังได้อย่างไรในวันที่เหตุฆาตกรรมหมู่เกิดขึ้น และบุตรชายคนเดียวของพระองค์เจ้าชายพาราช (Prince Paras) หลบออกจากพระราชวังไปได้อย่างไรโดยที่ไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่รอยขีดข่วน!?

 

ยิ่งเจ้าชายพาราช ผู้สืบทอดราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา และสืบราชสมบัติแห่งราชวงศ์ชาห์ที่ครั้งหนึ่งผู้คนคิดว่าจะอยู่ "ยิ่งยืนนาน" คู่เนปาล กลับมีนิสัยชอบขับรถซิ่งและทำตัวเพลย์บอย ก็ซ้ำทำให้กษัตริย์คเยนทราเสื่อมความนิยมชนิดร้าวลึก

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่ากษัตริย์คเยนทราจะเสื่อมความนิยม แต่นายคาปิล ชเรสฐา (Kapil Shrestha) ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยตรีภูวัน (Tribhuvan University) แห่งเนปาลกลับมองว่าเป็นเรื่องของการเสื่อมความนิยมในตัวบุคคล "คือคนเนปาลมีปัญหาในตัวกษัตริย์คเยนทรา แต่ไม่ได้มีปัญหาในแนวคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์จะมีหรือไม่มีต่อไป"

 

"ผู้คนรังเกียจสิ่งที่กษัตริย์ทำ แต่ไม่ได้รังเกียจสถาบันกษัตริย์ทั้งหมด" ชเรสฐากล่าวในที่สุด

 

 

...........................................................

ข่าวประกอบ

สถานการณ์การเมืองเนปาลล่าสุดหลังข้อตกลงสันติภาพ, 13 พ.ย. 2549

 

ข่าวประชาไทย้อนหลัง

รายงาน : ฤาจะสิ้นเสียงปืน หลังเนปาลใหม่บรรลุข้อตกลงสันติภาพ, พงษ์พันธ์ ชุ่มใจ รายงาน, 11 พ.ย. 2549

 

 

แหล่งข้อมูลประกอบการเขียน

Charles Haviland, Erasing the 'royal' in Nepal, BBC News, Kathmandu, Friday, 19 May 2006, 16:23 GMT 17:23 UK

 

Nepal god-king's future uncertain as peace breaks out, AFP, Wed Nov 8, 10:00 AM ET

 

Wikipedia, 2006. Gyanendra of Nepal,

Available: http://en.wikipedia.org/wiki/Gyanendra_of_Nepal, Retrieved November 13, 2006.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท